บทความ “Indonesia must resist EU’s trade talk demands that undermine farmers’ rights” ในจาการ์ตาโพสต์ โดยนักกฎหมายระหว่างประเทศ Karine Peschard ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 15 มิถุนายน 2566 เรียกร้องให้อินโดนีเซียต่อต้านการเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจแบบครอบคลุมระหว่างอินโดนีเซียและสหภาพยุโรป (CEPA) ที่เรียกร้องให้อินโดนีเซียยอมรับระบบกฎหมาย UPOV1991 ที่ละเมิดสิทธิเกษตรกร ละเมิดสิทธิมนุษยชน และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของอินโดนีเซีย ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่กว่า 93% มีที่ดินทำกินเพียง 3-4 ไร่เท่านั้น
โดยบทความระบุว่า การแลกเปลี่ยน เก็บรักษา และขายเมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่น ได้รับการรับรองภายใต้ความตกลง “สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (ITPGRFA)” แห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2544 และ ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชาวนาและบุคคลอื่นที่ทำงานในพื้นที่ชนบท (UNDROP) โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2561 ด้วย
อินโดนีเซียกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งต้องการผลักดันให้อินโดนีเซียแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ที่ต้องให้สิทธิผูกขาดในพันธุ์พืชแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ของยุโรปเพิ่มขึ้น แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยในอินโดนีเซียที่ส่วนใหญ่ยังคงมีวิถีการเก็บและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์เพื่อไปปลูกต่อ