น้ำท่วมล้นตลิ่ง เป็นธรรมชาติของทุกพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนตกมากเกินความสามารถในการอุ้มน้ำซับน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำ ข่าวน้ำท่วมพื้นที่เกษตรถึง ๖.๙ ล้านไร่ ซึ่งเป็นนาข้าว ๔.๕ ล้านไร่ และพืชไร่ ๑.๖๙ ล้านไร่ สำหรับผู้เขียนจึงเป็นเรื่องปกติ ไม่ต่างจากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงครั้งก่อนๆ โดยเฉพาะครั้งล่าสุดในปี ๒๕๔๙ เพราะพื้นที่ใกล้เคียงกัน  น้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่เดิมๆ อย่างนี้จึงไม่น่าจะเรียกว่าอุบัติภัย แต่ควรมาทบทวนพฤติกรรมมนุษย์กันอย่างจริงจังว่าเหตุใดสังคมปัจจุบันจึงอยู่อย่างกลมกลืนกับน้ำตามธรรมชาติไม่ได้ บริหารจัดการอย่างไรจึงเกิดความเสียหายซ้ำซากครั้งละเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ชีวิตผู้คนหลังน้ำลดจะเป็นอย่างไร

ผู้เขียนสนใจชีวิตชาวนา เพราะชาวนาเสียหายหนักกว่าเพื่อน จะอยู่รอดได้อย่างไร สังคมมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง เมื่อฟังข่าวการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับภัยน้ำท่วมว่า จะชดเชยให้ไร่ละ ๖๐๖ บาท โดยไม่ได้อธิบายว่าคิดจากฐานอะไร เมื่อมีผู้วิจารณ์ก็ขยับขึ้นมาเป็นร้อยละ ๕๕ ของต้นทุนการผลิต จึงน่าจะมาดูกันว่าเกณฑ์นี้พอจะช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดได้ไหม? สถิติของชาวนาภาคกลางทำนาเฉลี่ยครอบครัวละ ๓๐ ไร่ ต้นทุนผันแปรจากข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี ๒๕๕๒  ต้นทุนทำนาปี ๔,๓๕๗.๕๐ บาทต่อไร่  นาปรัง ๕,๒๖๐ บาทต่อไร่ ถ้าทำนาปีขนาด ๓๐ ไร่  จะต้องลงทุน ๑๓๐,๗๒๕ บาท บวกดอกเบี้ย อัตราลูกค้าชั้นดีร้อยละ ๖.๕% อีก ๘,๔๙๗ บาท  กลายเป็น ๔๖๔๐.๗๓ บาทต่อไร่ รวมต้นทุนทั้งสิ้น ๑๓๙,๒๒๒ บาท ถ้าได้ผลผลิตดีเยี่ยม  ๔๐ ถังต่อไร่ จะได้ข้าว ๑๒ เกวียน ขายในราคาประกัน เกวียนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ก็จะมีรายรับ ๑๒๐,๐๐๐ บาท หักต้นทุนแล้วก็ยังขาดทุนอีก ๑๙,๒๒๒ บาท  ส่วนนาปรัง ต้นทุนไร่ละ ๕,๒๖๐ บาท ทำ ๓๐ ไร่ ต้องใช้เงินทุน ๑๕๗,๘๐๐ บาท บวกดอกเบี้ยอีก ๑๐,๒๕๗ บาท รวมเงินทุนทั้งสิ้น ๑๖๘,๐๕๗ บาท ถ้าผลผลิตข้าวเฉลี่ย ๙๐ ถังต่อไร่ จะได้ข้าว ๒๗ เกวียน ขายในราคาประกันได้ ๒๗๐,๐๐๐ บาท พอมีกำไร ๑๐๑,๙๔๓ บาท แต่ถ้าเจอโรคและแมลงระบาด น้ำท่วมสูง ข้าวจะไม่สมบูรณ์ และยิ่งต้องเกี่ยวข้าวหนีน้ำ จะถูกหักค่าความชื้นอีกมาก เหลือเกวียนละ ๖,๐๐๐-๘,๐๐๐ บาท รายได้ก็จะลดลงมาอีก ต้นเดือนตุลาคมก่อนน้ำท่วม ชาวนาที่อำเภอบ้านสร้างปราจีนบุรีต้องเกี่ยวข้าวหนีน้ำ ขายข้าวเปลือก ๓ เกวียน ได้เงินเพียง ๑๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น   

แม้น้ำไม่ท่วม หนี้ก็ท่วมอยู่แล้ว ยิ่งน้ำท่วมขังข้าวตาย ก็ยิ่งมองไม่เห็นชีวิตชาวนา   

ดูเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งรัฐบาลประกาศจ่ายชดเชยนา ๒,๐๙๘ บาทต่อไร่ พืชไร่ ๒,๒๒๙ บาทต่อไร่ พืชสวน ๔,๐๔๗ บาทต่อไร่ บนฐานคิดร้อยละ ๕๕ ของต้นทุน แล้ว ใจหาย 

เมื่อคำนวณเงินชดเชยกับต้นทุน ทำนาปีจะขาดทุน ๒,๒๕๙.๕๐ บาทต่อไร่ นาปรังขาดทุน ๓,๑๖๒ บาทต่อไร่  นี่ยังไม่รวมต้นทุนชีวิต ค่ากินอยู่และค่าใช้จ่ายส่งลูกเรียนหนังสือ ฯลฯ ขั้นต่ำสุดก็ประมาณ ๓๐๐ บาทต่อวัน ตั้งแต่เริ่มทำเทือกจนถึงเก็บเกี่ยวได้เงิน ก็ใช้เวลาเฉลี่ย อีกไม่น้อยกว่า ๑๕๐ วัน ต้องใช้เงินอีกไม่ต่ำกว่า ๔๕,๐๐๐ บาท หรือไร่ละ ๑,๕๐๐ บาท ที่ควรให้เขา เพื่อให้เขามีข้าวกินและมีเรี่ยวแรงทำนา 

ส่วนชาวไร่ข้าวโพด มีต้นทุน ๓,๔๖๖ บาทต่อไร่ ถ้าจ่ายชดเชย ๒,๒๒๙ บาทต่อไร่ จะขาดทุน ๑,๒๓๗ บาทต่อไร่ หากคิดพื้นที่ปลูกเฉลี่ยรายละ ๑๘ ไร่ จะขาดทุนถึง ๒๓,๗๑๓ บาท ชาวไร่มันต้นทุน ๔,๔๖๐ บาทต่อไร่  ถ้าจ่ายชดเชย ๒,๒๒๙ บาทต่อไร่ จะขาดทุน ๒,๒๓๑ บาทต่อไร่ หากคิดพื้นที่ปลูกเฉลี่ยรายละ ๑๘ ไร่ จะขาดทุน ๓๘,๐๓๗.๕๐ บาท กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในนา ลงทุนไร่ละกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท บ่อเล็กขนาด ๓ ไร่ ลงทุนประมาณ ๖๑,๐๐๐ บาท เลี้ยงเฉลี่ยรายละ ๕ บ่อ ลงทุน ๓๐๕,๐๐๐ บาท แต่เมื่อน้ำท่วมเสียหายหมด หากจ่ายชดเชยตามระเบียบราชการไร่ละ ๙,๐๙๘ บาท สูงสุดไม่เกิน ๕ ไร่ หรือ ๔๕,๔๙๐ บาท จะขาดทุน ๒๕๙,๕๑๐ บาท พวกเลี้ยงไก่ชะตากรรมก็ไม่แตกต่าง ฟาร์มหนึ่งเลี้ยงไก่สี่ห้าพันตัว ต้นทุนตกตัวละ ๓๒ บาทกว่าๆ แต่ชดเชยให้ไม่เกิน ๑,๐๐๐ ตัว ก็ต้องขาดทุนอีกรายละกว่า ๙๐,๐๐๐ บาท   

 เกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐตามหลักร้อยละ ๕๕ ข้องต้นทุน จึงไม่สามารถช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดได้จริง หลังน้ำลดก็ต้องกู้เงินทั้งในระบบนอกระบบมาลงทุนอีก เกษตรกรจึงไม่มีทางพ้นจากวังวนหนี้สิน สูญเสียที่ดิน สูญเสียอาชีพรายได้ ครอบครัวล่มสลายไปได้ กลายเป็นวงจรอุบาทว์สำหรับเกษตรกรที่แก้ไขไม่ได้ไปแล้วหรือไร?  

ถ้าพิจารณาด้วยหลักธรรม ชาวนาและเกษตรกรทุกอาชีพ ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเขามีคุณแก่แผ่นดิน ผลิตข้าวปลาอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศ ช่วยสืบสานวัฒนธรรมประเพณีและรักษาแผ่นดินให้ร่มเย็นที่คนมีเงินมากแค่ไหนก็ทำไม่ได้  และที่สำคัญที่ทำให้น้ำท่วมซ้ำซากเพราะรัฐบริหารผิดพลาดหลายๆ ด้านเช่น การทำผังเมือง การก่อสร้างถนนการพัฒนาแหล่งน้ำ ฯลฯ ที่ไม่สอดคล้องกัน ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และยังขาดการให้คำแนะนำเกษตรกรในการวางแผน ระบบเตือนภัย ระบบประกันความเสียง ฯลฯ น้ำท่วมทุกครั้งจึงส่งผลกระทบรุนแรงกับชาวนาและรัฐบาลก็ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบขายผ้าเอาหน้ารอด พ้นตัวไปคราวๆ หนึ่งเท่านั้น รัฐจึงไม่ควรปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญชะตากรรมไปโดยลำพัง โดยที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ 

เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะ ๗ ประการ

๑) ในเชิงหลักการรัฐควรจ่ายค่าชดเชยความเสียหายทางการเกษตรทุกประเภท ๑๐๐%เต็มตามที่เสียหายจริง โดยไม่ต้องไปตั้งเงื่อนไขให้ยุ่งยากและเปิดช่องทางให้เกิดการทุจริต     

๒) การบริหารจัดการความช่วยเหลือ รัฐควรมีมาตรการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ทั้งกระทรวงและผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังชุมชนท้องถิ่น และใช้หลัก เกษตรกรช่วยเกษตรกร ช่วยเหลือผ่านกลุ่มเกษตรกรในชุมชนเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง โดยใช้หลัก การตรวจสอบถ่วงดุล ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงิน ก็จะช่วยให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรเป็นไปอย่างทั่วถึง รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และไม่ทุจริต 

๓) ใช้กลไกกองทุนในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยหางบประมาณจากหลายแหล่งบนฐานคิดคือ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากชาวนาต้องมีส่วนรับผิดชอบ ทั้งรัฐ พ่อค้า ธนาคาร รวมทั้งผู้บริโภค โดยใช้มาตรการทางภาษีเก็บจากการส่งออกสินค้าเกษตรส่งออก เงินจากกองทุนตลาดหุ้น เงินจากบอร์ดส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเก็บไปจากชาวนา ต้องคืนกำไรมาบ้างเพื่อตั้งกองทุนเพื่อจัดการปัญหาแก้น้ำท่วมและผลกระทบกับเกษตรกรทั้งระบบ   

๔) จัดการหนี้สินเกษตรกรตามความสามารถใช้หนี้และเงินลงทุนต่อไป   ธนาคารและสถาบันการเงิน ควรมีส่วนรับผิดชอบหนี้น้ำท่วมร่วมกับเกษตรกร เกษตรกรที่อายุมากเกิน ๖๕ ปีและไม่มีความสามารถทำการเกษตรเชิงธุรกิจมาใช้หนี้ควรยกหนี้ให้ เกษตรกรทั่วไปก็ต้องตัดดอกเบี้ยออกและตัดเงินต้นให้เหลือเท่าที่จะสามารถชำระคืนได้ รวมทั้งการพักชำระหนี้ระยะยาว  ส่วนการกู้ยืมเงินมาลงทุนต่อ ควรให้เกษตรกรมาลงทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และเข้าสู่กระบวนการจัดการหนี้และการฟื้นฟูตามกฎหมายกองทุนฯ เพื่อเกษตรกรจะได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และไม่โดดเดี่ยวแต่มีกลุ่มเกษตรกรร่วมให้คำปรึกษาหารือและช่วยเหลือกัน   

๕) จัดระบบผังที่ดินและการใช้ที่ดินใหม่ ต้องวางระบบและบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ประมาณ ๗ ล้านไร่ ที่ถูกน้ำท่วมในปี ๒๕๔๙ และปี ๒๕๕๓ ให้พ้นจากปัญหาและผลกระทบรุนแรงจากน้ำท่วมดังที่ประสบในปัจจุบัน 

๖) วางแผนพัฒนาระบบเตือนภัยการเกษตร ด้วยเครื่องมือและตัวชี้วัดต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกร 

๗) จัดระบบประกันภัย ทั้งประกันรายได้ขั้นต่ำและประกันความเสียหายของผลิตผลทางการเกษตร รัฐควรจะต้องเป็นเจ้าภาพในระยะเริ่มแรกร่วมกับกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์เพื่อให้เกิดระบบประกันภัยขึ้นได้โดยเร็ว และค่อยๆ ดึงภาคเอกชนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมต่อไป 

ในการช่วยเหลือชาวนาจากวิกฤติน้ำท่วม รัฐควรมีบทบาทสนับสนุนทางวิชาการและทรัพยากร อย่าเอาระเบียบและกลไกราชการไปยังคับใช้เพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยาก การฟื้นฟูชีวิตชาวนาหลังน้ำลด ควรกำหนดโดยชาวนา ให้เขารวมกลุ่มตัดสินใจกันเอง ความช่วยเหลือจะได้ไปถึงมือพวกเขาโดยตรงและเต็มจำนวน ก็จะช่วยให้เขาอยู่รอด พัฒนาได้ และมีส่วนร่วมในกิจการของบ้านเมืองได้อย่างมีศักดิ์ศรี

 ภาพประกอบจาก : OK nationประเด็น: