พันธุ์พืชเป็นฐานรากสำคัญของการทำการเกษตรและระบบอาหาร กล่าวกันว่าหากผู้ใดยึดครองพันธุ์พืชได้ ผู้นั้นย่อมครอบครองการเกษตรและอาหารได้ ในอดีตพันธุ์พืชอยู่ในมือของเกษตรกร โดยเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรจะกันส่วนหนึ่งมาเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อในฤดูปลูกหน้า รวมทั้งแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านในชุมชนหรือระหว่างชุมชน

นโยบายพันธุ์พืชยุคแรก : เปลี่ยนบทบาทการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืชจากมือของเกษตรกรเป็นการพึ่งพาหน่วยงานของรัฐ

วัตนธรรมและวิถีในการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ (farmer saved seed)ดังกล่าวค่อยๆหายไปเมื่อมีการตั้งสถาบันวิจัยการ เกษตรระหว่างประเทศ  ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก เช่น สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ(อีรี่)  สถาบันวิจัยข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ (ซิมมิท) เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการเริ่มต้นโครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ของสถาบันวิจัยการเกษตรระดับชาติของประเทศไทยเอง เช่น กรมการข้าว สถาบันวิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ โดยการจัดตั้งโครงการวิจัยดังกล่าวในระดับชาติได้รับความสนับสนุนและมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสถาบันวิจัยการเกษตรระหวางประเทศ ในรูปของโครงการวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ โครงการฝึกอบรมและดูงาน เป็นต้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อว่า การเปลี่ยนพันธุ์พืชจากพันธุ์พื้นเมืองมาเป็นพันธุ์พืชที่รัฐบาลส่งเสริมจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น และภาคธุรกิจอื่นก็จะได้ประโยชน์ตามไปด้วย ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนพันธุ์พืชจากพันธุ์พื้นเมืองเป็นพันธุ์พืชที่ปรับปรุงขึ้นใหม่จะทำให้ต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตามเมื่อเกษตรกรเปลี่ยนวิถีการเกษตรมาพึ่งพาพันธุ์พืชจากหน่วยงานของรัฐ ปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐกลับไม่สามารถรองรับการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้อย่างเพียงพอ เช่น ความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของประเทศไทยสูงถึง 1,000,000 ตัน/ปี แต่หน่วยงานรัฐสามารถผลิตได้เพียง 60,000-80,000 ตัน/ปีเท่านั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ประเมินว่าการผลิตเมล็ดพันธุ์โดยรัฐเป็นแนวทางที่ด้อยประสิทธิภาพจำเป็นต้องโอนการดำเนินการดังกล่าวให้กับบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายเปิดเสรีและการแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชนของธนาคารโลก และผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายของประเทศไทยเอง

นโยบายส่งเสริมการลงทุนพัฒนาพันธุ์พืชโดยบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรและบรรษัทข้ามชาติ

บริษัทเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชโดยเริ่มต้นจากการนำเข้าพันธุ์ผักเมืองหนาวจากประเทศจีนและไต้หวันเพื่อจัดจำหน่ายก่อน และต่อมาเมื่อศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติประสบผลสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดสุวรรณ 1 จนเป็นยอมรับอย่างกว้างขวางจากเกษตรกรทั่วประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรของไทยและบรรษัทข้ามชาติได้เริ่มต้นเข้ามาทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืชไร่อย่างจริงจัง

นโยบายส่งเสริมการลงทุนและสนับสนุนการให้บริษัทเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมของรัฐ ทำให้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และบรรษัทข้ามชาติ เช่น มอนซานโต้ คาร์กิล ไพโอเนียร์ แปซิฟิค ซินเจนทา สามารถผูกขาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและพืชไร่หลายชนิดได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายในระยะเวลาไม่ถึงสองทศวรรษ โดยหน่วยงานของรัฐซึ่งเคยมีบทบาทในการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจัดจำหน่ายให้กับเกษตรกรในอดีตเปลี่ยนมาทำหน้าที่ในการสนับสนุนกิจการของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวแทน ในรูปของการสนับสนุนเชื้อพันธุ์สำหรับการปรับปรุงพันธุ์และเป็นแปลงทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้าของบริษัทต่างๆแทนความสำเร็จในการผูกขาดพันธุ์พืชเกิดขึ้นเนื่องจากกลยุทธ์การพัฒนาและส่งเสริมพันธุ์พืชลูกผสม(ไฮบริดซีดส์)ของบริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐด้วย เนื่องจากพันธุ์พืชลูกผสมเป็นพันธุ์พืชที่เกษตรกรไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อได้ นอกจากส่งเสริมบทบาทการลงทุนจนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์และบรรษัทข้ามชาติสามารถผูกขาดเมล็ดพันธุ์ผัก ข้าวโพด ข้าวโพดหวาน ข้าวฟ่าง และทานตะวันแล้ว เมื่อเร็วๆนี้รัฐบาลไทยยังได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุน แก่บริษัทไบเออร์ และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมเพิ่มขึ้นอีกด้วยเชื่อว่าภายในไม่เกิน 2 ทศวรรษเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย จะถูกผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่และบรรษัทข้ามชาติเกือบทั้งหมด

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์

กลุ่มอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย นำโดยสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (ซึ่งมีสมาชิกประกอบไปด้วยเจริญโภคภัณฑ์ มอนซานโต้ ไพโอเนียร์ ซินเจนทา แปซิฟิค อีสต์เวสต์ซีดส์ ฯลฯ)  ได้ผนึกกำลังร่วมกับสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย และสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เอง และเอื้ออำนวยให้ประเทศไทยเป็นฮับการผลิตเมล็ดพันธุ์ของเอเชีย  โดยมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้[1]

1)ให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถส่งออกพันธุ์พืชสงวน เช่น พันธุ์ข้าว เป็นต้น ไปขายยังต่างประเทศได้

2)ให้จับกุมการละเมิดสิทธิการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม ที่มีการนำเมล็ดพันธุ์พ่อแม่จากแปลงปลูกไปจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง และนำมาขายตัดราคากับสินค้าของบริษัท

3) ให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ2542 มาตรา 52 ที่กำหนดให้บริษัทซึ่งนำ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” เพื่อการปรับปรุงพันธุ์เป็นพันธุ์พืชใหม่ต้องขออนุญาตและต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ก่อน

4) เรียกร้องให้มีการส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากพืชจีเอ็มโอ

ข้อสังเกตต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์

กลุ่มอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตน โดยอ้างผลประโยชน์ของประเทศบังหน้า ดังนี้ 

1)กรณีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งออกพันธุ์พืชสงวน เป็นการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลผลิตจากพันธุ์พืชพันธุ์ดีของไทยแต่ปลูกในต่างประเทศถูกส่งเข้ามาขายในราคาต่ำกว่าราคาที่เกษตรกรขายในประเทศ เป็นการหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้าของบริษัทโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อเกษตรกรส่วนใหญ่ 

2)กรณีการกล่าวหาเกษตรกรรายย่อยวิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมว่าเป็นขโมยเมล็ดพันธุ์นั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม และสังคมควรตั้งคำถาม เนื่องจาก 

หนึ่งมีหลายกรณีที่พันธุ์พ่อแม่ของพืชลูกผสมที่มาการผลิตในท้องถิ่นมีการพัฒนาสายพันธุ์จนมีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างจากพันธุ์พ่อแม่ของบริษัท 

สอง บริษัทเมล็ดพันธุ์มิได้นำเมล็ดพันธุ์พ่อแม่ไปขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เมื่อพันธุ์พืชเหล่านี้แพร่หลายไปสู่แปลงเกษตรกรโดยทั่วไป ผู้ที่นำพันธุ์พืชดังกล่าวไปปลูกและขยายพันธุ์ต่อจึงมิได้มีความผิดทางกฎหมาย แม้จะมีการตรวจสอบพบว่าสายพันธุ์พ่อแม่นั้นมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันก็ตาม 

สาม บริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่และบรรษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ต่างเคยได้รับเชื้อพันธุ์(gernplasm) รวมถึงพ่อแม่พันธุ์ลูกผสมจากหน่วยงานราชการของรัฐแบบได้เปล่าหรือซื้อในราคาถูก หรือได้มาอย่างไม่ถูกต้องผ่านการจ้างนักปรับปรุงพันธุ์ของรัฐมาเป็นพนักงานบริษัทของตน บริษัทเหล่านี้อ้างสิทธิในพันธุ์ที่ตนได้พัฒนาขึ้นจากพันธุกรรมที่เป็นเกษตรกรและสถาบันวิจัยสาธารณะครอบครองมาก่อนแทบทั้งสิ้น 

สี่ บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้มีกิจการขนาดใหญ่ที่ได้รับสิทธิการส่งเสริมการลงทุน ได้รับสิทธิพิเศษเกี่ยวกับภาษี และการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆจากรัฐ การเรียกร้องของกลุ่มบรรษัทเหล่านี้เป็นการเสริมสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรมากยิ่งขึ้นไปอีก 

ห้า แทนที่จะดำเนินการตามข้อเรียกร้องของบรรษัทขนาดใหญ่ดังกล่าว รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ในสถานการณ์ที่บรรษัทข้ามชาติคืบคลานเข้าผูกขาดเมล็ดพันธุ์ กฎหมายป้องกันการผูกขาดไม่เคยถูกนำมาใช้ปกป้องเกษตรกร สถาบัน วิจัยพันธุ์พืชของรัฐกำลังอ่อนแอและล่มสลาย และสมาคมทางวิชาการกลายเป็นกระบอก เสียงของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ 

3) กรณีการผลักดันให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เป็นความพยายามในการขยายการผูกขาดและต้องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชทั่วไปโดยไม่ต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ หลักการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการนำทรัพยากรพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า เป็นหลักการทั่วไปภายใต้อนสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเกษตรกร และชนพื้นเมืองประเทศโลกที่สามได้ต่อสู้เรียกร้องมานานกว่า 3 ทศวรรษ จนกลายเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศต่างๆมากกว่า 100 ประเทศได้ให้สัตยาบัน ขณะนี้ประเทศต่างๆที่มีความหลาก หลายทางชีวภาพเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ เช่น บราซิล คอสตาริกา อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งสิ้น โดยอาจอยู่ภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืช กฎหมายสิทธิบัตร หรือแยกออกไปเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งก็ได้ การผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของสมาคมเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์สามารถเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพโดยไม่ต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์จึงเป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เกิด “โจรสลัดชีวภาพ” ที่คนทั่วโลกประณามนั่นเอง หากบริษัทเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ประสบผลสำเร็จในการแก้กฎหมายดังกล่าว 

จะทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และได้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ได้ง่ายขึ้น เช่น สามารถนำเอาข้าวหอมมะลิไปปรับปรุงเพียงเล็กน้อยเพื่อทำให้เกิดข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ใหม่ ก็สามารถได้สิทธิผูกขาดได้โดยง่าย เพราะไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องตอบแทนผลประโยชน์ต่อสังคม      ไม่เพียงแต่ข้าวเท่านั้น แต่พันธุ์พืชอื่นๆที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร จะถูกบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรนำไปปรับปรุงพันธุ์เพียงเล็กน้อยๆ แต่สามารถอ้างสิทธิเพื่อผูกขาดในสายพันธุ์เหล่านั้นได้โดยง่าย 4) การเรียกร้องให้มีการวิจัยและส่งเสริมการปลูกพืชจีเอ็มโอ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและเพิ่มการผูกขาดพันธุ์พืชให้มากยิงขึ้นไปอีก เนื่องจากพันธุ์พืชจีเอ็มโอที่ปลูกอยู่ในโลกปัจจุบันมากกว่า 80% เป็นของบรรษัทข้ามชาติเพียงบริษัทเดียว อีกทั้งผลการศึกษาล่าสุดในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ปลูกพืชจีเอ็มโอมานานนับตั้งแต่ปี 2539 พบว่าพืชจีเอ็มโอไม่ได้ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งทำให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล[2]


[1] 3 สมาคมชี้“ คำจำกัดความ “พันธุ์พืชพื้น เมืองทั่วไป” ทำให้สิ้นหวัง….ต่อการพัฒนาเกษตรประเทศไทย ” เอกสารเผยแพร่สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย มีนาคม 2554 และ บทบาท กรอ.ในการเร่งพัฒนาเมล็ดพันธุ์ไทย ในวิกฤติอาหารของโลก BRAINASIA COMMUNICATION 28 กุมภาพันธ์ 2554 [2] อ่านเพิ่มเติมจากเอกสารเผยแพร่ของมูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI BRIEFING) เรื่อง ประสบการณ์ปลูกพืชจีเอ็มโอของสหรัฐ : ไม่เพิ่มผลิต เพิ่มการใช้สารเคมี, เมษายน 2554

BriefingPlantVariety

BriefingSeedPolicy