“เมื่อออกทะเลจับปูได้กินปู ลงอวนปลาได้กินปลา” …ทะเลหน้าบ้านสำหรับคนท่าศาลาคือ ความหวัง ความเป็นจริง การอยู่รอด หรือแม้กระทั่งใบปริญญาของลูกหลาน ขณะที่ในมุมของผู้บริโภค สัตว์ทะเลที่นี่ไม่เพียงบริโภคกันในท้องถิ่น แต่ยังส่งขายไปไกลถึงต่างจังหวัดและตลาดต่างประเทศ
ทว่าความสุขและความมั่นคงในชีวิตของคนท่าศาลา รวมถึงความมั่นคงทางด้านอาหารของคนในหลายพื้นที่กำลังถูกสั่นคลอน เมื่อบริษัทเชฟรอน (บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) มีโครงการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ผ่ากลางอ่าว รวมทั้งการสร้างคลังเก็บสารเคมีและวัตถุอันตรายบนฝั่งที่บ้านบางสาร ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
จากเขาสู่ทะเล ความพิเศษของอ่าวท่าศาลา
บริษัทเชฟรอนระบุเหตุผลที่เลือกสถานที่สร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่อำเภอท่าศาลาว่า เนื่องจากบริเวณดังกล่าว “ไม่เป็นพื้นที่ที่มีข้อจำกัดของการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย หรือเป็นพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ทั้งพื้นที่ในทะเลและพื้นที่บนบท รวมทั้งไม่เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญจำเพาะด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม”
ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคนท่าศาลาที่ชี้ว่าที่นี่เป็นระบบนิเวศจำเพาะอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำ จนถึงกับเรียกขานกันว่า “อ่าวทองคำ”
วิชาญ เชาวลิต ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา กล่าวว่า ทะเลที่นี่ สามารถจับสัตว์น้ำได้ตลอดทั้งปี แม้แต่ในช่วงมรสุม อยู่ที่ว่าช่วงเดือนไหนมีอะไรมาก อย่างฤดูนี้ มีกั้งเยอะ ขายได้กิโลฯ ละ 750 บาท ออกเรือหนหนึ่งมีรายได้เป็นหมื่น (ดูชนิดสัตว์น้ำที่พบมากในแต่ละฤดูกาลที่ตารางท้ายเรื่อง)
จากการประเมินผลกระทบสุขภาพโดยชุมชนของเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลาภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พบว่าอ่าวแห่งนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจนับ 100 ชนิด ทำเงินให้แต่ละชุมชนชายฝั่งนับ 100 ล้านบาทต่อปี ก่อให้เกิดการจ้างงานเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทะเลไม่ต่ำกว่า 5,000คน มีชาวประมงจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น สตูล สงขลา ขนเรือใส่รถมาหากินในช่วงที่สัตว์ทะเลขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งเรือประมงพาณิชย์จากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ก็ยังแล่นมาจับสัตว์น้ำในอ่าวนี้ เกิดสายพานเศรษฐกิจตั้งแต่แพปลารายย่อยไปจนถึงธุรกิจสัตว์ทะเลส่งออกกระจายไปกรุงเทพ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศทั่วโลก
คำพูดที่ว่า “อ่าวท่าศาลาเป็นครัวโลกจึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน” เช่นเดียวกันกับความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวแห่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
เหตุที่อ่าวท่าศาลารุ่มรวยไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำจนถึงกับเปรียบเป็นอ่าวทองคำนั้น วิชาญให้เหตุผลว่าเป็นเพราะระหว่างเทือกเขาหลวงกับทะเลอ่าวไทยมีสายน้ำสายสั้นๆ หลายสายยาวไม่เกิน 75 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างภูเขากับทะเล ตะกอนและแร่ธาตุจากเทือกเขาหลวงจะถูกพัดพาลงสู่ทะเลทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูน้ำหลาก น้ำที่ไหลลงมาจากคลองสายต่างๆ จะปะทะกับกระแสน้ำในร่องน้ำลึก ทำให้เกิดการหมุนวนของน้ำภายในอ่าวรูปตัวซี (C) เศษหิน กรวดทราย ตลอดจนเปลือกหอย เปลือกปู เศษปะการังที่มาจากกระแสน้ำจากร่องน้ำลึก ก็จะถูกพัดมากองทับถมเกิดเป็นสันดอน ซึ่งเป็นที่อาศัย วางไข่ และแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ โดยดอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอ่าวท่าศาลาอยู่บริเวณปากน้ำกลาย ซึ่งก็เป็นจุดเดียวกับที่จะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกของบริษัทเชฟรอน
“เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมลพิษในทะเลหรือการฟุ้งกระจายของตะกอน มันก็จะวนอยู่ในอ่าวรูปตัวซี” วิชาญกล่าว
นอกจากกระแสน้ำหมุนวนที่ทำให้อ่าวท่าศาลาอุดมสมบูรณ์แล้ว กระแสลมที่พัดในแต่ละช่วงฤดูกาลยังเป็นเงื่อนไขกำหนดแหล่งจับสัตว์น้ำและการใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสมด้วย
วิชาญอธิบายว่า กระแสลมที่พัดในแต่ละฤดูกาลทำให้มวลอากาศมีการไหลเวียนในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา กล่าวคือ เมื่อลมมรสุมพัดเข้าสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช มวลอากาศจากทะเลจะไปปะทะกับแนวเทือกเขาหลวง มวลอากาศจะหมุนวนไปทางใต้ตามแนวเทือกเขาหลวงจนถึงเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุงและสงขลา แล้ววนออกสู่ทะเล การวนลักษณะนี้จึงทำให้เกิดลม 8 ทิศพัดเข้าสู่แต่ละพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และมีผลต่อการออกหาอาหารและเคลื่อนย้ายถิ่นของสัตว์น้ำ ดังนั้นเมื่อชาวประมงต้องการออกเรือและวางอวน ก็ต้องดูทิศทางลมก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยวางแผนในการจับสัตว์น้ำ ซึ่งนี่เป็นวิถีประมงที่สืบทอดกันมานานและสัมพันธ์กับระบบนิเวศจำเพาะของท้องถิ่น
ข้อกังวลใจที่ไร้คำตอบ
คนท่าศาลากว่าร้อยละ 60 มีอาชีพทำประมง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนึ่งในข้อกังวลใจที่สำคัญในหลายๆ เรื่องหากมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกบริเวณใกล้ปากน้ำกลายคือผลกระทบต่อวิถีประมงที่ถือเป็นอาชีพหลัก
ทั้งนี้ ท่าเรือของบริษัทเชฟรอนจะสร้างยื่นออกไปในทะเลในลักษณะรูปตัวแอล (L) โดยสะพานท่าเรือมีความยาว 608 เมตร เป็นส่วนที่ยื่นออกไปในทะเลยาว 500 เมตร ขณะส่วนที่เป็นท่าเทียบเรือจะยาว 330 เมตร กว้าง 33 เมตร ในช่วงของการก่อสร้างโครงการจะมีการขุดลอกร่องน้ำเพื่อเป็นทางเข้า-ออกของเรือ โดยตะกอนที่ขุดขึ้นมาปริมาณกว่า 180,000 ลูกบาศก์เมตร จะถูกนำไปทิ้งในทะเลห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือจากพื้นที่โครงการประมาณ 10 กิโลเมตร ส่วนบนฝั่งจะมีการสร้างอาคารเก็บเคมีภัณฑ์ น้ำมัน และสารอันตรายเพื่อใช้ในกิจกรรมการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ขณะที่รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งประเมินผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบที่ตั้งโครงการ พบว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและต้องอพยพย้ายออก 9 ครอบครัว ส่วนในด้านประมง คาดว่าจะมีผลกระทบเพียงในระยะก่อสร้าง
ด้านสุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา กล่าวว่า การที่บริษัทที่ปรึกษาของเชฟรอนประเมินผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตรซึ่งครอบคลุมการรับฟังเสียงจากตำบลกลายนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากในทะเลไม่มีอาณาเขต ประกอบกับพื้นที่ตั้งโครงการเป็นแหล่งทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์ของชาวประมง โดยเฉพาะชาวประมงในหมู่ 5 และหมู่ 6 ในตำบลท่าศาลาล้วนไปประกอบอาชีพที่นั่น ยังไม่นับรวมประมงจากพื้นที่อื่นๆ ทั้งอำเภอสิชล ขนอม หัวไทร ปากพนัง และจากจังหวัดอื่นๆ ที่เข้ามาหาปลาในอ่าวจำนวนกว่าพันลำ ซึ่งการก่อสร้างและขุดลอกร่องน้ำสำหรับเดินเรือจะกระทบกับดอนใหญ่ อีกทั้งสัตว์น้ำหลายชนิดไวต่อเสียง หากสัตว์น้ำหายไป ดอนหายไป วิถีชีวิตของคนท่าศาลาก็ล่ม
“เมื่อปี 2540 เคยมีเรือเข้ามาคราดหอยอย่างหนัก สมัยนั้นชาวบ้านยังไม่เข้มแข็ง ได้แต่ปิดถนนประท้วงเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแก้ไขดูแล วิกฤตการณ์ในช่วงนั้นทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอน เกิดปัญหาน้ำเสีย ปลาลดลง ชาวบ้านบางคนต้องอพยพไปขายแรงงานในกรุงเทพ จนกระทั่งปี 2545 น้ำทะเลค่อยดีขึ้น เริ่มมีปลากลับมา จะเห็นว่าเรือคราดหอยเข้ามาทีหนึ่ง ทะเลต้องใช้เวลาฟื้นฟูถึง 5 ปี ซึ่งโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกจะต้องมีการขุดลอกร่องน้ำเป็นระยะๆ ผลกระทบก็จะไม่ต่างจากการคราดหอยของเรือ”
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข้อกังวลสำคัญคือการถมทิ้งตะกอนปริมาณมหาศาลที่เกิดจากการขุดลอกร่องน้ำ แม้ในรายงาน EHIA จะระบุว่าได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ศึกษาแล้วว่าจะไม่มีผลกระทบ แต่จากประสบการณ์มืออาชีพ นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลาตั้งข้อสงสัยว่าบริเวณที่ทิ้งตะกอนจะไปทับเส้นทางของกุ้งแชบ๊วยหรือไม่ เพราะในรายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้มีการศึกษาชัดเจนว่าบริเวณนั้นมีสัตว์น้ำอะไรอยู่บ้าง หรือมีเรือประมงจากไหนบ้างที่ไปทำมาหากินอยู่ตรงนั้น รวมทั้งภายหลังการก่อสร้างโครงการ การเดินเรือขนาดใหญ่จะทับแหล่งทำมาหากินซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของชาวประมงมากน้อยเพียงใด เพราะชาวประมงจะไม่สามารถไปวางอวนได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนไร้คำตอบที่ชัดเจน มิหนำซ้ำยังไม่เคยลงพื้นที่มารับฟังเสียงคนท่าศาลาอย่างทั่วถึงและแท้จริง
สุพรกล่าวว่า ทุกวันนี้การทำประมงเป็นวิถีที่มีความสุข ตื่นเช้ามาก็ออกเรือหาปลา กลับเข้าฝั่งก็ให้ภรรยาเอาปลาไปขายที่ตลาดนัด ขายเสร็จกลับมา พ่อแม่ลูกก็พากันไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ ประมงที่นี่นอกจากเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้อยู่รอด แต่ยังส่งเสียลูกเรียนได้ถึงระดับปริญญา บางคนจบปริญญาโท บางคนเป็นด๊อกเต้อร์
“หากไม่สามารถทำอาชีพประมงได้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอาชีพอะไร นอกจากไปเป็นกรรมกรขายแรงงาน” สุพรกล่าวด้วยน้ำเสียงเชิงตั้งคำถาม
ที่มา: เมื่อประมงท่าศาลาและความมั่นคงทางด้านอาหารเผชิญจุดเปลี่ยน