สับสนอลหม่านกันมาหลายอาทิตย์แล้วด้วยเรื่องข้าว ในฐานะคนกินข้าวที่เรื่องมาก คือ ชอบรู้ที่มาของข้าว ไม่กินข้าวแข็ง ข้าวเก่าเนื้อยุ่ย และอาจเหม็นสาบ ข้าวมีมดไต่ มอดกัดบ้างไม่ว่ากัน และทำงานอยู่ใกล้คนที่พอจะรู้เรื่องการปลูกข้าว เก็บข้าว ก็ขออนุญาตประมวลความรู้แบบพื้น ๆ ว่าข้าวที่เรากิน จากแปลงสู่ปากนั้นมันมาอย่างไร ที่หวังว่าจะช่วยให้คนกินข้าวพอจะมีความรู้ในการเลือกกิน และพิจารณาข่าวให้เกิดความสงบใจไม่ตกตึ่นกันเกินงาม
เริ่มต้นจากประเภทข้าวแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือข้าวนาปี กับข้าวนาปรัง ข้าวนาปีก็ปลูกกันกรกฎาคมช่วงนี้แหละครับ แล้วไปเกี่ยวช่วงพฤศจิกายน ธันวาคม ช่วงนี้นิยมปลูกข้าวหอมอยู่สองพันธุ์คือ ข้าวหอมมะลิ และ กข. 15 ก็คือข้าวหอมมะลิที่นำไปปรับปรุงพันธุ์โดยการฉายรังสี นอกนั้นก็มีข้าวพื้นเมือง เช่น เหลืองปะทิว ขาวตาแห้ง สังข์หยด พิษณุโลก 1 เหนียวอุบล เหนียวสันป่าตอง เจ๊กเชย 1 ฯลฯ ข้าวพันธุ์ที่ปลูกนาปีต้องเป็นข้าวไวแสง ส่วนข้าวนาปรังก็จะได้เก็บเกี่ยวกันช่วง พฤษภาคม มิถุนายน สิงหาคม พันธุ์ข้าวเป็นข้าวไม่ไวแสง มีข้าวหอมที่นิยมปลูกคือ หอมปทุม หรือปทุมธานี 1 และพันธุ์ผสมต่าง ๆ จากกรมการข้าว และสถานีวิจัยพันธุ์ข้าวต่าง ๆ เช่น พันธุ์ชัยนาท สุพรรณบุรี กข.เลขมาก ๆ ระยะหลัง เช่น กข.31 37 39 41 47 49 51 ฯลฯ พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าวค่อนข้างแข็ง แล้วก็ส่งออกเกือบหมด
คนไทยจำนวนหนึ่งชอบกินข้าวหอมและนุ่ม แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่ชอบข้าวแข็ง ซึ่งก็มีทั้งที่เป็นข้าวพื้นบ้านก็มี และข้าวที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ก็มี เดี๋ยวนี้ข้าวพื้นบ้านหาซื้อยาก พวกพ่อค้าก็เอาข้าวพันธุ์ปรับปรุงใหม่แล้วอ้างว่าเป็นขาวตาแห้ง เป็นต้น

มาดูเรื่องกระบวนการทำนา อย่างย่นย่อนะครับ เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่ทำนาหว่าน มีบ้างจ้างรถดำนาแต่ก็ต้นทุนสูง ยังจำกัดอยู่มาก ก่อนเริ่มต้นก็ต้องฆ่าหญ้าหัวคันนาด้วยไกลโฟเสท แล้วจึงเตรียมดิน ไถดิน ตีเทือก แช่เมล็ด 1 คืนให้งอกเป็นปุ่ม แล้วหว่านเมล็ดเฉลี่ยก็ใช้พันธุ์ข้าวสูงถึง 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านแล้วประมาณ 1 อาทิตย์ วันก็ต้องใส่สารเคมีคุมหญ้าพวกโพรพานิล บิวตาคลอร์ อันนี้เรียกคุมเปียก ถ้าไม่คุมหญ้ามันโตไวกว่าข้าว ส่วนใหญ่เวลาฉีดสารคุมหญ้าชาวนาก็มักผสมยาป้องกันศัตรูพืชจำพวกอบาเม็กติน คลอไพริฟอส หรือไซเปอร์เมทรินด้วย ต่อมาอีกสัก 4-5 วันดูว่าคุมอยู่ไหม หากไม่อยู่ก็ต้องคุมซ้ำอีกรอบ เรียกว่าคุมแห้ง ต่อมาก็ปล่อยน้ำเข้าหญ้าก็จะเริ่มตาย ข้าวเริ่มเป็นต้นโตมาหน่อยก็มีศัตรูจำพวกหนอนเจาะยอด ก็ต้องจัดการ พอข้าวแตกกอ ศัตรูก็จะเป็นจำพวกหนอนกอ แมลงบั่ว เพลื้ยกระโดด ก็ต้องคอยดูคอยฉีด หากแปลงข้าง ๆ เจอแมลงลงแล้วเค้าฉีด ก็ต้องฉีดดักด้วยเดี๋ยวมันยกพลกันมา ทั้งรอบการผลิตก็หว่านปุ๋ย 2-3 ครั้ง ที่อายุ 25 วัน และราว 60 วัน ส่วนใหญ่ในการหว่านปุ๋ยก็หว่านคาร์โบฟูรานไปด้วย แล้วหลังจากหว่านปุ๋ย 2-3 วันก็ต้องฉีดฆ่าแมลงเพราะข้าวมันจะเขียวงามล่อแมลง พอข้าวตั้งท้องก็บำรุงด้วยฮอร์โมนอีก โดยรวมแล้วจำนวนครั้งของการฉีดพ่นกำจัดศัตรูข้าว และโรค ก็ขึ้นกับว่ามีการระบาดมากน้อยเพียงใด ฉีดอะไรบ้างเนี่ยมันยาวมากครับคร่าว ๆ ร่วม 300 ยี่ห้อ แต่แยกแยะดูแล้วเป็นชื่อสามัญราว 20 กว่าชนิดทั้งกำจัดวัชพืช แมลงศัตรูพืช และโรคพืช รายละเอียดต้องติดตามตอนหน้านะครับ
พอข้าวอายุครบ 95-120 วันก็ได้เวลาเก็บเกี่ยว อายุข้าวก็ขึ้นกับพันธุ์ข้าวนะครับ พวกไวแสงก็หนักหน่อย 120 กว่าวัน พวกไม่ไวแสงก็อายุสั้นลงมา เดี๋ยวนี้ตระกูล กข.เลขมาก ๆ มีการพัฒนาไปถึงขั้นอายุเพียง 70 กว่าวันตอบสนองสถานการณ์น้ำท่วมน้ำมาไวได้ดี การเก็บเกี่ยวในปัจจุบันเกือบร้อยทั้งร้อยก็ใช้รถเกี่ยวพร้อมนวด ขนข้าวขึ้นรถไปโรงสีเลย หรือจุดรับจำนำเลย ผลผลิตข้าวนาปีเกี่ยวในฤดูแล้งก็จะมีปัญหาความชื้นน้อยกว่าข้าวนาปรังซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวในฤดูฝนซึ่งค่าความชื้นเฉลี่ยราว 20-25 %
ทีนี้มาดูการจัดการหลังเก็บเกี่ยว เรื่องก็มาอยู่ที่โรงสี โกดังของโรงสี โกดังกลางที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เช่าเก็บข้าวแล้วครับ
การเก็บข้าวเก็บเป็นข้าวเปลือกจะดีที่สุดครับ ข้าวเก็บได้นานเสื่อมสภาพช้า สมัยแต่ก่อนโรงสีเค้ารับซื้อข้าวก็เก็บกันเป็นข้าวเปลือกเป็นส่วนใหญ่ ทะยอยสีเป็นข้าวสารขาย มีออร์เดอร์ก็ค่อยสีข้าว แล้วต้องเก็บข้าวที่ความชื้นไม่เกิน 14-15 % ดังนั้นจากราคารับจำนำตันละ 15,000 บาทหักค่าความชื้นออกชาวนาเจ้าของข้าวก็จะได้ราคาราว ๆ 10,000 – 13,000 บาทต่อตันโรงสีซื้อข้าวมาก็ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในการอบข้าวก่อนเก็บหรือสี คือจะสีข้าวทั้งเปียก ๆ ไม่ได้นะครับต้องอบให้ความชื้นเหลือไม่เกิน 14-15 % ไม่งั้นข้าวหักเสียหายเยอะ
ข้าวที่เก็บก็มีศัตรูเช่นกัน ไม่ว่าจะเก็บเป็นข้าวเปลือกหรือข้าวสาร ศัตรูข้าวเปลือกมันพวกด้วงข้าวเปลือก ผีเสื้อข้าวเปลือกวางไข่มาตั้งแต่ข้าวยังอยู่ในนา ศัตรูข้าวสารก็เหมือนกันก็พวกด้วง พวกมอดหน้าตาหลายแบบ พวกผีเสื้อข้าวสาร แล้วยังมีพวกหนูอีก การป้องกันก็โดยการรมก๊าซ ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วในเวลานี้มีหลัก ๆ อยู่สองตัวคือ เมธิลโบรไมด์กับฟอสฟีน ซึ่งหากใช้ถูกวิธีก็ไม่มีอันตราย ไม่มีการตกค้างยาวนาน อคส.เองก็ระบุให้มีการรมยาป้องกันข้าวเสียหายในโรงเก็บอย่างน้อย 2 เดือนครั้ง ส่วนข้อมูลบอกเล่าภาคสนามก็ว่าส่วนใหญ่แล้วรมยาประมาณ 15 วันครั้ง หรือตามแต่จะเห็นมอดระบาดมาก อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าสารสองกลุ่มที่ใช้มันไม่ค่อยมีปัญหาตกค้าง ยกเว้นแต่เมธิลโบรไมด์ประชาคมโลกเค้ามีข้อผูกพันให้เลิกใช้เร็ว ๆ นี้ด้วยมันเป็นก๊าซตัวหนึ่งที่มีผลทำลายชั้นโอโซน ส่วนว่ามีการใช้สารเคมีอื่น ๆ นอกเหนือไปจากสองตัวนี้หรือไม่ก็ยากจะตรวจสอบนะครับ ไว้มีหลักฐานแล้วค่อยมาว่ากัน
ข้าวในโครงการรับจำนำระยะสองสามปีมานี้ เก็บเป็นข้าวสารนะครับ คือโรงสีตรวจสอบคุณภาพข้าววัดความชื้นชั่งข้าว รับข้าวเปลือกมา คณะทำงานท้องที่ออกใบประทวนให้ชาวนาไปขึ้นเงิน โรงสีจัดการสีข้าว ได้ข้าวต้นถ้าเป็นข้าวขาว 470 กก.ต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 410 กก.ต่อตัน นำส่งโกดังกลางที่อคส. เช่าเก็บ รายได้ก็จะมาจากค่าสี ข้าวหัก รำ แกลบ และข้าวเต็มเม็ดเหลือจากนำส่งคลังรัฐหากได้ข้าวคุณภาพดีปริมาณข้าวต้นสูงหรือซื้อชาวนากด ๆ หน่อย หากมีโกดังให้เช่าก็ได้ค่าเช่าโกดังต่อตันข้าวสารอีกด้วย
ตัวเลขจากรองผู้อำนวยการ อคส.ออกมาบอกว่าปริมาณสต๊อกข้าวสารของรัฐบาลในส่วนที่ อคส. ดูแลมีประมาณ 17-18 ล้านตันข้าวสาร โดยเป็นข้าวจากโครงการรับจำนำนาปี 54/55 ประมาณ 2.3 ล้านตัน จากโครงการรับจำนำนาปรัง ปี 55 ประมาณ 7.2 ล้านตัน และจากโครงการรับจำนำนาปีปี 55/56 ประมาณ 8 ล้านตัน คำถามก็คือ แล้วข้าวที่เรากิน ๆ กันเนี่ยมันมาจากไหน ก็ข้าวส่วนใหญ่มันยังอยู่ในโกดังที่รัฐบาลเช่าเก็บข้าวนี่ครับ ไปเช็คตัวเลขผลผลิตข้าวเปลือกทั้งข้าวขาวและข้าวหอมมะลิจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2554 ผลผลิตข้าวเปลือก 29 ล้านตัน ปี 2555 อีกเกือบ 31 ล้านตัน สีเป็นข้าวสารก็เหลือน้ำหนักประมาณครึ่งนึง เป็นข้าวสารปี 2554 ราว15 ล้านตัน ปี 2555 16 ล้านตัน เรากินข้าวกันปีละประมาณ 8-10 ล้านตัน ตัวเลขส่งออกรวมข้าวขาว ข้าวหอมปทุม และข้าวหอมมะลิ ปี 2554 10.8 ล้านตัน ปี 2555 7 ล้านตัน นี่ทำตัวเลขบวกลบแบบง่ายเกินไปนะครับ เพราะถ้าจะทำให้ละเอียดตัองแยกข้าวออกมาเป็นรายเดือนแยกให้เห็นข้าวนาปี นาปรังซึ่งใช้เวลา แต่ตัวเลขกลม ๆ ง่าย ๆ ก็พอจะบอกได้ว่าาผลผลิตข้าวที่ได้ เมื่อหักที่กินในประเทศ และส่งออกแล้วก็พอดี ๆ เลยยิ่งมึนงงหนักว่าไอ้ตัวเลขข้าวสารเหลือเก็บในโกดังมันยังไงกัน หรือว่าข้าวที่เรากินมาจากไหนกัน สมมุติฐานหลักหรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าเดาอย่างตั้งหลักก็คือ คงมีการแอบขายข้าว เวียนข้าวเข้าโครงการรับจำนำ รวมไปถึงการนำข้าวจากต่างประเทศมาสีขายหรือสวมสิทธิรับจำนำไม่น้อยทีเดียว
ทีนี้มาเข้าเรื่องข้าวเน่า ข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวรมควันพิษ นี่มันยังไง อย่างที่กล่าวมาก่อนแล้วว่า การเก็บข้าวนั้นเก็บเป็นข้าวเปลือกดีที่สุด ข้าวเปลือกเมื่อกระเทาะเปลือกออกเป็นข้าวสารมันก็เป็นแป้งแหละครับ แป้งดูดความชื้น มันก็เก็บยากกว่า หรือมีมอดแมลงมากัดกินก็ยิ่งเป็นแป้งเป็นผงแป้งดูดความชื้นได้ดียิ่งขึ้นก็ยิ่งเน่าเสียง่าย อาการเน่าก็คือ ข้าวป่นเปื่อยจับกันเป็นก้อนมีสีเหลือง ๆ ข้าวเน่าเนี่ยมองเห็นด้วยตานะครับ พวกบริษัทข้าวถุงเค้าก็คงไม่คิดสั้นเอามาบรรจุถุงขาย คือมันประเจิดประเจ้อเกินไป ส่วนว่าจะปนไปกับข้าวแจกบ้างก็เป็นเป็นเคราะห์ซ้ำของคนรับข้าวแจก ทีนี้เน่าอีกแบบคือ มันชื้นแล้วก็เป็นรา พวกอะฟลาท๊อกซินอันนี้ยิ่งอันตรายครับ หากสะสมก็เป็นสารก่อมะเร็ง นี่ก็มองเห็นด้วยตาอีก ข้าวก็อาการประมาณข้าวเน่า คือ ข้าวเกาะกันเป็นก้อน มีกลิ่นอับ มีสีคล้ำ เท่าที่ตามดูข่าวก็ยังไม่พบเห็นว่ามีใครซื้อข้าวถุงแล้วเจอข้าวเน่าเป็นเรื่องเป็นราวนะครับ
ส่วนข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวสารเก็บนานคุณภาพก็คงต้องเปลี่ยนไปตามเวลา ยิ่งข้ามปียิ่งไม่ดี มันดูดความชื้นมันก็ร่วนขึ้น เปราะ ไม่นุ่มไม่หอม กินไม่อร่อย อาจมีชื้นมีกลิ่นอับไม่ถึงกับเน่า แม้เก็บในไซโลโกดังเกรดเอ มีการระบายอากาศที่ดี แต่จะให้ดีมากต้องคุมอุณหภูมิซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จะคาดหวังให้โกดังเช่าเก็บลงทุนขนาดนั้นก็เป็นเรื่องเหนือจริงไปนิด
มาถึงข้าวรมควันพิษ ทางราชการก็ออกมายืนยันว่า สารหรือก๊าซที่ราชการแนะนำให้ใช้สองชนิดนั้น มันเป็นสารระเหย มีการตกค้างน้อย หรือแทบไม่ตกค้าง ทางกรมวิชาการเกษตรเค้าแจกแจงดังนี้ครับ การรมข้าวสารจะใช้เมทิลโบรไมด์ในอัตรา 32 กรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 50 กรัมต่อข้าวสาร 1 ตัน ระยะเวลาในการรม 24 ชั่วโมง และจะระเหยหมดไปทันทีที่เปิดพลาสติก สารชนิดนี้เป็นที่นิยม ใช้เพราะเบากว่าอากาศ จะใช้การระเหยขึ้นด้านบน สามารถแทรกในช่องว่างระหว่างเม็ดข้าวได้ และราคาถูกกว่าสารชนิดอื่น ส่วนสารฟอสฟินเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง ลักษณะ ของฟอสฟินจะเป็นเม็ดเล็กๆ ลักษณะการทำงานคล้ายลูกเหม็น จะใช้การระเหิดจากที่สูงสู่ที่ต่ำ การรมข้าวสารใช้ฟอสฟินในอัตรา 2-3 เม็ด ต่อข้าวสาร 1 ตัน (น้ำหนักเม็ดละ 3 กรัม) หรือฟอสฟิน 9-10 กรัมต่อข้าวสาร 1 ตัน ระยะเวลาการรม 5-7 วัน หลังจากการรมแล้วต้องมีระยะเวลาการถ่ายเทก๊าซ 12 ชั่วโมง วิธีการนี้จะใช้เวลานานกว่าเมทิลโบรไมด์ จึงได้รับความนิยมน้อยกว่า สารพวกนี้จะตายได้ก็จากการสูดดมเข้าไปตรง ๆ ดังนั้นความเป็นอันตรายมากที่สุดของสารพวกนี้จะอยู่ที่ขั้นตอนการรมเป็นสำคัญ นก หนู แมว หลุดเข้าไปในระหว่างการมตายแบบเฉียบพลันทันที เท่าที่นักวิชาการเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ค้นงานศึกษาแบบเร็ว ๆ พบว่ามีรายงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ (NIH) พบว่าผู้ที่ทำงานสัมผัสเกี่ยวข้องกับเมธิลโบรไมด์มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารมากกว่าผู้ไม่เคยสัมผัสเลย ย้ำนะครับพบแค่ผู้ที่มีโอกาสสัมผัส ไม่ใช่ผู้บริโภคจากการตกค้าง

หากเก็บข้าวนานก็ต้องรมก๊าซมากครั้งขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าความเสี่ยงเรื่องการตกค้างในอาจมีมากขึ้น แต่ที่น่าเป็นไปได้มากกว่าคือการตกค้างในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ด้วยว่าก๊าซพวกนี้มันระเหยไปก็ไปจับกับความชื้นในอากาศตกเป็นฝนกลับลงมาพื้นโลก ไปจนถึงการดื้อยาของศัตรูข้าว ทำให้ต้องหาทางจัดการด้วยวิธีการที่อาจเสี่ยงขึ้น
เมื่อมีข่าวลือ ข่าวร้ายเกิดขึ้น ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การอาหารและยา เก็บตัวอย่างข้าวในท้องตลาด 57 ตัวอย่างไปตรวจในแลปหาสารตกค้างหลายกลุ่มพบว่ามีการตกค้าง 26 ตัวอย่างในระดับ 0.9-21 ppm ซึ่งไม่เกินค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้ที่ 50 ppm ซึ่งก็เบาใจได้บ้างว่าเท่าที่ตรวจพบก็ไม่ได้อันตรายมาตรฐานของไทย ญี่ปุ่น และสหรัฐ
แต่เรื่องน่ากังวลก็อาจมีได้เหมือนกัน เพราะบางประเทศกำหนดให้ค่ามาตรฐานที่ตกค้างได้สูงสูด (MRL) ต่ำกว่าที่เรากำหนด ตัวอย่างเช่น อินเดียกำหนดไว้ที่ 25 ppm จีน 5 ppm และไต้หวันที่กำหนดไว้ที่ 1 ppm เท่านั้น ถ้าเป็นแบบนี้ก็อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของเราในระยะยาวได้เหมือนกัน (ppm : part per million หมายความว่า 1 ส่วนในล้านส่วนในกรณีนี้หน่วยเป็นกิโลกรัม 1 ppm ก็คือ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)
ขณะเดียวกันทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับเครือข่ายไทยแพนก็ได้ไปเก็บตัวอย่างมาตรวจบ้างเหมือนกัน เป็นการร่วมตรวจสอบอีกทางหนึ่งครับ ผลน่าจะออกอาทิตย์หน้า
อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นเรื่องดีที่มีการตื่นตัวกัน ทำให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาทำหน้าที่อย่างแข็งขัน และหวังว่าจะมีการตรวจสอบเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่องสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และจะให้ดีรัฐบาลก็ควรเร่งระบายข้าวออกมาน่ะครับก่อนมันจะเสื่อมไปกว่านี้ หรือไปถึงขั้นเน่า แล้วยังต้องรมก๊าซอยู่เรื่อย
พอแค่นี้ก่อนนะครับ หวังว่าข้อเขียนนี้จะช่วยกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ที่นำไปสู่การค้นหาข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าเหตุการณ์ข้าวนี้จะส่งเสริมให้ผู้บริโภคตื่นตัวอย่างมีคุณภาพ ศึกษาค้นคว้าตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน พัฒนาเป็นขบวนการผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการให้หลักประกันอาหารปลอดภัยอย่างจริงจัง
ที่มา: กิ่งกร นริทรกุล ณ อยุธยา