วิถีการผลิตการบริโภคและการค้าในโลกปัจจุบัน เป็นปัจจัยที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล รวมถึงนำมาซึ่งภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามระบบนิเวศของโลก และผลักดันชุมชนมนุษย์ไปสู่หายนะ ภาวะโลกร้อนแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของรูปแบบการพัฒนาที่พึ่งพาผูกพันอยู่กับการบริโภคพลังงานฟอสซิลในระดับสูง การผลิตที่ล้นเกิน และการเปิดเสรีทางการค้า
เกษตรกรชายและหญิงทั่วโลกกำลังจับมือกันกับขบวนการสังคม องค์กรประชาชนและชุมชนอื่น ๆ ทั้งหลาย เพื่อเรียกร้องและเพื่อพัฒนาให้เกิดมีการแปลงเปลี่ยนด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองครั้งใหญ่ เพื่อหยุดยั้งแนวโน้มดังกล่าว
เกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่จะประสบทุกข์ภัยจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะสภาพอากาศที่ผิดแผกฤดูกาลก่อให้เกิดภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม และพายุอย่างผิดปกติ ทำลายพืชผลไร่นาและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร นอกจากนี้พันธุ์พืชและสัตว์กำลังสูญหายไปในอัตราที่รวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เกษตรกรต้องปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยการปรับเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ และระบบการเพาะปลูกไปตามสถานการณ์ที่พยากรณ์มิได้ นอกจากนี้ ภาวะฝนแล้งและน้ำท่วมย่อมทำลายพืชผลที่จะเก็บเกี่ยว ยังความหิวโหยให้เกิดในหมู่คนจำนวนมากขึ้นในโลก มีการศึกษาที่ทำนายว่าผลผลิตจากไร่นาจะลดลง 3 ถึง 16% ภายในปี 2623 ส่วนในเขตร้อน ภาวะโลกร้อนจะทำให้การเกษตรหดตัวลงเป็นอย่างมาก (50% ในเซเนกัล 40% ในอินเดีย) และพื้นที่การเกษตรจะกลายเป็นทะเลทรายในอัตราที่เร็วขึ้น ในทางกลับกัน พื้นที่ขนาดใหญ่ในรัสเซียและแคนาดา (ที่เคยเยือกแข็งตลอดปี) จะกลายเป็นที่ที่ทำการเกษตรได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะปลูกพืชในที่นั้นได้อย่างไร
การผลิตและการบริโภคอาหารที่ดำเนินการโดยบรรษัทธุรกิจ เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน การบ่อนทำลายชุมชนชนบท การขนส่งอาหารข้ามทวีป การผลิตแบบเชิงเดี่ยว การทำลายดินและป่า และการใช้สารเคมีในการเกษตร ล้วนกำลังแปลงเปลี่ยนการเกษตรไปเป็นการบริโภคพลังงาน ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้นโยบายเสรีนิยมใหม่ที่กำหนดมาจากองค์การการค้าโลกและข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค รวมทั้งธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อาหารจะผลิตโดยกระบวนการที่ใช้ยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ยที่ทำมาจากน้ำมัน และขนส่งไปทั่วโลกด้วยน้ำมัน เพื่อการแปรรูปและบริโภค
เวียคัมเปซินา ซึ่งเป็นขบวนการร่วมของเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยจำนวนนับล้านทั่วโลกยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิต แปรรูป ค้าขาย และบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตรกันอย่างถอนรากถอนโคน เราเชื่อว่าการทำการเพาะปลูกขนาดเล็กแบบยั่งยืน และการบริโภคอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น จะสามารถหยุดยั้งหายนะภัยได้ และจะเป็นการอุดหนุนครอบครัวเกษตรกรหลายล้านครอบครัว การเกษตรสามารถจะช่วยลดความร้อนของโลกลงได้ โดยการเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการใช้พลังงานภายในฟาร์ม
นอกจากนี้ ฟาร์มเกษตรยังช่วยผลิตพลังงานทดแทนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแสงแดด และก๊าซชีวภาพ
การเกษตรแบบโลกาภิวัตน์และการผลิตอาหารโดยบรรษัท ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
1. โดยการขนส่งอาหารไปทั่วโลก อาหารสดและอาหารบรรจุหีบห่อแต่ละชิ้นกำลังเดินทางไปรอบโลก ตัวอย่างเช่น ในยุโรปและในสหรัฐอเมริกา จะพบเห็นผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ หรือเหล้าไวน์ ที่ผลิตในอาฟริกา อเมริกาใต้ และหมู่เกาะในมหาสมุทรต่าง ๆ และเราจะพบข้าวจากเอเชียไปวางขายในทวีปอเมริกาหรือในอาฟริกา เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้ไปเพื่อการขนส่งอาหารนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศเป็นจำนวนหลายตัน องค์การชาวไร่ชาวนาของสวิตเซอร์แลนด์ชื่อ ยูนิแตร์ คำนวณไว้ว่า หน่อไม้ฝรั่ง 1 กิโลกรัมที่นำเข้ามาจากเม็กซิโกต้องใช้น้ำมันขนส่งทางเรือบินถึง 5 ลิตร มาที่สวิตเซอร์แลนด์ (ระยะทาง 11,800 กิโลเมตร) ขณะที่หน่อไม้ฝรั่งจำนวนเท่ากัน หากผลิตในสวิตเซอร์แลนด์เองใช้น้ำมันเพียง 0.3 ลิตรก็ถึงมือผู้บริโภค
2. โดยการบังคับใช้กระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม (ใช้เครื่องจักรกล ปลูกแบบเชิงเดี่ยวและเข้มข้น ใช้สารเคมี)การเกษตรแบบที่เรียกกันว่า “สมัยใหม่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกษตรแบบอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยว กำลังทำลายกระบวนการธรรมชาติในดิน (ซึ่งนำไปสู่การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในอินทรียวัตถุ) และเปลี่ยนมันเป็นกระบวนการทางเคมีที่เกิดจากปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช การใส่ปุ๋ยเคมีและการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวแบบเข้มข้นเป็นการผลิตก๊าซไนตรัสออกไซด์จำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ก่อภาวะโลกร้อน ในยุโรป ร้อยละ 40 ของพลังงานที่ใช้ไปในฟาร์มมาจากการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน นอกจากนี้ การเกษตรแบบอุตสาหกรรมต้องใช้พลังงานมากกว่ามาก (และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่ามาก) สำหรับการเดินเครื่องรถแทรกเตอร์ขนาดยักษ์เพื่อไถและคราดที่ดินและแปรรูปอาหาร
3. โดยการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ (และอ่างเก็บคาร์บอน) คาร์บอนเป็นสารที่พืชดักเก็บจากอากาศเอามาตุนไว้ในเนื้อไม้และอินทรียวัตถุในดิน ระบบนิเวศบางประเภท เช่น ป่าไม้พื้นเมือง ป่าพรุ และทุ่งหญ้า เก็บตุนคาร์บอนได้มากกว่าประเภทอื่น
วงจรคาร์บอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของสมดุลของภูมิอากาศมาเป็นเวลาแสน ๆ ล้านปี ธุรกิจการเกษตรของบรรษัทได้ทำลายสมดุลดังกล่าว โดยการผลักดันรูปแบบการเกษตรเคมีอย่างกว้างขวาง (ด้วยการส่งเสริมยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีที่ผลิตจากน้ำมัน) โดยการเผาป่าเพื่อทำไร่พืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ และโดยการทำลายป่าพรุและความหลากหลายทางชีวภาพ
4. โดยการแปลงเปลี่ยนที่ดินและป่าให้เป็นพื้นที่นอกการเกษตร ป่าไม้ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และที่ดินทำกิน กำลังถูกแปลงเป็นพื้นที่ทำธุรกิจการเกษตร หรือศูนย์การค้า โรงงานอุตสาหกรรม บ้านขนาดใหญ่ ๆ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือรีสอร์ทของนักท่องเที่ยว การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศมากขึ้น และลดขีดความสามารถของสิ่งแวดล้อมที่จะดูดซับคาร์บอนจากอากาศในขณะเดียวกัน
5. โดยการแปลงเปลี่ยนการเกษตรจากการเป็นตัวผลิตพลังงานไปเป็นตัวบริโภคพลังงาน เรื่องของระดับพลังงาน บทบาทแรกของพืชและการเกษตรคือการแปลงพลังงานแสงแดดให้เป็นพลังงานที่อยู่ในรูปของน้ำตาลและเซลลูโลส ซึ่งสามารถดูดซับไว้ได้ในอาหารหรือแปลงรูปโดยสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ กระบวนการนี้เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่นำพลังงานเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อาหาร แต่กระบวนการทำให้การเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใน 2 ศตวรรษที่ผ่านมาก่อให้เกิดการเกษตรแบบที่บริโภคพลังงาน (ปุ๋ยเคมี เครื่องจักร สารเคมีการเกษตรที่ทำจากน้ำมัน)
ทางออกที่จอมปลอม
เชื้อเพลิงเกษตร (Agro fuels – เชื้อเพลิงที่ผลิตจากพืช การเกษตร และการป่าไม้) มักจะได้รับการนำเสนอในฐานะเป็นหนึ่งในทางออกที่จะแก้วิกฤตการณ์ด้านพลังงานในปัจจุบัน ภายใต้พิธีสารเกียวโต ร้อยละ 20 ของพลังงานที่ใช้ไปในโลกควรจะมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงเกษตรด้วย แต่ในความเป็นจริง นอกจากความบ้าระห่ำที่คิดจะผลิตอาหารให้รถยนต์กินในขณะที่คนไม่มีกินยังมีอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงประเภทนี้ยังเพิ่มภาวะโลกร้อนแทนที่จะลดลง การเอาพื้นที่ขนาดใหญ่ไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และอ้อย เพื่อแลกกับผลดีเล็กน้อยด้านการลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งยังพิสูจน์ไม่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันจากฟอสซิล (ยกเว้นอ้อย) จะก่อให้เกิดการทำลายป่าและความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มมากขึ้นอีก การผลิตเชื้อเพลิงเกษตรอย่างเข้มข้นจึงมิใช่ทางออกที่จะแก้ปัญหาโลกร้อน และมิใช่ทางแก้วิกฤตในภาคการเกษตรของโลกด้วย
การค้าคาร์บอน (Carbon Trading)
ภายใต้พิธีสารเกียวโตและโครงการนานาชาติอื่น ๆ “การค้าคาร์บอน” ได้รับการนำเสนอให้เป็นทางแก้ภาวะโลกร้อน อย่างหนึ่ง นี่คือการแปรรูปคาร์บอนเป็นสินค้าของเอกชน หลังจากที่มีการแปรรูปที่ดิน อากาศ เมล็ดพันธุ์ น้ำ และทรัพยากรอื่น ๆ กันมาแล้ว รัฐบาลสามารถจะออกใบอนุญาตให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ปล่อยมลพิษ เพื่อที่อุตสาหกรรมดังกล่าวจะค้าขาย “สิทธิในการปล่อยมลพิษ” ระหว่างกันเองได้ โครงการอื่นบางโครงการสนับสนุนให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลงทุนสร้างแหล่งทิ้งขยะคาร์บอนในประเทศฝ่ายใต้ เช่น สวนป่าขนาดใหญ่ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลดระดับการปล่อยคาร์บอนของตนเอง ดังนั้น จะมีสวนป่าขนาดใหญ่หรือเขตอนุรักษ์ธรรมชาติขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นในเอเชีย อาฟริกา และละตินอเมริกา ทำให้หลายชุมชนจะถูกขับออกจากพื้นที่ดังกล่าว และถูกลิดรอนสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากป่า ทุ่ง และลำน้ำ ที่ตนพึ่งพามาตลอด
พืชและต้นไม้ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม
ปัจจุบันมีการพัฒนาพันธุ์พืชและต้นไม้ที่จากการตัดแต่งพันธุกรรมสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงเกษตรโดยเฉพาะ สิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมจะไม่ช่วยแก้วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม เพราะตัวของมันเองเป็นภัยคุกคามทั้งสิ่งแวดล้อม และสุขภาพและความปลอดภัย ยิ่งไปกว่านี้ ยังเพิ่มอำนาจควบคุมของบรรษัทเหนือเมล็ดพันธุ์และทำให้สิทธิของเกษตรกรที่จะปลูก พัฒนา คัดเลือก ดำรงความหลากหลายและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันถูกลิดรอน
พืชและต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของเชื้อเพลิงเกษตร “รุ่นที่สอง” ซึ่งมีเซลลูโลสเป็นฐาน ในขณะนี้เชื้อเพลิงเกษตรรุ่นที่หนึ่งมีน้ำตาลรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้มาจากพืชเป็นฐาน แม้ว่าจะไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรมก็ตาม เชื้อเพลิงเกษตร “รุ่นที่สอง” ภายใต้การควบคุมของบรรษัทก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน
อธิปไตยทางด้านอาหาร ช่วยให้เกษตรนับล้านทำมาหากินได้และปกป้องทุกชีวิตบนโลก
เวียคัมเปซินาเชื่อว่าทางแก้วิกฤตในปัจจุบัน จะต้องมาจากองค์กรจัดตั้งทางสังคมที่กำลังพัฒนาวิถีการผลิต การค้า และการบริโภค ที่อยู่บนฐานของความยุติธรรม ความสมานฉันท์ และชุมชนที่มีสุขภาวะ ไม่มีเทคโนโลยีใดจะแก้ไขหายนะภัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เรากำลังประสบอยู่ได้
การเกษตรยั่งยืนรายย่อยเป็นการเกษตรที่ใช้แรงงานเข้มข้น และใช้พลังงานเพียงเล็กน้อย สามารถจะช่วยให้โลกเย็นลงได้
- โดยการเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ไว้กับอินทรียวัตถุในดิน ผ่านการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แบบยั่งยืน (การเลี้ยงวัวและแกะแบบกระจายในพื้นที่กว้างช่วยสร้างสมดุลในทางบวกในด้านของก๊าซเรือนกระจก)
- โดยการทำเกษตรอินทรีย์และ/หรือการปลูกพืชที่เก็บสะสมไนโตรเจนจากอากาศโดยตรง (nitrogen-fixing plants) แทนการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน
- โดยการผลิตก๊าซชีวภาพจากซากพืชและมูลสัตว์ในขณะที่นำอินทรียวัตถุกลับคืนให้ดินอย่างพอเพียง
- โดยการผลิตพลังงานจากแสงแดดบนหลังคาอาคารในฟาร์มเกษตร (โดยมีการสนับสนุนด้านการลงทุนให้แก่ฟาร์มเกษตรรายย่อย)
ทั่วทั้งโลก เรามีการปฏิบัติและการปกป้องการเกษตรยั่งยืนรายย่อยระดับครอบครัว และเราเรียกร้อง “อธิปไตยทางด้านอาหาร” อธิปไตยด้านอาหารคือสิทธิของประชาชนที่จะมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และเหมาะสมกับวัฒนธรรมของเรา ที่ผลิตด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับนิเวศวิทยาและยั่งยืน และสิทธิของประชาชนที่จะกำหนดระบบอาหารและการเกษตรด้วยตนเอง อธิปไตยด้านอาหารจะยึดถือความมุ่งหวังและความจำเป็นของผู้ที่ผลิต แจกจ่าย และบริโภคอาหาร เป็นหัวใจของระบบอาหารและนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาหาร มาแทนที่ความต้องการของตลาดและของบรรษัทธุรกิจใด ๆ อธิปไตยทางด้านอาหารจะให้ความสำคัญอันดับแรกแก่เศรษฐกิจและตลาดระดับท้องถิ่น และระดับชาติ และสร้างพลังอำนาจให้แก่การเกษตรของชาวไร่ชาวนา และเกษตรกรระดับครอบครัว การประมงพื้นบ้าน การเลี้ยงปศุสัตว์ของผู้เลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าธรรมชาติ และระบบการผลิตแจกจ่าย และบริโภคอาหารที่อยู่บนฐานของการรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
เราเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้ผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจด้านนโยบายทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ
- รื้อถอนบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรออกไปอย่างสิ้นเชิง บริษัทเหล่านี้กำลังขโมยที่ดินของผู้ผลิตรายย่อย ผลิตอาหารขยะ และสร้างหายนะแก่สิ่งแวดล้อม
- ให้การเกษตรยั่งยืนรายย่อยเข้ามาแทนที่เกษตรอุตสาหกรรม โดยได้รับการสนับสนุนด้านการปฏิรูปการเกษตรที่แท้จริง
- ส่งเสริมนโยบายด้านพลังงานที่มีสติและยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการลดการบริโภคพลังงาน และการผลิตพลังงานจากก๊าซชีวภาพและแสงอาทิตย์จากฟาร์มเกษตร แทนที่จะส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงเกษตรอย่างที่เป็นอยู่
- ดำเนินนโยบายการค้าและการเกษตรในระดับท้องถิ่น ชาติ และระหว่างชาติ ที่สนับสนุนการเกษตรยั่งยืนและการบริโภคอาหารในท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการห้ามอุดหนุนสินค้าที่นำไปสู่การทุ่มตลาดด้วยอาหารราคาถูก
*เพื่อการทำมาหาเลี้ยงชีพของผู้ผลิตรายย่อยหลายพันล้านคนทั่วโลก *
*เพื่อสุขภาพของประชาชนและความอยู่รอดของโลก *
*เราเรียกร้องอธิปไตยทางด้านอาหารและ *
*เรามุ่งมั่นที่จะต่อสู้ร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอธิปไตยทางด้านอาหาร *
แปลจาก “Small scale sustainable farmers are cooling down the planet, a Via Campesina background document on global warming” โดยโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) พฤศจิกายน 2550