การประชุมประเทศสมาชิกอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (UNFCC) ครั้งที่ 3 ในปี 2540 ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น จนสามารถจัดทำพิธีสารเกียวโตได้สำเร็จ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้รัฐบาลและภาคประชาสังคมญี่ปุ่นมีความตื่นตัวอย่างมากต่อปัญหาเรื่องโลกร้อน และยังคงมีกระแสต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ในรัฐบาลปัจจุบัน หลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายยาสุโอะ ฟูกูดะ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2550 เพียง 1 สัปดาห์ นายฟูกูดะได้มีการเรียกประชุมในวันที่ 2 ตุลาคม ที่ ?สำนักงานใหญ่เพื่อการป้องกันปัญหาโลกร้อน? (Global Warming Prevention Headquarters) เพื่อทบทวนแผนปฏิบัติการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายตามพิธีสารเกียวโต นายกรัฐมนตรีฟูกูดะได้กล่าวเน้นย้ำว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาร่วมกันของโลกที่ท้าทายต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ เรื่องนี้จะเป็นวาระสำคัญของการประชุม G8 ในปีหน้าที่จะจัดขึ้นที่เมืองฮอกไกโด และญี่ปุ่นจะยังคงเป็นผู้นำโลกในเรื่องนี้ต่อไป

ต่อมาในวันที่ 18 ตุลาคม 2550 นายกรัฐมนตรีฟูกูดะได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 7 กระทรวงเพื่อหารือมาตรการและแนวทางดำเนินงานที่ชัดเจนให้ญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 6% ตามพิธีสารเกียวโต นายกฟูกูดะได้กล่าวเปิดการประชุมว่าประเด็นเรื่องโลกร้อนจะเป็นวาระสำคัญในการประชุม G8 ปีหน้า หากไม่มีการทบทวนแผนเพื่อให้แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จในการลดก๊าซได้ 6% ญี่ปุ่นจะไม่สามารถโน้มน้าวการประชุม G8 ได้

ย้อนหลังกลับไปดูนโยบายก่อนหน้านี้ของญี่ปุ่นในสมัยนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1 ปี (ก.ย.2549- ก.ย.2550) ตอนปลายของสมัยนายกรัฐมนตรีอาเบะ ในเดือนสิงหาคม 2550 รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการประกาศยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ?Cool Earth 50? เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของญี่ปุ่นในการรับมือแก้ไขปัญหาโลกร้อนไปจนถึงปี 2050 โดยมีเป้าหมายต้องการให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ (Low Carbon Society) ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลได้เพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย Law Concerning the Rational Use of Energy และ กฎหมาย Law Concerning the Promotion of the Measures to Cope with Global Warming อย่างเข้มงวดมากขึ้น เช่น กำหนดให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ต้องจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐบาล และมีการเปิดเผยให้สาธารณะเข้าถึงข้อมูลการปล่อยก๊าซได้ หรือ ในกรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการที่เรียกว่า Top Runner Method ได้ รัฐบาลจะใช้มาตรการเริ่มจากการให้คำแนะนำ การสั่งให้ปฏิบัติ ไปจนถึงขั้นปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน เป็นต้น

ในด้านระบอบกติการะหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ Cool Earth 50 กำหนดไว้ว่าต้องให้ทุกประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณสูงมีส่วนร่วมในการลดก๊าซ ดังนั้นต้องมีกติกาที่ขยายไปไกลกว่าพิธีสารเกียวโต นำไปสู่การร่วมลดปล่อยก๊าซกันทั้งโลก ประเทศที่ปล่อยก๊าซเป็นจำนวนสูงที่ถูกกล่าวถึงในยุทธศาสตร์ Cool Earth 50 คือ สหรัฐ (ปล่อย 22%) จีน (ปล่อย18%) รัสเซีย (ปล่อย 6%) ญี่ปุ่น (ปล่อย5%) และ อินเดีย (ปล่อย 4%)

อันที่จริง เรื่องพันธกรณีของ ?ประเทศกำลังพัฒนา? เป็นประเด็นที่มีการเจรจามาตั้งแต่ช่วงการยกร่างมีพิธีสารเกียวโต แต่ถูกต่อต้านอย่างมากจากกลุ่ม G77+จีน ในท้ายที่สุดจึงถูกตัดออกไปจากพิธีสารเกียวโต ท่าทีของญี่ปุ่นต่อการมีส่วนร่วมประเทศกำลังพัฒนาได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนตั้งแต่ในปี 2540 ในการประกาศข้อเสนอเรื่องเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับพิธีสารเกียวโตเมื่อเดือนตุลาคม 2540 นั้น ญี่ปุ่นเห็นว่า ภายในปี 2553 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศกำลังพัฒนาคาดว่าจะมีปริมาณมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นสำหรับการมีพันธกรณีบางอย่างในอนาคตสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยญี่ปุ่นจะแสวงหาการมีส่วนร่วมแบบสมัครใจของประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวหน้า (Advanced Developing Countries) และเริ่มหารือเกี่ยวกับพันธกรณีในอนาคตของประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ ญี่ปุ่นพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายและมาตรการของประเทศกำลังพัฒนาผ่านกลไกกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก หรือให้ความช่วยเหลือแบบทวิภาคีโดยใช้ ODA ทั้งในด้านการเงินหรือด้านเทคโนโลยีเพื่อป้องกันปัญหาโลกร้อน

ในช่วงวันที่ 3-14 ธันวาคมนี้ จะมีการประชุมครั้งสำคัญเรื่องปัญหาโลกร้อนที่บาหลี เป็นการประชุมของประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (UNFCCC) ครั้งที่ 13 และภาคีพิธีสารเกียวโตครั้งที่ 3 วาระประชุมที่น่าติดตามเรื่องหนึ่งที่บาหลี คือ พันธกรณีเพิ่มเติมของ ?ประเทศที่พัฒนาแล้ว? หลังสิ้นสุดพันธกรณีการลดก๊าซเรือนกระจกช่วงแรกของพิธีสารเกียวโตในปี 2555 แม้ว่าวาระการประชุมนี้จะไม่ได้เป็นโจทย์โดยตรงสำหรับ ?ประเทศกำลังพัฒนา? แต่เป็นที่คาดการณ์ว่าผลการประชุมจะมีแรงกดดันกระทบมาถึงประเทศกำลังพัฒนาอย่างแน่นอน ประเทศไทยจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ญี่ปุ่นและประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ จะมีบทบาทและข้อเสนออย่างไรในการประชุมครั้งนี้