เรา ผู้มีรายชื่อข้างล่างนี้ เรียกร้องให้รัฐบาล ธุรกิจและประชาสังคมทั้งปวง รวมทั้งสถาบันต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางกฎกติกากำกับเศรษฐกิจของพวกเรา จงนำเราไปสู่การปรับเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ภูมิอากาศของโลก โดยการเปิดตัวการเปลี่ยนผ่านด้านเศรษฐกิจและพลังงานระดับโลก

การประชุมระหว่างวันที่ 3-14 ธันวาคม 2550 ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย มุ่งที่จะหามติร่วมเพื่อทำการเจรจาเรื่องกรอบอนุสัญญาที่จะเข้ามาแทนที่พิธีสารเกียวโต ซึ่งระยะแรกของพิธีสารนี้จะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555)   เรายินดีที่เลขาธิการ สหประชาชาติ นายบัน คี มูน ได้กล่าวเตือนผู้เจรจาเรื่องภูมิอากาศในช่วงการประชุมระดับสูงที่กรุงนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550 ว่าผู้นำของโลกได้เรียกร้องให้ผู้เจรจาทั้งหลายเริ่มวางกรอบพหุภาคีที่รอบด้านเกี่ยวกับการดำเนินการในอนาคต

การประชุมที่บาหลี จะต้องเริ่มปูทางไปสู่ข้อตกลงระดับโลกที่ยอมรับและเป็นไปภายใต้ขีดจำกัดของโลก และแบ่งปันพื้นที่ทางนิเวศของโลกอย่างเท่าเทียมกัน  เรามีความห่วงใยว่าข้อเสนอที่จะออกมาจะไม่ให้ความสำคัญพอเพียงต่อความใหญ่หลวงของปัญหา และสาเหตุที่แท้จริงของภาวะท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่  ซึ่งจะเป็นอันตรายยิ่ง

เราสนับสนุนให้ที่ประชุมกำหนดเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างหักโหม โดยเฉลี่ยอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 80 ของระดับการปล่อยในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593)  โดยมีทางออกที่ประเทศที่ร่ำรวยกว่าและภาคส่วนภายในแต่ละประเทศที่ร่ำรวยกว่าต้องรับภาระการลดมากกว่า   การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะต้องมีปฏิบัติการอย่างมีพลวัตในทุกระดับของสังคมของเรา โดยประเทศที่ร่ำรวยจะต้องนำทางด้วยการผูกพันที่จะตัดลดการปล่อยก๊าซ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และลดการใช้พลังงานโดยทั่วไปลง (“powering down”) ในขณะเดียวกันก็ช่วยประเทศที่ยากจนกว่าให้ก้าวกระโดดข้ามรูปแบบการพัฒนาที่สกปรกของประเทศร่ำรวย ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียม  การลดการปล่อยก๊าซที่เพียงพอและเสมอภาคจำเป็นจะต้องมีการปรับลำดับความสำคัญและมีการเปลี่ยนผ่านในทุกกิจกรรมของการดำรงชีวิตของเรา  เราไม่สามารถจะดำรงรูปแบบการพัฒนาที่เป็นอยู่ต่อไปได้ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับโลก และระดับประเทศไปในทางที่สอดคล้องกัน…

องค์ประกอบที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการปกครองเศรษฐกิจและพลังงานระดับโลก มีดังต่อไปนี้

  • การวางแผนและดำเนินการพัฒนารูปแบบใหม่ทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา ที่ให้ความสำคัญต่อการสนองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์เป็นอันดับแรก แทนที่จะให้ความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ
  • การวัดความอยู่ดีมีสุขทางเศรษฐกิจที่ใช้ดัชนีชี้วัดใหม่มาแทนที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพื่อวัดความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่อยู่ภายในขอบเขตที่โลกจะรองรับได้ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีพโดยเฉพาะสุขภาพของประชาชนในกรอบของการอนุรักษ์ความมั่งคั่งของธรรมชาติ เช่น ดัชนีความก้าวหน้าที่แท้จริง (Genuine Progress Indicator – GPI)
  • สร้างสถาบันการค้าและการเงินระดับโลก ที่มีภารกิจหลักที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านโลกในลักษณะที่เสมอภาคและเป็นประชาธิปไตย  ปัญหาคือ ธนาคารโลกยังให้เงินกู้แก่โครงการพลังงานฟอสซิลมากกว่าพลังงานสะอาดถึง 15 เท่า  องค์การการค้าโลกก็ประกาศว่า มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะขัดกับข้อตกลงทางการค้าต่างๆ  การเปลี่ยนผ่านที่จำเป็นได้แก่ 1) ระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ทำให้การเผยแพร่เทคโนโลยีพลังงานสะอาดแก่ประเทศกำลังพัฒนาทำได้ยาก   2) การห้ามรัฐบาลออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานด้านประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน  3) ข้อตกลงด้านการเกษตรที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาอยู่รอดได้ยาก เพราะต้องแข่งขันกับธุรกิจการเกษตรของประเทศร่ำรวยที่ทำการเกษตรแบบไม่ยั่งยืนและได้รับการอุดหนุนจากรัฐ
  • สร้างกลไกด้านการลงทุนของโลกที่เอื้อให้ประเทศที่ยากจนและรวยทรัพยากรธรรมชาติสามารถเก็บรักษาป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ครบถ้วน และเก็บเชื้อเพลิงฟอสซิลไว้ในดินได้ตลอดไป โดยไม่ต้องเสียสละการพัฒนาที่ยั่งยืนของตนเอง (เช่นที่เอกวาดอร์ที่ประกาศเกี่ยวกับ 20% ของน้ำมัน)
  • สร้างกองทุนโลกเพื่อพลังงานสะอาด (Global Clean Energy Fund) ที่สะสมทุนจากประเทศร่ำรวยและชนชั้นร่ำรวยของทุกประเทศ (ผ่านการยกเลิกหนี้ ค่าธรรมเนียมผ่านพรมแดน หรือค่าธรรมเนียมจากการค้าอาวุธหรือการเก็งกำไรข้ามชาติ)  เพื่อช่วยประเทศยากจนให้สามารถก้าวกระโดดข้ามเส้นทางการพัฒนาที่สกปรกของประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่  แหล่งพลังงานและเทคโนโลยีทางเลือกทุกอย่างจะต้องนำมาประเมินถึงผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ  ดิน และสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สาธารณชนและรัฐบาลได้รับรู้ข้อเท็จจริง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงทางออกที่จอมปลอม และสามารถเลือกทางออกที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงได้   การคิดต้นทุนด้านสังคมและด้านนิเวศให้รอบคอบ จะช่วยให้ค้นพบทางออกที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และยกเลิกการค้าขายทางไกล และการเป็นเจ้าของกิจการทางไกล ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจายลงสู่ท้องถิ่น และอยู่ภายใต้การควบคุมของชุมชน
  • รับรองพิธีสารการสูญสิ้นทรัพยากรน้ำมัน (Oil Depletion Protocol) ซึ่งจะเป็นกรอบสำหรับประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคน้ำมัน ที่ตกลงกันลดระดับการผลิตและการนำเข้าน้ำมัน เพื่อยับยั้งการใช้น้ำมันจดหมดสิ้นไปจากโลก (เช่นที่สวีเดน ไอซ์แลนด์ คิวบา และอีกหลายประเทศกำลังทำอยู่)  เราจำเป็นต้องลดอุปสงค์ของน้ำมันทั่วโลก มิเช่นนั้นจะเผชิญกับหายนะทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งอย่างรุนแรงจากการแย่งชิงทรัพยากร  ขีดความสามารถของโลกที่จะรองรับมลภาวะจะต้องมีการตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างมีส่วนร่วมและต้องมีการตกลงร่วมกันที่จะลดการบริโภคที่มากเกินจำเป็น และกระจายทรัพยากรและความมั่งคั่งเสียใหม่ไปสู่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุด  ในขณะเดียวกันต้องมีมาตรการลดการขยายตัวของประชากรลง พร้อมกับส่งเสริมสิทธิด้านเศรษฐกิจ การศึกษาและด้านการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง  การพยากรณ์ความต้องการด้านพลังงานมักจะทำกันสูงเกินจำเป็น เราสามารถจะลดช่องว่างลงได้ด้วยการลดการใช้พลังงาน และโยกย้ายวงจรการผลิตและการบริโภคลงสู่ระดับท้องถิ่น ซึ่งประเทศอุตสาหกรรมจะเป็นผู้นำได้ในเรื่องนี้
  • รับรองกติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะเข้าถึงน้ำ (UN Covenant on the Right to Water) น้ำจะเป็นทรัพยากรที่หายากยิ่งขึ้น อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีความกระจ่างชัดด้านบทบาทของรัฐในการจัดหาน้ำสะอาดในราคาที่เหมาะสมให้แก่พลเมือง  กติกาสหประชาชาติจะต้องยอมรับว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่ต้องดูแลรักษา และรัฐบาลต้องดำเนินการอย่างกล้าหาญเพื่อให้มีการอนุรักษ์น้ำ และคุณภาพน้ำ รวมทั้งการกระจายการเข้าถึงอย่างเสมอภาค
  • เสริมความหนักแน่นของข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (multilateral environmental agreements – MEAs) โดยรวม เพื่อปกป้องป่าไม้ ประมง ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศที่เปราะบาง และพันธุ์พืชและสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์  ต้องให้ความสำคัญกับประชาชนและโลกเหนือกำไรของบรรษัทธุรกิจ

เราเรียกร้องให้รัฐบาลของเราที่เข้าประชุมที่บาหลีเร่งรัดให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและเศรษฐกิจของโลก