การเผยแพร่งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ใน Nature Communication เมื่อเร็วๆนี้ที่สรุปว่าการเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักรปล่อยแกสเรือนกระจกมากกว่าการทำการเกษตรแบบอุตสาหกรรมนั้น อาจนำไปสู่การแปรความงานศึกษานี้ไปในทิศทางที่ลดทอนคุณค่าของเกษตรกรรมเชิงนิเวศ โดยเฉพาะในมิติด้านสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ดังนี้
1. งานศึกษาประเภทนี้เป็นการโฟกัสการศึกษาในกรอบแคบๆเกี่ยวกับการปล่อยแกสเรือนกระจกของเกษตรเคมีกับเกษตรกรรมอินทรีย์ ซึ่งพบว่าหากมองในเชิงพื้นที่หรือหน่วยการผลิตแล้วเกษตรอินทรีย์ทั้งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ปล่อยแกสเรือนกระจกน้อยกว่า
2. แต่เมื่อผู้ศึกษากำหนดเป้าหมายการเปรียบเทียบโดยดูจากปริมาณการผลิต โดยตั้งเป้าให้มีปริมาณการผลิตเท่ากับระดับที่เป็นอยู่ การเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักรซึ่งมีผลผลิตต่ำกว่าเกษตรเคมีนั้น ต้องใช้พื้นที่ในการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ใช้พื้นที่ดินเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ส่งผลให้มีการปล่อยแกสเรือนกระจกเพิ่มขึ้น(จะว่าไปแล้วระบบการผลิตไม่ว่าแบบใดที่มุ่งบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณมากในประเทศอุตสาหกรรม คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญการปล่อยแกสเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมนั่นเอง)
3. เราไม่อาจนำผลการศึกษานี้ไปเปรียบเทียบกับการเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมเชิงนิเวศในทุกประเทศทั่วโลกได้ เพราะงานศึกษาโดย Badgley et al. (2007) ที่ทำการทบทวนงานวิจัยต่างๆ 293 ชิ้น พบว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรอินทรีย์ในประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะต่ำกว่าเกษตรเคมี แต่ผลผลิตเกษตรอินทรีย์กลับสูงกว่าในประเทศกำลังพัฒนา สอดคล้องกับงานวิจัยของ FAO ที่ทำโดย Zundel and Kilcher (2007) พบว่าฟาร์มที่พึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกต่ำจะสามารถเพิ่มผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้มากกว่าเกษตรทั่วไป ตรงกันข้ามกับฟาร์มที่พึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกสูง(แบบเดียวกับในสหราชอาณาจักรหรือประเทศอุตสาหกรรม)
4. งานศึกษาชิ้นนี้มองเฉพาะประเด็นการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ซึ่งไม่ได้ทำให้เกษตรเคมีเชิงเดี่ยวมีภาพลักษณ์เป็นเกษตรกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การตกค้างของสารพิษในสิ่งแวดล้อมและอาหาร เป็นต้น หลับตามองดูพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวสุดลูกหูลูกตาเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เปรียบเทียบกับ ระบบวนเกษตรกรรม เกษตรผสมผสาน หรือการทำนาอินทรีย์ที่ฟื้นฟูผืนดินและระบบนิเวศ เราจะเห็นสถานะความแตกต่างระหว่างระบบเกษตรกรรมสองแบบนี้ได้อย่างชัดเจน
กล่าวโดยสรุป งานศึกษาการปล่อยแกสเรือนกระจกข้างต้น เป็นงานที่พึงนำไปใช้อย่างระมัดระวังตามข้อสังเกตข้างต้น หาไม่แล้วงานนี้อาจถูกนำไปสู่การแปรความอย่างสามานย์ได้เช่นเดียวกันกับงานศึกษาหนึ่งในอดีตที่อ้างว่า การปลูกไม้โตเร็วแบบยูคาลิปตัสเพื่อป้อนอุตสาหกรรม ช่วยลดโลกร้อน ดีกว่าการรักษาผืนป่าเอาไว้ นั่นเอง ลิงค์
- https://www.bbc.com/news/science-environment-50129353
- https://workpointnews.com/2019/11/10/organic-farming-produce-more-greenh…
- https://www.nature.com/articles/s41467-019-12622-7.pdf
ที่มา: BIOTHAI Facebook