“แนวโน้มตอนนี้คือ มาตรการลดโลกร้อนทั้งที่มีอยู่และที่กำลังเจรจามีแนวโน้มสูงมากที่จะซ้ำเติมความทุกข์ยากของชาวบ้านให้หนักยิ่งขึ้นในมิติต่าง ๆ และเป็นการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างไม่ตรงจุด ไม่แก้ที่ต้นเหตุสำคัญ”
“หากปราศจากความเป็นธรรม มาตรการลดโลกร้อนซึ่งเริ่มจากเจตนาที่ดีงามก็ไม่จะต่างจากเครื่องมือทรงอานุภาพระดับโลกที่บดขยี้ชุมชนท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติในนามความต้องการพิทักษ์โลกเท่านั้น” จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม แถลงที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมพิตร สถานที่จัดการประชุมภาคประชาชน เวทีคู่ขนานการเจรจากรุงเทพ
“การลดโลกร้อนเป็นสิ่งจำเป็นและต้องร่วมมือกันทั้งโลก ไม่สามารถดำเนินการได้ลำพัง และประชาคมโลกกำลังพยายามดำเนินการอยู่ผ่านเวทีเจรจาของสหประชาชาติ เวทีเจรจากรุงเทพก็เป็นหนึ่งในความพยายามนั้น ซึ่งเราก็คาดหวังว่าผลจะออกมาในทิศทางที่ถูกต้องและทันกับสถานการณ์วิกฤตซึ่งจะกระทบทุกคนอย่างที่ทราบกันดี”
“ภาคประชาชนไทยได้แลกเปลี่ยนและสรุปตรงกันคือความเป็นห่วงต่อความเป็นธรรมของมาตรการเหล่านั้น และขอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการลดโลกร้อนด้วยวิธีและมาตรการที่เป็นธรรม ในระดับประเทศคือรัฐบาลนายกอภิสิทธิ ส่วนระดับโลกคือรัฐบาลและผู้แทนเจรจาในเวทีเจรจาโลกร้อนทั้งที่กรุงเทพและต่อไปถึงเวทีสรุปในโคเปนเฮเกน” นายจักรชัยกล่าว
คณะทำงานเพื่อโลกเย็นฯ ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรประชาชนไทยจัดการเวทีสาธารณะ “ลดโลกร้อน ต้องทำอย่างเป็นธรรม” ระหว่างวันที่ 3-4 ต.ค. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นต่อการดำเนินการลดโลกร้อนระดับโลกที่จะส่งผลต่อประชาชนไทย และจัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยและเวทีเจรจาโลกร้อนสหประชาชาติจาก 5 เครือข่ายองค์กรประชาชนไทย คือเครือข่ายพลังงาน ประมงพื้นบ้านภาคใต้ เกษตร ป่าไม้และที่ดิน และเครือข่ายชนพื้นเมือง
สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล ตัวแทนเครือข่ายพลังงานจากกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกกล่าวว่า
“ภาคอุตสาหกรรมและพลังงานเป็นภาคที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และมีแนวโน้มสูงมากว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราที่น่าเป็นห่วงซึ่งจะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับประเทศในเวทีเจรจาข้อตกลงโลกร้อน
ในสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงมากของภาคพลังงานนั้นเป็นเพราะเราต้องเร่งผลิตพลังงานป้อนภาคอุตสาหกรรมกลุ่มที่ใช้พลังงานยิ่งยวด (มากเป็นพิเศษเมี่อเทียบกับอุตสาหกรรมทั่วไปโดยเฉลี่ย) อย่างอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น แค่โรงเดียวก็ต้องทำให้ไทยต้องหาพลังงานมหาศาล ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลแล้ว
เราเป็นห่วงมากต่อสิ่งที่นักวิชาการสรุปตรงกันว่าแนวโน้มจากนี้ อุตสาหกรรมประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแรงกดดันจากประเทศพัฒนาแล้วที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกตามพันธะสัญญาและย้ายฐานการผลิต โรงงานประเภทนี้มาเมืองไทย
หากเรายังคงเดินหน้าพัฒนากันแบบนึ้ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพราะไม่มีแหล่งพลังงานไหนจะสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มมหาศาลเช่นนี้ได้ คำถามคือสังคมไทยต้องการการพัฒนาแบบนี้หรือ คำตอบคือไม่ แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องตั้งสติทบทวนกันตั้งแต่วันนี้ วันที่ยังพอจะแก้ไขอะไรได้
มิเช่นนั้นลูกหลานเราต้องอยู่กับมลพิษจากทั้งโรงไฟฟ้า โรงเหล็ก และนิวเคลียร์อย่างไม่ต้องสงสัย เราอยากเห็นสังคมไทยทั้งหมดเป็นแบบมาบตาพุดตอนนี้หรือ นี่เป็นคำถามง่าย ๆ จากพวกเราประชาชนที่กำลังเผชิญชะตากรรมหนักหน่วงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและพลังงานที่ผิดที่ผิดทาง
ข้อเรียกร้องเดียวของพวกเราคือ เราต้องการความเป็นธรรมในการพัฒนา ทั้งพัฒนาพลังงาน อุตสาหกรรมและพัฒนาประเทศโดยรวม การพัฒนาที่เราสามารถรับรู้ มีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ เราเชื่อเหลือเกินว่าด้วยการพัฒนาที่เป็นธรรมจะสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืนไปควบคู่กันด้วย” นางสาวสุรีรัตน์กล่าว
บุญ แซ่จุ่ง ตัวแทนเครือข่ายที่ดินป่าไม้ กล่าวว่า
“ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ของรัฐ กำลังกลายเป็นเหยื่อการแก้ปัญหาโลกร้อน เท่าที่ผมและเพื่อน ๆ ในเครือข่ายรับรู้ ในมีการเจรจาที่พยายามหาทางเอาป่าไม้ไปเป็นสินค้าในรูปแบบใหม่ คือรักษาป่าแล้วคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ป่าที่รักษาได้นั้นออกมาเป็นคาร์บอนเครดิตแล้วซื้อขายนั้น
เราคิดว่าแบบนี้จะสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านในเครือข่ายเราที่ตอนนี้อยู่ในเขตที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งที่เราอยู่มาก่อนหลายชั่วอายุคน ตรงนี้เป็นปัญหาที่มีอยู่และเราพยายามร่วมมือกับรัฐในการแก้ปัญหาในระดับชาติ เช่นหาทางออกกฎหมายป่าชุมชน พอมีเรื่องโลกร้อนขึ้นมา จะเป็นแรงกดดันต่อชาวบ้านหนักขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิได้มากขึ้นจากที่เป็นอยู่
ที่สำคัญเราไม่แน่ใจว่าต่อให้สามารถรักษาพื้นที่ป่าบ้านเราไว้ได้ แล้วจะสามารถทำให้ก๊าซโลกร้อนทั้งโลกลดได้เท่าไร เพราะเท่าที่ทราบ คนที่ปล่อยมากและควรต้องลดก่อนเป็นอันดับแรกคือพวกอุตสาหกรรม ประเทศรวย ๆ ที่ใช้พลังงานเยอะ ๆ เราน่าจะไปตั้งเป้าหมายที่กลุ่มนั้นมากกว่า แทนที่จะมาบังคับในภาคป่าไม้ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาอยู่แล้ว แบบนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มของการทำให้การลดโลกร้อนที่เป็นธรรมในระยะยาวในสายตาเรา
สำหรับมาตรการลดโลกร้อนในภาคป่าไม้หากจะทำ ก็ต้องแก้ปัญหาใหญ่ที่มีอยู่ตอนนี้ก่อน คือเรื่องสิทธิชุมชนในการร่วมรักษาป่า ถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้กลไกลดโลกร้อนอย่าง REDD ก็จะเป็นแค่เครื่องมือซ้ำเติมความทุกข์ยากของชาวบ้านในเขตป่า” นายบุญกล่าว
สิทธิโชค แขกปาทาน ตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่า
“เราชาวประมงเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเกิดวิกฤตโลกร้อน คือผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่ม ขึ้น อากาศแปรปรวน เกิดภัยพิบัติ ทำมาหากินไม่ได้เต็มที่ บ้างสูญเสียที่ดิน น้ำทะเลอุ่นขึ้น สัตว์น้ำลดลง หายาก รายได้ลดลง เหล่านี้คือที่เรากำลังเจออยู่
การจะลดก๊าซโลกร้อนหรือเตรียมรับมือโลกร้อนต่าง ๆ ควรต้องอยู่บนหลักการสำคัญคือให้สิทธิชาวบ้านเป็นคนจัดการ ตั้งบนพื้นฐานทรัพยากรและองค์ความรู้ในพื้นที่
สิ่งที่ทำได้เลยตอนนี้ถ้ารัฐมีความจริงใจและตั้งใจแก้ไขปัญหาโลกร้อนจริง คือหยุดและทบทวนโครงการพัฒนาพลังงาน และโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งต่าง ๆ ตัวการใหญ่ปล่อยก๊าซโลกร้อนบ้านเรา แล้วหันมารับรองสิทธิ การสนับสนุนการจัดการทรัพยากรชายฝั่งโดยชุมชนประมงชายฝั่ง” นายสิทธิโชคกล่าว
จรินทร์ คะโยธา ตัวแทนเครือข่ายเกษตรทางเลือก กล่าวว่า
“ภาคเกษตรก็เป็นอีกภาคหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะโลกร้อน และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจนยากที่จะปรับตัวรับมือ
มีความพยายามเสนอมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นการดำเนินการที่ชัดเจนพอที่เราจะบอกว่าควรสนับสนุนหรือคัดค้าน แต่จากทิศทางการพัฒนาการเกษตรที่เป็นอยู่คือเน้นสนับสนุนการเกษตรขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีเยอะ ๆ ใช้เมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) จะไม่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน และอาจทำให้ปัญหาแย่ลงได้
การเกษตรแบบอิงธรรมชาติโดยเกษตรกรรายย่อยคือทางออกสำหรับการพัฒนาการเกษตรที่สามารถช่วยลดโลกร้อนได้ เพราะมีการจัดการที่ดินและการผลิตสอดคล้องกับพื้นที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญเป็นตัวสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารโลก
เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่กำลังหามาตรการลดโลกร้อนสนับสนุนทิศทางการพัฒนาเกษตรรายย่อยเช่นนี้ด้วยเหตุผลดังกล่าว ด้วยทิศทางนี้เราจะสามารถพัฒนาภาคเกษตรที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารไปพร้อมกับการลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง และขอคัดค้านมาตรการใด ๆ ก็ตามที่ขัดแย้งกับทิศทางและหลักการเกษตรกรรมยั่งยืน การเพาะปลูกผสมผสาน
ส่วนมาตรการที่กำลังถกเถียงในเวทีเจรจาตอนนี้อย่างการค้าคาร์บอนจากการจัดการที่ดินนั้น เราเห็นว่าจะทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่ดินของเกษตรกรรายย่อยมากขึ้น จึงไม่ควรสนับสนุน” นายจรินทร์กล่าว
ปฎิภาณ วิริยะวนา เครือข่ายชนเผ่า
“มาตรการลดโลกร้อนที่จะกระทบต่อพี่น้องชนเผ่าของเราคือมาตรการ REDD เพื่อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเป็นการดำเนินการที่มีเงื่อนไขกระทบต่อชาวบ้านในเขตป่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าอย่างหนัก
ปัจจุบันเราชาวชนเผ่าต่างก็เผชิญกับปัญหาหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนักอยู่แล้ว รัฐไม่ค่อยจะรับรองสิทธินี้แก่พวกเรา และกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขร่วมกัน การเข้ามาของมาตรการโลกร้อนจะทำให้สถานการณ์ปัญหาเหล่านี้แย่ลงอีก เป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของพวกเราชัดเจน
ดังนั้นเราขอคัดค้าน REDD และมาตรการลดโลกร้อนใด ๆ ที่จะซ้ำเติมเราเช่นนี้ และพร้อมจะสนับสนุนมาตรการที่ส่งเสริมสิทธิเหล่านี้แก่พวกเรา” นายปฏิภาณกล่าว