การวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลจากกว่า 100 ประเทศในช่วงเกือบสองทศวรรษ บ่งชี้ว่ามลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นเชื่อมโยงกับการดื้อยาปฏิชีวนะที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศและทุกทวีป การค้นพบนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Planetary Health
ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อสุขภาพทั่วโลกที่เติบโตเร็วที่สุด สามารถส่งผลกระทบต่อคนทุกวัยในทุกประเทศ และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 1.3 ล้านคนต่อปี โดยหลักฐานบ่งชี้ว่าฝุ่นละออง PM2.5 สามารถประกอบด้วยแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะและยีนดื้อยา ซึ่งอาจถูกถ่ายโอนระหว่างสิ่งแวดล้อมและมนุษย์สูดดมเข้าไปโดยตรง
โดยมลพิษทางอากาศเป็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของประชาชนอยู่แล้ว การสัมผัสมลพิษทางอากาศเป็นเวลานานเกี่ยวข้องกับภาวะเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด และมะเร็งปอด ทำให้อายุขัยสั้นลง
โดย ศาสตราจารย์ Hong Chen และคณะ จากZhejiang University ประเทศจีน ได้สร้างชุดข้อมูลที่กว้างขวางเพื่อสำรวจว่า PM2.5 เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการดื้อยาปฏิชีวนะทั่วโลกหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลสำหรับ 116 ประเทศตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2018 แหล่งข้อมูลรวมถึงองค์การอนามัยโลก สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปและธนาคารโลก การค้นพบนี้บ่งชี้ว่าการดื้อยาปฏิชีวนะจะเพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับ PM2.5 โดยทุกๆ 10% ของมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นจะเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของการดื้อยาปฏิชีวนะ 1.1%
โดยเมื่อระยะเวลาผ่านไป การเปลี่ยนแปลงของระดับ PM2.5 นำไปสู่การเพิ่มการดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น
จากแบบจำลองของสถานการณ์ บ่งชี้ว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายปัจจุบันเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ภายในปี 2593 ระดับการดื้อยาปฏิชีวนะทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้น 17% ยอดผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประจำปีที่เชื่อมโยงกับการดื้อยาปฏิชีวนะอาจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 840,000 ราย