จากประกาศกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่องการจัดสรรพื้นที่ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตแก่บุคคลภายนอก เมื่อปลายปี พ.ศ. 2565 ซึ่งมี 17 บริษัทได้รับสิทธิ์ดังกล่าว รวมเนื้อที่ทั้งหมด 44,712 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามถามไปยังกรมฯดังกล่าวว่า มีพื้นที่ตรงส่วนไหนบ้าง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ จนเพิ่งมาทราบเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ว่า ในการจัดสรรพื้นที่เหล่านั้น ขึ้นอยู่กับการเจรจากับชุมชนที่มีการดูแลรักษาป่า หรือหมายถึงป่าชุมชนที่มีการจัดการของชาวบ้านอยู่แล้ว ทั้งนี้ในการจัดหาพื้นที่เหล่านั้น ทราบว่าบริษัทที่ได้โควต้าจะได้รับการสนับสนุนในการดำเนินการจากส่วนราชการภายในกรมฯที่รับผิดชอบในเรื่องนี้

ปัจจุบันแม้จะไม่ทราบว่าทั้ง 17 บริษัทเหล่านั้น ได้รับการจัดสรรพื้นที่ป่าไปอย่างครบถ้วนแล้วหรือไม่ แต่ที่พอจะทำให้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น คือได้มีการเข้าไปทำสัญญาระหว่างบริษัทกับชุมกันบ้างแล้วในหลายพื้นที่

จึงทำให้ได้เห็นตัวสัญญาและเนื้อหาที่บริษัททำกับชุมชน ช่างน่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งจะขอสรุปสาระสำคัญให้สาธารณะได้รับรู้ร่วมกันดังนี้

  1. สัญญาที่ทำขึ้นมีอายุทั้งหมด 30 ปี ซึ่งชุมชน ต้องทำกับบริษัทที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่
  2. ชุมชนจะได้รับค่าสนับสนุนการดำเนินการปีแรก ไร่ละ 450 บาท และจากปีที่ 2 จนถึงปีที่ 30 จะได้รับไร่ละ 200 บาท(รับในคราวเดียว) และทราบว่าเบื้องต้นทางบริษัทจะมีการจ่ายเงินให้กับชุมชนก้อนแรก 200,000 บาท (ส่วนที่เหลือจะมีการจ่ายภายหลัง โดยคำนวนจากจำนวนพื้นที่ที่ได้รับจัดสรร)
  3. การจัดสรรรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต มีการแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
  • บริษัท ได้ 70%
  • ชุมชน ได้ 20%
  • กรม ทช. ได้ 10%
  1. ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ในลักษณะของการท่องเที่ยว การสันทนาการ การเก็บหาของป่าหรือสัตว์น้ำที่อยู่ในป่าชายเลน แต่ต้องไม่ทำลายความหลายหลายของระบบนิเวศ
  2. นอกจากนี้แล้วในสัญญายังมีการพูดถึงลิขสิทธิ์ในด้านต่างๆเช่นการประชาสัมพันธ์ หรือการนำผลงานของโครงการนี้ไปสื่อแสดงในที่สาธารณะ ที่ต้องเป็นไปตามข้อตกลงที่บริษัทกำหนดไว้เท่านั้น

จึงมีข้อสังเกตใหญ่ต่อสัญญาดังกล่าว ดังนี้

  1. พบว่าโครงการนี้ มีการเข้าไปจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนชุมชนในหลายพื้นที่ของทุกจังหวัดที่มีการขึ้นทะเบียนป่าชุมชน นั่นหมายความว่า บริษัทไม่ได้เริ่มต้นด้วยการปลูกป่า แต่ไปจับจองป่าที่เป็นป่าและมีความสมบูรณ์อยู่แล้ว จากการดูแลรักษาและฟื้นฟูโดยองค์กรชุมชนที่รวมตัวกัน ซึ่งหลายกลุ่มใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่ป่าจะฟื้นตัวและสมบูรณ์เติบโตจนถึงวันนี้
  2. บริษัทมีสิทธิอะไรที่จะนำพื้นที่ป่าของชาวบ้านเพื่อเข้าสู่การซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต และทำไมชาวบ้านจะขายเองโดยตรงไม่ได้ การออกแบบเช่นนี้เท่ากับเป็นการชุบมือเปิบหรือไม่
  3. หลักเกณฑ์ในการคำนวนรายได้ และการจัดสรรผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้มากถึง 70% มีที่มาที่ไปอย่างไร และใครเป็นคนกำหนด
  4. การกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ แม่จะใช้ภาษาไว้สวยหรู แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผืนป่าดังกล่าวได้ตกเป็นของบริษัทโดยปริยาย เพราะหากเข้าใจความหมายของป่าชุมชนแล้ว ชาวบ้านมีสิทธิใช้ประโยชน์มากกว่านั้น แม้กระทั่งการตัดไม้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามความจำเป็นที่คณะกรรมการกลุ่มเห็นสมควร
  5. เงื่อนไขเรื่องสิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์ ถือเป็นข้อกำหนดที่ทำให้ชาวบ้านสูญเสียความเป็นเจ้าของพื้นที่ป่า และสูญเสียความหมายของคำว่าป่าชุมชน และอาจจะเข้าข่ายผิดกฏหมายป่าชุมชน

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ยังไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อนโยบาย BCG ที่ว่าด้วยเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของรัฐบาล แต่เมื่อมาเห็นเงื่อนไขและวิธีการขับเคลื่อนในรูปแบบดังกล่าวแล้ว ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะนั่นเสมือนกับเป็นการประเคนฐานทรัพยากรของชุมชนที่ดูแลรักษา ฟื้นฟูกันมาอย่างยาวนาน จนมีความอุดมสมบูรณ์ แต่สุดท้ายก็ต้องถูกยึดกลับโดยรัฐและตกเป็นของกลุ่มทุน เพียงแลกด้วยการจัดสรรเศษเงินจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านและชุมชนแค่เล็กๆน้อย ร้ายไปกว่านั้นคือการสูญเสียความเป็นเจ้าของป่าที่แท้จริง

จึงสรุปได้ว่า นี่คือความชั่วร้ายที่สุดของระบบกลืนกินฐานทรัพยากรของชุมชน โดยรัฐและกลุ่มทุนที่จับมือกัน แล้วใช้ภาพและภาษาที่สวยงามว่าเป็นการ “ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าชายเลน และเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน” ดูน่าขำ..แต่ก็ขำไม่ออก