หากจำได้ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ บริษัทเมล็ดพันธุ์และผู้สนับสนุนพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยได้ฉวยโอกาสที่ประเทศไทยปกครองโดยคณะทหารเสนอให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากกระแสคัดค้านขององค์กรภาคประชาชนและสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทยรวมทั้งภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการส่งออก คณะรัฐมนตรีในยุคนั้นหาทางประนีประนอมโดยอนุญาตให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในไร่นาได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขเข้มงวด เช่น ต้องทดลองในสถานที่ของราชการเท่านั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ องค์กรสาธารณประโยชน์ ต้องมีรายงานประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติในกรณีที่ต้องการทดลองจีเอ็มโอเป็นกรณีๆไปเท่านั้น

สาเหตุสำคัญของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาการหลุดลอดออกไปของพืชจีเอ็มโอออกไปปนเปื้อนในแปลงเกษตรกรระหว่างที่มีการทดลองในอดีตถึงสองครั้งสองครา คือ กรณีการหลุดลอดของฝ้ายจีเอ็มโอของบริษัทมอนซานโต้เมื่อปี  2542  และกรณีการหลุดลอดของมะละกอจีเอ็มโอของกรมวิชาการเกษตรร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์แนลเมื่อปี 2547  จนส่งผลกระทบต่อประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ ดังที่ทราบว่าประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปได้ตีกลับมะละกอจีเอ็มโอเป็นจำนวนมากหลังจากตรวจพบว่าเป็นพืชจีเอ็มโอ

และเมื่อรัฐบาลทหารขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งในปี 2557 บริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติและยักษ์ใหญ่เมล็ดพันธุ์ของประเทศไทยได้จับมือร่วมกันผลักดันพืชจีเอ็มโออีกครั้ง โดยคาดหวังว่าภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและการแสดงออกของประชาชนถูกจำกัดนี้ จะทำให้พวกเขาประสบผลสำเร็จ หลังจากที่ล้มเหลวมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา

เมื่อเร็วๆนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และตัวแทนบริษัทมอนซานโต้ซึ่งอยู่ใน “คณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และ อ้อย” ที่มีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้แถลงว่าคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะเสนอให้รัฐบาลอนุญาตให้มีการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย  แต่ก็มีกระแสคัดค้านจากหลายฝ่าย ทำให้พลเอกฉัตรชัย ได้สั่งการให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยได้ลงนามแต่งตั้ง “คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 และคณะทำงานชุดดังกล่าวได้จัดให้มีการประชุมครั้งแรกขึ้นในวันที่ 30 กันยายน 2557   มีองค์ประกอบซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนรวม 21คน โดยมีนางจิราวรรณ แย้มประยูร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นเลขานุการคณะทำงาน

BIOTHAI พบว่ากระบวนการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ชอบมาพากลหลายประการ เช่น

  1. จดหมายเชิญการประชุมเพิ่งออกเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 และนัดประชุมในวันที่ 30 กันยายน 2557 โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าใดๆทั้งสิ้น ดังนั้นหลายหน่วยงานไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เช่น คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้แทนสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เป็นต้น หลายหน่วยงานที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับจีเอ็มโอไม่มีโอกาสได้เตรียมเอกสารมาเสนอต่อที่ประชุม
  2. ประธานในที่ประชุมคือนางจิราวรรณ แย้มประยูร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในวันเดียวกับวันประชุม พยายามจะรวบรัดให้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการวางแนวทางการวิจัย เพื่อเตรียมการให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในไร่นาตามข้อเสนอของบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ โดยไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญกับภารกิจหลักในข้อแรก(ตามคำสั่งแต่งตั้ง) คือศึกษาความเป็นไปได้ทางวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคมเกี่ยวกับการนำพืชและผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอมาใช้ในประเทศไทย
  3. เป็นที่น่าสังเกตว่าในระหว่างการประชุม ประธานในที่ประชุมได้อนุญาตให้ตัวแทนบริษัทมอนซานโต้ นำเสนอสไลด์เพื่อโน้มน้าวให้คณะทำงานเห็นชอบกับการปลูกพืชจีเอ็มโอโดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที หรือใช้เวลาประมาณ 1/3 ของการประชุมทั้งหมด สไลด์การนำเสนอในบางแผ่นภาพเหมือนกับสไลด์ที่จัดเตรียมโดยเลขานุการคณะทำงาน
  4. คณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งมีตัวแทนภาคเอกชนถึง 5 องค์กร (รวมทั้งตัวแทนของบริษัทมอนซานโต้ ซึ่งเข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทน “สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย” ) ในขณะที่ไม่มีตัวแทนจากภาคสังคมเช่น องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (ยกเว้น BIOTHAI) และภาคเอกชนที่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบของจีเอ็มโอ เช่น สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งได้แสดงบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับจีเอ็มโอในประเทศไทย  กลับไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน

โชคดีอยู่บ้างที่คณะทำงานชุดนี้มีตัวแทนสภาเกษตรกรแห่งชาติได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานด้วยโดยนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

ในระหว่างการประชุม ประธานสภาเกษตรกรได้ให้ความเห็นในเรื่องที่เป็นหัวใจของปัญหาจีเอ็มโอว่า “คณะทำงานนี้ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า หนึ่ง เกษตรกรจะได้ประโยชน์หรือผลประโยชน์จะตกเป็นของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ เนื่องจากเมล็ดพันธุ์แพงและการผูกขาด ?  สอง พืชจีเอ็มโอที่จะนำมาทดลองเป็นเทคโนโลยีของเราเองหรือเป็นเทคโนโลยีของต่างชาติ ?  เพราะในท้ายที่สุดแล้วคณะรัฐมนตรีจะต้องอธิบายเหตุผลต่อประชาชนว่าทำไมจึงอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ”

หลังจากมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยตัวแทนจาก BIOTHAI และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยืนยันให้คณะทำงานต้องศึกษาผลทางเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับจีเอ็มโอไปพร้อมๆกันด้วย  นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะทำงานได้สรุปการประชุมว่า จะมีการจัดประชุมอีกประมาณ 3-4 ครั้งก่อนนำเสนอต่อ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ และการประชุมครั้งหน้าจะเปิดให้มีการนำเสนอผลการศึกษาทางวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคมเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอมาพิจารณา พร้อมๆกับการการพิจารณาเกี่ยวกับการวางแนวทางการวิจัยและกฎเกณฑ์เพื่อเตรียมการให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอ

ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเหตุผลที่ว่ารัฐบาลทหารอาจตัดสินใจนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อเอาใจชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อีกทั้งต้องการการสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์และอุตสาหกรรมอาหารเพื่อต่ออายุรักษาอำนาจทางการเมืองของตนนั้น รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสสูงมากที่จะตัดสินใจให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก