หากใครควบคุมและผูกขาดเมล็ดพันธุ์ได้ นั่นหมายถึงการควบคุมระบบเกษตรและอาหารของประเทศและของโลกเอาไว้ในมือของตน

“วิทยาศาสตร์” ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันจีเอ็มโอให้กลายเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางนโยบาย โดยทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็น “วิทยาศาสตร์บรรษัท” หรือ Corporate Science มีตัวอย่างของการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ของบรรษัททั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก เป็นจำนวนมาก

1) การใช้งานวิจัยของบรรษัทในการขออนุญาตปลูกพืชจีเอ็ม พืชจีเอ็มโอไม่ว่าจะเป็นพืชที่ผลิตสารพิษบีที และพืชต้านทานสารปราบวัชพืชโดยทั่วไปจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีการปลูกจนกว่าจะมีผลการทดลองว่าไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

  • รายงานการประเมินดังกล่าวส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นรายงานที่ทำโดยบริษัท
  • บริษัทขัดขวางไม่ให้นักวิทยาศาสตร์อิสระนำพันธุ์พืชจีเอ็มของตนไปทดลองเรื่องผลผลิตและผลกระทบ ( http://www.scientificamerican.com/article.cfm?id=do-seed-companies-contr… )
  • แต่ที่ย่ำแย่ไปยิ่งกว่านั้นคือจากการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้พบว่า 81% ของพืชจีเอ็มที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ (http://www.biosafety-info.net/article.php?aid=1108)

2) บรรษัทจ้าง/สนับสนุนเงินทุนแก่นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการรวมไปถึงแม้กระทั่งสถาบันทางวิทยาศาสตร์หรือสถาบันการศึกษา วิจัยและเผยแพร่งานที่เป็นประโยชน์ของตน

  • บริษัทมอนซานโต้สนับสนุนเงินแก่มหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อให้มีการเตรียมการทดลองข้าวโพดจีเอ็มโอ NK603 โดยก่อนหน้านี้ได้สนับสนุนกรมวิชาการเกษตรให้ทำการทดลองฝ้ายบีที การวิจัยดังกล่าวอ้างว่าเป็นการวิจัยเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ ทั้งๆที่จริงๆแล้วเป็นการทำงานวิจัยเพื่อบริษัทจะได้ใช้งานวิจัยดังกล่าวเพื่อยื่นขออนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มดังกล่าวในประเทศไทยเท่านั้น
  • CropLife Asia ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยบรรษัท เช่น มอนซานโต้ ดูปองท์ ซินเจนทา เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทั้งการสนับสนุนข้อมูลและการจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือเรื่อง “หนึ่งทศวรรษของพืชจีเอ็มโอในทวีปยุโรป ความหวาดกลัวและข้อเท็จจริง” โดยข้อมูลส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่ได้มาจากบรรษัท 
  • บริษัทสนับสนุนให้นักวิชาการเศรษฐศาสตร์อาวุโสในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนบทความสนับสนุนประโยชน์ของการปลูกฝ้ายบีทีในประเทศไทย (มีผู้ปฏิเสธที่จะเขียนบทความดังกล่าวแม้ว่าจะได้ค่าตอบแทนสูงมาก เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเขียนบทความที่เป็นการส่งเสริมผลประโยชน์ของบริษัทไม่ใช่บทความทางวิชาการที่ควรจะเป็น)

3) บริษัทมอนซานโต้ประเทศไทย จ้างนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

นักวิทยาศาสตร์ที่จัดทำนโยบายความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมวิชาการเกษตร และข้าราชการจากสำนักนโยบายและแผน กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีใกล้ชิดกับผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงวิทยาศาสตร์มาเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท โดยมีหน้าที่หลักสำคัญคือใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็ม เช่น เดียวกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จ้างอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ปลัดกระทรวงเกษตร และเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนเพื่อเอื้อประโยชน์ในการทำงานให้บริษัท

4) บรรษัทสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนนโยบายของตน

เช่น สนับสนุนการตั้ง ISAAA ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เผยแพร่เกี่ยวกับข้อมูลสถิติ และประโยชน์ของจีเอ็มโอ โดยใช้วิธีการนำเสนอข้อมูล คัดเลือก หรือแม้กระทั่งการบิดเบือนข้อมูลที่เป็นไปในทิศทางที่้เป็นประโยชน์ต่อบรรษัทไปเผยแพร่ ( https://www.foeeurope.org/press/2009/Feb10_Biotech_indsutry_fakes_growth… )หรือในกรณีประเทศไทยมีการตั้งสมาคมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อทำหน้าที่ในการส่งคนของบรรษัท หรือคัดเลือกบุคคลที่ส่งเสริมผลประโยชน์บรรษัทไปทำหน้าที่ในคณะกรรมการต่างๆของรัฐ รวมทั้งการสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน (โดยเฉพาะสื่อมวลชนเกษตร) และเกษตรกรไปดูงานในต่างประเทศ และจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับประโยชน์ของจีเอ็มโอ

การดำเนินการดังกล่าวของบรรษัทเป็นการทำให้วิทยาศาสตร์ซึ่งควรเป็นรากฐานของการแสวงหาความจริงและเป็นรากฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของสาธารณะแปรเปลี่ยนเป็น “วิทยาศาสตร์เพื่อผลประโยชน์บรรษัท”