การถกเถียงเกี่ยวกับจีเอ็มโอ(genetically engineered organism) หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและอาหารดัดแปรพันธุกรรม (genetically engineered food)ปะทุขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติได้ผลักดันให้รัฐบาลปัจจุบันเปิดให้มีการทดลองพืชจีเอ็มในแปลงเปิด และเตรียมให้มีการปลูกเชิงพาณิชย์ แต่ได้รับการคัดค้านจากเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อย องค์กรผู้บริโภค และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เป็นต้น
อาหารดัดแปลงพันธุกรรม เป็นอาหารที่ได้มาจากผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม โดยมีการตัดต่อหน่วยพันธุกรรม(gene)ของสิ่งมีชีวิตไปสู่สิ่งมีชีวิตเป้าหมายเพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ เช่น ตัดต่อหน่วยพันธุกรรมจากแบคทีเรียเข้าไปใส่ในถั่วเหลือง หรือข้าวโพดเพื่อให้พืชดังกล่าวสามารถสามารถผลิตสารพิษขึ้นในเนื้อเยื่อของพืช ดังนั้นเมื่อแมลงกัดกินพืชนั้น ทำให้แมลงตายโดยหวังว่าวิธีการนี้จะทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลงหรือตัดต่อหน่วยพันธุกรรมของไวรัสใส่ในพืชเพื่อให้พืชนั้นสามารถต้านทานสารเคมีกำจัดวัชพืช เกษตรกรสามารถพ่นสารเคมีได้มากโดยไม่ต้องกลัวว่าพืชนั้นจะได้รับผลกระทบ เป็นต้น
การตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าวถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาการผูกขาด เพราะแม้แต่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่มีความเห็นเป็นที่ยุติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังที่ดร.เดวิด ซูซูกิ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม-พันธุศาสตร์ที่มีชื่อเสียงผู้เขียนตำราเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ซึ่งเป็นตำราที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวเอาไว้เมื่อเร็วๆนี้ว่า
นักวิทยาศาสตร์คนใดที่บอกคุณว่าจีเอ็มโอปลอดภัยหรือไม่ต้องกังวล ถ้าไม่ใช่เพราะไม่ประสีประสากับความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์แล้ว ก็เป็นเพราะเขาจงใจโกหก แท้จริงแล้วไม่มีใครทราบหรอกว่าผลกระทบระยะยาวของจีเอ็มโอจะเป็นเช่นไร
ปัญหาสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของการคัดค้านของผู้บริโภค กลุ่มสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยมีอยู่สามเรื่องสำคัญคือ ปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อความไม่ปลอดภัยของอาหารดังกล่าว ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากจีเอ็มโอ และปัญหาการผูกขาดของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่มาพร้อมระบบกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ซึ่งเป็นฐานรากของระบบอาหาร
ผลกระทบต่อสุขภาพของเรื่องจีเอ็มโอ
ปัญหาผลกระทบต่อเรื่องสุขภาพที่เกิดขึ้นจากอาหารดัดแปรพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับความกังวลเกี่ยวกับความเป็นพิษจากสารที่ถูกผลิตขึ้น โอกาสที่จะเกิดการแพ้และการที่การต้านทานยาปฏิชีวนะจากยีนแปลกปลอมที่ใช้ในกระบวนการตัดต่อพันธุกรรม ตลอดจนสัดส่วนและองค์ประกอบของสารอาหารที่แตกต่างไม่เทียบเท่ากับอาหารทั่วไปที่เราเคยรับประทาน เป็นต้น
กลุ่มผู้สนับสนุนมักอ้างว่ากระบวนการประเมินความเสี่ยงทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวได้ แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นใจได้เนื่องจากเหตุผล 3 ประการคือ
หนึ่ง งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอมักเป็นการทำการทดลองในระยะสั้นๆเท่านั้น ในขณะที่ผลกระทบนั้นเป็นเรื่องระยะยาว
สอง อุปสรรคสำคัญสำหรับการทดสอบความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอ เกิดจากการขัดขวางของบริษัทผู้ผลิตจีเอ็มโอไม่ให้มีการนำผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อให้นักวิชาการอิสระทำการประเมินเรื่องความปลอดภัยนั้น เรื่องนี้ ทำให้ประชาคมวิทยาศาสตร์อดรนทนไม่ได้จนต้องทำจดหมายร้องเรียนรัฐบาลสหรัฐ
สาม สาธารณชนตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยทางอาหารของ FDA สหรัฐเนื่องจากพวกเขาพบว่าเหล่าผู้บริหารระดับสูงหลายคนมาจากผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่จีเอ็มโอ
คณะทำงานของ UN ที่ใช้ชื่อว่า International Assessment of Agricultural Knowledge Science and Technology for Development (IAASTD) ซึ่งเป็นคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อประเมินความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทางการเกษตรสำหรับการพัฒนา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกระบวนการประเมินจาก 110 ประเทศ 900 คน ได้เผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของจีเอ็มโอว่า
“ผลกระทบของจีเอ็มโอยังเป็นที่เข้าใจน้อยมากในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายและทำให้การวิจัยเรื่องความเสี่ยงเปิดเผยต่อสาธารณะ”
“การประเมินเทคโนโลยีนี้ยังตามหลังการพัฒนาของมัน ข้อมูลที่มียังไม่เพียงพอ กระจัดกระจายและขัดแย้งกันเอง ทั้งประเด็นความเสี่ยง ผลกระทบและผลประโยชน์ของมัน ทั้งในประเด็นทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ”
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ไคล์ฟเจมส์ ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ ISAAA (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Application) องค์กรที่ตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น มอนซานโต้ ซินเจนทา ดูปองท์ได้เข้าพบกับนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณอยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย เจมส์บอกกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของไทยว่า พืชจีเอ็มโอนั้นมีความปลอดภัย จากการที่ผู้บริโภคในสหรัฐได้บริโภคผลิตภัณฑ์มานานถึง 19 ปีแล้ว แต่กลับไม่พบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพแต่ประการใด
คำกล่าวข้างต้นเคยถูกตอบโต้โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาที่รวมตัวกันในนาม เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป (The European Network of Scientists for Social and Environmental Responsibility- ENNSSER) ว่าที่จริงยังไม่มีงานศึกษาเชิงระบาดวิทยา (epidemiological studies)เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการบริโภคอาหารจีเอ็ม ดังนั้นการอ้างว่ามีผู้บริโภคในอเมริกาเหนือบริโภคจีเอ็มโอมาเป็นเวลานานนับสิบปีแต่ก็ไม่เห็นปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นเพียงการพูดลอยๆโดยไร้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์รองรับ
ในทางตรงกันข้ามกลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้ที่ติดตามปัญหาเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอในสหรัฐกลับพบว่าการปลูกพืชจีเอ็มโอในสหรัฐเพิ่มขึ้นทำให้มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเสทเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว( 90%ของพืชจีเอ็มโอในสหรัฐเป็นพืชที่ตัดต่อยีนต้านทานยาปราบวัชพืช) ไกลโฟเสทเหล่านั้นกระจายไปในดิน น้ำ และอากาศ รวมทั้งพบปนเปื้อนในผลผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพด และล่าสุดนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้พบว่าสถิติการใช้สารไกลโฟเสทที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐมีลักษณะคล้ายกับกราฟการเพิ่มของโรคหลายชนิดเช่น อัลไซม์เมอร์ออร์ทิสติค และมะเร็งตับ เป็นต้น

ขณะนี้เริ่มมีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่พบว่าไกลโฟเสทซึ่งมาพร้อมกับพืชจีเอ็มโอนั้นมีพิษเรื้อรังต่อสุขภาพของมนุษย์ตัวอย่างเช่น “สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเสทเป็นส่วนผสมมีความเป็นพิษและรบกวนการทำงานของเซลล์ต่อมไร้ท่อของมนุษย์” (Gasnier C. และคณะ ตีพิมพ์ใน Toxicology. 2009 Aug 21; 262(3): 184 – 91) งานวิจัยนี้พบว่าแม้ใช้สารนี้ในระดับที่ต่ำเช่นเพียง 0.5 ppm ก็มีผลกระทบต่อต่อมไร้ท่อ และมีผลกระทบต่อ DNA ในระดับที่ใช้เพียง 5 ppm เท่านั้น นักวิจัยได้เสนอให้มีการพิจารณาสารเคมีนี้เป็นสารก่อมะเร็งและก่อกลายพันธุ์
งานวิจัยชิ้นสำคัญในประเทศไทยที่สนับสนุนข้อค้นพบของประชาคมวิทยาศาสตร์คืองานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (โดย Thogprakaisang S., Thiantanawat A., Rangkadilok N., Suriyo T., Satayavivad J.) ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Food and Chemical Toxicology( Food and Chemical Toxicology 59 (2013) 129–136) เรื่อง “ไกลโฟเสท ชักนำให้เซลล์มะเร็งเต้านมของมนุษย์เจริญเติบโต โดยผ่านทางตัวรับของฮอร์โมนเอสโตรเจน” ข้อค้นพบสำคัญของงานศึกษานี้คือ “ไกลโฟเสท ทำให้เพิ่มการเจริญขยายตัวเฉพาะในโรคมะเร็งเต้านมที่ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนของมนุษย์” และ “ไกลโฟเสท ในขนาดความเข้มข้นต่ำก็มีผลกระทบต่อการทำงานของเอนไซม์เอสโตรเจน”
อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าจีเอ็มโอเกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคออร์ทิสติคอัลไซม์เมอร์ และมะเร็งชนิดต่างๆ แต่อย่างน้อยที่สุดข้อมูลเหล่านี้ควรทำให้ผู้ที่กล่าวอ้างว่าประชาชนบางภูมิภาคที่บริโภคอาหารจีเอ็มเป็นเวลานานหลายปีไม่เห็นว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพต้องสงบปากสงบคำลงไปในที่สุด
การต่อต้านที่ขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้น
แม้จะเริ่มมีการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1996 แต่กลับเป็นประชาชนในทวีปยุโรปที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นภูมิภาคแรก โดยกระแสการต่อต้านพืชและอาหารจีเอ็มโอได้เริ่มต้นในยุโรปมานานเกือบ 20 ปี
กลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอเคยเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปกระแสการต่อต้านจะค่อยๆลดลงในที่สุด แต่กลับเป็นไปในทางตรงข้ามโดยผลการสำรวจพบว่า กระแสการสนับสนุนอาหารจีเอ็มโอกลับยิ่งลดลง ทั้งในยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก ที่น่าสนใจคือ ประเทศที่อนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ในพื้นที่จำกัด เช่น สเปน และโปรตุเกส ซึ่งประชาชนมากกว่า 60% เคยสนับสนุนอาหารจีเอ็มโอเมื่อปี 1996 บัดนี้กลับลดเหลือเพียง 35-37% เท่านั้นบางประเทศที่มีประชากรเป็นจำนวนมากและเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกอาหารของไทย เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี มีผู้สนับสนุนอาหารจีเอ็มโอเพียง 16% และ 22% ตามลำดับเท่านั้นเมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนได้รับทราบข้อมูลมากขึ้น พวกเขาจึงปฏิเสธอาหารดัดแปลงพันธุกรรม และเลือกระบบอาหารที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความเป็นธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ตามปรากฎการณ์ที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับเรื่องจีเอ็มโอในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาคือการแพร่ขยายการต่อต้านไปยังสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดและประเทศที่มีพื้นที่ปลูกพืชประเภทนี้มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของโลก
จุดเริ่มต้นการต่อต้านที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 เมื่อประชาชนในหลายรัฐทั่วสหรัฐร่วมเดินขบวนต่อต้านจีเอ็มโอและบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันเรื่องนี้ โดยประมาณการว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนั้นประมาณ 2 ล้านคนพวกเขาเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าทุกชนิดที่ผลิตจากจีเอ็มโอ โดยให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์แทน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการตัดสินใจ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดาราและศิลปินอเมริกันคนแล้วคนเล่าพร้อมใจกันลุกขึ้นเรียกร้องให้มีการติดฉลากอาหารจีเอ็ม ลงนามในคำแถลงต่อต้านจีเอ็มโอ บอยคอตบริษัทที่ต่อต้านการติดฉลาก และหลายคนเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านบรรษัทดาราและศิลปินเหล่านั้น ได้แก่ Neil Young, Danny DeVito, Susan Sarandon, Daryl Hannah, Michael J Fox, Elijah Wood, James Kaitlin, Olson Taylor, Bill Maher,James Taylor, Dave Matthews, Maroon 5, Chevy Chase, Roseanne Barr, Kristin Bauer van Straten, Kimberly Elise, Mariel Hemingway, Bianca Jagger, Vivienne Westwood, Jeremy Irons, Bill Pullman, Amy Smart, Sara Gilbert, Ed Begley Jr, Anne Heche, Frances Fisher, Rashida Jones, Kimberly Elise, Ziggy Marley, Julie Bowen,EmilyVanCampเป็นต้น
กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทุ่มเงินหลายร้อยล้านเหรียญโหมโฆษณาเพื่อต่อต้านการติดฉลากของบรรดารัฐต่างๆ ในขณะที่จำนวนเงินการระดมทุนของฝ่ายที่เรียกร้อง “สิทธิที่จะรู้ที่มาของอาหาร” น้อยกว่าหลายเท่าตัว บางรัฐผู้บริโภคได้รับชัยชนะในการออกกฎหมายติดฉลาก บางรัฐก็พ่ายแพ้ แต่ทุกคนบอกตรงกันว่า “นี่เป็นแค่เพียงการเริ่มต้น” เท่านั้น กระแสการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อต่อต้านจีเอ็มโอ และตอบโต้การผูกขาดระบบเกษตร/อาหารของบรรษัทกำลังเติบโต

ขณะนี้รัฐบาลไทยได้ตั้ง “คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ใน ประเทศไทย” เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะไม่ตัดสินใจให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม ในขณะที่ผลกระทบเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้นจะส่งผลกระทบไม่เฉพาะต่อการส่งออก หรือปัญหาที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะส่งผลอย่างสำคัญต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศโดยรวมด้วย
เพราะเมื่อใดที่ประเทศไทยเดินหน้าพืชจีเอ็มโอ เท่ากับเราได้ละทิ้งเกษตรกรรมที่ยืนอยู่บนความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของเราไปพึ่งพาต่างชาติระบบเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทจะสร้างความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารได้อย่างไร ?