ตามที่ สวทช.หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ เผยแพร่อินโฟกราฟฟิคเพื่อบอกว่าการปลูกพืชจีเอ็มโอร่วมกับพืชอื่นเป็นไปได้ โดยเสนอให้มีการปลูกพืชเหลื่อมเวลา และการปลูกต้นไม้ใหญ่เป็นแนวกันชนนั้น

มูลนิธิชีววิถีได้เผยแพร่คำอธิบายโต้แย้งผ่านเพจ BIOTHAI ระบุว่า ข้อแนะนำดังกล่าวของ สวทช. หน่วยงานที่เป็นสถาบันทางวิทยาศาสตร์ของประเทศเป็นคำแนะนำที่ล้มเหลวยากที่จะปฏิบัติได้ เพราะเกษตรกรไทยมีพื้นที่เกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 15-20 ไร่เท่านั้น

การปลูกพืชเหลื่อมเวลาทำได้ยากมากเพราะการปลูกพืชไร่เป็นการปลูกพืชที่อาศัยน้ำฝน เมื่อถึงฤดูเกษตรกรจะปลูกพืชพร้อมกัน ไม่สามารถจัดการให้เหลื่อมเวลาเพื่อป้องกันการปน

ข้อเสนอของนักวิทยาศาสตร์บางคนที่เสนอให้ทำแนวกันชนแบบต่างประเทศก็เป็นข้อเสนอที่ยิ่งกว่าล้มเหลว เพราะการทำแนวกันชนระหว่างแปลงที่ระยะ 200 เมตร ซึ่งเป็นคำแนะนำทั่วไปนั้น จะทำให้เกษตรกรไม่เหลือพื้นที่ปลูกพืชที่ต้องการปลูกได้เลย (พื้นที่ 15 ไร่มีขนาดประมาณ 155X155เมตร การเว้นระยะ 200 เมตรรอบพื้นที่เกษตรเป็นไปไม่ได้)

ที่สำคัญงานศึกษาล่าสุดในยุโรปงานวิจัยล่าสุด โดย Frieder Hofmann และคณะซึ่งศึกษาประสบการณ์การปลูกจีเอ็มโอของยุโรป โดยใช้เวลายาวนานในการติดตามถึง 10 ปี (2001-2010) ศึกษาในพื้นที่ 216 แห่งในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม พบว่าเกสรข้าวโพดสามารถปลิวไปผสมข้ามได้ไกลถึง 4.5 กิโลเมตร

โดยในระยะห่างดังกล่าวยังมีโอกาสพบเกสรของข้าวโพดตั้งแต่หลายพันจนถึง 10,000 เกสร (ข้าวโพดหนึ่งต้นมีเกสรมากถึง 5-50 ล้านเกสร)

ผู้วิจัยได้เสนอให้การปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอต้องมีระยะห่างจากแปลงข้าวโพดทั่วไปหรือพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้เกสรจากพืชจีเอ็มโอมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น(เช่นแมลงที่ไม่ใช่เป็นศัตรูพืช)เป็นหลักกิโลเมตร แทนที่จะมีระยะห่างเพียง 200 เมตร ดังที่เป็นอยู่ในหลายประเทศ

ข้อเสนอของนักวิทยาศาสตร์บางคนและอินโฟกราฟฟิคของสวทช.จึงเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของวิทยาศาสตร์ที่เหินห่างกับความเป็นจริง ไม่เข้าใจสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ประเภทนี้แหละที่ผลักดันหัวชนฝาให้ประเทศไทยปลูกพืชจีเอ็มโอ โดยไม่ได้มองมิติทางนิเวศเกษตร และเศรษฐกิจสังคมของประเทศตัวเอง

อนึ่ง หลังจากสวทช.ได้เผยแพร่อินโฟกราฟฟิคดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในเพจของสวทช. เอง และในเพจของ BIOTHAI