1. ระเบียบปฏิบัติในการทดลองพืชจีเอ็มโอ โดยทั่วไปๆ มีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ

  1. การทดลองในห้องปฏิบัติการ(Laboratory Level)
  2. การทดลองในโรงเรือนที่ปกปิดมิดชิด ( Containment Greeenhouse)
  3. การทดลองในระดับไร่นา ( Field Trials)

2. ข้อเรียกร้องขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรเกษตรกรคือให้ยุติการทดลองภาคสนามเอาไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีการออกกฏหมายและปรับปรุง มาตรการในการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายเกษตรกรได้เสนอให้รัฐบาลยุติการนำจีเอ็มโอไปทดสอบในระดับไร่นาทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาการอนุญาตให้นำพืชจีเอ็มโอออกไปทดสอบในระดับไร่นาไม่สามารถและควบคุมดูแลไม่ให้พืชจีเอ็มโอหลุดรอดออกไปนอกพื้นที่ทดลองได้ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรส่วนใหญ่อย่างรุนแรง

3. มติของครม.เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 กับคำให้สัมภาษณ์ของข้าราชการกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับแนวทางการแก้ปัญหาของสมัชชาคนจนที่เสนอให้ยุติการทดสอบพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาและเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการเพื่อร่างกฏหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามมีความเคลื่อนไหวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะเสนอให้มีการทบทวนการห้ามปลูกทดลองในระดับไร่นา

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2544 ได้รายงานว่าข้าราชการในกระทรวงเกษตรของไทยกำลังผลักดันเพื่อให้มีการยกเลิกมติ ของคณะรัฐมนตรีเรื่องห้ามการปลูกทดสอบพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา โดยได้สัมภาษณ์นายหิรัญ หิรัญประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตพืช และนายอำพน กิตติอำพน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายหิรัญ อ้างว่าการห้ามการปลูกทดลองจะก่อผลเสียหายร้ายแรงต่อการพัฒนาการเกษตรของไทย โดยคณะอนุกรรมการซึ่งพิจารณาแผน 5 ปีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพจะส่งหนังสือซ้ำอีกครั้งถึงนายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบข้อเรียกร้อง ของสมัชชาคนจนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการทดสอบพืชจีเอ็มโอให้ทบทวนมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว นายอำพน กิตติอำพน ได้ให้สัมภาษณ์สนับสนุนกรมวิชาการเกษตร โดยกล่าวว่าการยกเลิกคำสั่งห้ามจะทำให้เราได้ความรู้มากขึ้น จากการทดลอง และสร้างความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ในขณะที่นายนเรศ ดำรงชัย จากไบโอเทคกล่าวว่าการทดสอบในระดับไร่นาควรจะได้ รับการอนุญาต แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันมิให้พืชจีเอ็มโอหลุดลอดออกมานอกพื้นที่ทดลอง

4. เหตุผล ทำไมถึงต้องหยุดการทดลองภาคสนามเอาไว้ก่อน

  1. การทดสอบพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาไม่สามารถควบคุมได้เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดกรณีฝ้ายบีทีซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพได้หลุดรอดออกไปปลูกนอกพื้นที่ทดลอง โดยมีรายงานการระบาดในพื้นที่ต่างๆหลายหมื่นไร่ (ผู้จัดการรายวัน 1 ธันวาคม 2540 กรุงเทพธุรกิจ 21 ตุลาคมพ.ศ.2542 และสำนักข่าวไทย วันที่ 29 ตุลาคม 2542 ) ซึ่งการระบาดเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา
  2. การที่ไม่สามารถควบคุมการทดลองในระดับไร่นาได้นั้น ในที่สุดแล้วจะเป็นการทำลาย”กระบวนการการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ” ไปโดยทั้งหมด เนื่องจากพืชจีเอ็มโอที่ปลูกอยู่นั้นยังไม่ผ่านการพิจารณาความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การหลุดรอดออกไประหว่างการทดลองจะทำให้กระบวนการทดสอบความปลอดภัยถูกทำลายลงในที่สุด เพราะการอนุญาตให้ทดสอบในระดับไร่นาจะเป็นช่องทางสำคัญในการแพร่กระจายของพืชจีเอ็มโอเสียเอง
  3. ขณะนี้กฏหมายและมาตรการที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กักพืช 2507 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ยังไม่สามารถควบคุมดูแลเกี่ยวกับการทดสอบจีเอ็มโอได้ เช่น ไม่ครอบคลุมการทดลองเกี่ยวกับสัตว์ ไม่ครอบคลุมการวิจัยที่ทำขึ้นในประเทศ และไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับความเสียหาย ดังนั้นเราจึงไม่สามารถบังคับใช้ให้การทดสอบเกี่ยวกับจีเอ็มโอดำเนินไปอย่างรอบคอบ ระมัดระวังและอย่างรับผิดชอบได้ บริษัทต่างชาติเองก็ไม่ต้องรับผิดชอบกับการที่ทำให้เกิดความเสียหายเมื่อมีการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอขึ้น ดังกรณีฝ้ายบีที เป็นต้น
  4. การปล่อยให้มีการทดสอบพืชจีเอ็มโอในไร่นาโดยปราศจากกฏหมายและมาตรการที่เข้มงวดในที่สุดแล้วจะเป็นการทำให้เกิดการปนเปื้อนต่อแหล่งผลิตปลอดจีเอ็มโอของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ถั่วเหลือง มะละกอ หรือพืชอาหารอื่นๆ ซึ่งขณะนี้เป็นแหล่งวัตถุดิบปลอดจีเอ็มโอสำหรับตลาดต่างประเทศ และยังเป็นการทำลายนโยบายเกษตรกรรมอินทรีย์ของรัฐบาลไปด้วยเนื่องจากไม่สามารถควบคุมการผสมข้ามและการปนเปื้อนได้ การปนเปื้อนของจีเอ็มโอในพื้นที่การผลิตของไทยจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างสำคัญ บทเรียนจากวิกฤติการณ์การปนเปื้อนของข้าวโพดพันธุ์สตาร์ลิงค์ซึ่งทำให้อเมริกาได้รับความเสียหายนับพันล้านเหรียญสหรัฐเป็นเครื่องเตือนใจสำคัญสำหรับรัฐบาลซึ่งจะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้
  5. ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุติให้มีการทดสอบพืชจีเอ็มโอในไร่นานั้นมีเพียงบริษัทมอนซานโต้ซึ่งต้องการผลักดันการปลูกฝ้ายบีทีในประเทศไทยซึ่งอ้างว่าตนจำเป็นต้องมีการทดสอบความปลอดภัยของฝ้ายจีเอ็มโออีกหนึ่งปีเท่านั้น ส่วนนักวิจัยของไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากการวิจัยของนักวิจัยไทยสามารถทำได้ในระดับโรงเรือนทดลองต่อไปได้ และระดับการวิจัยของเรายังไม่สามารถแข่งขันได้กับบรรษัทข้ามชาติได้ในอนาคตอันใกล้นี้ได้ การยุติการทดสอบพืชจีเอ็มโอในไร่นาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยไทยโดยเปรียบเทียบมากกว่าด้วยซ้ำ
  6. การทดสอบจีเอ็มโอในระดับไร่นาและทำให้เกิดการปนเปื้อนนั้น จะทำลายสิทธิของเกษตรกรในการใช้พันธุ์พืชของท้องถิ่น และการทำลายสิทธิของผู้บริโภคชาวไทยทั้งหมดที่จะได้รับผลผลิตจากอาหารที่ปลอดจีเอ็มโอ เนื่องจากพืชจีเอ็มโอสามารถผสมเกสรข้ามมายังสายพันธุ์พืชท้องถิ่น เกษตรกรในหลายประเทศได้ฟ้องร้องบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ละเมิดสิทธิของตน และบางกรณีเกษตรกรก็ถูกบริษัทฟ้องร้องเนื่องจากเอาเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามไปปลูก

5. เรามิได้ขัดขวางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ
ข้อเสนอของการยุติการทดสอบพืชจีเอ็มโอในไร่นามิได้ต่อต้านการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หากแต่เรียกร้องให้ระงับการทดสอบบางระดับไว้ก่อน จนกว่าจะมีมาตรการและกฏหมายที่เข้มงวดที่สามารถควบคุมการทดลองไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมได้อย่างจริงจัง การยุติการทดสอบระดับไร่นาเอาไว้ก่อนจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกร ผู้บริโภคบริษัทผู้ผลิตอาหารส่งออก และแม้แต่ต่อประชาคมนักวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพชาวไทยเอง