1. ความเป็นมา

  1. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 ซึ่งห้ามมิให้มีการทดสอบพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาเกิดขึ้นเนื่องจากพบปัญหาการหลุดลอดของฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมออกไปปลูกในพื้นที่ของเกษตรกรระหว่างที่มีการอนุญาตให้มีการปลูกทดลองในระดับไร่นา(Field Trial)เมื่อปี 2542 ทั้งๆที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นอ้างว่าได้ดำเนินการทดลองโดยยึดแนวทางว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Guideline) อย่างเคร่งครัดองค์กรที่รายงานว่าพบการปนเปื้อนทางพันธุกรรมคือองค์กรว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (BioThai) ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ส่วนผู้ที่ต้องรับผิดชอบในกรณีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมดังกล่าวโดยตรงได้แก่นายอนันต์ ดาโลดม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และบริษัทมอนซานโต้เจ้าของฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมและทำการทดลองร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ส่วนรัฐมนตรีที่กำกับดูแลในขณะนั้นคือนายเนวิน ชิดชอบ
  2. ในปี พ.ศ. 2546 มีการพบว่าเมล็ดพันธุ์มะละกอที่กรมวิชาการเกษตรแจกจ่ายให้กับเกษตรกรมีจีเอ็มโอปนเปื้อนและจากการสุ่มตรวจยังพบมะละกอจีเอ็มโอในแปลงเกษตรกรที่ได้รับเมล็ดพันธุ์ไปจากกรมวิชาการเกษตรด้วย ทั้งๆที่กรมวิชาการเกษตรอ้างว่าได้ดำเนินการทดลองโดยยึดแนวทางว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Guideline) อย่างเคร่งครัดยิ่งไปกว่าการทดลองฝ้ายจีเอ็มโอเสียอีกองค์กรที่พบการปนเปื้อนทางพันธุกรรมเป็นองค์กรแรกคือกลุ่มกรีนพีซ และต่อมาองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (BioThai) มูลนิธิผู้บริโภค รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ยืนยันพบการปนเปื้อนดังกล่าว โดยผู้ที่ต้องรับผิดชอบในกรณีนี้โดยตรงคือกรมวิชาการเกษตรเพราะเป็นผู้นำเข้ามะละกอที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมแล้วมาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลทั้งสองกรณีชี้ให้เห็นว่ากรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบพืชจีเอ็มโอมิได้นำมาตรการและหลักเกณฑ์ในการควบคุมการทดลองเพื่อนำไปใช้อย่างเคร่งครัด ขาดความรับผิดชอบเมื่อเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม อีกทั้งขาดกฎหมายที่ควบคุมการทดลองจีเอ็มโอให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันมิให้เกิดผลกระทบได้
  3. ในเดือนสิงหาคม 2547 ในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คณะกรรมการเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เสนอต่อรัฐบาลให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 เมษายน 2544 ดังกล่าว แต่ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาชน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลในสมัยนั้นได้ถอนวาระเรื่องดังกล่าวออก และได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสองคณะเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับนโยบายเรื่องจีเอ็มโอ และให้มีการร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันมิให้เกิดการหลุดลอดและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อประชาชน

2. จุดยืน

องค์กรที่คัดค้านการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 มิได้คัดค้านการปลูกทดลองจีเอ็มโอโดยไม่มีเงื่อนไข แต่คัดค้านการปลูกทดลองจีเอ็มโอเฉพาะในระดับไร่นา (Field Trial) หรือในสภาพเปิด (Open Condition) จนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพออกมาบังคับใช้ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ หน่วยงานต่างๆยังคงสามารถทำการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการ(Laboratory) หรือโรงเรือนทดลอง (Glass House) ได้ต่อไป

3. เหตุผลการคัดค้าน

  1. ปัญหาการหลุดลอดออกไปปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอระหว่างการทดลอง ชี้ให้เห็นว่าปัญหามิได้อยู่ที่การมีแนวทางปฏิบัติ (Guide line) สำหรับควบคุมการทดลองเท่านั้น แต่ปัญหาอยู่ที่แนวปฎิบัติไม่ได้รับการนำไปบังคับใช้อย่างเข้มงวดเนื่องจากเป็นเพียงหลักเกณฑ์ที่ออกภายใต้กฎกระทรวงที่ไม่มีสภาพบังคับ และไม่มีความรับผิดในกรณีที่มีการละเมิด หรือไม่มีการบังคับให้ผู้ที่กระทำผิดหรือละเมิดต้องชดเชยและเยียวยาความเสียหายการอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตร หรือ คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ (กอช.) ได้พัฒนาระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นมาใช้แล้วหรืออยู่ระหว่างการปรับปรุงขึ้นก็ดี เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้มีการทดลองในระดับไร่นาเท่านั้นแม้จะเกิดกรณีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมถึงสองครั้งสองครา แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบยังมิได้รายงานวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และไม่สามารถระบุผู้กระทำผิดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ได้แต่ประการใดจนถึงขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมิได้พิสูจน์ตนเองให้เห็นว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการทดลองได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ ดังที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องส่งตัวแทนเพื่อร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในขณะนั้น ได้ใช้อำนาจหน้าที่ของตนดำเนินการควบคุมการปนเปื้อนทางพันธุกรรม และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้เป็นปกติ
  2. การทดลองพืชจีเอ็มโอที่ไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนได้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรทั่วไปโดยเฉพาะในตลาดยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง เป็นต้น เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีมาตรการที่เข้มงวดในการนำเข้าสินค้าจีเอ็มโอ เช่น มีมาตรการบังคับให้ต้องติดฉลากสินค้าที่มีจีเอ็มโอผสมอยู่ตั้งแต่ 0.9-5 เปอร์เซ็นต์ หรือเรียกร้องให้มีการสุ่มตรวจจีเอ็มโอสำหรับประเทศที่ปล่อยให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุน และเพิ่มขั้นตอนให้กับสินค้าการเกษตรของประเทศไทย เป็นการสร้างภาระและทำให้เกิดผลกระทบให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ และเกษตรกรส่วนใหญ่ของชาติ
    การปนเปื้อนทางพันธุกรรมยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ (เนื่องจากมาตรฐานเกษตรกรรอินทรีย์ของทั่วโลกนั้น นอกจากจะต้องไม่ใช้สารเคมีการเกษตรแล้วยังห้ามมิให้มีการใช้จีเอ็มโอในกระบวนการผลิตอีกด้วย) ขณะนี้ตลาดสินค้าเกษตรกรรมอินทรีย์ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงตั้งแต่ 15-20 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี อีกทั้งยังเป็นแนวทางการพัฒนาที่สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงไปพร้อมๆกัน
  3. การทดลองที่ไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนได้หรือเมื่อเกิดการปนเปื้อนขึ้นแล้วไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่ปกป้องสิทธิของเกษตรกร ดังกรณีการทดลองเรื่องมะละกอจีเอ็มโอซึ่งพบว่าเกิดการผสมข้ามระหว่างมะละกอจีเอ็มโอกับมะละกอพื้นบ้าน จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเจ้าของสิทธิบัตรจะอ้างว่าเกษตรกรเป็นผู้ละเมิดสิทธิบัตรของเขา ตัวอย่างเช่น นายเดนิส กอนซาลเวส และมหาวิทยาลัยคอร์แนลซึ่งจดสิทธิบัตรไวรัสใบด่างจุดวงแหวนได้ให้สัมภาษณ์ว่าแม้แต่มะละกอพื้นบ้านที่ผสมข้ามกับมะละกอจีเอ็มโอก็ถือว่าเป็นสมบัติของคอร์แนล
    1. กรมวิชาการเกษตรอ้างว่าสิทธิบัตรในมะละกอดังกล่าวได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศ แต่จะไม่ได้รับการคุ้มครองในประเทศไทยเพราะขาดคุณสมบัติ ?ความใหม่? ตามกฎหมาย ดังนั้นการปลูกมะละกอจีเอ็มโอจะไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกร เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากในทางปฏิบัติเจ้าของสิทธิบัตรจะฟ้องร้องเอาผิดโดยการตรวจจับที่ปลายทางในต่างประเทศ(ซึ่งเขามีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่) โดยการสุ่มตรวจมะละกอที่ส่งออกไปจากประเทศไทย ซึ่งในท้ายที่สุดจะกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศไทยอยู่ดี
    2. สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำในกรณีนี้ ควรเป็นการดำเนินการในเชิงรุกโดยการเรียกร้องให้มีการยกเลิกการจดสิทธิบัตรไวรัสใบด่างจุดวงแหวนสายพันธุ์ไทย รวมทั้งสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการนำเอายีนจากไวรัสดังกล่าวไปใช้ เนื่องจากภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนั้น ทรัพยากรดังกล่าวถือเป็นทรัพยากรที่อยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตยของประเทศ น่าแปลกที่กรมวิชาการเกษตรของไทยไม่ได้ดำเนินการใดๆอย่างเพียงพอที่จะปกป้องทรัพยากรของชาติในกรณีดังกล่าว แต่กลับพยายามที่จะให้มีการลงนามในเอ็มโอยู (MOU) ซึ่งจะทำให้คอร์แนลได้รับผลประโยชน์สูงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ในกรณีที่มีการส่งออกมะละกอจีเอ็มโอมีมูลค่ามากกว่าหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆที่สายพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอและไวรัสใบด่างจุดวงแหวนเป็นทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย
  1. มีการอ้างว่าการทดสอบจีเอ็มโอในระดับไร่นาเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เท่าทันต่างประเทศซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่แท้จริงและเป็นขั้นตอนว่าใครเป็นผู้พัฒนาและถือสิทธิบัตรในนวัตกรรมนั้นอยู่ที่ขั้นตอนการคัดเลือกยีนที่ต้องการ กระบวนการนำเอายีนเป้าหมายใส่เข้าไปเซลล์พืชที่ต้องการตัดต่อพันธุกรรม และการคัดเลือกเซลล์พืชที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมแล้วเพื่อพัฒนาต่อให้เป็นต้นพืช ซึ่งทั้งหมดสามารถดำเนินการได้ในห้องปฏิบัติการหรือโรงเรือนทดลองได้อยู่แล้ว และขณะนี้ในทางปฏิบัติก็มีการวิจัยและพัฒนาในระดับดังกล่าวโดยหลายหน่วยงาน มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 จึงมิได้เป็นอุปสรรคใดๆต่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเลย
    การทดลองซึ่งเป็นการนำเอามะละกอที่ต่างชาติถือสิทธิบัตรอยู่ไปปลูกทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับไร่นา เป็นขั้นตอนเพื่อรองรับให้มีการนำมะละกอจีเอ็มโอไปปลูกในเชิงพาณิชย์เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย(de-regulation)เท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์โดยตรงคือเจ้าของสิทธิบัตรในมะละกอจีเอ็มโอตัวจริงซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยคอร์แนลและบริษัทมอนซานโต้
    การอ้างว่าการทดลองระดับไร่นาเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศเพื่อให้เท่าทันต่างชาติ เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นด้วยประการทั้งปวง
  2. กลุ่มบุคคลที่ผลักดันให้มีการยกเลิกหรือทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ส่วนได้เสียหรือมีความใกล้ชิดกับบรรษัทข้ามชาติที่ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องจีเอ็มโอ เช่น นายอนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นผู้ผลักดันและเป็นผู้รับผิดชอบให้มีการทดลองเรื่องฝ้ายจีเอ็มโอนั้นมีความใกล้ชิดกับอดีตผู้บริหารบริษัทมอนซานโต้ในระหว่างที่มีการอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาเมื่อปี 2542 สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ เป็นองค์กรซึ่งจัดตั้งขึ้นจากการผลักดันของบริษัทมอนซานโต้และบริษัทข้ามชาติที่จะได้ประโยชน์จากจีเอ็มโอ โดยคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดแรกนั้นมีตัวแทนจากบรรษัทข้ามชาติถึง 3 คนเป็นกรรมการบริหารของสมาคม กลุ่มนักวิจัยที่เป็นแกนนำในการผลักดันเรื่องจีเอ็มโอส่วนใหญ่เป็นกรรมการและสมาชิกสมาคมดังกล่าว ในขณะที่เกษตรกรบางคนที่สนับสนุนให้ปลูกพืชจีเอ็มโอบางคนเป็นผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ไปดูงานที่รัฐฮาวาย ผู้นำเกษตรกรที่ไปดูงานบางคนนั้นใกล้ชิดกับอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลที่แล้วและเป็นแกนนำผู้ประท้วงไปปิดล้อมหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เป็นต้น

4. สรุป

คณะรัฐมนตรีชุดนี้บริหารประเทศโดยประกาศว่าจะยึดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงและหลีกเลี่ยงการบริหารประเทศโดยปราศจากธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใส และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดๆที่จะทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 เพื่ออนุญาตให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา เพราะแม้แต่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังรับฟังเสียงคัดค้านและถอนวาระเรื่องดังกล่าวออกจากการประชุมของคณะรัฐมนตรี หลังจากได้รับฟังเหตุผลการคัดค้านของประชาชน

คณะรัฐมนตรีควรหาทางออกจากความเห็นที่แตกต่างกันนี้ โดยยึดแนวทางที่ได้มีการตกลงร่วมกันของหลายฝ่าย โดยให้มีการผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีบทบัญญัติในการควบคุมการทดลองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภค ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และให้มีบทบัญญัติเรื่องการรับผิด การชดเชยและเยียวยาความเสียหาย เป็นต้น เพื่อสร้างกติการ่วมกันของสังคมไทยขึ้นมาก่อน แล้วค่อยพิจารณาเป็นกรณีๆว่าจะอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มชนิดใดในระดับไร่นาได้หรือไม่อย่างไร