“ได้ยินว่าต่างประเทศมีการพัฒนาข้าวดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้สามารถสร้างธาตุเหล็กได้มากขึ้น เรามีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านดีๆหลากหลายมากมายไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น”       “การผสมข้ามของพืชทั่วไปกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ต่างประเทศจดสิทธิบัตรไว้แล้ว จะทำให้เกษตรกรไทยต้องพึ่งพาต่างชาติ”

* พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
ระหว่างเสด็จชมงานนิทรรศการ “มหกรรมเกษตรกรรมยั่งยืน : ฟื้นฟูวิถีชีวิตไท เพื่ออธิปไตยของชาติ”
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2548  ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

         “กรมการข้าวมีจุดยืนที่ชัดเจนที่ไม่ให้นำเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอมาใช้กับการพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย เนื่องจากการทดลองจีเอ็มโอในข้าวอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของข้าวไทย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องทำให้ผู้นำเข้ากว่า 150 ประเทศหันมาต่อต้านข้าวไทยได้ โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป(อียู)ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านพืชจีเอ็มมาโดยตลอด ดังนั้นไทยจำเป็นต้องแจ้งจุดยืนให้ชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อรักษาตลาดส่งออกข้าวของไทยไว้“นอกจากนี้ไทยยังมีพันธุ์ข้าวดั้งเดิมมากกว่า 17,000 สายพันธุ์ที่ได้มาจากวิธีผสมโดยธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรม จึงจำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้”

คำแถลงของนายสุรพงษ์ ปราณศิลป์ อธิบดีกรมการข้าว 10 สิงหาคม 2550

กรณีสหรัฐปลูกมะละกอจีเอ็มโอ อังกฤษก็ปฏิเสธการนำเข้ามะละกอจีเอ็มโอจากสหรัฐ และหันมานำเข้ามะละกอจากไทยแทน แต่ปรากฏว่าเมื่อไทยประสบปัญหามะละกอจีเอ็มโอหลุดรอดออกนอกแปลงทดสอบ ปรากฏว่าห้างเทสโก้ในอังกฤษปฏิเสธการสั่งซื้อมะละกอจากไทย แม้เหตุการณ์ผ่านมาหลายปี แต่ทุกวันนี้อังกฤษก็ยังปฏิเสธที่จะซื้อมะละกอจากไทย

คำให้สัมภาษณ์ของนายสุนทร ศรีทวี อุปนายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย 20 สิงหาคม 2550

“ สรุปแนวโน้มว่ามีสูงว่ามันจะเป็นมะละกอที่ไปจากศูนย์ของเราเอง ผู้ที่เอาออกไปคือคนในมีส่วนร่วมด้วย โดยจบแค่นั้น ผมคงไม่หาว่าใคร ให้กรมฯไปหาเอาเอง เราคงไม่ต้องหาว่าใคร ไปจับผิดใคร”
ศ.ธีระ สูตะบุตร ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอ วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม 2547 ณ ห้องประชุม 501 กรมวิชาการเกษตร

1. จีเอ็มโอถูกโฆษณาเกินความเป็นจริง

1.1 ประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกาที่ปลูกจีเอ็มโอ 8 ปี รายงานโดย ดร.ชาร์ลส์ เบ็นบรู๊ค (Dr.Charles Benbrook) นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร คณะกรรมการเกษตร ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ  (Executive Director, Board on Agriculture of the National Academy of Sciences) พบว่าจีเอ็มโอไม่ได้มีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พืชทั่วไปมิหนำซ้ำยังใช้สารเคมีในการเกษตรเพิ่มขึ้นมากกว่า  22 ล้านกิโลกรัม

การใช้สารเคมีไม่ลดลงเพราะบรรษัทข้ามชาติที่พัฒนาจีเอ็มโอมีผลประโยชน์เกี่ยวกับสารเคมีควบคู่ไปด้วย พืชจีเอ็มโอที่ปลูกอยู่ในโลกปัจจุบัน 75% จึงเป็นพืชจีเอ็มโอที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ต้านทานต่อการใช้ยาปราบศัตรูพืช (เกษตรกรสามารถใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชได้มากขึ้นโดยไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช)

1.2 กรณีการทดลองเรื่อง “ข้าวจีเอ็มโอสีทอง” หรือ “Golden Rice” ก็เช่นเดียวกัน มีการโฆษณาไปทั่วโลกว่า ข้าวสีทองจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องเด็กตาบอดเพราะขาดวิตามินเอได้ถึงหนึ่งล้านคน แต่ในทางปฎิบัติข้าวสีทองจะป้องกันโรคตาบอดได้นั้นหญิงมีครรภ์ต้องกินข้าวสีทองถึง 15 กิโลกรัม/วัน เพราะมีเบต้าแคโรทีนเพียง 1.6 ไมโครกรัม/มิลลิกรัม ในขณะที่ ยอดแค ขี้เหล็ก ผักกระเฉด ยอดสะเดา ยอดมะกอกอ่อน มีเบต้าแคโรทีนสูงมากกว่าถึง  86.54 , 71.81 , 37.10 , 36.11  และ 20.17 เท่า ตามลำดับ

ดร.กอร์ดอน คอนเวย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยข้าวสีทองก็ยอมรับในเวลาต่อมาว่าเรื่องข้าวสีทองถูกโฆษณาเกินจริง

1.3 มีการสร้างข้อมูลเพื่อการชวนเชื่อว่าการปลูกมะละกอเพื่อการค้าของประเทศไทยจะล่มสลายเพราะไวรัสใบด่างจุดวงแหวน แต่ในทางความเป็นจริงการผลิตมะละกอของไทยมีพื้นที่การผลิตเพิ่มขึ้น และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา

ในขณะที่ประเทศที่ส่งออกมะละกอรายใหญ่ของโลกเช่น เม็กซิโก และบราซิล ซึ่งก็มิได้ปลูกพืชจีเอ็มโอแต่ประการใด ในทางตรงกันข้ามการปลูกมะละกอจีเอ็มโอจะทำลายตลาดส่งออกมะละกอและฟรุตสลัดในตลาดยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และอื่นๆ

2. ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในโลกต่อต้านอาหารจีเอ็มโอ

2.1 ผลการสำรวจหลายสำนักพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ทั่วโลกยังคงต่อต้านพืชจีเอ็มโอ รวมกระทั่งในสหรัฐอเมริกา ความแตกต่างสำคัญอยู่ที่ในยุโรปนั้นรัฐบาลมีกฎหมายให้ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอต้องติดฉลาก ในขณะที่สหรัฐอเมริการัฐบาลไม่ยอมติดฉลากทั้งๆที่ผู้บริโภคมากกว่า 70-93% เรียกร้องเนื่องจากอิทธิพลของบรรษัทที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอ

2.2 นอกเหนือจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป ประเทศในเครือสหภาพยุโรป (รวมทั้งประเทศอื่นนอกสหภาพยุโรป เช่น นอร์เวย์ เป็นต้น) ยังห้ามมิให้นำเข้าผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอที่มียีนต้านทานยาปฎิชีวนะ (antibiotic marker gene)เข้ามาขายในประเทศ ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอปัจจุบันมากกว่า 70-80% ยังคงใช้ยีนเครื่องหมายต้านทานยาปฎิชีวนะ รวมทั้งมะละกอจีเอ็มโอที่ทดลองในประเทศไทยด้วยก็มียีนต้านทานยาปฎิชีวนะเต็ตตร้าไซคลีน

สมาคมการแพทย์อังกฤษ(British Medical Association) และสมาคมการแพทย์อเมริกัน(American Medical Association)มีคำแนะนำให้รัฐบาลและอุตสาหกรรมจีเอ็มโอหลีกเลี่ยงการใช้ยีนต้านทานยาปฎิชีวนะในการตัดต่อทางพันธุกรรม เพราะเสี่ยงที่จะทำให้มนุษย์ต้านทานยาปฎิชีวนะซึ่งจะสร้างปัญหาสำคัญในกับการรักษาพยาบาลในอนาคต

3. ผลกระทบต่อการส่งออก

การปลูกพืชจีเอ็มโอ หรือแม้แต่การประกาศว่าจะทดลองจีเอ็มโอในระดับสนามจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ 3 ประการคือ

3.1 ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรของไทยจะเรียกร้องให้มีการแสดงผลการตรวจว่าสินค้าไทยปลอดจากจีเอ็มโอหรือไม่ ประเทศไทยจะถูกลดระดับจากประเทศที่มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนจาก “Medium to Low” เป็น “High” ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและขั้นตอนการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย

3.2 การอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอ และการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอที่ไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนทางพันธุกรรม(genetic contamination) จะเป็นการทำลายการพัฒนาเกษตรกรรมอินทรีย์ในประเทศไทย เนื่องจากมาตรฐานเกษตรกรรมอินทรีย์ทั่วโลกไม่อนุญาตให้มีการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมในการเพาะปลูก

3.3 การพัฒนาเกษตรกรรมและอาหารเพื่อสุขภาพคือทางออกสำคัญของภาคการผลิตอาหารของไทย เป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างตลาดเฉพาะ โดยไม่ผลักดันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยต้องแข่งขันกับผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าในภูมิภาคนี้

การส่งออกเกษตรกรรมอินทรีย์ของประเทศไทยนั้นมีอัตราการขยายตัวสูงถึงปีละ  10-15% ในขณะที่ทั่วโลกอัตราการขยายตัวของตลาดอินทรีย์สูงถึง 30%

4. การปนเปื้อนทางพันธุกรรม

4.1 การปนเปื้อนทางพันธุกรรมเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แม้กระทั่งประเทศที่มีพื้นที่การเกษตรกว้างใหญ่และมีระบบบริหารจัดการที่ดี  ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอพันธุ์สตาร์ลิงค์เพื่อเป็นอาหารสัตว์ได้ (เพราะมีความเสี่ยงที่มนุษย์จะเกิดอาการแพ้ถ้ารับประทานไปโดยตรง) แต่ไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนทางพันธุกรรมระหว่างสตาร์ลิงค์กับข้าวโพดทั่วไปได้ เพราะพบว่าข้าวโพดสตาร์ลิงค์ได้ไปปนเปื้อนในอาหารสำเร็จรูป กระจายไปในโรงงานผลิตแป้ง 350 โรงงาน รวมทั้งอาหารอื่นที่มีข้าวโพดผสมอยู่มากกว่า 300 ชนิด  ปนอยู่ในเมล็ดพันธุ์ 77 บริษัท  ประเทศต่างๆทั่วโลกระงับการนำเข้าข้าวโพดที่ปนเปื้อนสตาร์ลิงค์จากสหรัฐฯ  รวมทั้งประเทศไทยในขณะนั้นด้วย

บริษัทได้ใช้งบประมาณขั้นต้น 100 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อข้าวโพดสตาร์ลิงค์คืนจากเกษตรกร และ 20 ล้านเหรียญจากบริษัทเมล็ดพันธุ์ ในขณะที่เกิดความเสียหายโดยรวมต่อสหรัฐอเมริกามีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

บรรษัทข้ามชาติและหน่วยงานราชการของไทยพร้อมที่จะเสี่ยงและมีความสามารถที่จะรับมือชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ?

4.2 เกษตรกรในประเทศไทยเป็นเกษตรรายย่อยมีพื้นที่เฉลี่ยไม่เกิน 25 ไร่ เป็นการยากที่จะสร้างแนวป้องกัน (Buffer Zone) สำหรับควบคุมมิให้เกิดการผสมข้ามโดยเกสร (cross polination) ระหว่างการเพาะปลูก หรือการปนเปื้อนจากขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยว  

แม้แต่ในระดับการทดลอง กระทรวงเกษตรฯยังไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนได้ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุมมิให้เกิดการปนเปื้อนหากนำพืชจีเอ็มโอไปปลูกในเชิงพาณิชย์จริงๆ ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือ “คนใน” กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมเสียเอง

5. ปัญหาของการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา (Field Trial) หรือสภาพเปิด (Open Condition)

การอนุญาตให้มีการปลูกทดลองเรื่องจีเอ็มโอในสภาพเปิดทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมถึงสองครั้งสองครา

5.1 การอนุญาตให้มีการปลูกทดลองฝ้ายจีเอ็มโอของบริษัทมอนซานโต้เมื่อปี 2538 และนำไปปลูกในสภาพเปิดในปี 2540 ทำให้เกิดเกิดหลุดลอดของฝ้ายจีเอ็มโอในปี 2542 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “นายเนวิน ชิดชอบ” ประกาศจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน ผลการสอบสวนปรากฎว่ามีการปนเปื้อนของฝ้ายจีเอ็มโอจริง แต่ไม่ปรากฎรายงานว่าปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าวเกิดขึ้นโดยวิธีใด และผู้ใด

รัฐบาลในขณะนั้นจึงประกาศให้มีการยุติการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาเอาไว้ชั่วคราว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 พร้อมกับตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพโดยมีตัวแทนจากกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ภาคเอกชน นักวิชาการอิสระ และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการยกร่าง แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไม่คืบหน้าใดๆในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

5.2 ความผิดซ้ำซากของการทดลองได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี 2547 เมื่อมะละกอจีเอ็มโอซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองที่สถานีวิจัยพืชสวนท่าพระ จ.ขอนแก่น หลุดลอดผสมปนเปื้อนในเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์แจกจ่ายให้แก่เกษตรกร และปนเปื้อนในแปลงของเกษตรกรที่ปลูกมะละกอ กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบตัวอย่างมะละกอที่มีการปนเปื้อน 329 ตัวอย่าง จากแปลงของเกษตรกร  85 ราย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในขณะนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่มี ศ.ธีระ สูตะบุตร เป็นประธานเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนดังกล่าว ประธานในที่ประชุมสรุปว่าเป็นการหลุดรอดที่ “คนใน” เป็นผู้กระทำการ หรือมีส่วนร่วมด้วย  แต่กรรมการชุดดังกล่าวมีการประชุมแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นและไม่มีการประชุมต่ออีกเลย ไม่ปรากฎรายงานการวิเคราะห์ว่าการปนเปื้อนเกิดขึ้นได้อย่างไร และไม่มีการเปิดเผยผลการสอบสวนเจ้าหน้าที่ 35 คนที่เกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนดังกล่าว

5.3 การปนเปื้อนได้ไปไกลกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผลการตรวจสอบขององค์กรพัฒนาเอกชนและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบว่า มีการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอไปผสมข้ามกับมะละกอพันธุ์ทั่วไปด้วยที่ จ.กำแพงเพชร

6. การวิจัยจีเอ็มโอในประเทศไทยโดยเฉพาะมะละกอจีเอ็มโอมิใช่การวิจัยที่มีนักวิชาการไทยเป็นผู้ถือสิทธิ

6.1 สิทธิบัตรในการวิจัยมะละกอจีเอ็มโอส่วนใหญ่เป็นของบริษัทมอนซานโต้และมหาวิทยาลัยคอร์แนล การพัฒนามะละกอที่มลรัฐฮาวายโดยมหาวิทยาลัยคอร์แนลต้องมีการจ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับบริษัทมอนซานโต้

การวิจัยมะละกอในประเทศไทยเริ่มต้นโดยการที่นักวิจัยไทยเอาทรัพยากรชีวภาพของเราเองคือมะละกอพันธุ์แขกดำและแขกนวล รวมทั้งนำไวรัสใบด่างจุดวงแหวนสายพันธุ์ไทยไปใช้ห้องปฎิบัติการและเทคโนโลยีต่างชาติ แล้วนำเนื้อเยื่อมะละกอและต้นอ่อนที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมแล้วนำมาปลูก กรรมสิทธิ์ในมะละกอจีเอ็มโอยังเป็นของคอร์แนลและมอนซานโต้

6.2 นายเดนิส กอนซาลเวส นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์แนลยังฉวยโอกาสจดสิทธิบัตรไวรัสใบด่างจุดวงแหวนสายพันธุ์ไทยที่ใช้ในการตัดต่อพันธุกรรมครั้งนั้นด้วย โดยได้รับการอนุมัติสิทธิบัตรเมื่อ 18 กรกฎาคม 2549     ทำให้มหาวิทยาลัยคอร์แนลถือสิทธิบัตรผูกขาดมะละกอจีเอ็มโอต้านทานโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เดนิส กอนซาลเวสได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 2  มิถุนายน 2548 ว่า

“…การหลุดรอดของมะละกอจีเอ็มโอในแปลงของเกษตรกร อาจทำให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์กับมะละกอพันธุ์ท้องถิ่นของไทย และหมายความว่ามะละกอสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นเกษตรกรจะนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ เนื่องจากคอร์เนลล์มีกฎระเบียบว่างานวิจัยทุกชิ้นถือเป็นสมบัติของคอร์แนลล์ จนกว่าการลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมวิชาการเกษตร และคอร์เนลล์จะเสร็จเรียบร้อย….”

มะละกอจีเอ็มโอที่ทดลองในประเทศไทยจึงเสมือนเป็นการทดลองของคอร์แนลโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการทดลองเพื่อผลประโยชน์ของคอร์แนลล์และมอนซานโต้ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตร

6.3 สมมติว่ามะละกอจีเอ็มโอมีความปลอดภัยจริงและตลาดโลกให้การยอมรับ การส่งออกมะละกอที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐจะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับคอร์แนลถึง 35% ของมูลค่า ตามร่างสัญญา (MOU) ที่กรมวิชาการเกษตรทำร่วมกับคอร์แนลและได้แถลงว่ากำลังส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อปลายปี 2547

7. มะละกอจีเอ็มโอหรือข้าวสีทองเป็นม้าโทรจันสำหรับการยึดครองทรัพยากรชีวภาพ การเกษตร และความมั่นคงทางทางอาหารของไทย

การอนุญาตให้มีการใช้สิทธิบัตรเพื่อวิจัยมะละกอจีเอ็มโอ รวมถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าวสีทองเพื่อเพิ่มวิตามินเอ เปรียบเสมือนการที่ทหารโรมันส่งม้าโทรจันเพื่อให้ชาวเมืองทรอยเปิดประตูรับเข้าไปในเมือง เมื่อม้าไม้เข้าไปในเมืองได้ ทหารโรมันจำนวนหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในม้าไม้ก็จะออกมาเปิดประตูให้กองทัพที่เต็มไปด้วยแสนยานุภาพบุกเข้าไปยึดเมืองในที่สุด

การเปิดรับมะละกอจีเอ็มโอคือการเปิดประตูรับฝ้ายจีเอ็มโอ ข้าวโพดจีเอ็มโอ ข้าวจีเอ็มโอ และพืชอื่นๆซึ่งบรรษัทข้ามชาติครอบครองตลาดอยู่มากกว่า 90% เมล็ดพันธุ์จะถูกเปลี่ยนมือจากเกษตรกรและหน่วยงานวิจัยสาธารณะของรัฐไปอยู่ในมือของต่างชาติ ความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารจะถูกควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติในที่สุด

ประเทศไทยจะถูกดึงเข้าไปอยู่เป็นพวกเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และอาร์เจนตินา ซึ่งขณะนี้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอรวมกันมากกว่า 80% ของโลก และต้องเผชิญหน้ากับการกีดกันสินค้าจีเอ็มโออย่างรุนแรง เกษตรกรและผู้ส่งออกผลิตผลการเกษตรของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของต่างชาติและนักวิจัยจีเอ็มโอเพียงหยิบมือเดียว

8. คนส่วนใหญ่ในประเทศคัดค้านการปลูกพืชจีเอ็มโอโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคและนักวิชาการ

ผลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเมื่อปี 2548 พบว่า นักวิชาการในประเทศไทยเห็นว่าไม่พร้อมที่จะปลูกจีเอ็มโอ 64 เปอร์เซ็นต์  เห็นเป็นอย่างอื่น 34% ผู้บริโภคเห็นว่าไม่พร้อม 66% เห็นเป็นอย่างอื่น 38% ในขณะที่เกษตรกรเห็นว่าไม่ควรปลูก 48% เห็นเป็นอย่างอื่นเพียง 15% และไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจ 37%

9. ทางออก

ในขณะที่การเกษตรแบบปฎิวัติเขียวทำให้มีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น และการพัฒนาจีเอ็มโอเต็มไปด้วยคำถามมากมายหลายประการทั้งเรื่องผลผลิต ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และการปฎิเสธจากผู้บริโภค  ประเทศไทยควรพัฒนาทางเลือกการเกษตรที่ไปพ้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบเกษตรแบบเคมี และเกษตรแบบจีเอ็มโอได้ สองแนวทางคือ

9.1 นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพที่มิใช่การตัดต่อพันธุกรรม เช่น การใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ การใช้สารสกัดจากพืช ฯลฯ มาใช้ในการลดสารเคมีการเกษตรทั้งปุ๋ยเคมี และสารเคมีปราบศัตรูพืช ในระบบเกษตรทั่วไป(Conventonal farming) เพื่อทำให้การเกษตรมีความยั่งยืนมากขึ้น ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

9.2 พัฒนาการเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบอื่นๆ เช่น เกษตรกรรมแบบผสมผสาน เกษตรกรรมธรรมชาติ วนเกษตร เพื่อสุขภาวะของเกษตรกรและผู้บริโภค และเพื่อสร้างตลาดเฉพาะ เพิ่มมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบกิจการเกษตรของไทย

10. สรุป

10.1 ไม่มีการวิจัยเรื่องจีเอ็มโอใดๆที่เป็นเร่งด่วนที่จะทำให้ประเทศไทยต้องล้าหลังแต่ประการใด เพราะงานวิจัยที่อยู่ระหว่างการทดลองและสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นงานวิจัยของต่างชาติ (เช่นกรณีฝ้ายบีที และข้าวโพดบีที) หรืออ้างว่าเป็นการวิจัยของนักวิจัยไทยแต่แท้จริงกลับเป็นกรรมสิทธิ์ของต่างชาติ (เช่นมะละกอจีเอ็มโอต้านทานโรคใบด่างจุดวงแหวน)

หากมีงานวิจัยของนักวิจัยไทยจริงๆโดยไม่ใช้เทคโนโลยีของต่างชาติ หรือปลอดจากสิทธิบัตรของต่างชาติก็สามารถทดลองได้ในระดับห้องปฎิบัติการ หรือโรงเรือนทดลอง  ทั้งนี้โรงเรือนทดลองสามารถสร้างให้มีขนาดเท่าที่ต้องการได้โดยไม่จำเป็นต้องนำไปปลูกในระดับไร่นา ซึ่งเสี่ยงต่อการปนเปื้อน

10.2 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวข้องกับการทดลองทั้งสองครั้งในอดีต  ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าจะสามารถควบคุมการปนเปื้อนทางพันธุกรรมได้  และมิได้จัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใส และเปิดเผยความจริงต่อสาธารณชน หน่วยงานนี้จึงหมดความชอบธรรมโดยประการทั้งปวงที่จะผลักดันให้มีการทดลองปลูกจีเอ็มโอในระดับไร่นา

10.3 การทดลองในสภาพเปิดของหน่วยงานของรัฐเอง และบรรษัทข้ามชาติจะสามารถทำได้ในกรณีที่มีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งมีหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภค มาตรการการคุ้มครองผลกระทบต่อสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม การชดเชยความเสียหาย  การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และบทลงโทษที่เหมาะสม มิฉะนั้นจะเกิดเหตุการณ์ปนเปื้อนดังกรณีฝ้ายจีเอ็มโอ และมะละกอจีเอ็มโอ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีที่สิ้นสุด

10.4 คณะรัฐมนตรีต้องตัดสินใจทางนโยบายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบโดยรวม โดยคำนึงถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มิใช่ตัดสินใจจากแรงผลักดันของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา บรรษัทข้ามชาติ  และนักวิจัยเรื่องจีเอ็มโอกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

10.5 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยมีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการทดลองในระดับไร่นาและปลูกพืชจีเอ็มโอ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2547 แต่ด้วยเสียงคัดค้านจากผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ตัดสินใจถอนวาระเรื่องจีเอ็มโอออกจากการประชุมของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 31 สิงหาคม 2547 และให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทบทวนนโยบาย และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

รัฐบาลนี้เป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวจึงไม่ควรตัดสินใจเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและขัดแย้งกับผลประโยชน์และความเห็นของคนส่วนใหญ่ อย่างน้อยต้องรักษามาตรฐานการบริหารประเทศที่รับฟังเสียงของประชาชนไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร