ผู้บริหารมอนซานโต้ประจำเอเชียกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2541 ที่ผ่านมาว่า การถกเถียงและกระแสต่อต้านจีเอ็มโอในประเทศไทยรุนแรงมากกว่าที่เขาคาดหมายเอาไว้ ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นคล้ายๆกับในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศในยุโรปเท่านั้น
การถกเถียงกันเกี่ยวกับประเด็นจีเอ็มโอในประเทศไทยเกิดขึ้นจากความเป็นจริงสองด้าน กล่าวคือ ในด้านหนึ่งบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อย่างมอนซานโต้ซึ่งถือครองตลาดเมล็ดพันธุ์พืชแปลงพันธุกรรม ต้องการยึดครองประเทศไทยเป็นหัวหาดในเอเชียในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ อีกทั้งต้องการใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอป้อนแก่จีน อินเดีย และประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียอาคเณย์ มอนซานโต้จึงทำทุกวิถีทางเพื่อโน้มนำให้ประเทศไทยรับเอาพืชแปลงพันธุกรรมให้เข้ามาปลูกให้ได้โดยเร็วในทุกวิถีทางเช่นการผลักดันคนที่ตนใกล้ชิดให้เข้ารับตำแหน่งสำคัญในกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่ในการอนุมัติการนำพืชแปลงพันธุกรรมเข้ามาปลูกในประเทศ การทุ่มโฆษณานับร้อยล้านบาท ในหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ อีกทั้งจ้างบริษัทโฆษณาอย่างโอกิวลี่ และซื้อนักวิชาการสาขานิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังเข้าร่วมเป็นทีมงานประชาสัมพันธ์
ในอีกด้านหนึ่ง แรงต่อต้านจากสังคมไทยก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรงเช่นเดียวกันในฐานะที่ประเทศนี้ไม่เหลือสิ่งใดไว้ให้ภาคภูมิใจในความเป็นไทยอีกแล้วภายหลังวิกฤติการเงิน การคลัง และอุตสาหกรรมซึ่งเริ่มต้นเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นความหวังที่เป็นฐานรองรับการฟื้นฟูชาติเช่นเดียวกับที่ได้เคยเป็นฐานรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมดังในอดีตจึงเป็นสิ่งเดียวที่เราเหลืออยู่
ในระหว่างการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องจีเอ็มโอเราจึงเห็นการเคลื่อนไหวของขบวนการเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน มาอย่างต่อเนื่อง และได้เห็นกระแสของชนชั้นกลางในสังคมที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าว ดังเช่นที่พวกเขาสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการต่อต้านความพยายามในการจดสิทธิบัตรและยึดครองตลาดข้าวหอมมะลิโดยบริษัทไรซ์เทคจากสหรัฐอเมริกา
แต่ที่น่าสนใจที่สุด คือความเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนไทยหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันที่ประกาศตัวชัดเจนในการต่อต้านจีเอ็มโอเคียงคู่กับเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้บริโภคในประเทศไทย แม้สิ่งนี้ดูเหมือนจะสร้างความประหลาดใจให้กับเพื่อน
สื่อมวลชนบางฉบับ แต่ที่จริงแล้วบทบาทดังกล่าวของผู้จัดการไม่ได้แตกต่างกันเลยกับสิ่งที่ “เดอะ การ์เดี้ยน” หนังสือพิมพ์ฮาร์ดนิวส์ของเกาะอังกฤษเป็น นั่นคือการประกาศตัวมายืนเคียงข้างกับประชาชนอังกฤษที่ต่อต้านอาหารจีเอ็มโอ
ย้อนมองการหยิบยกประเด็นการถกเถียงเกี่ยวกับจีเอ็มโอซึ่งร้อนแรงขึ้นนับตั้งแต่กลางปี 2542 ที่ผ่านมา บรรษัทข้ามชาติและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์บาง คนซึ่งสนับสนุนการวิจัยเรื่องจีเอ็มโอในประเทศไทยได้เผยแพร่ความเชื่อ ความคิด และได้ใช้ข้อมูลเพื่อชวนเชื่อให้เห็นว่าจีเอ็มโอมีคุณสมบัติวิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติและเป็นทางออกเดียวของภาคเกษตรกรรมไทย ในหลายๆแง่มุม
บางประเด็นเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่อาจหาความเป็นจริงๆใดๆมารองรับได้เลย ในขณะที่บางประเด็นเป็นการหยิบยกขยายความประเด็นเล็กๆบางแง่มุมมาพูดเกินจริง รวมทั้งปิดบังข้อมูลด้านลบไม่ยอมหยิบยกมาพูดถึง การใช้งบประมาณมหาศาล (ทั้งๆที่มาจากบรรษัทข้ามชาติและมาจากภาษีของประชาชนไทย) เพื่อเผยแพร่คำโฆษณาชวนเชื่อ และการเลือกใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน ได้สร้างมายาคติ 10 ประการเกี่ยวกับพืชแปลงพันธุกรรมและอาหารแปลงพันธุกรรมขึ้นในสังคมไทย
มายาคติประการที่ 1 จีเอ็มโอไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ มันก็คือการปรับปรุงให้ได้พันธุ์พืชที่ดีแบบทั่วไปนั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์ และบรรษัทข้ามชาติที่ผลิตพืชจีเอ็มโอพยายามสร้างความเข้าใจผิดให้กับสาธารณชนว่า การสร้างพืชจีเอ็มโอไม่ได้แตกต่างใดๆกับการพัฒนาพันธุ์พืชโดยทั่วไป คำกล่าวเช่นนี้เป็นคำกล่าวเท็จล้วนๆเพียงเพื่อต้องการให้สังคมยอมรับเรื่องพืชแปลงพันธุกรรมโดยไม่ตั้งข้อสงสัย ในทางความเป็นจริงการสร้างพืชจีเอ็มโอแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการพัฒนาพันธุ์พืชซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติและโดยวิธีการปรับปรุงพันธุ์ตามปกติ เนื่องจากในธรรมชาตินั้นพันธุ์พืชหรือสัตว์จะผสมพันธุ์กันได้นั้น จะต้องเป็นการผสมพันธุ์กันของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันเท่านั้น เช่นการผสมพันธุ์ระหว่างสุนัขสายพันธุ์หนึ่งกับสุนัขอีกสายพันธุ์ การผสมระหว่างข้าวสายพันธุ์หนึ่งกับข้าวอีกสายพันธุ์มีการผสมข้ามระหว่างพืชหรือสัตว์ต่างชนิดกันก็เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อชนิดของพืชหรือสัตว์นั้นมีลักษณะทางพันธุกรรมและวิวัฒนาการที่ใกล้ชิดกันมากๆเท่านั้นเช่น เสือ(Tiger)กับสิงโต(Lion)ผสมกันกลายเป็นไลเกอร์( Liger) เป็นต้น และถึงแม้ผสมกันได้ลูกที่เกิดมาก็เป็นหมัน เป็นต้น
แต่พันธุวิศวกรรมได้ทำให้การผสมพันธุ์กันของสิ่งมีชีวิตต่างๆเป็นไปได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด เช่นการเอาเชื้อแบคทีเรียมาผสมกับฝ้ายและข้าวโพดกลายเป็นฝ้ายบีทีและข้าวโพดบีที การเอายีนที่ควบคุมการผลิตน้ำนมมนุษย์ไปใส่ในวัวเพื่อให้วัวผลิตน้ำนมที่มีคุณสมบัติคล้ายน้ำนมมนุษย์เป็นต้นวิศวพันธุกรรมจึงเป็นเทคโนโลยีที่ทำลายกำแพงของระบบนิเวศพันธุกรรม (gene ecology) ซึ่งเป็นกำแพงที่สร้างความแตกต่างระหว่างชนิดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และสร้างสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ซึ่งไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ในธรรมชาติ เทคโนโลยีนี้เพิ่งพัฒนาขึ้นเมื่อประมาณ 25 ปีที่ผ่านมานี่เองซึ่งถือว่าสั้นมาก ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ของมนุษย์จึงถูกเปรียบเสมือนเด็กตัวเล็กๆที่ริเล่นกับปืนจริงๆ
ศาสตราจารย์จอร์จ วอล์ด นักวิทยาศาสตร์สาขาพันธุศาสตร์ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เมื่อปี 1967 กล่าวไว้เมื่อเร็วๆนี้ว่า “วิศวพันธุกรรมทำให้สังคมของเราเผชิญกับปัญหาต่างๆซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์โลก เทคโนโลยีนี้ทำให้มนุษย์มีความสามารถในมือที่จะออกแบบสิ่งมีชีวิตอันเป็นผลมาจากวิวัฒนาการสามพันล้านปี ให้มีรูปแบบใหม่ได้” เขาย้ำว่า”เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินไปและกำลังเกิดขึ้นเร็วเกินไป ดังนั้นปัญหาแก่นแท้สำคัญจึงแทบไม่ได้รับการพิจารณากันเลย วิศวพันธุกรรมจึงอาจทำให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่วงการวิทยาศาสตร์เคยเผชิญมา ปัจจุบันศีลธรรมของเราคือการก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่มีขีดจำกัดเพื่อเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติที่เราจะสามารถเรียนรู้ได้ แต่การปรับโครงสร้างธรรมชาติใหม่นั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความเห็นพ้องต้องกัน การก้าวหน้าไปในทิศทางนี้ นอกจากจะเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดแล้ว ยังเป็นอันตรายอีกด้วย”
ศาสตราจารย์ Mae-Wan Ho ผู้เขียนเรื่อง Genetic Engineering : Dream or Nightmare จากมหาวิทยาลัยเปิดลอนดอน เตือนว่าการทำลายระบบนิเวศของยีน จะนำไปสู่การแพร่ไปของหน่วยพันธุกรรมจากเชื้อโรคไปสู่มนุษย์และสัตว์ และจะทำให้เกิดโรคมะเร็ง และโรคระบาดชนิดใหม่ที่เราไม่เคยเจอะเจอในที่สุด
ศาสตราจารย์ Richard Lacey นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ซึ่งเคยเตือนรัฐบาลอังกฤษว่าจะเกิดโรควัวบ้าระบาดมาก่อนล่วงหน้า 6 ปีก่อนหน้านี้ กล่าวเตือนว่ากรณีจีเอ็มโอจะเกิดอันตรายทั้งต่อชีวิตและต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าที่เราอาจคาดการณ์ได้เนื่องจากเหตุผลดังกล่าว คำกล่าวที่ว่าการสร้างพันธุ์พืชจีเอ็มโอขึ้นไม่แตกต่างใดๆกับการสร้างพันธุ์พืชตามวิธีการผสมพันธุ์แบบเดิมจึงเป็นคำโกหกมดเท็จโดยปราศจากความรับผิดชอบใดๆ
มายาคติประการที่ 2 อาหารจีเอ็มโอไม่แตกต่างจากอาหารทั่วๆไป ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องติดฉลากระบุความแตกต่าง
สหรัฐเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตีในการกำหนดว่าอาหารจีเอ็มโอไม่แตกต่างจากอาหารทั่วไป โดยใช้หลักที่ว่าอาหารจีเอ็มโอนั้นมี “ความเท่าเทียมที่ทดแทนกันได้” หรือ Substantial Equivalent ทั้งๆที่ประเทศอื่นๆใช้หลักการ “ป้องกันไว้ก่อน” หรือ Precautionary Principle การใช้หลัก”ความเท่าเทียมที่ทดแทนกันได้” ที่แท้ก็คือหลักการซึ่งเอื้ออำนวยต่อบริษัทที่ผลิตจีเอ็มโอให้สามารถนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น โดยอ้างว่าผลผลิตจากจีเอ็มโอไม่แตกต่างจากอาหารทั่วไป ดังนั้นอาหารจีเอ็มโอจึงไม่ต้องผ่านกระบวนการทดสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดเหมือนผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่นยา เป็นต้น
หลักการนี้ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 1993 โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับบรรษัทข้ามชาติ จากกลุ่มประเทศ OECD 19 ประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมากเช่น Erik Millstone, Eric Brunner และ Sue Mayer เขียนบทความลงในนิตยสารNature เมื่อเร็วๆนี้โดยวิจารณ์ว่าหลักการดังกล่าวเป็น “วิทยาศาสตร์จอมปลอม” ( pseudo-scientific concept) เป็นการอ้างถ้อยคำทางวิทยาศาสตร์เพื่อเกื้อกูลบรรดาบรรษัทข้ามชาตินั่นเอง
นักชีววิทยาโมเลกุลที่มีชื่อเสียง Dr. John Fagan สรุปไว้ว่าหลักการความเท่าเทียมที่ทดแทนกันได้นั้นพิจารณาเฉพาะการดูความแตกต่างระหว่างธาตุอาหาร หรือสารซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้เพียงไม่กี่ชนิด และมิได้พิจารณาไปถึงรายละเอียดของชนิดของสารอื่นๆซึ่งบางที่แม้พบเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ทำให้เกิดอันตรายใหญ่หลวงได้ เช่นกรณีของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทริปโตแฟน (Tryptophan) ของบริษัทญี่ปุ่นShowa Denko ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 37 คนและบาดเจ็บถาวรถึง 1,500 คนเมื่อปี 1989 นั้นเกิดขึ้นเพราะมีการปนเปื้อนของสารที่เป็นพิษน้อยกว่า 0.01 เปอร์เซ็นต์เสียด้วยซ้ำ
งานวิจัยปัจจุบันยิ่งเป็นที่แจ้งชัดมากขึ้นทุกทีว่าสารอาหารของพืชจีเอ็มโอนั้นแตกต่างจากพืชทั่วไป ดังตัวอย่างเช่น Marc A. Lappe, E. Britt Bailey, Chandra Childress, Kenneth D. R. Setchell กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาพบว่าถั่วเหลืองจีเอ็มโอมีระดับphytoestrogen น้อยกว่าถั่วเหลืองทั่วไป 12-14 เปอร์เซ็นต์ และมี isoflavone สูงกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติของผู้บริโภคถั่วเหลืองจีเอ็มโอในระยะยาวได้
นอกเหนือจากปัญหาความแตกต่างของแร่ธาตุอาหารดังกล่าวแล้ว อาหารจีเอ็มโอยังเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการต้านทานต่อยาปฏิชีวนะด้วย ดังที่สมาคมการแพทย์แห่งอังกฤษ (British Medical Association) ที่มีสมาชิกกว่า 115,000 คนในอังกฤษเสนอให้รัฐบาลยับยั้งการปลูกและนำเข้าอาหารแปลงพันธุกรรม ทั้งนี้เพราะการตัดต่อยีนแทบทั้งหมดมีการใช้ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะเป็น “มารค์เกอร์ยีน”
ผู้ที่สนใจเรื่องนี้อาจอ่านได้จาก บทความชื่อ “Beyond ‘substantial equivalence'” ซึ่งเขียนโดย Erik Millstone, Eric Brunner and Sue Mayer ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา และบทความชื่อ THE FAILINGS OF THE PRINCIPLE OF SUBSTANTIAL EQUIVALENCE IN REGULATING TRANSGENIC FOODS (ALSO APPLIES TO OTHER NOVEL FOODS) โดย John Fagan
มายาคติประการที่ 3 จีเอ็มโอลดการใช้สารเคมีการเกษตร
คำโฆษณาที่อวดอ้างว่าพืชแปลงพันธุกรรมทำให้การใช้สารเคมีการเกษตรลดลงเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่เป็นความจริง บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้หวังเพียงเพื่อขายสินค้าของเขามากกว่าจะต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกจริงๆจัง
ขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ปลูกพืชแปลงพันธุกรรมเป็นพืชที่ใส่ยีนต้านทานยาปราบวัชพืช (Herbicide tolerance) เช่น ฝ้ายต้านทานราวด์อั๊พถั่วเหลืองต้านทานราวด์อั๊พ ถึง 71 % ของพื้นทีปลูกพืชแปลงพันธุกรรมทั้งหมด นั่นหมายถึงนอกเหนือจากเป็นการบังคับให้เกษตรกรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ต้องใช้ยาปราบวัชพืชของตนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ยาปราบวัชพืชในปริมาณสูงยิ่งขึ้นไปอีก โดยไม่ต้องกลัวว่าพืชปลูกจะเสียหาย บรรษัทเหล่านี้ต้องการเพียงผลกำไรมากกว่าจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ดังคำโฆษณา
รายงานการสำรวจของ ดร.ชาร์ล เบ็นบรูค (Dr. Charles Benbrook ) นักวิชาการพืชไร่อเมริกายังพบว่าเกษตรกรที่ปลูกถั่วเหลืองราวด์อั๊พใช้สารเคมีราวด์อั๊พมากกว่าเกษตรทั่วไปตั้งแต่ 2-5 เท่า นอกเหนือจากนั้นผลการสำรวจเมื่อปี 1997 ของ ERS ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาเอง(ซึ่งส่งเสริมให้มีการใช้พืชแปลงพันธุกรรม) เพื่อประเมินการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชในภารในพืชสำคัญ 5 ชนิดคือข้าวโพดบีทีฝ้ายบีที และข้าวโพดราวด์อัพ ฝ้ายราวด์อัพ และถั่วเหลืองราวด์อัพ ในพื้นที่ปลูก 12 พื้นที่โดยเปรียบเทียบกับการปลูกพืชทั่วไป พบว่าใน 7 พื้นที่ไม่มีความแตกต่าง ซ้ำร้ายมีพื้นที่ 1 แห่งที่มีการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชเพิ่มขึ้น
ในกรณีการใส่ยีนบีทีเข้าไปในฝ้ายและข้าวโพดเพื่อให้พืชสามารถควบคุมหนอนได้นั้น อาจเป็นจริงเพียงปีหรือสองปีแรกที่ปลูกเท่านั้น เนื่องจากในที่สุดแล้วหนอนก็จะสามารถพัฒนาตนเองให้ดื้อต่อบีทีได้ เกษตรกรต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นหรือาจจะมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่การกลับไปหาเชื้อบีทีมาฉีดก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากฝ้ายบีทีได้ทำให้เชื้อบีทีไร้ความสามารถในการกำจัดหนอนไปเสียแล้ว
ข้อกำหนดในการควบคุมพืชที่ตัดต่อยีนบีทีไปปลูกในต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกานั้น ต้องมีการกำหนดสัดส่วนการปลูกพืชบีทีกับพืชปกติอย่างเข้มงวด เช่นคำแนะนำของ Union of Concerned Scientist แนะนำไม่ให้ปลูกข้าวโพดบีที และฝ้ายบีทีไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกปลูกมันฝรั่งบีทีไม่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกเป็นต้น (สนใจเรื่องนี้เพิ่มเติมโปรดอ่าน Now or Never : Serious New Plan to Save Natural Pest Control จัดพิมพ์โดย Union of Concerned Scientist)
อย่างไรก็ตามวิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมหนอนและสามารถควบคุมการตื้อยาคือการปลูกพืชทั่วไป แล้วฉีดพ่นด้วยบีทีเมื่อเกิดการระบาดของหนอนด้วยวิธีนี้จะทำให้มีการควบคุมการดื้อยาของหนอนได้โดยง่าย เพราะการปลูกพืชบีทีนั้นเหมือนกับการฉีดพ่นเชื้อบีทีตลอดวันตลอดคืนนั่นเอง พืชที่ตัดต่อยีนบีทีใส่เข้าไปนอกจากจะไม่สามารถควบคุมหนอนได้ในระยะยาวแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดแมลงศัตรูพืชอื่นระบาดแทนได้ เช่นกรณีการปลูกฝ้ายบีทีเพื่อทดสอบในประเทศไทย พบว่าแปลงฝ้ายบีทีมีการระบาดของเพลี้ยจนทำให้เกิดโรคใบหงิก เป็นต้น ซึ่งนอกเหนือเกิดจากสาเหตที่ฝ้ายบีทีอ่อนแอต่อโรคใบหงิกแล้วยังเกิดขึ้นเนื่องจากฝ้ายบีทีทำลายแมลงที่มีประโยชน์อื่นๆซึ่งอยู่ในระบบนิเวศด้วยดังที่งานทดลองที่ทำโดย Swiss Federation Research Station ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า Green Lacewing หรือแมลงช้างซึ่งเป็นแมลงที่ควบคุมแมลงศัตรูพืช ตายไปเพราะกินโปรตีนจากบีที โดย 57 % ตายหลังจากให้กินบีทีท็อกซินที่ผลิตจากเชื้อ E. coli ที่ตัดต่อยีนบีทีใส่เข้าไป และ 60 % ของแมลงช้างตายหลังจากกินหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดซึ่งกินข้าวโพดบีทีเป็นอาหาร ตัวหนอนที่รอดตายก็โตช้ากว่าปกติ โดยใช้เวลานานขึ้น 3 วัน ในการพัฒนากลายเป็นตัวเต็มวัย
ในขณะที่การทดลองของ Scottish Crop Research Institute พบว่าแมลงเต่าทองซึ่งเป็นแมลงที่มีประโยชน์อีกชนิดหนึ่งที่เลี้ยงโดยให้กินเพลี้ยอ่อนที่เลี้ยงในมันฝรั่งตัดต่อยีนวางไข่น้อยลง 1 ใน 3 และมีอายุสั้นกว่า ปกติถึงครึ่งหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับด้วงเต่าที่เลี้ยงโดยให้กินเพลี้ยอ่อนที่เลี้ยงในมันฝรั่งทั่ว ๆ ไป น่าประหลาดใจที่นักวิชาการไทยบางคนซึ่งถูกเลือกให้เป็นกรรมการดูแลเกี่ยวกับการทดสอบฝ้ายบีทีไม่เคยหยิบยกประเด็นเรื่องนี้มากล่าวถึง ซ้ำยังปฏิเสธไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการร่วมสถาบัน(ที่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปเป็นกรรมการ)ซึ่งยืนยันว่าประเทศไทยต้องทดสอบว่าฝ้ายบีทีจะมีผลกระทบต่อแมลงที่มีประโยชน์อื่นๆนอกเหนือจากผลที่มีต่อผึ้งและแตนเบียน
มายาคติประการที่ 4 จีเอ็มโอช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
นักวิทยาศาสตร์บางคนในเมืองไทยบอกว่าพันธุวิศวกรรมอาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ คำพูดเช่นนี้มีความจริงปนอยู่แค่เพียงเศษเสี้ยวของขี้เล็บเท่านั้น เช่นการใช้พันธุกรรมเพื่อรักษายีนสำคัญๆของพืชซึ่งกำลังจะสูญพันธุ์เอาไว้ได้ แต่นั่นหมายถึงว่า เราได้ทำลายพันธุกรรมส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในพืชทั้งต้นไปเสีย คำพูดและวิธีคิดแบบแยกส่วนเช่นนี้เองที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของโลกนี้
นักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ยอมรับร่วมกันว่าการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพในภาคเกษตรกรรมที่รุนแรงมากที่สุดในอดีตก็คือการปฏิวัติเขียว เนื่องจากพืชพันธุ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นได้เข้าไปแทนที่พันธุ์พืชพื้นเมืองไปจากประเทศต่างๆจนเกือบหมดสิ้น แต่สิ่งนี้จะเทียบกัน ไม่ได้เลยกับการแทนที่ (replacement) และ การผสมข้ามพันธุ์(cross pollination) ของพืชจีเอ็มโอ
พืชจีเอ็มโอซึ่งใส่ยีนต่างๆเข้าไปอย่างผิดธรรมชาติเช่นยีนต้านทานยาปฏิชีวนะ ยีนจากเชื้อโรคที่ผลิตสารพิษ ยีนซึ่งทำให้พืชต้านทานยาปราบวัชพืชยีนจาก cauliflower mosaic virus (CaMV) ฯลฯ สามารถแพร่กระจายไปสู่พืชพื้นเมืองอื่นๆที่เป็นพืชชนิดเดียวกัน หรือพืชชนิดอื่นที่มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกัน โดยที่เราไม่อาจควบคุมได้เลย
ตัวอย่างเช่นงานศึกษาเรื่อง “A Report on the Dispersal of Maize Pollen ” โดย Dr Jean Emberlin ที่นำเสนอต่อ Soil Association ประเทศอังกฤษ พบว่าเกสรของข้าวโพดนั้นสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลมากกว่าที่เราคาดคิดได้ เช่นในอากาศปกติสามารถพบละอองเกสรของข้าวโพดส่วนมากตกอยู่ในระยะ 1 เมตรจากแปลง ในขณะที่ซึ่งไกล 60 เมตรพบละอองเกสร 2%, ที่ 200 เมตร พบเกสร 1.1% และแม้แต่ที่ซึ่งไกลออกไปถึง 500 เมตร ยังพบละอองเกสรมากถึงระหว่าง 0.5 % – 0.75 % ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เกิดการผสมข้ามได้โดยง่าย
ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือในสภาพที่ลมแรงหรือในสภาพที่เกสรข้าวโพดปลิวไปกับพาหะต่างๆ อาจพบว่าเกสรข้าวโพดสามารถเดินทางไปได้ไกลถึง180 กิโลเมตร (อายุของเกสรที่ยังคงมีขีดความสามารถในการผสมพันธุ์ได้อยู่ที่ประมาณ 24 ชั่วโมง) งานศึกษาของ Friends of the Earthร่วมกับ Federal Environment Agency ออสเตรีย ซึ่งทำการศึกษาในพืชน้ำมันเรพ(oilseed rape) พบละอองเกสรของพืชดังกล่าวตั้งแต่ระยะ 500 เมตรจนถึง 4.5 กิโลเมตร ในขณะที่แปลงทดลองจีเอ็มโอเรพของรัฐบาลนั้นกำหนดให้ระยะปลูกทดสอบระหว่างจีเอ็มเรพกับเรพทั่วไปนั้นกว้างเพียง 50 เมตรเท่านั้น
อย่าว่าแต่การอนุญาตให้นำพืชแปลงพันธุกรรมนำเข้ามาปลูกในประเทศเลย แม้กระทั่งการอนุญาตให้นำข้าวโพดและฝ้ายเข้ามาปลูกทดสอบก็ถือว่าเป็นการทำลายพืชพันธุ์ท้องถิ่นของไทยอย่างยากที่จะควบคุมได้ พันธุ์พืชพื้นเมืองที่เกษตรกรได้คัดเลือก พัฒนา และใช้ประโยชน์มายาวนานนับร้อยนับพันปีหลายชนิด และจะไม่หลงเหลือให้เห็นอีกต่อไป ข้าวโพดเทียนก็จะกลายเป็นข้าวโพดบีที ข้าวโพดราวด์อั๊พ ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดีของไทยก็จะมียีนบีที ยีนต้านทานราวด์อั๊พ เข้าไปผสมอยู่ นี่คือการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของเรา
ใครก็ตามที่อนุญาตให้นำพืชแปลงพันธุกรรมเข้ามาปลูกภายในประเทศจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
มายาคติประการที่ 5 จีเอ็มโอช่วยเพิ่มผลผลิต
คำกล่าวที่บอกว่าพืชแปลงพันธุกรรมสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า แท้ที่จริงก็เป็นคำโฆษณาชวนเชื่อที่เพิ่งได้รับการพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริงจากทั้งงานผลการทดลองวิจัย และผลการสำรวจของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาเอง
ขณะนี้สหรัฐอเมริกาปลูกพืชแปลงพันธุกรรมไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่จากการวิเคราะห์ของ Dr. Jane Rissler ซึ่งวิเคราะห์ผลการสำรวจของหน่วยวิเคราะห์การวิจัยทางเศรษฐกิจของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาเอง กลับพบว่าในชนิดของพืชที่สำคัญ และในพื้นที่ปลูกสำคัญๆส่วนใหญ่นั้น ผลผลิตของพืชแปลงพันธุกรรมไม่ได้ดีไปกว่าพืชทั่วไปเลย ข้อวิเคราะห์ของเธอสอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่เพาะปลูกเนื่องจากมีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่ฟ้องร้องมอนซานโต้ในข้อหาโฆษณาเกินจริง
ผลการวิจัยของ Dr. Charles Benbrook อดีตผู้อำนวยการคณะกรรมการด้านการเกษตรของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Science ) ของสหรัฐอเมริกา พบว่าผลผลิตที่ได้จากพืชตัดต่อพันธุกรรมไม่ได้สูงกว่าพืชทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญเลยผลการสำรวจในแปลงทดสอบมากกว่า 8,200 แห่ง พบว่าถั่วเหลืองต้านทานราวด์อัพให้ผลผลิตน้อยกว่าถั่วเหลืองทั่วไปเสียอีก
ขณะนี้พวกเราถูกทำให้เชื่อว่าจีเอ็มโอทำให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พืชเดิมที่เรามี แต่ขณะนี้เกษตรกรที่ปลูกฝ้ายจีเอ็มโอในอเมริกาหลายร้อยรายกำลังฟ้องร้องต่อบริษัทมอนซานโต้ที่โฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับเรื่องผลผลิต จนกระทั่งพื้นที่ปลูกฝ้ายปี 1998 ที่ผ่านมาลดลงกว่าพื้นที่ปลูกเมื่อปี 1997 ถึง 2 ล้านไร่ ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง American Corn Grower Association ที่เรียกร้องให้เกษตรกรอเมริกันเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดบีทีเป็นข้าวโพดทั่วไปแทนเพราะว่าหาตลาดยากขึ้นทุกที
ในกรณีประเทศไทย ผลการทดสอบในหลายพื้นที่ของคณะกรรมการทดสอบฝ้ายบีทีชี้ให้เห็นชัดเจนว่าฝ้ายพันธุ์นี้ไม่ได้ให้ผลผลิตที่ดีกว่าพันธุ์ฝ้ายพื้นเมืองศรีสำโรง 60 ของเราเสียด้วยซ้ำ

มายาคติประการที่ 6 จีเอ็มโอเป็นทางออกเดียวของการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรโลก
แท้ที่จริงแล้ว การเล่าเทพนิยายปรัมปราเกี่ยวกับประเด็นประชากรที่เพิ่มขึ้น เราจึงจำเป็นต้องใช้พืชแปลงพันธุกรรมนั้น มิใช่เพียง “Paul Teng” ผู้จัดการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของมอนซานโต้ เท่านั้นที่กล่าวประโยคนี้ ผู้ที่กล่าวประโยคคล้ายๆกันนี้มีมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยเริ่มยุคการปฏิวัติเขียว แล้ว
คำกล่าวข้างต้นประกอบไปด้วยความเข้าใจผิดฉกาจฉกรรจ์สองประการคือ
ประการแรกพวกเขาคิดว่าความอดอยากหิวโหยเป็นเพราะโลกมีประชากรมากเกินไป และข้อที่สองพวกเขาคิดว่าพันธุวิศวกรรมเป็นทางออกที่ดีที่สุด หรือไม่ก็อวดอ้างว่านี่เป็นทางออกเดียวของโลก ในความเป็นจริงแล้วความอดอยากหิวโหยไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับจำนวนความหนาแน่นของประชากรเลย เรื่องนี้ Frances Moore Lappe และ Joseph Collins เคยวิเคราะห์ให้คนทั้งโลกเห็นกันมานมนานผ่านหนังสือที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเรื่อง ” มายาคติ 12 ประการเกี่ยวกับความอดอยากหิวโหยของโลก”
ตัวอย่างเช่นประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มีพื้นที่เกษตรกรรมต่อหัวน้อยกว่าอินเดียครึ่งหนึ่ง แต่ปัญหาความอดอยากไม่ปรากฏในจีน ในขณะที่อินเดียกลับประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ตัวอย่างเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นในลาตินอเมริกา กรณีคอสตาริกาซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมต่อหัวน้อยกว่าประเทศ เพื่อนบ้านอย่างฮอนดูรัสถึงครึ่งหนึ่ง แต่ชาวคอสตาริกกลับมีอาหารอย่างพอเพียงเลี้ยงประชากร เป็นต้น จำนวนประชากรจึงไม่ใช่ปมเงื่อนหลักของปัญหาโภชนาการ แต่เป็นปัญหาโครงสร้างของสังคมที่ไม่เท่าเทียม คนยากจนไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะซื้ออาหารได้ เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงการใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ เมล็ดพันธุ์ และทรัพยากรอื่นๆได้เพราะถูกผูกขาดโดยคนส่วนน้อยในสังคม ปัญหาอดอยากหิวโหยของโลกเกิดขึ้นจากความไม่เท่าเทียม หาได้เกิดขึ้นจากปัญหาประชากรไม่ Peter Rosset ผู้อำนวยการของ ” Food and Development Policy” ให้สัมภาษณ์นิวยอร์คไทม์ไว้ว่า ” โลกของเราทุกวันนี้ ผลิตอาหารได้มากเกินพอ เฉลี่ยแล้วมีการผลิตอาหารได้มากถึง 4.3 ปอนด์ต่อคนต่อวัน โดยแบ่งเป็นอาหารประเภทธัญพืชและถั่วต่างๆ 2.5 ปอนด์ และอาหาร ประเภทเนื้อ นม ไข่ 1 ปอนด์ ส่วนที่เหลือ 0.8 ปอนด์เป็นอาหารประเภทผักและผลไม้ อาหารขนาดนี้เหลือเฟือมากเกินพอที่ทุกคนบนโลกจะสามารถกินได้หมด”
มายาคติประการที่ 7 ผู้ต่อต้านจีเอ็มโอเป็นผู้ต่อต้านความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ
อนันต์ ดาโลดม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พูดไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า การที่เราไม่ยอมให้นำเข้าพืชแปลงพันธุกรรมเข้ามาภายในประเทศจะทำให้ประเทศนี้ล้าหลังทางเทคโนโลยี คำพูดของเขาคล้ายๆกับข้อความในหน้าโฆษณาของมอนซานโต้ ที่บอกว่าจะพาประเทศผ่านความบอบช้ำทางเศรษฐกิจได้ก็คือการนำเปิดโอกาสให้บริษัทเอาเมล็ดพันธุ์พืชแปลงพันธุกรรมเข้ามาปลูกภายในประเทศ แล้วสร้างประเทศนี้ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก
แค่การอนุญาตให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาผูกขาดขายเมล็ดพันธุ์แปลงพันธุกรรม จะทำให้เราก้าวหน้าทางเทคโนโลยีละหรือ ? การจะเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนไปทั่วโลกต้องพึ่งพาเฉพาะพันธุ์ฝ้าย พันธุ์ข้าวโพด และพันธุ์ถั่วเหลืองของมอนซานโต้และบรรษัทข้ามชาติอื่นอีกสองสามบริษัทเท่านั้นหรือ ? เราอยากเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารไปเลี้ยงคนทั้งโลกโดยที่เกษตรกรหลายสิบล้านคนต้องเป็นหนี้สินและอดอยากยากจนหรือ ?

องค์กรด้านการศึกษาเรื่องนโยบายเกษตรกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ RAFI เปิดเผยให้เห็นว่าบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ 5 บริษัทคือเอสตราเซเนกา (AstraZeneca – เป็นการรวมตัวกันของบริษัท Astra และZeneca), ดูปองต์ (Dupont – เพิ่งซื้อกิจการบรรษัทเมล็ดพันธุ์ Pioneer Hi-Bred), มอนซานโต้ (Monsanto), โนวาร์ติส (Novartis – เป็นการรวมตัวกันของ Ciba Geigy กับ Sandoz) และ อาร์เว็นตีส (Aventis – เป็นการรวมตัวของ Rhoen Poulenc และ Hoechst) ผูกขาดตลาดพันธุ์พืชแปลงพันธุกรรมไว้ทั้งหมด 100 %อีกทั้งยังผูกขาดตลาดสารเคมีปราบศัตรูพืช 60 % ของโลกเฉพาะมอนซานโต้บริษัทเดียวผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์แปลงพันธุกรรมมากกว่าครึ่งหนึ่ง
ของโลก บรรษัทเหล่านิ้มิได้ผูกขาดเฉพาะตลาดเท่านั้นแต่ผูกขาดเทคโนโลยีชีวภาพไว้ด้วยเช่นกัน โดยผ่านกฏหมายสิทธิบัตร ดังที่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ากว่า 90 % ของสิทธิบัตรในเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่นั้นถูกครอบครองโดยบรรษัทข้ามชาติ แม้กระทั่งขณะนี้งานวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์ไทยอ้างว่าตัวเองกำลังทำอยู่นั้นก็พึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศตะวันตกอยู่แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการทดลองเรื่องมะละกอให้ต้านทานโรคใบด่าง วงแหวน หรือการตัดต่อยีนในข้าวหอมมะลิ เป็นต้น การเปิดประเทศให้นำพืชแปลงพันธุกรรมเข้ามาในที่สุดแล้วจะเป็นการอนุญาตให้บรรษัทเหล่านี้เข้ามาผูกขาดระบบเกษตรกรรมของไทย ทำให้เกษตรกรไทยต้องพึ่งพาต่างชาติไปชั่วลูกชั่วหลาน ขณะนี้ประเทศไทยมีพืชพันธุ์ท้องถิ่นซึ่งเป็นพืชพันธุ์ดีที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
เป็นจำนวนมาก
จะกล่าวไปแล้วรากฐานของเกษตรรมไทยก็ได้อาศัยฐานพันธุกรรมซึ่งมาจากการพัฒนาของชาวไร่ชาวนานั้นเองเป็นรากฐาน หากจำเป็นที่จะต้องพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านในเหมาะสมต่อยุคสมัยมากขึ้น เราก็มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการเกษตรเป็นจำนวนมาก ที่มีความสามารถในการพัฒนาพันธุ์พืชได้โดยวิธีการปกติทั่วไป ไม่มีเหตุผลใดๆในการนำอนาคตของเกษตรกร และภาคเกษตรกรรมไปเสี่ยงภัยกับผลกระทบต่อระบบนิเวศและการถูกผูกขาดโดยบรรษัทข้ามชาติ
การนำเทคโนโลยีชีวภาพมารับใช้สังคม เช่นการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอ เพื่อตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของพืชและอาหารแปลงพันธุกรรมซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมโดยรวมของไทย สนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพแบบพื้นบ้านให้สามารถรับใข้สังคมยุคปัจจุบันได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนรากฐานของการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การรับใช้เกษตรกรส่วนใหญ่ของชาติ และการพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีของประเทศอย่างแท้จริง
มายาคติประการที่ 8 จีเอ็มโอเป็นเครื่องมือสำคัญเดียวในการเอาชนะความยากจน ของเกษตรกรยากจนของประเทศ
จีเอ็มโอหาได้เป็นทางออกของการแก้ปัญหาความยากจนของคนในประเทศนี้ไม่ การหลงคารมของบรรษัทข้ามชาติที่นำเมล็ดพันธุ์เข้ามาขายจะนำพาเกษตรกรไปสู่หายนะยิ่งไปกว่าที่พวกเขาเคยประสบในยุคการปฏิวัติเขียว ที่แท้แล้วทางออกของประเทศนี้ คือการหันมาทำการเกษตรกรรมทางเลือกหรือเกษตรกรรมแบบยั่งยืนนั่นเอง ดังที่ขณะนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าในขณะที่ผู้บริโภคในยุโรปประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ปฏิเสธไม่บริโภคอาหารจีเอ็มโอนั้น พวกเขาหันไปบริโภคอาหารที่ผลิตขึ้นจากระบบเกษตรกรรมอินทรีย์มากขึ้น
เกษตรกรรมทางเลือกรูปแบบต่างๆ เช่นเกษตรกรรมแบบผสมผสาน เกษตรกรรมอินทรีย์ เกษตรกรรมธรรมชาติ เป็นต้นทำให้เกษตรกรไม่ต้องพึ่งพาการซื้อปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร อีกทั้งสามารถฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศการเกษตรให้ดีขึ้นได้ในขณะที่ผลผลิตจากระบบเกษตรกรรมดังกล่าวนี้ได้รับการพิสูจน์มานานมากกว่า 10 ปี โดยคณะกรรมการของรัฐทั้งในอเมริกาและยุโรปเองต่างยืนยันว่าระบบเกษตรกรรมนี้ให้ผลผลิตเท่ากันหรือมากกว่าระบบเกษตรกรรมแบบใช้สารเคมีที่มอนซานโต้สนับสนุน
ขณะนี้แนวทางเกษตรกรรมทางเลือกรูปแบบต่างๆในยุโรปกำลังเติบโตเข้มแข็งมากขึ้นๆเป็นลำดับดังจะเห็นได้จากกรณีที่สายการบินสวิสแอร์ของสวิตเซอร์แลนด์ประกาศจะเสิรฟอาหารจากผลผลิตเกษตรกรรมอินทรีย์เท่านั้นให้กับผู้โดยสารของตน สอดคล้องกับนโยบายของสวิสและเดนมาร์กในปัจจุบันที่กำลังดำเนินนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงเกษตรกรรมในประเทศของเขาไปสู่เกษตรกรรมอินทรีย์
น่าเสียดายที่รัฐบาลและผู้บริหารกระทรวงเกษตรปัจจุบันของเราดีแต่พูดว่าเกษตรกรรมอินทรีย์ดีอย่างโน้นอย่างนี้ แต่หาได้สนับสนุนให้เกษตรกรรมทางเลือกได้เติบโตเข้มแข็งขึ้นไม่ ดังที่แผนและงบประมาณ 600 ล้านบาท ที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเสนอต่อรัฐบาลให้นำมาสนับสนุนเกษตรกรเพื่อให้เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประเทศที่มีระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืนให้ได้ 20 % ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาล กระนั้นก็ตาม ขณะนี้เกษตรกรรมทางเลือกในประเทศไทยได้เข้มแข้งขึ้นอย่างช้าๆเป็นลำดับ และโดยความสนับสนุนของผู้บริโภคในประเทศ รวมทั้งกระแสความต้องการผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมอินทรีย์ในประเทศอุตสาหกรรมจะทำให้ทางออกนี้จะเป็นทางออกระยะยาวที่ยั่งยืนและเป็นคำตอบการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรของเราต่อไปอย่างแน่นอน
มายาคติประการที่ 9 จีเอ็มโอเป็นเรื่องความขัดแย้งของยุโรปและสหรัฐอเมริกา
นี่เป็นข้ออ้างของรัฐบาลที่ไม่ต้องการตัดสินใจใดๆเกี่ยวกับข้อถกเถียงเรื่องจีเอ็มโอในประเทศไทยทั้งๆที่การประกาศว่าประเทศไทยไม่มีจุดยืนใดๆของรัฐบาลก็คือการประกาศเข้าข้างประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ต้องการติดฉลากอาหารแปลงพันธุกรรม และเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยใช้นโยบายมาตรฐานสองระดับ กล่าวคือพวกเขาผลิตอาหารปลอดจีเอ็มโอส่งไปยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่ผลิตอาหารจีเอ็มโอให้คนในประเทศกิน การถกเถียงเรื่องจีเอ็มโอเป็นการถกเถียงระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคฝ่ายหนึ่งกับบรรษัทข้ามชาติและรัฐบาลประเทศอุตสาหกรรมทั้งหมดอีกฝ่ายหนึ่ง ดังที่กระแสการต่อต้านพืชแปลงพันธุกรรมและการเรียกร้องให้มีการติดฉลากอาหารแปลงพันธุกรรมเกิดขึ้นจากผู้บริโภคและประชาชนในยุโรปนั่นเองหาใช่มาจากจุดยืนของรัฐบาลยุโรปไม่
บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ 5 บริษัทที่ยึดครองตลาดและเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมนั้น ที่แท้แล้ว 3 บริษัทใหญ่คือ เอสตราเซเนก้า โนวาร์ติส และอาร์เวนตีส ตั้งอยู่ที่ยุโรป เฉพาะมอนซานโต้ และดูปองท์เท่านั้นที่อยู่ที่อเมริกา นโยบายของรัฐบาลยุโรปซึ่งมีพวกบรรษัทข้ามชาติหนุนหลังจึงมีนโยบายเหมือนกันกับนโยบายของอเมริกา เช่นการสนับสนุนให้มีการจดสิทธิบัตรในยีนและสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฏหมายในการปล้นวัตถุดิบทางชีวภาพจากประเทศโลกที่สาม และผูกขาดเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการทดลองเรื่องจีเอ็มโอ เป็นต้น
ความแตกต่างในเรื่องนี้อยู่ที่ความเข้มแข็งของประชาชนในยุโรปที่สามารถกดดันรัฐบาลเกี่ยวกับการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอนั่นเอง นโยบายของประเทศไทยที่ประกาศว่าจะเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด ที่แท้แล้วคือการทรยศต่อเกษตรกร และผู้บริโภคในประเทศไทยนั่นเอง
แท้ที่จริงแล้วการประกาศให้อาหารแปลงพันธุกรรมต้องติดฉลากจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรไทยซึ่งมิได้ปลูกพืชดังกล่าว เนื่องจากเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ในโลกเลือกที่จะบริโภคสินค้าปลอดผลิตภัณฑ์แปลงพันธุกรรม ขณะนี้ผลผลิตการเกษตรปลอดจีเอ็มโอมีราคาดีกว่า ผลผลิตจากพืชจีเอ็มโอ เช่นถั่วเหลืองปลอดแปลงพันธุกรรมในบราซิลนั้นมีราคาสูงกว่าถั่วเหลืองแปลงพันธุกรรมถึง 10-20 เหรียญต่อตัน ในแง่นี้เกษตรกรที่ปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทยจะขายถั่วเหลืองในราคาที่สูงขึ้น ในขณะที่เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีโอกาสที่ดีกว่าเนื่องจากตลาดยุโรปต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปลอดจีเอ็มโอ
ในขณะเดียวกันผู้ผลิตอาหารสัตว์ในประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศก็จะพยายามใช้สัดส่วนวัตถุดิบในประเทศมากขึ้น เช่น สามารถหันมาใช้มันสำปะหลังและกระถินรวมกันเพื่อทดแทนถั่วเหลืองซึ่งยังผลิตได้ไม่เพียงพอ นอกเหนือจากนี้ แรงจูงใจจากด้านตลาดจะทำให้เกษตรกรหันมาปลูกถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะส่งผลดีต่อระบบนิเวศการเกษตรด้วย เนื่องจากถั่วเหลืองที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นระบบการปลูกหลังการทำนาข้าว ซึ่งจะทำให้สมดุลของแร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์ของดินดีขึ้นด้วย
มายาคติประการที่ 10 ประเทศไทยมีกฎหมายและมาตรการที่ดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มงวด
ข้าราชการและนักวิทยาศาสตร์บางคนอวดอ้างว่าประเทศไทยมีมาตรการและแนวทางในการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพที่ก้าวหน้าที่สุดในภูมิภาคนี้ เนื่องจากได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า ” Biosafety Guideline” มานานนับสิบปี คำกล่าวอ้างนี้ไร้ประโยชน์และไม่มีความหมายประการใดเลย เนื่องจากขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าการอนุญาตให้มีการนำพืชแปลงพันธุกรรมเข้ามาปลูกภายในประเทศ โดยอ้างว่าได้ใช้แนวทางความปลอดภัยทางชีวภาพควบคุมอย่างเข้มงวดนั้น ล้มเหลวโดยประการทั้งปวง เนื่องจากขณะนี้ฝ้ายบีทีซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพได้หลุดลอดไปปลูกในพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 20,000 ไร่แล้ว ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงข้อกำหนดการปลูกพืชแปลงพันธุกรรมซึ่งมีระยะห่างน้อยมากจากแปลงพืชทั่วไป เพื่อป้องกันการผสมข้าม
การใช้พรบ.กักพืชปี 2507 ในการควบคุมเรื่องนี้มีช่องโหว่หลายประการ เช่นการให้อำนาจอธิบดีกรมวิชาการเกษตรในการอนุญาตให้นำพืชแปลงพันธุกรรมเข้ามาปลูกทดสอบ ทั้งๆที่เรื่องนี้ต้องมีกระบวนการตัดสินที่สูงไปกว่านั้นและรอบคอบมากกว่านั้น ที่น่าสมเพชที่สุดก็คือภายหลังที่มีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการพบว่ามีพืชแปลงพันธุกรรมหลุดออกไประหว่างการทดสอบจริงจนมีการปลูกแพร่กระจายไปกว่า 20,000 ไร่แล้ว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรซึ่งต้องเป็นผู้ต้องรับโทษตามกฏหมาย และจะต้องไปแจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับตนเอง กลับสร้างหลักฐานเท็จกล่าวหาองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนการหลุดออกไปปลูกนอกพื้นที่เกษตรกรรมของพืชจีเอ็มโอว่าเป็นผู้ทำผิดกฏหมายเสียเอง
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับมายาคติ 10 ประการที่ได้กล่าวข้างต้น คงจะมีประโยชน์พอสมควรกับคน 3 จำพวกต่อไปนี้
- นักการเมืองที่บริหารประเทศซึ่งได้รับข้อมูลแต่ถ่ายเดียวจากข้าราชการประจำ เช่นข้อมูลจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติซึ่งกลัวว่าหากผลกระทบด้านลบถูกเผยแพร่ออกไป หน่วยงานของตนจะถูกตัดงบประมาณสนับสนุน
- นักวิทยาศาสตร์บางคนซึ่งกักขังตัวเองในห้องทดลองแต่ขาดโอกาสที่จะได้ไปสัมผัสเข้าใจกับปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และไม่มีเวลาเพียงพอที่จะตั้งคำถามการครอบงำทางวิชาการจากตะวันตก
- ชาวไร่ชาวนา ซึ่งถูกกรอกหูด้วยข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านกลไกต่างๆ เช่นจากเซลล์ขายเมล็ดพันธุ์ขายสารเคมีเกษตรของบรรดาบรรษัทข้ามชาติ และข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งขณะนี้มีผู้บริหารที่ใกล้ชิดกับบรรษัทข้ามชาติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเนื้อความทั้งหมดนั้นหาได้มีประโยชน์อย่างใดไม่ กับนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า และบรรษัทข้ามชาติที่ได้ประโยชน์จากเรื่องจีเอ็มโอ เนื่องจากผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆที่เขาได้รับจะปิดบังดวงตาของเขามิให้เห็นความจริง พวกเขาเลือกที่จะเชื่อจากข้อมูลที่ที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองแต่ประการเดียว แม้ว่าพระพุทธองค์จะเหาะลงมายื่นคำสอนเรื่องกาลามสูตรมาวางไว้เบื้องหน้า