28 พฤศจิกายน 2550
เรื่อง ขอคัดค้านการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุญาตให้มีการทดลองจีเอ็มโอในทุกระดับ
เรียน 1. ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี 2. ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอรัฐมนตรี คณะที่ ๒ (ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม)
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ผลักดันเพื่อให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2544 ทั้งนี้เพื่อให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอได้ทุกระดับ ทั้งนี้โดยจะมีการพิจารณาเรื่องนี้โดยคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะรัฐมนตรีเป็นลำดับนั้น
องค์กรภาคประชาสังคมจากทุกภาคของประเทศซึ่งมีรายชื่อตามท้ายจดหมายฉบับนี้ ขอสนับสนุนให้รัฐบาลคงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2544 ให้คงอยู่ต่อไป ทั้งนี้เพื่อห้ามมิให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในไร่นา (Field Trial) หรือในสภาพเปิด จนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพออกมาบังคับใช้ โดยมีเหตุผลประกอบดังต่อไปนี้
- การทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นาและในสภาพเปิดซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมายืนยันว่าได้ทำการทดลองอย่างเคร่งครัดนั้นกลับปรากฏว่าได้หลุดลอดออกไปปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรกรรมถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือกรณีฝ้ายบีทีเมื่อปี 2542 และกรณีมะละกอจีเอ็มโอเมื่อปี 2547 โดยทั้งสองกรณีกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น จนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องร้องต่อกองปราบปรามให้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
- ปัญหาการการหลุดลอดออกไปปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอระหว่างการทดลอง ชี้ให้เห็นว่าปัญหามิได้อยู่ที่การมีระเบียบและแนวทางปฏิบัติ (Guide line) สำหรับควบคุมการทดลองเท่านั้น แต่ปัญหาอยู่ที่แนวปฏิบัติไม่ได้รับการนำไปบังคับใช้อย่างเข้มงวดเนื่องจากเป็นเพียงหลักเกณฑ์ที่ออกภายใต้กฎกระทรวงที่ไม่มีสภาพบังคับ และไม่มีความรับผิดในกรณีที่มีการละเมิด หรือไม่มีการบังคับให้ผู้ที่กระทำผิดหรือละเมิดต้องชดเชยและเยียวยาความเสียหาย ดังนั้นรัฐบาลในอดีต องค์กรอิสระ และองค์กรภาคประชาชนจึงเห็นร่วมกันว่าให้มีการผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพออกมาบังคับใช้เสียก่อน โดยปัจจุบันกระบวนการร่างกฎหมายก็อยู่ระหว่างการดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งควรจะสนับสนุนให้กระบวนการดังกล่าวดำเนินต่อไป
- การทดลองพืชจีเอ็มโอที่ไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนได้ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรทั่วไปโดยเฉพาะในตลาดยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง เป็นต้น เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีมาตรการที่เข้มงวดในการนำเข้าสินค้าจีเอ็มโอ เช่น มีมาตรการบังคับให้ต้องติดฉลากสินค้าที่มีจีเอ็มโอผสมอยู่ตั้งแต่ 0.9.-5 เปอร์เซ็นต์ หรือเรียกร้องให้มีการสุ่มตรวจจีเอ็มโอสำหรับประเทศที่ปล่อยให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุน และเพิ่มขั้นตอนให้กับสินค้าการเกษตรของประเทศไทย เป็นการสร้างภาระและทำให้เกิดผลกระทบให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ และเกษตรกรส่วนใหญ่ของชาติ รวมทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงไปพร้อมๆ กัน
- การทดลองที่ไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนได้หรือเมื่อเกิดการปนเปื้อนขึ้นแล้วไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่ปกป้องสิทธิของเกษตรกร ดังกรณีการทดลองเรื่องมะละกอจีเอ็มโอซึ่งพบว่าเกิดการผสมข้ามระหว่างมะละกอจีเอ็มโอกับมะละกอพื้นบ้าน จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเจ้าของสิทธิบัตรจะอ้างว่าเกษตรกรเป็นผู้ละเมิดสิทธิบัตรของเขา ตัวอย่างเช่น นายเดนิส กอนซาลเวส และมหาวิทยาลัยคอร์แนลซึ่งจดสิทธิบัตรไวรัสใบด่างจุดวงแหวนได้ให้สัมภาษณ์ว่า แม้แต่มะละกอพื้นบ้านที่ผสมข้ามกับมะละกอจีเอ็มโอก็ถือว่าเป็นสมบัติของคอร์แนล
- กรณีที่มีการอ้างว่าการทดสอบจีเอ็มโอในระดับไร่นาเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เท่าทันต่างประเทศเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากขั้นตอนการพัฒนาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนั้นได้ดำเนินการไปแล้วและมีการจดสิทธิบัตรไปแล้วโดยต่างชาติ การนำมะละกอจีเอ็มโอมาปลูกในระดับไร่นาเป็นการดำเนินการเพียงเพื่อที่จะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้มีการอนุญาตปลูกพืชจีเอ็มในเชิงพาณิชย์ตามเงื่อนไขในกฎหมายกักพืชเท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์โดยตรงคือเจ้าของสิทธิบัตรในมะละกอจีเอ็มโอที่แท้จริงซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยคอร์แนลและบริษัทมอนซานโต้ การอ้างว่าการทดลองระดับไร่นาเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศเพื่อให้เท่าทันต่างชาติ เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นด้วยประการทั้งปวง
องค์กรภาคประชาชนซึ่งมีรายชื่อภายใต้ท้ายจดหมายฉบับนี้ ขอเรียกร้องต่อ ฯพณฯ เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้
- ยุติความพยายามของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประกาศให้คงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 เอาไว้ต่อไป ทั้งนี้โดยรัฐบาลของ ฯพณฯ ซึ่งเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ และมีระยะเวลาการบริหารประเทศอีกเพียงไม่นานนั้น ไม่ควรด่วนตัดสินใจประเด็นที่มีความสำคัญกับประเทศชาติบ้านเมือง และมีฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ควรรอให้รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจประเด็นทางนโยบายนี้มากกว่า
- ในระหว่างนี้ รัฐบาลควรหาทางออกจากความเห็นที่แตกต่างกันนี้ โดยยึดแนวทางที่ได้มีการตกลงร่วมกันของหลายฝ่าย โดยให้มีการผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีบทบัญญัติในการควบคุมการทดลองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภค ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และให้มีบทบัญญัติเรื่องการรับผิด การชดเชยและเยียวยาความเสียหาย เป็นต้น เพื่อสร้างกติการ่วมกันของสังคมไทยขึ้นมาก่อน
คณะรัฐมนตรีชุดนี้บริหารประเทศโดยประกาศว่าจะยึดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงและหลีกเลี่ยงการบริหารประเทศโดยปราศจากธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใส และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดๆที่จะทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 เพื่ออนุญาตให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา เพราะแม้แต่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังรับฟังเสียงคัดค้านและถอนวาระเรื่องดังกล่าวออกจากการประชุมของคณะรัฐมนตรี หลังจากได้รับฟังเหตุผลการคัดค้านของประชาชน
จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 518 องค์กร