ปัจจุบันประเทศไทยอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสารพิษกำจัดศัตรูพืชมากกว่าจำนวนทะเบียนที่ประเทศต่างๆในอาเซียนอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนรวมกันเสียอีก ประชาชนและสื่อมวลชนกำลังตื่นตัวกับปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาก ดังจะเห็นได้จากกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การขึ้นทะเบียนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกรมวิชาการเกษตรเมื่อเร็วๆนี้
แต่เพื่อให้ทราบรายละเอียดของปัญหาดังกล่าวและแก้ปัญหาสารเคมีได้ตรงจุด ไบโอไทยขอนำเสนอสาระสำคัญของปัญหาเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

- การขึ้นทะเบียนสารเคมีใหม่ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ โดยมีเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมามีการปล่อยปละละเลยออกใบอนุญาตทะเบียนสารเคมีมากกว่า 27,000 ทะเบียนติดอันดับโลก
- บริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติ และบริษัทในประเทศทยอยนำสารเคมีมาขึ้นทะเบียน โดยปัจจุบันมีจำนวนสารเคมีที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 9,519 ทะเบียน (ข้อมูลล่าสุด 28 ธันวาคม 2559) การอนุญาตให้มีทะเบียนมากขนาดนั้น มากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น เช่น อินโดนีเซีย 1,158 ทะเบียน ฟิลิปปินส์ 1,176 ทะเบียน ศรีลังกา 1,383 ทะเบียน มาเลเซีย 2,104 และเวียดนาม 2,403 ทะเบียน
- ในปีแรก (2554) บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติและบริษัทเคมีเกษตรรายใหญ่ในประเทศไทย โดยมีบริษัทที่ได้ทะเบียนเพียง 36 บริษัท จำนวน 360 ทะเบียน โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ไบเออร์ ซินเจน ลัดดา เจียไต๋ เอราวัณ ดาวเคมีคอล โกลบอลครอปส์ โซตัส และดูปองท์ เป็นต้น โดยเมื่อสิ้นสุดปี 2555 กรมวิชาการเกษตรอนุมัติทะเบียนสารเคมีไปทั้งสิ้น 2,390 ทะเบียน โดยบริษัทสารเคมีรายใหญ่ได้ทะเบียนเป็นจำนวนมาก เช่น โกลบอลครอปส์ได้ทะเบียนมากถึง 177 ทะเบียน ไบเออร์ 153 ทะเบียน เอราวัณ144 ทะเบียน เทพวัฒนา 135 ทะเบียน ซินเจนทา 110 ทะเบียน และเจียไต๋ 75 ทะเบียน เป็นต้น
ในปีหลังๆ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงได้รับแรงกดดันให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีจากบริษัทที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทรายเล็ก ตัวอย่างเช่น ในสมัยของนายดำรงค์ จิระสุทัศน์ จึงมีการอนุญาตทะเบียนมากถึง 5,153 ทะเบียน มากกว่าจำนวนทะเบียนของประเทศเพื่อนบ้านคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย 4 ประเทศรวมกันเสียอีก - กระแสข่าวที่อ้างว่าในสมัยของนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ เตรียมปล่อยผีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมากจนเหมือนเอื้ออำนวยบริษัทสารเคมีนั้น สื่อควรติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
แต่ควรทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว ในยุคสมัยของอธิบดีคนก่อนหน้านั้นได้มีการอนุญาตทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมากแล้วอย่างไม่อาจเปรียบเทียบได้ ดังในแผนภาพ โดยหากเปรียบเทียบการออกใบอนุญาตทะเบียนสารพิษของอธิบดีแต่ละคนมาเปรียบเทียบกับระยะเวลาการทำหน้าที่ในตำแหน่ง ไบโอไทยพบว่า ในสมัยของนายจิรากร โกศัยเสวี มีการออกใบอนุญาตเฉลี่ย 2.93 ทะเบียน/วัน สมัยนาย ดำรงค์ จิระสุทัศน์ 7.06 ทะเบียน/วัน สมัยนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ 4.35 ใบ/วัน และสมัยนายสมชาย ชาญณรงค์กุล ยังมีการออกใบอนุญาตมากกว่าในสมัยของนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศในอัตรามากกว่า 2 เท่า (1.56 ทะเบียน/วัน เปรียบเทียบกับ 0.75 ใบ/วัน ในสมัยของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนปัจจุบัน) - ปัญหาการปล่อยปละละเลยให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมากของกระทรวงเกษตรฯสะท้อนนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แต่การแก้ปัญหานี้อย่างถูกจุดคือการรื้อปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมทั้งกฎหมายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชใหม่ทั้งระบบ เพื่อให้
- การแบนและจำกัดการใช้สารพิษต้องทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นบทบาทของกระทรวงเกษตรฯหรือกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ควรเป็นอำนาจของหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพ/สิ่งแวดล้อม และต้องป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ให้เกิดขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ เนื่องพ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับปัจจุบันมีตัวแทนของผู้ประกอบการนั่งอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย (อีกทั้งเคยมีการแต่งตั้งผู้จัดการของบริษัทข้ามชาติสารเคมียักษ์ใหญ่กำจัดศัตรูพืชมานั่งในคณะกรรมการที่มาจากสัดส่วนขององค์กรสาธารณประโยชน์)
- การขึ้นทะเบียนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชน และผู้ประกอบการทราบเหตุผลของการขึ้นทะเบียนหรือการปฏิเสธ รวมทั้งมีกลไกป้องกันมิให้เกิดช่องการการแสวงหาประโยชน์จากผู้ที่เกี่ยวข้อง
- การแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหานี้ของฝ่ายนโยบาย(รัฐมนตรี/รัฐมนตรีช่วยฯ) และฝ่ายปฏิบัติ (อธิบดีกรมวิชาการเกษตร) คือการสนับสนุนให้มีการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง เช่น พาราควอท ควบคุมการใช้สารที่มีพิษเรื้อรังระยะยาว (ไกลโฟเสท/คลอไพรีฟอส) ซึ่งไทยแพนและนักวิชาการเป็นจำนวนมากได้ส่งเสียงเรียกร้องมาเป็นระยะแต่ยังไม่เห็นการดำเนินการใดๆ และ สนับสนุนการเสนอร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยเนื่องจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำลังเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
โดยเบื้องต้น จากการติดตามนโยบายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาอย่างต่อเนื่อง เราเห็นว่านายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ เป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่มีท่าทีรับฟังปัญหาและเปิดโอกาสให้มีการแก้ปัญหา มากกว่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตรบางคนที่เพิ่งพ้นตำแหน่ง เช่น การยอมรับปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษในผักและผลไม้ รวมทั้งการยอมรับข้อจำกัดเกี่ยวกับการแบนและจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสนับสนุนว่าควรเป็นบทบาทหลักของกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร ประชาชนและสื่อมวลชนควรต้องจับตาและคอยตรวจสอบกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
ข้อมูลการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ : Department of Agriculture, Malaysia, 2010, Vietnam Plant Protection Review 2007-2009, 26th Session of APPPC, ฟิลิปปินส์ Fertilizer & Pesticide Authority (FPA) Department of Agriculture 2011, ประเทศจีน APPPC Regional Workshop 2012
ที่มา: BIOTHAI Facebook