หลังจากนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแถลงขับเคลื่อนให้มีการแบนพาราควอตสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีประเทศต่างๆ 47 ประเทศยกเลิกการใช้แล้ว และคลอร์ไพริฟอส สารเคมีกำจัดแมลงที่มีผลกระทบต่อสมองของเด็กและทารกอย่างถาวร (หมายเลข 1) จากมติของคณะทำงาน 5 กระทรวงหลัก เป็นผลให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนและกำกับการดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต้องจัดให้มีเวทีรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่าย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา

การจัดเวทีเพื่อรวบรวมข้อมูลดังกล่าวมีสมาคมอารักขาพืชซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ค้าขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนำเสนอเอกสารอย่างหนาของสารคลอร์ไพรีฟอส(ซึ่งจัดเตรียมโดยบริษัทดาวเคมิคอล) พาราควอต(จัดเตรียมโดยบริษัทซินเจนทา) และไกลโฟเสต(นำเสนอโดยมอนซานโต้) และมีการเชิญสภาเกษตรกรแห่งชาติ และตัวแทนจากเกษตรกรกลุ่มต่างๆ เช่น สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย สมาคมชาวนาไทย เป็นต้น รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ สถาบันทางวิชาการ และองค์กรอิสระต่างๆ เข้าร่วมนั้น ในด้านหนึ่งเสมือนเป็นการดึงเกมส์การควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลับเข้ามาสู่บทบาทของกระทรวงเกษตรฯอีกครั้งหนึ่งของนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร 

การดำเนินการดังกล่าวในด้านหนึ่งมีผลดีต่อกระทรวงเกษตรฯเองที่สามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้ว่าไม่ได้นิ่งเฉยต่อมติของคณะทำงาน 5 กระทรวงหลักที่มีมติให้แบน 2 สารดังกล่าวและจำกัดการใช้ไกลโฟเสทอย่างเข้มงวด อีกทั้งปิดปากข้อวิพากษ์วิจารณ์จากสมาคมสารพิษว่า กรมมิได้รับฟังข้อมูลจากกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือกลุ่มเกษตรกรแต่อย่างใด 

ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรจะมีทางเลือกให้ทำหน้าที่ 2 อย่างไปพร้อมกัน คือ ประการที่หนึ่งซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมเอง ภายใต้มาตรา 38 และมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย คือการยุติการขึ้นทะเบียนแก่สารพิษร้ายแรง (หมายเลข 3) โดยเฉพาะพาราควอตและคลอไพรีฟอส และ/หรือ ประกาศเพิกถอนทะเบียนของสารดังกล่าวเพราะมีผลกระทบต่อพืช สัตว์ คน หรือสิ่งแวดล้อม โดยมติของคณะทำงาน 5 กระทรวงหลักกำหนดให้สารพิษเหล่านี้ต้องเฟสเอาท์ภายในสิ้นปี 2562 นั่นหมายความว่ากรมวิชาการเกษตรจะต้องเพิกถอนทะเบียนสารพิษ 2 ชนิดนี้ภายในปี 2560 การเพิกถอนสารพิษมีผลเหมือนการแบนสารดังกล่าวกลายๆ เพราะผู้ประกอบการจะไม่สามารถนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองได้ (ความแตกต่างอยู่ที่เมื่อวันหนึ่งนโยบายของกระทรวงเกษตรฯหรืออธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปลี่ยนไป อาจมีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนอีกก็เป็นไปได้)

กรมวิชาการเกษตรจะต้องดำเนินการอีกหน้าที่หนึ่งด้วยคือ การนำเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อให้มีการจัดประเภทพาราควอต และคลอไพรีฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (หมายเลข 4) ซึ่งจะมีผลให้สารทั้งสองชนิดดังกล่าวไม่สามารถนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองได้อีกต่อไป 

ในสมัยนายดำรง จิระสุทัศน์ เป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กรมได้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนแก่สารพิษทั้งหมด 4 ชนิดคือ อีพีเอ็น ไดโครโตฟอส คาร์โบฟูราน และเมโทมิล แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายดำเนินการให้มีการแบนสารพิษ 2 ชนิดเท่านั้นคือ อีพีเอ็น และไดโครโตฟอส ด้วยอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย

กระบวนการแบนสารพิษขณะนี้เข้ามาอยู่ในมือของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแล้วอย่างเต็มมือ ในทัศนะของผู้ที่รับราชการไปวันๆนี่เสมือน “เผือกร้อน” ในมือ เพราะอยู่ท่ามกลางแรงกดดันจากประชาชนที่ต้องการให้รัฐสร้างหลักประกันความปลอดภัยและกลุ่มผลประโยชน์จากสารพิษ แต่ในอีกด้านหนึ่งนี่เป็นโอกาสดีของนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ เพราะหากสารพิษ 2 ชนิดนี้ถูกเพิกถอนทะเบียนและแบนเป็นผลสำเร็จ เขาจะได้รับการยกย่องและนามของอธิบดีท่านนี้จะถูกบันทึกเป็นเกียรติยศอีกนานเท่านาน

พึงทราบว่าผู้นำของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศนโยบายต่อประชาคมโลกเกี่ยวกับการส่งเสริมเกษตรยั่งยืนและลดการใช้สารเคมีในที่ประชุมสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2558 และพลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ได้ประกาศลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชลง 5% ต่อปีตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และเป็นที่ทราบในหมู่ผู้บริหารของกรมวิชาการเกษตร และมกอช.ว่า นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯมีนโยบายให้มีการยกเลิกสารพิษที่ประเทศต้นทางได้ประกาศยกเลิกการใช้แล้ว

นอกเหนือจากการบทบาทของกระทรวงเกษตรฯแล้ว กระทรวงสาธารณสุขซึ่งโดยบทบาทมีหน้าที่ต้องดูและสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภคนั้น สามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนการแบนและจำกัดการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงได้อีก 2 ทางคือ การนำเสนอข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงาน 5 กระทรวงหลักที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเพื่อให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการเพิกถอนพาราควอตและคลอไพรีฟอส จำกัดการใช้ไกลโฟเสตอย่างเป็นทางการ (หมายเลข 2) โดยกรมวิชาการเกษตรเองก็ไม่มีทางออกมากนักเพราะทราบดีว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับพิษภัยต่อสุขภาพนั้น กรมต้องรับฟังจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยตรง ไม่ใช่กรมจะทำหน้าที่รวบรวมเอกสารจากฝั่งสมาคมสารพิษและจากหน่วยงานด้านสุขภาพแล้วมาตัดสินใจเอาเองได้

กระทรวงสาธารณสุขยังสามารถยื่นเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้โดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย (หมายเลข 3) เนื่องจากตัวแทนของกระทรวง 2 คนคืออธิบดีกรมการแพทย์ และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ไม่นับหน่วยงานอื่นๆในอนุกรรมการและคณะทำงานชุดต่างๆที่เกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ใครพูดอะไรไว้อย่างไร ขั้นตอนกระบวนการเป็นอย่างไร และใครควรจะต้องทำอะไรอย่างไร ดูได้จากแผนภาพประกอบ

กระบวนการแบนและจำกัดการใช้สารพิษมิได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐขั้นตอนทางกฎหมายเท่านั้น เแต่ต้องอาศัยพลังของประชาชนในการร่วมผลักดันเป้าหมายการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(หมายเลข 6) ให้บรรลุผล

กระบวนการต่างๆได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และเป้าหมายก็รออยู่ข้างหน้าแล้ว

ที่มา: BIOTHAI Facebook