คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการพิจารณาว่าจะมีการแบนสารพิษกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ในการประชุมวันนี้ (7 ธันวาคม 2560) แต่ข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้แบนสารพิษทั้งสองชนิดอาจล้มเหลว หากกรรมการคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องดังกล่าว

คณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 คนได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือน พฤษภาคม 2560 มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับสมาคมการค้าสารพิษจำนวน 2 คน เป็นกรรมการ โดยสมาคมฯดังกล่าวมียักษ์ใหญ่ข้ามชาติซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นสมาชิกสำคัญ

การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่าจะจัดประเภทพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ว่าสมควรจัดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งจะเป็นการห้ามการนำเข้า จำหน่าย และมีไว้ในครอบครอง หรือไม่นั้น ต้องปราศจากผู้มีส่วนได้เสียกับสารพิษดังกล่าวไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม

สาเหตุที่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศล้าหลัง ยอมรับสารพิษที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และแม้กระทั่งจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ประกาศแบน เป็นเพราะการแต่งตั้งผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเป็นกรรมการวัตถุอันตราย รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเอื้อประโยชน์ระหว่างบริษัทสารพิษกับข้าราชการบางกลุ่มนั่นเอง

หากข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขให้มีการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส ถูกปฎิเสธจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย เชื่อว่าปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และข้อสงสัยเกี่ยวกับการคอรัปชั่นในการจัดประเภทวัตถุอันตราย และการขึ้นทะเบียนสารพิษกำจัดศัตรูพืชจะถูกหลายฝ่ายค้นคว้า นำมาเปิดเผยครั้งใหญ่

หมายเหตุ

ที่มา: BIOTHAI Facebook