1.เกริ่นนำ

ท่าน ศ.สุริชัย หวันแก้ว รศ.จาตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ตัวแทนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ผู้แทนเครือข่าย Asia DHRRA, Cambo DHRRA, Lao DHRRA, Viet DHRRA , Myan DHRRA ผู้ก่อตั้ง ThaiDhrra และเพื่อนพี่น้องทุกท่านครับ

ผมขอขอบพระคุณ ThaiDHRRA ที่ได้ให้เกียรติเชิญมากล่าวปาฐกถาในโอกาสเปิดตัวองค์กรอย่างเป็นทางการในวันนี้ และเรื่องที่ผมจะพูดในวันนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของคุณภาพชีวิตคนในชนบทและภาคเกษตรกรรมโดยตรง ซึ่งตรงกันกับภารกิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชนบท ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานของทุกท่านในวันนี้


2.การตื่นตัวของประชาชน

ตลอด 2-3 ปีมานี้ ทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก ประชาชนกำลังตื่นตัวกับปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารพิษ 3 ชนิดได้แก่ สารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต ที่สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ภายใต้ WHO กำหนดให้เป็นสารก่อมะเร็งชั้น 2A รัฐบาลสหรัฐไม่ยอมแบน แต่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาล มีคดีที่ขึ้นสู่ศาลแล้วมากกว่า 42,700 คดี และศาลได้ตัดสินแล้ว 3 คดีให้บริษัทต้องชดใช้ค่าเสียหายและค่าปรับมหาศาลต่อโจทก์และรัฐ สารพิษกำจัดวัชพืชพาราควอต ที่ประมาณ 60 ประเทศทั่วโลกแบนและประกาศแบนแล้ว ซึ่งน่ายินดีที่บัดนี้เวียดนาม ลาว กัมพูชา ศรีลังกาแบนแล้ว มาเลเซีย และจีนจะเริ่มแบนในวันที่ 1 มกราคมนี้ ในขณะที่ประเทศไทยเลื่อนการแบนออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และสารพิษกำจัดแมลง ที่ชื่อคลอร์ไพริฟอส สารพิษกลุ่มที่พบการตกค้างมากที่สุดในผักและผลไม้ ซึ่งล่าสุดเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา สหภาพยุโรปประกาศแบนในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและทารก 

3.สารเคมีกำจัดศัตรูพืชคือ “สารพิษ” ไม่ใช่ยา

ผมตั้งใจเรียกประเภทสารเคมีที่ภาษาอังกฤษใช้คำ Pesticide ว่าเป็น “สารพิษ” แทนที่จะเรียกโดยภาษาชาวบ้านว่า “ยาฆ่าหญ้า” หรือ “ยาฆ่าแมลง” เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่ “ยา” ซึ่งรักษาชีวิตผู้คน แต่เป็นสารพิษ “Toxic Substance” หรือเป็นประเภทหนึ่งของ “วัตถุอันตราย” “Harzardous Substance” ตามกฎหมายของไทย ซึ่งฆ่าพืชหรือแมลงที่เราไม่ประสงค์ หากใครอยู่ในวงการเกษตรคงพอจะทราบว่ามีความพยายามที่จะเปลี่ยนชื่อสิ่งนี้ว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช” หรือ Plant Potection Products เพื่อปิดบังคุณสมบัติพิษของมัน

หลายท่านคงทราบดีว่าการใช้สารเคมีเหล่านี้บางส่วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม ตัวอย่างเช่น สารพิษกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตพัฒนามาจากแกสพิษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่รู้จักกันดี สารพิษกำจัดวัชพืชที่ชื่อ 2,4-D เป็นส่วนหนึ่งของสารพิษฝนเหลืองที่ใช้ในสงครามเวียดนาม ซึ่งน่ายินดีที่สารพิษซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติภายใต้ WHO กำหนดให้เป็นสารก่อมะเร็งชั้น 2A นั้น ถูกแบนแล้วในเวียดนามแต่ยังคงมีจำหน่ายอยู่ในหลายประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทย
 

4. ปริมาณการใช้สารพิษกำลังเพิ่มขึ้นแต่กลับไม่ได้แก้ปัญหา

4.1 ผลผลิตไม่เพิ่มปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก กล่าวเฉพาะประเทศไทยเมื่อพิจารณาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับไม่ได้เพิ่มขึ้น เช่น จากการเปรียบเทียบผลผลิตต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจสำคัญเมื่อปี 2551 เปรียบเทียบกับปี 2559 ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผลผลิตต่อไร่ส่วนใหญ่ลดลง เช่น

  • ผลผลิตยางพาราลดลงจาก 241 กิโลกรัมต่อไร่ เหลือ 224 กิโลกรัมต่อไร่
  • อ้อยลดลงจาก 11,157 กิโลกรัมต่อไร่ เหลือ 9,152 กิโลกรัมต่อไร่
  • ปาล์มน้ำมันจาก 3,214 กิโลกรัมต่อไร่ เหลือ 2,409 กิโลกรัมต่อไร่
  • ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เท่านั้นที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 652 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 654 กิโลกรัมต่อไร่

4.2 แมลงศัตรูพืชระบาด
การเพิ่มปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อย่างไม่เหมาะสมทำให้เกิดการโรคระบาดของแมลงศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น และไม่มีแนวโน้มว่าเราจะสามารถเอาชนะศัตรูพืชดังกล่าวได้ ตัวอย่างเช่น กรณีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งในอดีตเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไม่เคยเป็นแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญมาก่อน แต่เมื่อมีการปลูกข้าวสายพันธุ์เดียวกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ มีการปลูกต่อเนื่อง มีการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณสูง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้กลายเป็นศัตรูข้าวที่สำคัญ ทำลายพื้นที่ปลูกข้าวนับล้านๆไร่ ในทุก 10 ปีโดยพบว่ายิ่งมีการใช้สารเคมีกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจะพัฒนาตัวเองให้ต้านทานเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันในประเทศไทยมีการพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากถึง 9 ชีวชนิดที่ต้านทานสารเคมีกำจัดแมลงในนาข้าว
4.3 การต้านทานของวัชพืช
รายงานการสำรวจภายใต้โครงการ International Survey of Herbicide-Resistant Weeds ได้เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ พบว่าขณะนี้วัชพืชที่ต้านทานสารพิษกำจัดวัชพืชแล้ว 259 ชนิด ครอบคลุมสารพิษกำจัดศัตรูพืช 167 ชนิด ( 26 กลุ่มฤทธิ์การทำลาย) ระบาดในพื้นที่การปลูกพืช 93 ชนิดใน 70 ประเทศ เช่น

  • มีวัชพืชที่ต้านทานอะทราซีนแล้ว 66 ชนิด
  • มีวัชพืชที่ต้านทานไกลโฟเซต 43 ชนิด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
  • ต้านทานพาราควอต 31 ชนิด เป็นต้น
  • ที่น่าสนใจคือมีวัชพืชมากกว่า 100 ชนิดที่ต้านทานสารพิษได้มากกว่า 2 กลุ่มขึ้นไป และมากกว่า 20 ชนิดที่ต้านทานสารพิษได้มากกว่า 4 กลุ่ม

การแก้ปัญหานี้ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญวัชพืชและบริษัทสารพิษคือ เปลี่ยนชนิดของสารเคมีฉีดพ่นไปใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่นหรือกลุ่มอื่น (different sites of action)แทน แต่พวกเขาพบว่าวัชพืชกลับพัฒนาจนสามารถต้านทานสารพิษทดแทนเหล่านั้นด้วยเช่นกัน การใช้สารพิษกำจัดวัชพืชจึงเป็นการแก้ปัญหาเกษตรกรรมที่ไม่ยั่งยืน อีกทั้งนำปัญหาใหม่ๆมาสู่ระบบเกษตรกรรมและอาหารของเรา 

5. เกษตรกรคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

เกษตรกรคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเนื่องจากพวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับสัมผัสสารโดยตรง เมื่อ 2-3 เดือนก่อน มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเสียชีวิตหลังจากถังฉีดพาราควอตรั่วที่จังหวัดตาก เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเครือข่ายของพวกเราเผยแพร่ภาพเด็กหนุ่มอีกคนที่ฉะเชิงเทรา(ผ่านการอนุญาตของเขา) ผิวหนังถูกทำลายตั้งแต่กลางหลังไปจนถึงสะโพก เราขอภาวนาให้เขาปลอดภัย เพราะข้อมูลพบว่าคนที่ประสบอุบัติเหตุในลักษณะนี้ที่ไปรักษาในโรงพยาบาลมีโอกาสเสียชีวิต 8-15% กลุ่มคนที่ได้รับความเสี่ยงรองลงมาก็คือคนในครอบครัว และสมาชิกในชุมชนนั้นเอง เกษตรกรตระหนักดีถึงพิษภัยที่มีต่อสุขภาพของตนเอง ลูกหลาน และเพื่อนบ้าน และที่จริงพวกเขาพร้อมและสนับสนุนการยกเลิกสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง งานศึกษาของวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในชาวไร่อ้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงความวิตกกังวลของพวกเขา โดย 91% เกรงว่าลูกหลานตนเองจะเดินเข้าไปในพื้นที่ฉีดพ่น และ 81% กลัวเพื่อนบ้านต่อว่าเมื่อฉีดพ่นสารนี้


6. สารพิษกำจัดศัตรูพืชไม่ได้เป็นทางเลือกที่ถูกกว่าวิธีการอื่นๆ

งานศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประมาณการผลกระทบภายนอกรวมทั้งหมดของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชวิเคราะห์โดยวิธี PEA จากข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย นำมาพิจารณาหาต้นทุนผลกระทบภายนอกจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่าทุก 1 ล้านบาทที่เรานำเข้าสารเคมี เกษตรกรต้องจ่ายเพิ่มอีก 760,000 บาทสำหรับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ เมื่อปีที่แล้วเรานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมูลค่า 30,000 ล้านบาท ดังนั้นคิดเป็นความเสียหายที่ต้องจ่ายสูงถึง 23,000 ล้านบาท

นอกเหนือจากนี้สารเคมีกำจัดศัตรูเหล่านี้กลับไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มมานานนับตั้งแต่ปี 2535 มาแล้ว รวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี พวกเขาอ้างว่าเพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องรับภาระ แต่แท้ที่จริงก็เพื่อผู้ประกอบการสารพิษ เพราะเกษตรกรที่ต้องลงทุนกำจัดวัชพืชโดยวิธีอื่น เช่น เครื่องตัดหญ้า วัสดุคลุมดิน หรืออื่นๆ กลับต้องเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย


7. บทเรียนของสงครามแบนสารพิษ

หลายปีที่ติดตามและร่วมเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องสารพิษ ผมประจักษ์แจ้งว่าความยากลำบากในการแบนสารพิษ เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเกษตรกรรมและอาหาร และฐานคติซึ่งถูกครอบงำหลายระดับตลอดประวัติศาสตร์การพัฒนาของระบบเกษตรกรรมและอาหารเชิงเดี่ยวภายใต้ระบบทุนนิยม

ภายใต้โครงสร้างนี้ มีผู้เล่นหลากหลายระดับเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแยกกันไม่ออก โดยผมขอแยกแยะให้เห็นเป็นลำดับดังนี้
7.1 เครือข่ายบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืช-และเมล็ดพันธุ์พืชระดับโลก
ตลาดของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของโลก 98% นั้นอยู่ในมือของบริษัทเพียง 9 บริษัทเท่านั้น เช่นเดียวกันกับตลาดของเมล็ดพันธุ์ 8 บริษัทมีส่วนแบ่ง 75% ของโลก ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือตลาดของทั้งเมล็ดพันธุ์และสารเคมีของโลกประมาณ 61-65%ของโลกอยู่ในมือของ 3 บรรษัทยักษ์ใหญ่คือ ไบเออร์-มอนซานโต้ , เคมไชน่า-ซินเจนทา และดาว-ดูปองท์ เท่านั้น โดยไบเออร์-มอนซานโต้มีส่วนแบ่งตลาดเมล็ดพันธุ์ 30.1% ส่วนแบ่งตลาดสารเคมี 24.6% ส่วนเคมไชน่า-ซินเจนทา มีส่วนแบ่งตลาดเมล็ดพันธุ์ 7.9% แต่มีส่วนแบ่งตลาดสารเคมี 25.8% และดาว-ดูปองท์ มีส่วนแบ่งเมล็ดพันธุ์ 22.7% และมีส่วนแบ่งตลาดสารพิษ 15% โดยบริษัทที่ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะผลักดันให้เกษตรกรและประเทศต่างๆใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมต้านทานสารพิษกำจัดวัชพืชไปพร้อมกันด้วย เป็นการผูกขาดปัจจัยการผลิตได้เบ็ดเสร็จ

บริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีสัญชาติแบบที่เราเข้าใจ ตัวอย่างเช่นเราเคยนึกถึงมอนซานโต้ว่าเป็นบริษัทของสหรัฐ และไบเออร์ว่าเป็นบริษัทเยอรมนี และพลอยเข้าใจว่าเมื่อไบเออร์ซื้อมอนซานโต้แล้ว เจ้าสารไกลโฟเซตและพืชดัดแปลงพันธุกรรมต้านทานไกลโฟเซตจะกลายเป็นของบริษัทเยอรมนีไปด้วย แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะผู้ถือหุ้นไบเออร์ 30.2% เป็นอเมริกัน ส่วนเยอรมันมีสัดส่วนหุ้น 20.2% อังกฤษและไอร์แลนด์ 14.2% และสิงคโปร์ 4.8% เป็นต้น

เมื่อถึงตรงนี้ จำเป็นต้องขยายความเพิ่มเติมด้วยว่า เหตุผลที่ USDA ต่อต้านการแบนไกลโฟเซตในประเทศไทยและในเวียดนามนั้น มิใช่เพราะข้ออ้างว่าจะกระทบต่อการส่งออกข้าวสาลีและถั่วเหลืองซึ่งจะได้รับผลกระทบหากพบไกลโฟเซตตกค้างในผลผลิตนำเข้าเท่านั้น แต่เป็นเพราะการแบนไกลโฟเซตจะกระทบต่อพืชดัดแปลงพันธุกรรมซึ่งเป็นผลประโยชน์ของบรรษัทไบเออร์-มอนซานโต้ในอนาคตด้วยนั่นเอง

บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้สร้างเครือข่ายการล็อบบี้นโยบายทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ โดยในประเทศไทย พวกเขาลงทุนเปิดสำนักงานสาขาขึ้นเมื่อปีที่แล้วหลังจากกระแสสนับสนุนการแบนสารพิษ 3 ชนิดได้กลายเป็นกระแสสำคัญ พวกเขาทำงานกับนักการเมือง สถาบันการศึกษา นักวิชาการ และแม้กระทั่งสื่อมวลชน ผมเห็นภาพอดีตนายกรัฐมนตรีได้รับเชิญไปพูดคุยกับสมาชิกในโรงแรมหรู มีโอกาสได้เห็นภาพของตัวแทนบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าไปพบปะหารือกับพรรคการเมือง เห็นอดีตอธิบดีควงแขนผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าไปแถลงคัดค้านการแบนสารพิษในห้องประชุมของกระทรวงเกษตรฯ เห็นนักวิชาการและสื่อมวลชนเกษตรเดินทางไปดูงานที่ห้องปฏิบัติการของบริษัทที่มิซซูรี่ เห็นโครงการวิจัยของสมาคมวิชาการที่ได้ทุนวิจัยจากบริษัทผลิตพาราควอต และเห็นหนังสือของนักวิทยาศาสตร์ซึ่งบอกว่าไกลโฟเซตปลอดภัยกว่าเกลือแกงได้รับการสนับสนุนการพิมพ์และข้อมูลการเขียนจากองค์กรล็อบบี้ทางนโยบายดังกล่าว

อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อต่อต้านการแบนสารพิษในประเทศไทยนั้น พวกเขามิได้อยู่ข้างหลังทำงานล็อบบี้เท่านั้น แต่พวกเขานำหน้าการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเลยทีเดียว7.2 อุตสาหกรรมเกษตรเชิงเดี่ยวเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเพื่อผลิตวัตถุดิบราคาถูกเพื่อการส่งออกหรือป้อนอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชพาณิชย์ 4 ชนิดได้แก่ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย เป็นการผลิตพืชเชิงเดี่ยว ที่ต้นทุนสูงแต่ขายได้ในราคาต่ำ การผลิตเช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งสายพันธุ์ที่คัดเลือกเพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกดังกล่าว การแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีปริมาณการใช้รวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ จึงไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะบรรษัทสารเคมี และกลุ่มทุนท้องถิ่นที่ค้าขายสารพิษเท่านั้น แต่กระทบต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ น้ำตาล แป้งมัน เป็นต้นด้วย 7.3. ระบบราชการ สถาบันการศึกษา และสมาคมวิชาการเพื่อเกษตรกรรมเคมีการกล่าวว่าข้าราชการ และนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ต่อต้านการแบนสารพิษเป็นเพราะพวกเขามีผลประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากอุตสาหกรรมสารพิษและอุตสาหกรรมเกษตรเชิงเดี่ยวไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด เพราะหน่วยงานและผู้คนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการแบนนั้น จำนวนมากพวกเขาเชื่อเช่นนั้นจริงๆว่า การแบนไกลโฟเซตและพาราควอตจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เพราะความมั่นคงทางอาหารและความเจริญก้าวหน้าของภาคเกษตรกรรมจากฐานคติของพวกเขาคือ กรอบแนวความคิดเกษตรกรรมตามแนวทางการปฏิวัติเขียวเมื่อทศวรรษ 1960-1970

ส่วนใหญ่ของพวกเขาวัดความสำเร็จของการพัฒนาเกษตรกรรมจาก ผลผลิตต่อไร่ หรืออย่างมากก็คิดผลกำไรที่เกษตรกรจะได้รับจากต้นทุนการผลิตเฉพาะหน้า โดยไม่เห็นว่าผลกำไรเล็กน้อยๆนั้นมาจากการไม่คิดต้นทุนชีวิต ต้นทุนสิ่งแวดล้อม ต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ และการสนับสนุนจากรัฐในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งไม่เห็นว่าระบบเช่นนี้ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในภาคเกษตรกรรมมากขนาดไหน พวกเขาเห็นว่าความก้าวหน้าของเกษตรกรรม แต่ไม่เห็นชีวิตที่แท้จริงของเกษตรกร
 7.4. เกษตรกรรายย่อยในระบบการผลิตเชิงเดี่ยวภายใต้พันธนาการของปัญหาหนี้สิน ปัญหาการถือครองที่ดิน และโครงสร้างทางนโยบายของประเทศที่เอื้อเฟื้อการผลิตเชิงเดี่ยว ทั้งในรูปปุ๋ย/สารเคมีราคาถูก เงินกู้ เงินให้เปล่า และมาตรการสนับสนุนราคา ทำให้เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่อย่าว่าแต่จะแหวกออกจากวงจรดังกล่าวได้เลย แม้แต่การแบนสารพิษกำจัดวัชพืชบางชนิด เพื่อเปลี่ยนไปใช้วิธีการควบคุมวัชพืชหรือศัตรูพืชแบบอื่นก็ทำให้พวกเขารู้สึกหวั่นไหว ว่าจะกระทบกับผลกำไรน้อยนิดที่พวกเขาเคยได้รับว่าจะหดหายลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ พวกเขาจำยอมต้องเดินหน้าการผลิตเชิงเดี่ยวดังกล่าว ทั้งๆที่ผลการศึกษาของกระทรวงเกษตรลและสหกรณ์พบว่า เมื่อเปรียบเทียบการปลูกอ้อยและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กับการทำเกษตรแบบผสมผสานแล้ว การปลูกอ้อยและข้าวโพดจะได้กำไรไร่ละ 1,400-1,500 บาท แต่การทำเกษตรแบบผสมผสานจะได้ผลกำไรไร่ละมากกว่า 7,300 บาท หรือมากกว่า 5 เท่า

น่าเศร้าสลดและน่าสังเวชที่ ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น การแบนสารพิษร้ายแรงอย่างพาราควอต หรือสารพิษก่อมะเร็งแบบไกลโฟเซต ได้ถูกหยิบฉวยสร้างวาทกรรมว่าเป็น “การละเมิดสิทธิเกษตรกร” ในการใช้สารพิษที่มีประสิทธิภาพและมีราคาถูก และมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการแบน
 

การฉีดสารกำจัดวัชพืชในสวนยางพารา อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

8. อนาคตเกษตรกรรมไทยหลังสงครามแบนสารพิษ

ที่จริงแล้วสงครามการแบนสารพิษยังไม่จบ กลุ่มสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงต้องการเห็นเส้นตายการแบนไกลโฟเซตถูกกำหนดขึ้น เช่นเดียวกับที่หลายประเทศในยุโรปประกาศ และต้องการเดินหน้าจัดการปัญหาสารพิษอื่นๆอีกกว่า 150 ชนิดที่มีพิษภัยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในขณะที่กลุ่มต่อต้านก็ไม่ได้พึงพอใจกับการที่ไกลโฟเซตยังไม่ถูกแบน และพวกเขาประสงค์จะให้เลื่อนการแบนพาราควอตออกไปอย่างไม่มีกำหนด
สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในมาเลเซียกรณีการแบนพาราควอตในระหว่างปี 2007-2009 ที่ถูกต่อต้านจนรัฐต้องกลับมาอนุญาตให้มีการใช้ใหม่ จนในที่สุดต้องเริ่มต้นแบนอีกครั้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ หรือเช่นเดียวกับกรณีการแบนไกลโฟเซตในศรีลังกาถึง 2 ครั้ง และล่าสุดต้องอนุญาตให้กลับมาใช้ในบางพืช เช่น ยางพารา และชา เป็นต้น หากมองจากมิติบทเรียนจากสงครามการแบนสารพิษ ผมเห็นภาพเกษตรกรรมในอนาคตมีภาพร่างที่เราต้องช่วยกันเติมเต็มให้เห็นชัดเจนดังนี้ 8.1 หากต้องการเกษตรกรรมที่ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคเราต้องไม่หวังว่าจะแบนสารพิษแค่เพียง 3 ตัวเท่านั้น เพราะสารพิษตัวอื่นเช่น อะทราซีนถูกแบนแล้วในยุโรป คาร์เบนดาซิมถูกแบนแล้วในสหรัฐ 2,4-D ถูกจัดชั้นเป็นสารก่อมะเร็งชั้น 2A และมากกว่า 150 ชนิดจาก 260 ชนิดที่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งคือ มีพิษเฉียบพลันสูง ก่อมะเร็ง ก่อกลายพันธุ์ และมีฤทธิ์ตกค้างในสิ่งแวดล้อม เราอาจต้องแบนสารพวกนั้นทั้งหมดซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าเราจะทำสำเร็จได้เมื่อใด
8.2 การทำเช่นนั้นแม้ทำได้หรือทำไม่ได้สิ่งที่เราต้องทำคือการต้องเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมเชิงนิเวศให้เพิ่มขึ้น โดยต้องมีเป้าหมายเชิงนโยบายที่ชัดเจน ตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม และให้คนในสังคมไทยเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้

ภายใต้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ท่ามกลางกระแสสูงของเสียงเรียกร้องให้แบน 3 สารพิษ สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ชื่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ด้วยเสียง 399 ต่อ 0 โดย ผมได้รับเชิญให้เป็นกรรมาธิการในกรรมาธิการคณะนี้ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 44 คนนี้ด้วย โดยนอกเหนือจากการเสนอให้แบน 3 สารพิษอย่างเร่งด่วนแล้ว คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้นำเสนอประเทศไทยปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืนด้วย ผมได้รับเกียรติให้เป็นเสนอร่างโรดแมพว่าต้องการเห็นเกษตรกรรมของประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นแบบใดให้กรรมาธิการได้พิจารณา ผมเสนอให้กำหนดเป้าหมายประเทศไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรกรรมเชิงนิเวศให้ได้อย่างน้อย 50% ของพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศในปี 2573 หรือในอีก 10-11 ปีข้างหน้า แต่ที่ประชุมกลับไม่เห็นชอบ หลายคนคงนึกว่าพวกนักเลือกตั้งเหล่านี้ในที่สุดแล้วก็คงไม่พ้นโยงใยได้ประโยชน์กับพวกผลประโยชน์จากบริษัทสารพิษทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแน่ๆ

เปล่าครับ ! พวกเขาบอกว่าเป้าหมายที่ผมตั้งไว้นั้นยังไม่ท้าทายเพียงพอ พวกเขาบอกว่าเราอยากเห็นเกษตรกรรมของประเทศเปลี่ยนเป็นเกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน 100% ในอีก 10-11 ปีข้างหน้านี้ เพื่อให้พวกเขาได้เห็นเป้าหมายนี้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของพวกเขาและพวกเราทุกคน !

เมื่อรายงานของกรรมาธิการแล้วเสร็จภายใต้กรอบ 60 วัน ประธานและกรรมาธิการต้องเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาข้อเสนอแนะและลงมติ โดยปรากฏว่าผ่านความเห็นชอบด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ 423 เสียงต่อ 0 จากผู้เข้าร่วมประชุม 424 คน มีเฉพาะประธานรัฐสภาเท่านั้นที่งดออกเสียงตามมารยาท เบื้องหลังการลงมติของพรรคการเมื่อง และนักการเมือง ผมคิดว่ามาจากการเคลื่อนไหวของประชาชน การสะท้อนเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ ในความเห็นของผม เจตจำนงทางการเมืองในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่เกษตรกรรมที่คุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงๆ และจะว่าไปแล้วสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่ามากหากหวังว่าเป้าหมายเช่นนี้จะมาจากระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม

8.3 เราไม่ได้แค่ต้องการแค่เพียงเป้าหมายทางการเมืองหรือเป้าหมายทางนโยบาย แต่เราต้องทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ

เราไม่ใช่พวกโลกสวย ที่มีเพียงเกษตรกรรมเชิงนิเวศอยู่ในความฝัน แต่สิ่งที่เราเห็นสามารถสร้างขึ้นได้จริงๆ ตัวอย่างเช่น เครือข่าย 304 กินได้ในภาคตะวันออกมีเกษตรกรนับพันครอบครัวที่ทำเกษตรกรรมอินทรีย์ที่มีระบบรับรองมาตรฐานอย่างเข้มข้น ผมได้พบเกษตรกรที่บ้านหนองโจด อ.เมือง จ.มหาสารคาม ซึ่งปลูกพริกมาเป็นอาชีพมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย มีเกษตรกรที่ปลูกพริกกว่า 100 ครอบครัว ตอนนี้ 40% ของครัวเรือนที่นั่นเปลี่ยนแปลงมาเป็นการปลูกพริกอินทรีย์แล้วทั้งๆที่พริกเป็นพืชที่มีปัญหาแมลงศัตรูพืชสูงมาก 60% ของผลผลิตถูกส่งมาขายที่ตลาดเขียวในจังหวัด และ 40% ที่เหลือส่งขายให้กับร้านค้าร้านอาหารในเมือง เกษตรอินทรีย์ที่ตอบสนองต่อคนไทยและคนในท้องถิ่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว โดยทุกฝ่ายได้รับประโยชน์

มีชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์ทั้งชุมชนเกิดขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่น บ้านกุดหิน ต.กำแมด และบ้านสันติสุข ต.นาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร เป็นต้น ชุมชนที่นั่นทำเกษตรอินทรีย์ 100% เมื่อมีชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์ได้ การทำให้เกิดตำบลเกษตรอินทรีย์ อำเภอ และจังหวัดเกษตรอินทรีย์ทำไมจึงจะทำไม่ได้ ตอนนี้เราเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชนต่างๆ กำลังทำสิ่งนั้นอยู่ทั้งที่สุรินทร์ ยโสธร อำนาจเจริญ และอีกหลายจังหวัด

มาดูประสบการณ์ในต่างประเทศกันบ้างครับ เป็นความสำเร็จของรัฐเล็กๆแห่งหนึ่งกันครับ

สิกขิม รัฐเล็กๆเชิงเขาหิมาลัยของอินเดีย เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงให้เป็นดินแดนเกษตรอินทรีย์ 100% เมื่อปี 2003 บัดนี้เป้าหมายนั้นเป็นจริงแล้ว โดยใช้เวลาเพียง 13 ปี ความกล้าหาญและวิสัยทัศน์ทางนโยบายของสิกขิมได้รับการยอมรับในระดับโลก โดย ‎Pawan Kumar Chamling มุขมนตรีแห่งสิกขิมได้รับรางวัล Future Policy Award ประจำปี 2018 ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อเร็วๆนี้ การเปลี่ยนแปลงรัฐแห่งหนึ่งของโลกให้เป็นเกษตรเชิงนิเวศ 100% ดังกรณีตัวอย่างของสิกขิม เปรียบเสมือนห้องทดลองขนาดใหญ่ที่ใช้รัฐทั้งรัฐทำการทดลอง และประสบผลสำเร็จเหนือความคาดหมายภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษเท่านั้น ข้อมูลล่าสุดซึ่งรัฐบาลรัฐสิกขิมเผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ แสดงให้เห็นผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ย้อนหลังนับตั้งแต่เริ่มประกาศนโยบายเกษตรอินทรีย์เมื่อปี 2003-2004 เป็นลำดับจนถึงข้อมูลผลผลิตล่าสุดในปี 2015-2016 ซึ่งพบว่า ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มิลเล็ต บั๊กวีด และเมล็ดพืชน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ถั่วพัลส์มีผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่อยู่ในระดับเดิมแต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ยกเว้นกรณีข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ ที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ลดลง (แต่ดูจากแนวโน้มผลผลิตของข้าวบาร์เลย์มีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่องอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา)

โดยรัฐบาลสิกขิมได้เล็งเห็นปัญหาการลดลงของผลผลิตของเกษตรอินทรีย์ในพืชบางชนิดในระยะการปรับเปลี่ยน จึงมีมาตรการชดเชยผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกร การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจึงดำเนินไปโดยไม่เกิดผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรแต่ประการใด ความสำเร็จของสิกขิมเกิดขึ้นจากเจตจำนงทางการเมืองที่มุขมนตรีของรัฐ Chmamling ได้รับการสนับสนุนจากชาวสิกขิม โดยได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันนานถึง 4 สมัย ยาวนานที่สุด นโยบายเกษตรอินทรีย์จึงสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2003 จนบรรลุความสำเร็จในปี 2015 ระบบการเมืองที่มีการกระจายอำนาจ ซึ่งรัฐสิกขิมสามารถออกกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามการเข้าสารพิษกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีทางการเกษตร เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐแห่งหนึ่งสามารถตั้งเป้าหมายการพัฒนาและกำหนดมาตรการเป็นการเฉพาะเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายได้ในที่สุด จนในที่สุดรัฐบาลกลางก็ออกมาชื่นชมและยกย่องว่าเป็นความภาคภูมิใจและจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับอินเดียทั้งประเทศ

นอกจากระดับรัฐแล้วเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่กำลังจะกลายเป็นกระแสหลักกำลังเกิดขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่นออสเตรีย ออสเตรียเป็นประเทศแรกของยุโรปที่ประกาศแบนไกลโฟเซต โดยการลงมติของรัฐสภาออสเตรีย ในขณะที่สมาชิกสหภาพยุโรปอย่างฝรั่งเศส ประกาศจะแบนในปี 2021 และเพื่อนบ้านอย่างเยอรมนีประกาศจะแบนในปี 2023 ไม่แปลกใจที่ออสเตรียจะตัดสินใจเช่นนั้น เพราะประเทศนี้คือประเทศเกษตรอินทรีย์ ที่มีสัดส่วนพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากถึง 25% ของพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ (ไม่นับประเทศเล็กๆอย่างซามัวร์ และลิกเตนสไตน์ ที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ประมาณ 40% ของพื้นที่เกษตรของประเทศ) เกษตรอินทรีย์ของออสเตรียแข็งแกร่งมากกว่าประเทศใดๆ เนื่องจากเติบโตมาจากขบวนการ “เกษตรชีวพลวัต” หรือ “Biodynamic farming” ที่ก่อตั้งโดย Rudolf Steiner ซึ่งเป็นทั้งนักปรัชญา สถาปนิกสังคม นักการศึกษา ฯลฯ คนสำคัญของออสเตรีย-เยอรมนี ขบวนการเกษตรชีวพลวัตของออสเตรียเริ่มมาตั้งแต่ปี 1924 ก่อนยุคเกษตรอินทรีย์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อังกฤษหลายปี โดยกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ได้แรงบันดาลใจจากการบรรยายเกี่ยวกับประเด็นนิเวศวิทยา และกระบวนการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยวิถีและพลังธรรมชาติของสไตเนอร์

8.4 ปัญหาขวากหนามที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงนี้ คือปัญหาเชิงโครงสร้างนโยบายที่ไม่สามารถทำให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ

ไม่ต้องเอ่ยอ้างอุดมการณ์หรือผลประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาของรัฐเองที่บอกว่าเกษตรแบบผสมผสานจะได้ผลกำไรไร่ละมากกว่า 7,300 บาท หรือมากกว่า 5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบการทำการปลูกอ้อยและข้าวโพดจะได้กำไรไร่ละ 1,400-1,500 บาท แต่เรากลับไม่สามารถสร้างให้ทิศทางดังกล่าวกลายเป็นทิศทางหลักของระบบเกษตรกรรมได้

เราสามารถทำให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจเลือกวิถีเกษตรกรรมที่เป็นธรรม เท่าเทียม และสร้างผลกำไรได้โดย การยุติระบบภาษีที่อยุติธรรม เช่น ยุติการยกเว้นการเก็บสารเคมี การมีนโยบายทางการคลังที่เอางบประมาณ 20,00-30,000 ล้านบาทที่ต้องจ่ายเพื่อเยียวยาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกลับมาสนับสนุนเกษตรเชิงนิเวศ ยุตินโยบายสนับสนุนเกษตรเชิงเดี่ยวที่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมดังกล่าว และเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณมหาศาลกับระบบชลประทาน ระบบการศึกษา ระบบมาตรฐานสินค้า การส่งเสริมการเกษตร การวิจัยทางการเกษตรที่อุ้มชูเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ต้องพึ่งพาการใช้สารเคมี

8.5 ต้องไม่ทำผู้บริโภคอยู่ตรงกันข้ามกับเกษตรกร และต้องไม่ทำให้ขบวนการเกษตรอินทรีย์เป็นคู่ขัดแย้งกับเกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว

ผมคิดว่าความสำเร็จเล็กๆน้อยของพวกเราทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศคือการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรที่ผลิตเกษตรกรรมเชิงนิเวศกับผู้บริโภคที่ต้องการอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ขบวนการสนับสนุนการแบนสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงนั้น ประมาณ 1 ใน 3 เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเชิงนิเวศ แต่ส่วนที่เหลือเป็นประชาชนกลุ่มอื่นๆที่คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จนอาจกล่าวได้ว่าการตื่นตัวของผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปคือปัจจัยสำคัญของการเคลื่อนไหวในการแบนสารเคมีและการสนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศ แต่จุดแข็งนี้ก็เป็นจุดอ่อนเช่นเดียวกัน ที่สร้างรอยปริร้าวระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับเกษตรกรรายย่อยด้วยกัน และระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้บริโภค ทั้งๆที่เราในฐานประชาชนคือเหยื่อของระบบเกษตรกรรมและอาหาร ที่ต้องเผชิญหน้ากับอุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่ที่สร้างผลกำไรจากการขายสารพิษ ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ต้านทานสารเคมีกำจัดวัชพืช และการรับซื้อผลิตราคาถูกๆจากรัฐ

หากคิดเร็วๆ ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ที่ประชาชนจะได้รับชัยชนะสร้างระบบเกษตรกรรมและอาหารที่เป็นธรรมคำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปต้องไม่เพียงแค่การอุดหนุนซื้อบริการจากเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เท่านั้น แต่คือการร่วมมือกันผลักดันให้ มีเกิดจินตภาพร่วมของสังคมขึ้นมาดังที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อที่สองเรื่องเจตจำนงทางการเมือง และหัวข้อที่สี่ คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ระบบภาษี งบประมาณ การศึกษาเป็นต้น


9. บทสรุป

สิ่งที่ผมกล่าวมาแล้วทั้งหมด ไม่ได้เป็นประสบการณ์ของผมแต่ผู้เดียว แต่มาจากผลการทำงานของเครือข่ายต่างๆ มาจากการแลกเปลี่ยนร่วมกันครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งในการต่อสู้ทางนโยบายและปฏิบัติการที่เราทำงานร่วมกันกับเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ในหลายปีมานี้ ขบวนการอธิปไตยทางอาหาร ซึ่งหมายถึงการสร้างสิทธิและอำนาจในการจัดการระบบอาหารตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การกระจายผลผลิต วิถีการบริโภค และนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรรมและอาหารเติบโตมากขึ้น

ผมเห็นการก่อรูปของขบวนการนี้ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เช่น ในจังหวัดสงขลา พัทลุง นครปฐม ฉะเชิงเทรา สุรินทร์ ยโสธร มหาสารคาม ขอนแก่น อำนาจเจริญ เชียงใหม่ ฯลฯ เป็นต้น ที่ลุกขึ้นมาสร้างทางเลือกการผลิตเชิงนิเวศ สร้างระบบตลาดที่เกษตรกรเป็นเจ้าของ ลุกขึ้นมาบอกว่าเราไม่ต้องการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าที่ก่อมลพิษ และร่วมกันเคลื่อนไหวประกาศเขตปลอดสารพิษ เป็นต้น

ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการอย่างช้าๆแต่มั่นคงของขบวนการนี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว และเห็นไปข้างหน้าว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดคิด ด้วยปัจจัยจากปัญหาเร่งเร้าด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ผมเชื่อเช่นเดียวกับพวกเราส่วนใหญ่ที่นี่ว่า ระบบเกษตรกรรมและอาหารที่เป็นธรรม เท่าเทียม คำนึงถึงชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงในช่วงชีวิตของพวกเรา

ขอบคุณครับ


ปาฐกถา โดย วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี
เนื่องในโอกาสการเปิดตัว สมาคมไทยเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชนบท (Thai DHRRA)
11 ธันวาคม 2562
สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน, ราชเทวี

ที่มา: BIOTHAI Facebook