แม้ว่าประเด็นยาฆ่าแมลงตกค้างในพืชผักไทยที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปในช่วงต้นปี 2554 ที่ผ่านมาจะทำให้เกิดการตั้งคำถามจำนวนมากในความปลอดภัยของอาหารที่คนไทยบริโภคอยู่ทุกวัน แต่ผ่านมาแล้วครึ่งปีก็ยังไม่มีมาตรการใดที่จะควบคุมห่วงโซ่อุปทานของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเข้มงวดซึ่งจะเป็นการจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ ข้อมูลล่าสุดได้ชี้ว่าสารเคมีเหล่านี้มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพคนไทยและเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งซึ่งเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดในประเทศถึง 56,000 รายต่อปี เกษตรกรผู้ผลิตอาหารกว่า 38% มีผลการตรวจเลือดในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย และหากมีการสุ่มตรวจเลือดผู้บริโภคที่ไม่มีทางเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัยเท่าไรอาจพบสถิติที่น่าตกใจกว่าก็เป็นได้ ที่สำคัญสารเคมีเหล่านี้ยังก่อให้เกิดต้นทุนภายนอกต่อสุขภาพ(เช่นค่ารักษาพยาบาล)และระบบนิเวศอย่างน้อย 14,000 ล้านบาทต่อปี ในสถานการณ์ของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่กำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายเช่นนี้ นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆบ่งชี้ให้เห็นว่าประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาหารซึ่งส่งผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพชีวิตของคนไทยทุกคนได้ถูกละเลยและบดบังด้วยนโยบายทางการเงินเสียส่วนใหญ่
เป็นเรื่องที่น่าตกใจแต่อาจจะไม่แปลกที่ไม่มีพรรคการเมืองใดกล่าวถึงการจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างของมาตรฐานคุณภาพอาหารของไทยใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่อาจขัดต่อผลประโยชน์ของธุรกิจสารเคมีเกษตรจำนวนมหาศาลที่เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินของพรรคต่างๆ มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่กล่าวถึงประเด็นการทำให้สินค้าเกษตรมีมาตรฐานคุณภาพ แต่มาตรการดังกล่าวอยู่ภายใต้นโยบายเพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเจาะจงไปที่การเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการแปรรูปและการตลาดที่เหมาะสม จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารหรือควบคุมปัญหาเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ต้นเหตุแต่อย่างใด
ในทางกลับกันพรรคใหญ่ทั้งสองพรรคมีแนวทางพัฒนาภาคเกษตรกรรมไทยที่จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและเพิ่มภาระให้แก่เกษตรกร ด้านพรรคเพื่อไทยนำเสนอโครงการบัตรเครดิตเกษตรกรซึ่งนอกจากความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากที่มองว่าเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมที่แย่ที่สุดและไม่สามารถทำได้แล้ว โครงการนี้ยังเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรซื้อสารเคมีทางการเกษตรมากขึ้นเพราะความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงบริษัทเคมีเกษตรต่างๆจะมีช่องทางเพื่อส่งเสริมการตลาดที่ไม่เหมาะสมผ่านการสะสมแต้มในบัตรเครดิตเช่นกัน
ทางพรรคประชาธิปัตย์มีแนวทางการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูงภายใต้นโยบายเพื่อจัดการทรัพยากรทางการเกษตร แต่การมุ่งเน้นไปที่ผลผลิตสูงอย่างเดียวได้ละเลยว่าพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงขึ้นอาจตอบสนองต่อการใช้ปัจจัยทางการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เช่นกรณีข้าวลูกผสมหลายสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่มากกว่าพันธุ์ข้าวทั่วไปเล็กน้อย แต่มีความคุ้มทุนที่น้อยลงเพราะมีมูลค่าการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมากถึง 30-40% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนาสายพันธุ์พืชควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการเกษตรที่ลดต้นทุนของปัจจัยการผลิตและโอกาสการตกค้างของสารเคมี
เพื่อสร้างความตระหนักแก่สังคม พรรคการเมืองต่างๆ และรัฐบาลใหม่ เครือข่ายจากภาควิชาการและภาคประชาสังคม พร้อมแผนงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม และแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารได้ร่วมกันจัด “การประชุมวิชาการเพื่อการเฝ้าสารเคมีเกษตร” ในวันที่ 16-17 มิถุนายน 2554 โดยได้มีการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปัจจุบันที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมกับมีการอภิปรายเพื่อพัฒนาข้อเสนอทางนโยบายในการจัดการและควบคุมสารเคมีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
- ต้องมีการการยกเลิกทะเบียนและแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความอันตรายร้ายแรงและผลกระทบในวงกว้างต่อทั้งสุขภาพมนุษย์และระบบนิเวศอย่างเร่งด่วน สารเคมีเหล่านี้ได้ถูกแบนในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป รวมถึงอีกหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นประเทศไทยควรมีการพัฒนาทางเลือกให้เกษตรกรป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้อย่างปลอดภัยต่อตนเองและผู้บริโภคมากขึ้น
- ให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้บริโภคผ่านสื่อสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันและสามารถหาทางออกร่วมกันได้ เช่นมีตลาดอาหารปลอดสารหรืออาหารอินทรีย์มากขึ้น มีองค์ความรู้ด้านทางเลือกของการลดหรือไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น เป็นต้น
- ควบคุมการส่งเสริมการตลาดและการโฆษณาของบริษัทสารเคมีเกษตรอย่างเข้มงวด เนื่องจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีอันตรายร้ายแรง ไม่ว่าจะใช้ถูกวิธีถูกประเภทหรือไม่ก็ตาม โอกาสของการตกค้างในอาหารหรือในสิ่งแวดล้อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือการสร้างเกราะป้องกันไม่ให้เกษตรกรไทยถูกชักจูงให้ใช้สารเคมีเกินความจำเป็น
- เก็บภาษีนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกยกเว้นมานานถึง 20 ปี แม้นับว่าเป็นนโยบายเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่เกษตรกรยังต้องแบกรับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของตนเองและครอบครัวที่มากขึ้นอีกเช่นกัน ภาษีสารเคมีเหล่านี้สามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและสร้างทางเลือกที่ดีกว่าของเกษตรกรไทย
- พัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การนำเข้า ผลิต จำหน่าย และใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั่วประเทศ โดยให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ เพื่อให้ทราบถึงความรุนแรงของปัญหาได้อย่างชัดเจน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้
ไม่ว่าพรรคการเมืองต่างๆจะมีนโยบายในการหาเสียงอย่างไรก็ตาม แต่สังคมไทยต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้รัฐบาลใหม่มีนโยบายและแผนปฏิบัติ การเกี่ยวกับการการจัดการและควบคุมสารเคมีการเกษตรและอาหารปลอดภัย