เครือข่ายเกษตรกรรมอีสานออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีจี้รัฐยุติให้ยุติการนำเข้าและขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยทันที ชี้ถ้าปล่อยให้ขึ้นทะเบียนต่อไปได้จะเป็นการเอื้อประโยชน์บริษัทสารเคมีเกษตรบนความสูญเสียของประชาชนและเกษตรกร และเรียกร้องนายกฯ ตรวจสอบการทำงานของกรมวิชาการเกษตร คณะกรรมการวัตถุอันตราย และฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอย่างเข้มข้นเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ พร้อมกับเดินขบวนในเมืองมหาสารคามเพื่อสร้างความตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีเหล่านี้

วันนี้ (22 ก.ย.) จ.มหาสารคาม – เครือข่ายเกษตรกรรมอีสานเกือบ 500 คนร่วมกันชุมนุมที่ห้องประชุมใหญ่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อติดตามและต่อต้านการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน (Carbofuran) ไดโครโตฟอส (Dicrotophos) เมโทมิล (Methomyl) และอีพีเอ็น (EPN)โดยนายสุเมธ ปานจำลอง ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานกล่าวว่าการชุมนุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือต้องการให้รัฐบาลยุติการนำเข้าและขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมโทมิล และอีพีเอ็น เพราะมีหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่ยืนยันถึงอันตรายของสารเคมีเหล่านี้

เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม และเครือข่ายองค์กรประชาชนได้ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อขอให้รัฐบาลยุติการนำเข้าและขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมโทมิล และอีพีเอ็น โดยทันที เพื่อคุ้มครองคุณภาพชีวิตเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค และนายกฯ ควรเข้ามาปกป้องประชาชนโดยการกำกับและตรวจสอบหน่วยงานและข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีการเกษตรที่มีกรมวิชาการเกษตร คณะกรรมการวัตถุอันตราย และฝ่ายการเมืองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด นายสุเมธกล่าวต่อว่าจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ยังเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลเอกสารข้อมูลการยื่นขอทะเบียน ข้อมูลและผลการทดลองที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพ การเกิดพิษทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผลตกค้าง และอื่นๆ และให้เปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา รวมทั้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานต่อสาธารณชนด้วย เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีเสียงทวงถามถึงความโปร่งใสในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนของสารเคมีทั้ง 4 ชนิดจากภาคประชาสังคมที่ประกอบไปด้วยนักวิชาการ เกษตรกร และผู้บริโภค แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับกลับจากกรมวิชาการเกษตรแต่อย่างใด ด้านนายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่านอกเหนือจากจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ แล้ว ทางเครือข่ายเกษตรกรรมอีสานยังได้จัดทำแถลงการณ์ตักศิลานครขึ้นมาด้วยเพื่อมุ่งคุ้มครองคุณภาพชีวิตคนสารคาม เพราะจากข้อมูลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยศัตรูพืชระบาดของจังหวัดมหาสารคาม พบว่าในปี  2553 จังหวัดมหาสารคามนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกว่า3 แสนกิโลกรัม มูลค่ากว่า 88 ล้านบาทเพื่อแจกจ่ายแก่เกษตรกรทั้งจังหวัดด้วยข้ออ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของศัตรูพืช ในขณะที่คนมหาสารคามกำลังตายเพราะเป็นโรคมะเร็งและโรคพิการทางสมองมากขึ้น การดำเนินงานนอกจากจะขาดความโปร่งใสในการจัดสรรงบประมาณและการบริหารจัดการที่ตามมาแล้ว ยังขัดกับยุทธศาสตร์จังหวัดมหาสารคามที่ต้องการส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดสารพิษ และสนับสนุนเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ จึงควรที่จะจัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบโครงการขึ้นมาเพื่อทำความจริงให้ปรากฎ พร้อมกับปกป้องสุขภาพของประชาชน และป้องกันการปนเปื้อนและตกค้างในอาหารและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังต้องกำหนดมาตรการควบคุมการใช้สารเคมี การผลิตและการจำหน่าย การโฆษณาและการส่งเสริมการขายของบริษัทสารเคมีการเกษตรอย่างเข้มงวดด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายเครือข่ายเกษตรกรรมอีสานยังได้เคลื่อนขบวนไปในเมืองมหาสารคามเพื่อสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงพิษภัยอันตรายของสารเคมีทั้ง 4 ชนิดนี้ว่าร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไร โดยได้ปักหลักปราศรัยในตัวเมืองมหาสารคามโดยมีตัวแทนเกษตรกรผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาปราศรัยถึงอันตรายร้ายแรงของการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนต่อไปได้ ในขณะที่ช่วงเช้าก็มีการบรรยายผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และข้อเสนอทางนโยบาย โดยกลุ่มนักวิชาการที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสุขภาวะประชาชนมาก่อนแล้ว

pesticide_press_22_9_2554_01

pesticide_press_22_9_2554_02

pesticide_press_22_9_2554_03