ในวันนี้ ผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-จีน ได้ปรากฏให้เห็นกันอย่างชัดเจนแล้ว “เกษตรกร-ชาวสวน-ชาวไร่” ที่เดิมทีก็ประสบปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากร ปัญหาที่ดินทำกินขาดแคลน ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาหนี้สินฯลฯ มาบัดนี้ ปัญหาเหล่านี้กลับถูกซ้ำเติม และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น “ทางออก” คืออะไร ข้อค้นพบจากงานวิจัยดังกล่าว  เผยให้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกษตรกรไทย ผู้บริโภคไทย และสังคมไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ ความอยู่รอดของเราขึ้นอยู่กับอะไรกันแน่ ระหว่าง “ตัวเลขการนำเข้า-ส่งออก” หรือ “ความมั่นคงทางอาหาร” ของประชาชน!? และเพราะเหตุใด การค้าเสรี-ตลาดเสรี แต่เกษตรกร ผู้บริโภคกลับกำลังจะไร้ทางเลือก…

เอฟทีเอ – เปลี่ยนโครงสร้างการตลาด

ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์: ข้อค้นพบจากงานวิจัย ในกรณีกระเทียม พบว่าภายหลังการทำเอฟทีเอ ปริมาณการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคากระเทียมในประเทศตกต่ำ พื้นที่เพาะปลูกก็ลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่งในระยะ 3-4 ปีมานี้ มูลค่าในตลาดหายไปกว่า 1 พันล้านบาท

โดยตั้งแต่มีการเปิดเสรีทางการค้าไทย-จีน ไปแล้วนั้น เห็นได้ชัดว่าการนำเข้าพืชผัก ผลไม้จากจีนนั้น มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่การส่งออกนั้น มีขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะแรกเท่านั้น และค่อนข้างนิ่งในระยะต่อมา ในปี 49 ไทยขาดดุลการค้าจีนไปประมาณ 2,200 ล้านบาทแล้ว

สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในตลาดการค้าของกระเทียม คือ “โครงสร้างในระบบตลาด” ที่เปลี่ยนแปลงไป การนำเข้าสินค้าถูกจากประเทศจีน ซึ่งค้าขายง่ายกว่า เป็นระบบมากกว่า เป็นส่วนที่เข้ามาเปลี่ยนระบบตลาด ทำให้ผู้นำเข้าเป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในระบบตลาด เพราะได้กลายมาเป็นคนควบคุมปริมาณและกำหนดราคาได้มากขึ้น เริ่มนำมาสู่การจัดระบบมาตรฐานสินค้าขึ้นมาใหม่ นั่นคือการแบ่งเกรดกระเทียมใหม่ ซึ่งเป็นการจัดระบบที่เอื้อต่อสินค้าจีนมากกว่า

แม้ว่าเราให้กระเทียมไทย เป็นกระเทียมที่มีคุณภาพดีกว่า ราคาแพงกว่า ทำให้ขายได้ปริมาณน้อย ในส่วนของภาคการแปรรูปอาหาร ก็หันไปใช้กระเทียมจีนมากกว่า หรือแม้แต่การคละกระเทียมไทยและจีนเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการขาย ทำให้ตลาดเดิมของไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก เกษตรกรบางส่วนก็กำลังหันมาขายตรง ขายเองในตลาดมากขึ้น (ซึ่งก็อาศัยต้นทุน)

กระนั้นเกษตรกรก็อยู่ในภาวะที่จะไม่ได้ราคาดีอีกแล้ว เกิดเพดานราคาขึ้นมา เพราะการทำเอฟทีเอ ทำให้เกษตรกรยิ่งมีอำนาจการต่อรองน้อยลง เพราะหากพ่อค้าไม่พอใจกับราคา ก็สามารถสั่งนำเข้ามาทดแทนได้ ฉะนั้นทางเลือกของเกษตรกรมีจำกัด ผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้ค้ารายใหญ่เท่านั้น

รัฐเองก็มีค่าชดเชยให้ และสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดมากขึ้น เช่น มันฝรั่ง พริกหวาน แต่เกษตรกรต้องลงทุนเอง แม้เป็นการปรับตัวของเกษตรกรแต่มีเป็นการพึ่งพิงธุรกิจการเกษตร และเข้าไปสู่เกษตรกรรมแบบพันธะสัญญามากยิ่งขึ้น เกษตรกรที่เดือดร้อนมาก ก็คือเกษตรกรเช่าที่ดิน

เกษตรกรบางส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนไปปลูกพืชที่รัฐส่งเสริมได้ ก็ปลูกกระเทียมต่อไป เพราะการปลูกกระเทียมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต หวังว่าราคาอาจจะดีขึ้น ซึ่งในกรณีของหอมหัวใหญ่ หอมแดง และลำไย ก็ตกอยู่สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน แม้แต่พืชผักของโครงการหลวงเอง ก็มุ่งทำตลาดบน เพื่อการส่งออกไปยุโรปมากขึ้น ทำธุรกิจโดยตรง ขายพืชผักให้กับการบินไทยมากขึ้น

“เอฟทีเอจึงไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงภาษีเท่านั้น แต่ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างการตลาดด้วย ที่ทำให้ผู้ที่นำเข้า สามารถทำการค้าได้อย่างเปิดเผยและเสรีมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังไม่ทราบล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมตัว”

เดชรัตน์ สุขกำเนิด

กลไกตลาด – ทำลายคุณภาพผลผลิต

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch): ในแง่การปรับตัวของเกษตรกรขณะนี้ ทั้งหอมแดง หอมใหญ่และกระเทียม ใช้วิธีปรับตัวโดยการเพิ่มปริมาณ และขนาด อัดปุ๋ย เร่งยาเคมี เพื่อให้ได้น้ำหนัก เนื่องจากราคามีความแปรปรวนสูงเหลือเกิน ไม่มีหลักประกันอะไรเลย ฉะนั้นถ้าทำน้ำหนักให้ได้มาก ด้วยราคาต่อหน่วย สุดท้ายเกษตรกรก็จะได้เงินก้อนหนึ่งซึ่งเป็นรายได้สุทธิ แต่ไม่ได้หักลบกลบหนี้ให้ดี ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา เพราะต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นมาก ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นว่า 100-200 เปอร์เซ็นต์ แต่การเร่งน้ำหนัก คุณภาพกลับลดต่ำลง ในแง่การส่งออกก็จะมีปัญหา ฉะนั้นทิศทางในการปรับตัวของเกษตรกรเป็นเรื่องระยะที่ต้องร่วมกันคิดด้วย

“อีกทั้งการทำสัญญาเอฟทีเอ ไทย-จีน จะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการ เกษตรกรรายย่อยแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการจ้างงานในชุมชนที่ลดน้อยลงด้วย เช่น เกษตรกรที่ปลูกหอมแดงมีแนวโน้มที่จะขายสดมากขึ้น แขวนตากไว้น้อยลง รวมถึงการจ้างงานผู้หญิงในชุมชนเพื่อมาคัดมัดหอมแดงก็สูญหายไปด้วย”

ดร.เดชรัตน์: น่าเห็นใจพี่น้องเกษตรกรของเราเหมือนกัน ที่กลไกทางราคา และการตลาดของเราไม่ได้ช่วยรักษามาตรฐานราคาของผลผลิต ทำให้เกษตรกรต้องทำกำไรจาการเร่งน้ำหนัก หรือแม้แต่การปลอมปนสินค้า ซึ่งประเด็นนี้ก็เชื่อมโยงกับความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภค

ซึ่งจากการวิจัยได้พบว่า ในประเทศไทยการบริโภคผักไม่ได้เพิ่มขึ้น ผลไม้อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่มีแนวโน้มว่าจะลดลง ผู้บริโภคเองแค่เปลี่ยนชนิดของการบริโภคไป ซึ่งชี้ได้ว่าเอฟทีเอ ไม่ได้ช่วยกระตุ้นการบริโภคสินค้า แค่ทำให้การบริโภคเปลี่ยนชนิดไปเท่านั้น

ด้านปัจจัยของผู้บริโภคในการเลือกซื้อผักและผลไม้ มีอยู่ 5 อย่างเรียงตามลำดับความสำคัญคือ 1) ความปลอดภัย 2) คุณค่าทางอาหาร 3) รสชาติ 4) ความสะดวกในการซื้อ 5) ลักษณะน่ารับประทาน ปัญหาคือ ผู้บริโภคไม่มีโอกาสได้รับรู้ 2 ข้อแรก ซึ่งเป็นข้อที่ผู้บริโภคเห็นว่าสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้

ในแง่นี้ คือ หากเปรียบเทียมกลยุทธ์ทางการตลาดด้านการส่งออกพืชผลระหว่างไทยกับจีน ถึงแม้ผักในประเทศไทยจะได้ในเรื่องคุณภาพ แต่ไม่สนใจเรื่องขนาดและความสวยงาม แต่เสียเปรียบมากในเรื่องต้นทุนการผลิต และระบบการขนส่งที่ดี ขณะที่สินค้าพืชผลของจีนมีขนาดและความสวยงามมากกว่า รวมไปถึงใช้ยุทธศาสตร์ทางการขาย มีโปรโมชั่น และให้ข้อมูลเรื่องคุณค่าทางโภชนาการแก่ผู้บริโภค

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา

ผู้ค้ารายใหญ่ – ได้กับได้ประโยชน์

ดร.เดชรัตน์: ขณะเดียวกัน การนำเข้าแอปเปิ้ลเพิ่มขึ้น ซึ่งแอปเปิ้ลของจีนนั้นสามารถแย่งตลาดได้ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย เกิดผู้นำเข้าใหม่คือ ยี่ปั้ว, ซาปั้ว และ Modern Trade (ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่) อย่างแมคโคร, โลตัส ที่ทำการนำเข้าเองทำให้ต้นทุนต่ำกว่าผลไม้ไทย ขณะเดียวกันต้นทุนการจัดการก็ต่ำกว่าผลไม้ไทย ด้วยการแข่งขันที่เข้มข้น จึงต้องทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง

ผู้ที่นำเข้า แอปเปิ้ลหลายราย บอกว่า ตั้งแต่มีเอฟทีเอนั้น ทุกอย่างสะดวกไปหมด เขานำเข้าแอบเปิ้ลมากขึ้นไม่ใช่เพราะภาษีมันลดลงเท่านั้น แต่พ่อค้ารู้สึกว่ามันเป็นการค้าที่เป็นทางการ เป็นระบบ คนรับรู้แล้วว่า มันไม่เหมือนเดิม ฉะนั้นบรรดาผู้ประกอบการจึงไม่ได้มองเอฟทีเอแค่ว่าเป็นการลดภาษี แต่เป็นการเปลี่ยนระบบตลาด ผู้บริโภคก็รู้สึกว่ามีตัวเลือกมากขึ้น

“จึงขอย้ำว่าเอฟทีเอ ไม่ใช่แค่เรื่องของการลดภาษี แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของจุดเปลี่ยนทางการตลาด ความหลากหลายสำหรับผู้บริโภค การเปลี่ยนอำนาจต่อรองในห่วงโซ่อุปทานด้วย”

โดยผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการทำเอฟทีเอ คือผู้ประกอบการรายใหญ่ ด้วยเหตุผลดังนี้คือ มีสินค้าราคาถูกให้เลือกมากขึ้น จัดการอุปสงค์-อุปทานได้ง่ายขึ้น ควบคุมช่องทางการตลาดได้มากขึ้นจึงมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และ มีการควบรวมทางการตลาด

กระนั้น ทั้งหมดนี้ไม่ควรจะโทษเอฟทีเอ แต่อย่างเดียวเอฟทีเอ แต่ข้อได้เปรียบเสียเปรียบนี้ มันเกิดจากอำนาจตลาดที่ไม่เท่าเทียมกัน เกิดจากกลไกตลาดที่บิดเบี้ยว ซึ่งมีมาก่อนอยู่แล้ว เพียงผู้ประกอบการได้อาศัยกลไกที่บิดเบี้ยวตรงนี้มาแสวงหาผลประโยชน์ได้มากขึ้นเท่านั้นเอง

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ ก่อนการทำเอฟทีเอ หรือมีการเจรจาจะต้องทำความเข้าใจพื้นฐาน เช่น เรื่องผลกระทบเป็นรายสินค้า และการศึกษามาตรฐานทางการค้า ระบบภาษี กฎกติกาที่แตกต่างกันในแต่ละมณฑลของจีนด้วย

การพึ่งพาตนเอง กับความยั่งยืน

ดร.เดชรัตน์: จากการศึกษาของคณะวิจัยทั้งหมด และหลายฝ่ายก็คงเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาในเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเอฟทีเอ ไม่ใช่เพียงแค่การเจรจาทางการค้า แต่เกี่ยวข้องถึงความมั่นคง และวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก สิ่งที่ผมในการศึกษาก็คือว่า เอฟทีเอได้เปลี่ยนแปลงอำนาจต่อรองในระบบตลาด จนทำให้ในที่สุดแล้ว ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘เสรีแต่มันไม่มีทางเลือก’ คือเกษตรกรก็ไม่มีทางเลือก เกษตรกรต้องยอมจำนน ผู้บริโภคก็ต้องยอมจำนน ฉะนั้นพวกเราต้องสร้างทางเลือกขึ้นมา

หนึ่งในทางเลือกนั้น คือ การรณรงค์เรื่องตลาดภายในประเทศ สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ภายในตลาดของเรา ครอบครัว และชุมชนของเรา รวมไปถึงการส่งเสริมมาตรการความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับสินค้านำเข้าและสินค้าภายในประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น มีการสนับสนุนที่จำเป็นต่อผู้บริโภค  และวางมาตรฐานด้านการส่งออกที่เป็นธรรม

การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงการหยุดเอฟทีเอ แต่อย่างเดียว แต่ควรมีการแก้ปัญหาเรื่องระบบการตลาดภายในประเทศประเทศด้วย การปรับตัวต่อตลาดโดยการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร อาจต้องหันมาส่งเสริม เกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ความรู้เพื่อการปลดปล่อย ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้ด้วยในระยะยาว.

**ข้อมูลหลักจาก: เวทีนำเสนองานวิจัย “FTA ไทย-จีน : ผลกระทบต่อสังคมไทย”  โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTAWatch) และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551 ณ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่