ไบโอไทย-กรีนพีซ และพันธมิตรไม่เอาจีเอ็มโอร่วมมือนักวิชาการ ม.เกษตรฯ และม.หอการค้าไทย คลอดกฎหมายไบโอเซฟตีภาคประชาชน เน้นมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก กรีนพีซเร่งล่า 10,000 ชื่อ ใน 2 เดือน เตรียมยื่นเสนอต่อครม.โดยเร็ว หวังไปประกบกฎหมายไบโอเซฟตีของภาครัฐที่ยังอยู่ในกฤษฎีกา

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.51 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ได้จัดเวทีสาธารณะว่าด้วยเรื่อง “กฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ ความจำเป็นต่อการรักษาฐานทรัพยากรของประเทศไทย” พร้อมกับเปิดตัวกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพภาคประชาชน ณ อาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งมีเครือข่ายพันธมิตรคนไม่เอาจีเอ็มโอ นักวิชาการ เกษตรกร และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมงาน

เริ่มแรก นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี ทบทวนเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอในประเทศไทย นับตั้งแต่ไทยอนุญาตให้มีการนำเข้าฝ้ายจีเอ็มเอเข้ามาทดลองปลูกในประเทศโดยบริษัทมอนซานโตเมื่อปี 2538 ซึ่งต่อมาพบการปนเปื้อนสู่แปลงเกษตรกร จนรัฐบาลห้ามปลูกทดลองในแปลงเปิดอีก

หลังจากนั้นกลับพบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ และข้าวโพด เพิ่มขึ้นมาอีก กระทั่งเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. มีมติครม.อนุญาตให้ทดลองพืชจีเอ็มโอภาคสนามได้อีกครั้งโดยมีข้อบังคับบางประการ ขณะที่กฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนขออนุญาตทำการทดสอบ ซึ่งมูลนิธิชีววิถีก็กังวลว่าหากมีการทดลองภาคสนามจริงและเกิดกรณีปนเปื้อนพืชจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อมเช่นที่ผ่านมาจะมีมาตรการคุ้มครองผู้เสียหายอย่างไรบ้าง

จึงได้ร่วมมือกับกรีนพีซและเครือข่ายของกลุ่มคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศ พร้อมด้วยรศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่างกฎหมายไบโอเซฟตีภาคประชาชนขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม

ผศ.ดร.สมชาย เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า กฎหมายไบโอเซฟตีภาคประชาชนนี้ร่างขึ้นมาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยไว้ก่อน ในเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่มีอันตรายใดๆ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าปลอดภัย 100% ก็ควรจะระมัดระวังเอาไว้ก่อนดีที่สุด

รศ.ดร.สุรวิช และผศ.ดร.สมชาย ได้ศึกษาและวิเคราะห์กฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพของภาครัฐคือ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. … ที่ร่างขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเห็นว่าเน้นที่การควบคุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมเป็นหลัก

จึงได้ร่างกฎหมายไบโอเซฟตีอีกฉบับหนึ่งขึ้นมา มีทั้งหมด 120 มาตรา ซึ่งเน้นเนื้อหาควบคุมกิจกรรมต่างที่เกี่ยวข้องกับพืชจีเอ็มโอ เช่น การนำเข้า-ส่งออก หรือนำผ่าน, การนำมาใช้, การปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม และการจำหน่ายทั้งบริโภคโดยตรงและสำหรับเป็นวัตถุดิบ เป็นต้น โดยมีการจำแนกย่อยลงไปถึงระดับความเสี่ยงและความรุนแรงของพืชจีเอ็มโอ เป็นต้นว่า เกสรของพืชจีเอ็มโอชนิดนั้นๆ สามารถปลิวไปได้ไกลแค่ไหน หรือ พืชจีเอ็มโอชนิดนั้นสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการเลี้ยงดูจากมนุษย์หรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้จะไม่มีอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ของภาครัฐ

“หากพืชจีเอ็มโอตัวไหนได้รับอนุญาตให้ใช้หรือปลูกได้ แต่ภายหลังพฤติการณ์เปลี่ยนไปหรือพบว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้น ก็สามารถระงับการอนุญาตได้ทันที ซึ่งส่วนนี้ก็ไม่มีปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ของภาครัฐเช่นกัน” ผศ.ดร.สมชาย กล่าวเสริม

ที่สำคัญในร่าง พ.ร.บ. ฉบับภาคประชาชนได้ให้ความสำคัญในส่วนของมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคไม่น้อยไปกว่ามาตรการข้างต้น ซึ่งผศ.ดร.สมชาย ยกตัวอย่างให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังในบางมาตรการ เช่น

1. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใครเป็นผู้ก่อก็ต้องเป็นผู้เยียวยาและชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด และใครได้รับอนุญาตให้จำหน่าย ซึ่งเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการปนเปื้อนเช่นกัน ก็ต้องมีการแบ่งผลกำไรส่วนหนึ่งเข้าสู่กองทุนสำหรับเป็นเงินชดเชยค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

2. ผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือการปนเปื้อนสู่แปลงเกษตรที่ไม่ได้ปลูกพืชจีเอ็มโอ ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ โดยที่ตนเองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์เองว่าได้รับความเสียหายจริง แต่ให้จำเลยที่ถูกฟ้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์ทั้งหมด

3. ผลกระทบทางอ้อม เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเพื่อรับรองว่าปลอดจีเอ็มโอ ก็ให้กลุ่มผู้ใช้จีเอ็มโอเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดแทน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีที่มีผู้เสียหายหลายรายหรือเป็นกลุ่ม สามารถฟ้องร้องเพียงครั้งเดียว แต่ให้มีผลบังคับใช้ได้อีกหากเกิดผู้เสียหายกรณีเดียวกัน และยังขยายอายุความได้นาน 10 ปี นับแต่เกิดความเสียหายขึ้น รวมถึงมีมาตรการคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกจีเอ็มโอที่ซื้อเมล็ดพันธุ์มาจากผู้ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายว่าไม่ต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายขึ้น แต่ให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตในตอนแรกสุดเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สมชาย บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่ากฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพภาคประชาชนนี้จะเป็นกฎหมายที่จะไปประกบกับกฎหมายที่ร่างขึ้นโดยภาครัฐที่ยังอยู่ในกฤษฎีกา โดยทางกรีนพีซจะเร่งรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ 10,000 ชื่อภายใน 2 เดือน เพื่อยื่นเสนอกฎหมายฉบับประชาชนต่อคณะรัฐมนตรี
ในเร็วๆ นี้

“ไม่ได้คาดหวังว่ากฎหมายไบโอเซฟตีที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคตจะมีเนื้อหามาจากร่าง พ.ร.บ. ของภาคประชาชนทั้งหมด แต่อยากให้มีการนำแนวคิดของเราไปใช้ในการออกกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพด้วย ซึ่งกฎหมายจริงที่จะออกมาจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่มีใครทราบ อาจมีเนื้อหาที่มาจากทั้งร่าง พ.ร.บ. ของภาครัฐและภาคประชาชนประกอบกัน หรือไม่เป็นตามนั้นก็ได้” ผศ.ดร.สมชายกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์