วันนี้(18 มิ.ย. 2555)ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วม(MOU)ขึ้น  เนื้อหาเป็นความร่วมมือพัฒนาข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี โดย มูลนิธิข้าวขวัญ กลุ่มเกษตรกรชาวนา สมาคมโรงสีข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี หอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุพรรณบุรี และสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านมาเป็นข้าวของจังหวัดสุพรรณบุรีภายใต้ชื่อทางการค้าว่า “ข้าวขวัญสุพรรณ” ซึ่งพัฒนาเริ่มต้นมาจากพันธุ์ขาวตาเคลือบที่เป็นพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของไทย โดยในการเพาะปลูกจะปลอดจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งผลดีต่อตลาดข้าวภายในประเทศและตลาดส่งออก ที่สำคัญเกษตรกรชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถขายข้าวได้ในราคาสูงกว่าราคารับจำนำของรัฐบาล

ข้าวเด่นเมืองขุนแผน

สุขสรรค์ กันตรี เจ้าหน้าที่เทคนิคมูลนิธิข้าวขวัญได้ให้ข้อมูลเรื่อง “ข้าวขาวตาเคลือบ” ที่เป็นพระเอกในงานนี้ว่า เดิมเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในภาคกลางเป็นข้าวนาปี ที่มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ต้นสูงประมาณ 150 ซม. แตกกอดี ต้นใหญ่ ใบใหญ่ ต้านทานโรคและแมลงดี รวงยาว นิยมปลูกในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท เมื่อมีวิถีการทำนาได้เปลี่ยนไป ทำให้เกษตรกรไม่นิยมปลูกอีกต่อไป  แต่ทางมูลนิธิยังคงให้ความสำคัญ ต่อมาเมื่อปี 2545 มูลนิธิข้าวขวัญได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ คือการผสมพันธุ์ข้าวระหว่าง ข้าวขาวตาเคลือบผสมกับหอมดิน  ปลูกคัดเลือกในระบบเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่แรก ทำให้ลำต้นเตี้ย สามารถปลูกได้ทั้งปี อายุการเก็บเกี่ยว 115 – 120 วัน และสามารถต้านทานโรคแมลงได้ดี คุณภาพการหุงต้มดี นุ่มและมีกลิ่นหอม ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 800 กก.ต่อไร่ เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับระบบเกษตรอินทรีย์  

ข้าวอร่อย ขายได้ราคา

เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ได้กล่าวว่า สุพรรณบุรีมีพื้นที่การปลูกข้าวมากกว่าหนึ่งล้านไร่ ทั้งหมดส่งขายออกนอกตัวจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ชาวสุพรรณกลับต้องซื้อข้าวถุงมาบริโภค ทำให้เกิดแนวคิด ส่งเสริมการปลูกข้าวเพื่อบริโภคเองในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยคัดเลือกพันธุ์ที่มีผลิตสูง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ข้าวต้นเตี้ย ทนโรคแมลงและสามารถปลูกได้ในระบบเกษตรอินทรีย์ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2554 ที่ผ่านมา เราได้จัดให้มีการชิมทดสอบข้าวตัวอย่าง 10 ตัวอย่าง มีข้าวผ่านทดสอบการชิม 5 ตัวอย่าง และส่งให้สมาคมโรงสี เพื่อนำไปพัฒนาทางการค้า 3 ตัวอย่าง คือ ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อน เจ๊กเชยเบา และขาวตาเคลือบ

เมื่อทำบันทึกความเข้าใจร่วมแล้ว เกษตรกรที่เข้าร่วม จะต้องปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ และเมื่อจำหน่ายจะได้การประกันราคา มากกว่าราคาตลาด 1,000 บาท ณ ขณะนี้ หากรัฐประกันที่ 15,000ต่อเกวียน เกษตรกรก็จะได้เป็น 16,000 ต่อเกวียน รวมทั้งจ่ายเงินล่วงหน้าของแก่เกษตรกรผู้ปลูกล่วงหน้า 2 % ด้วย เรียกได้ว่าเป็นเงินมัดจำก่อน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ผลิตจะต้องไม่ใช้สารเคมีเกษตรใดๆเลย และต้องนำผลผลิตนำส่งแก่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเท่านั้น ส่วนมูลนิธิข้าวขวัญทำหน้าที่สนับสนุนพันธุ์ และควบคุมคุณภาพไปพร้อมๆกัน

ได้กินแน่ ปลายสิงหานี้

นคร แก้วพิลา เกษตรกรที่เข้าร่วมลงนามด้วยได้กล่าวว่า “หวังว่าพี่น้องชาวสุพรรณจะได้กินข้าวปลอดสารพิษและอร่อย  ขอชื่นชมที่มีสมาคมโรงสีมาร่วมมือกันให้คนสุพรรณได้กินข้าวที่คนสุพรรณปลูกจริง ๆสักที”

สุพัฒน์ ศรีสุนทรพินิจ รองผู้ว่าราชการจังวัดสุพรรณบุรี ได้กล่าวระหว่างเปิดงานว่า เงินทุนหมุนเวียนในจังหวัด มีกว่า สามหมื่นล้าน แบ่งเป็นภาคเกษตรเกือบเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในครั้งนี้ จะสามารถทำให้การดำเนินการส่งเสริมและผลิตข้าวคุณภาพดีที่เป็นพื้นฐานดีของเมืองเรา

มานะ ห้วยหงส์ทอง ประธานสภาอุตสาหกรรมและนายกสมาคมโรงสีข้าว กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องรอดูผลผลิตว่าสามารถเป็นไปได้ตามเป้าได้หรือไม่ แต่เท่าที่ดูกลุ่มเกษตรกรที่เราทำงานด้วยกันมา น่าจะไม่มีปัญหา และสมาคมโรงสีก็จะทำประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ในแบรนด์ “ข้าวขวัญสุพรรณ” คาดว่าปลายสิงหาคมนี้ อาจจะได้เริ่มต้นสีและจัดหน่ายต่อไป

หลังจากลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว ได้มีการกล่าว ปฏิญญาสุพรรณบุรี โดยมีเนื้อหาดังนี้

  • ชาวสุพรรณบุรี จะร่วมอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่อให้ผู้บริโภคได้กินข้าวปลอดสารเคมี และมีสุขภาพแข็งแรง และเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ต่อสู้กับความยากจน พ้นจากวิกฤต ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
  • ชาวสุพรรณบุรี จะร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อคืนวิถีดั้งเดิมคืนกลับมาให้ในน้ำมีปลาในนามีข้าว โดยทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยาการได้อย่างทั่วถึง
  • ชาวสุพรรณบุรี จะผลิตอาหารที่ปลอดภัย โดยใช้ทรัพยากรภายในชุมชนท้องถิ่นตนเอง และลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
  • เราจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ดี และรวบรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายภาคีภาคประชาชน เพื่อให้ความรู้และเป็นพื้นที่ศึกษาดูงาน แก่ผู้สนใจเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีของชาวสุพรรณและเกษตรกรทั่วประเทศ