ข้อจำกัดและสถานะแผนฯ 13
ก่อนการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2561-2588) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อาศัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรอบหลักในการวางแผนปฏิบัติราชการและแผนปฏิบัติการของหน่วยงานราชการ อย่างไรก็ดีเมื่อมีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลายเป็นแผนระดับที่สอง มีฐานะเท่ากับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ประเด็นสำคัญในที่นี้คือ ยุทธศาสตร์ชาติกลายเป็นแผนแม่บท และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกลายเป็น “แผนที่ช่วยระบุทิศทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งดำเนินการในระยะ 5 ปีของแผนยุทธศาสตร์ชาติ” แม้ยุทธศาสตร์ชาติจะประกาศใช้ในปี 2561 แต่แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นตั้งแต่แผนพัฒน์ ฉบับที่ 12 ที่มีการระบุยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ข้อคำถาม ข้อวิจารณ์สำคัญต่อแนวคิดกระบวนการจัดทำแผนฯ 13
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ถูกปรับเป็นแผนระดับ 2 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงถูกตั้งคำถามในเชิงความชอบธรรมทางการเมืองด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆไม่ยอมรับและปฏิเสธมาตลอด ดังนั้นสถานะของการจัดทำ ร่าง แผนฯ 13 จึงต่างกับแผนพัฒนาฯ ฉบับก่อนหน้านี้ทั้งหมด
- ในยุทธศาสตร์ชาติกล่าวถึงเกษตร ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นที่ 1 การเกษตรสร้างมูลค่า มี 5 รูปแบบ คือ เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป และเกษตรอัจฉริยะ เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระพบว่ามีความย้อนแย้ง ถูกระบุขึ้นมาโดยไม่มีทิศทางที่ชัดเจน เช่น เกษตรอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่กล่าวเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ลึกลับ มันเป็นบทบาทของภาคชุมชนเกษตรกรประชาชนธรรมดาอยู่แล้ว ซึ่งภาครัฐไม่ได้เคยไปทำอะไรกับเรื่องราวเหล่านี้เลย หรืออย่างเกษตรชีวภาพและเกษตรรูปแบบอื่นๆ มักถูกอ้างอิง เชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพและอื่นๆ ทำให้การจัดทำแผนฯ 13 ที่ต้องอิงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ จึงไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกัน รูปแบบต่างๆส่งผลกระทบกันยังไง แบบไหนเป็นสัดส่วนสำคัญ แล้วสุดท้ายมันจะมาสู่เกษตรกรได้จริงๆหรือไม่ อีกทั้งยังเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันกับรูปแบบเกษตรในระดับปฏิบัติการที่ใช้กันส่วนใหญ่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตรและเกษตรยั่งยืน
- กรอบเนื้อหาสาระแผนฯ 13 ถูกวิจารณ์ว่าไม่มองถึงปัญหาเชิงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ เป็นความลึกลับของการเล่นเชิงนโยบาย การกระจุกตัวในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นโจทย์ใหญ่ เนื้อหาที่ระบุมาในแผนฯนั้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ ไม่ใช่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
- ในหลายเวทีที่ภาคประชาสังคมแสดงความคิดเห็น เรียกร้อง เสนอข้อเสนอต่อสภาพัฒน์ เห็นพ้องกันว่ายังขาดองค์ประกอบสำคัญ คือเรื่องการกระจายอำนาจการส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกรรายย่อยชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมิตินี้ไม่ได้มีการกล่าวถึงอย่างเป็นสาระเลย
- ขณะที่แผนฯ 12 ตั้งเป้าหมายด้านเกษตรยั่งยืน 5 ล้านไร่ แต่ในแผน 13 กลับไม่มีเลย รวมทั้งปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน การเข้าถึงทรัพยากร ป่าไม้ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 และโดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารและระบบเกษตรยั่งยืนได้หายไปเลย
- แผนฯ 13 จะมีกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาขับเคลื่อนและนำไปสู่การปฏิบัติ ประเมินผลได้อย่างไร กลไกเชื่อมโยงกับการจัดการระดับพื้นที่ ทั้งนี้มิติการกระจายอำนาจต้องดำเนินการควบคู่กัน เพื่อนำแผน 13 สู่การปฏิบัติ
- แผนฯ 13 ไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ๆ การแพร่ระบาดโควิด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน และแนวทางแก้ปัญหาที่ไม่ครอบคลุม เช่น ปัญหาโลกร้อนมุ่งเฉพาะด้านพลังงาน ขณะที่โควิดก็มุ่งในการพัฒนา GDP โดยภาคเกษตรไม่เกี่ยวข้องเลย และการแก้ปัญหาความจนข้ามรุ่น กลับกล่าวถึงแนวทางแก้ไขโดย SMEs Start up และการศึกษา เป็นต้น

จากภาพกรอบกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ช่วงระดมความคิดเห็นกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ทั่วประเทศจะสิ้นสุดเดือน พฤษภาคม 2564 ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำความคิดเห็นมาปรับปรุงกรอบแผนฯพร้อมทั้งยกร่างแผนฯ 13 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯในแต่ละด้าน ซึ่งในทางปฏิบัติก็ยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น หากมีกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อนำข้อเสนอต่างๆไปปรับปรุงเนื้อหา ให้ชัดเจนและเหมาะสมบนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565
กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในฐานะกรอบการกำหนดแผนระดับปฏิบัติการในช่วง 5 ปี ที่สองของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” (Transformation to Hi-Value and Sustainable Thailand) มีแนวคิดหลักเป็นเรื่อง “Thailand’s transformation” หรือพลิกโฉมประเทศไทย หรือเปลี่ยนแปลงประเทศขนานใหญ่ ภายใต้แนวคิด Resilience ลดความเปราะบาง สร้างความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ในสภาวะวิกฤติ
มีองค์ประกอบหลัก 4 ประการ (ยุทธศาสตร์)
1) เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (high value-added economy)
2) สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค (high opportunity society)
3) วิถีชีวิตที่ยั่งยืน (eco-friendly living)
4) ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ (key enablers for Thailand’s transformation)
แต่ละองค์ประกอบ จำแนกหมุดหมายในแต่ละองค์ประกอบไว้ รวม 13 หมุดหมาย (milestones) บ่งบอกสิ่งที่ประเทศไทยจะ “เป็น” มุ่งหวังจะ “มี” หรือต้องการจะ “ขจัด” ในช่วงเวลา 5 ปี แสดงดังภาพ

หากพิจารณาวิสัยทัศน์ พบว่าจะเน้นอยู่ 3 คำสำคัญ คือ”คุณค่า สังคมเดินหน้า และยั่งยืน” จาก 4 ยุทธศาสตร์ น้ำหนักส่วนใหญ่จะเน้นยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องเศรษฐกิจมูลค่าสูง บนฐานทรัพยากรทางสังคม ธรรมชาติ แต่ถ้าประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตร อาหารและสุขภาพ จะพบว่าให้ความสำคัญน้อยมากหรือแทบจะเป็นฐานของการสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง ทุกหมุดหมาย
ประเด็นที่(อาจ)เกี่ยวกับทรัพยากร เกษตร อาหาร และสุขภาพ
หมุด 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
- มีการปรับโครงสร้างให้มีผลิตภาพและผลตอบแทนสูง
- เกษตรกรเข้าถึงช่องทางการตลาดที่หลากหลาย
- มีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม อาทิ แหล่งน้ำ และระบบโลจิสติกส์
- เทคโนโลยีชีวภาพได้รับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
หมุด 7 ไทยมี SMEs ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้
- การแข่งขันเปิดกว้างและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่
- SMEs มีศักยภาพสูง สามารถพัฒนาและใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
- SMEs มีบทบาทในภาคการส่งออก สามารถเชื่อมโยงกับ GVCs
- วิสาหกิจเพื่อสังคมขยายตัวและวิสาหกิจชุมชนมีศักยภาพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม
หมุด 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม
- คนจนข้ามรุ่นลดลง จากมาตรการช่วยเหลือแบบมุ่งเป้า และฐานข้อมูลที่สามารถระบุคนจนและปัญหา
- นโยบายการเงินการคลังและกฎหมายส่งเสริมการกระจายรายได้
- ทุกกลุ่มคนสามารถเข้าถึงดิจิตัลได้อย่างทั่วถึง
- เด็กยากจนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ
- ความคุ้มครองทางสังคมเพียงพอ เหมาะสม
หมุด 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ
- ขยะและน้ำเสียได้รับการจัดการที่ถูกต้องและหมุนเวียนกลับไปใช้ประโยชน์มากขึ้น
- พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลัก สำหรับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
- ผลิตภัณฑ์ที่มาจากวัสดุเหลือใช้และปล่อยคาร์บอนในปริมาณต่ำได้รับการสนับสนุน ทั้งในด้านการพัฒนา นวัตกรรมการผลิต และการจูงใจผู้บริโภค
หมุด 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- พื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยสูงได้รับการจัดการให้มีความเสี่ยงที่ลดลง
- ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำได้รับการอนุรักษ์
- ระบบการจัดการภัยในทุกระดับได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและศักยภาพที่สูงขึ้น
- เป้าหมายการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนพัฒนาพื้นที่
- ทุกภาคส่วนได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ
ข้อวิจารณ์สำคัญ บางยุทธศาสตร์และหมุดหมายที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับทรัพยากร เกษตร อาหารและสุขภาพ
- ยุทธศาสตร์ 1 กล่าวถึงเศรษฐกิจมูลค่าสูง ซึ่งแย้งกับวิสัยทัศน์ที่ว่าเศรษฐกิจสร้างคุณค่า เพราะคุณค่าไม่เท่ากับมูลค่า ถึงแม้จะต่อท้ายว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มี 6 หมุดหมายด้วยกัน
- หมุด 1 เกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ยังไม่พูดถึงคุณค่า
- หมุด 2 การท่องเที่ยวเน้นคุณค่าและความยั่งยืน ทั้งที่อาหารไทย เป็น 1 ใน 3 ของโลกที่ดีที่สุด มีคุณค่า อาหารปลอดภัย อาหารพื้นบ้าน ต่อเนื่องกับระบบเกษตร แต่กลับเน้นท่องเที่ยวชมความงามและสนุกสนาน
- หมุด 4 การแพทย์และสุขภาพครบวงจร ไม่ได้เน้นย้ำเรื่องของอาหารสุขภาพ อาหารปลอดภัยเช่นกัน ทั้งที่อาหารไทยเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ชาวต่างชาติอยากมาเที่ยวเมืองไทยโดยเฉพาะอาหารไทยติด 1 ใน 10 ของโลกเรื่องของความอร่อย แล้วก็เรื่องของคุณภาพอาหาร
- ยุทธศาสตร์ 2 หมุด 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม แต่กลับไม่กล่าวถึงเกษตรกรเลย งานวิจัยหลายงานพบว่าค่าใช้จ่ายของเกษตรกรสูงขึ้นไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องการทำเกษตร แต่เนื่องจากตัวเกษตรกรอายุมากขึ้น ตอนนี้เฉลี่ยประมาณ 60 ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น และเรื่องความยากจนข้ามรุ่น สภาพัฒน์ควรจะเน้นถึงวาระเกษตรกรรุ่นเก่าจะส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไร ทำอย่างไรให้รุ่นต่อไปมีอนาคต มีเศรษฐกิจที่พอเพียงหรือที่จะพึ่งตนเองได้ ซึ่งเป็นประโนสำคัญที่ไม่ถูกกล่าวถึงในแผน ฯ 13 เลย เพราะประชากรไทยอย่างน้อยร้อยละ 40 ยังเป็นเกษตรกรอยู่
- ยุทธศาสตร์ 3 วิถีชีวิตที่ยั่งยืน หมุด 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งพูดถึงแต่ความเสี่ยงทางตรง กลับไม่กล่าวถึงเรื่องเกษตรกรรมที่ไม่ปลอดภัย การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าแมลง ที่เกิดการปนเปื้อนในธรรมชาติ ดิน แหล่งน้ำ รวมทั้งอากาศ ก่อเป็นมลพิษ และพอจะลดความเสี่ยงก็จะกล่าวถึงต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่อนุรักษ์ให้เยอะ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ทางสภาพัฒน์ควรจะกล่าวถึงการส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้เข้าไปในวิถีชีวิตที่ยั่งยืนด้วยเช่นเดียวกัน
- ยุทธศาสตร์ 4 ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ หมุด 12 สร้างกำลังคนที่มีสมรถนะสูงเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกษตรเลย จึงเสนอให้ young smart farmer หรือเกษตรรุ่นใหม่ อยู่ในประเด็นนี้ด้วย
แนวทางการจัดทำข้อเสนอ จำเป็นต้องมีฐานอ้างอิงจากเรื่องเหล่านี้
1. ทิศทางและเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนระดับโลก SDGs[1]
ต้องทำความเข้าใจหลักการเบื้องหลังของ SDGs เพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นเป้าหมายที่เน้นการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive) มุ่งการเปลี่ยนแปลง (Transformative) และบูรณาการ (Integrated) ที่ทุกประเทศต่างมีโจทย์ที่จะต้องนำไปปฏิบัติไม่ใช่เฉพาะแค่ประเทศยากจน (Universal) แต่ในขณะเดียวกันก็เน้นการนำไปปฏิบัติและแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น (Locally-focused) ซึ่งหมายถึงว่า แม้เป้าหมายทั้งหมดจะแบ่งออกเป็น 17 เป้าหมาย แต่การพิจารณาและดำเนินการจะต้องเป็นไปอย่างบูรณาการ เห็นความเชื่อมโยง (Interlinkage) มุ่งผลลัพธ์ (Outcome-based) และให้ความสำคัญกับคนกลุ่มที่เปราะบาง (Vulnerable people) คนยากจน และคนกลุ่มต่าง ๆ ที่มักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และแม้ว่า SDGs จะเป็นเป้าหมายระดับโลกแต่การนำ SDGs ไปปรับให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่ (Localization of the SDGs) เป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องให้ท้องถิ่นมีความเป็นเจ้าของและร่วมผลักดัน มีการให้ความหมายแก่เป้าประสงค์ (Targets) และตัวชี้วัด (Indicators) ที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น โดยหลักการการขับเคลื่อน SDGs ควรเป็นกระบวนการที่เริ่มจากฐานรากขึ้นสู่ระดับนโยบาย (Bottom-Up) และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทหลักในการนำ SDGs ไปปฏิบัติ
เป้าหมายการพัฒนาทั้ง 17 ข้อ สะท้อน ‘3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน’ (Three Pillars of Sustainability) คือ มิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม บวกกับอีก 2 มิติ คือ มิติด้านสันติภาพและสถาบัน และมิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา ที่เชื่อมร้อยทุกมิติของความยั่งยืนไว้ด้วยกัน รวมเป็น 5 มิติ องค์การสหประชาชาติแบ่งเป้าหมาย 17 ข้อ ออกเป็น 5 กลุ่ม (เรียกว่า 5 Ps) ประกอบด้วย
People (มิติด้านสังคม): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 1 ถึง เป้าหมายที่ 5
Prosperity (มิติด้านเศรษฐกิจ): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 7 ถึง เป้าหมายที่ 11
Planet (มิติด้านสิ่งแวดล้อม): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 6 เป้าหมายที่ 12 ถึง เป้าหมายที่ 15
Peace (มิติด้านสันติภาพและสถาบัน): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 16
Partnership (มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 17
เนื้อหาของ SDGs ไม่ได้อยู่ที่ระดับเป้าหมาย (Goals) แต่อยู่ที่ระดับเป้าประสงค์ (Targets) เป้าประสงค์เหล่านี้บอกถึงลักษณะของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในโลกที่บรรลุ SDGs ได้สำเร็จ มีนัยยะที่บอกถึงฉากทัศน์ในฝัน ถึงวิสัยทัศน์ของการพัฒนาที่นำเสนออยู่ในวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ฉะนั้น หากต้องการทราบว่า SDGs ครอบคลุมเรื่องใดบ้างต้องพิจารณาที่ระดับเป้าประสงค์
ตัวชี้วัด 232 ตัวนั้นเป็นตัวชี้วัดที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการติดตามความก้าวหน้าในระดับโลก ซึ่งอาจไม่สามารถนำมาใช้ในระดับประเทศได้อย่างเหมาะสมทั้งหมด และการเลือกใช้ตัวชี้วัดแต่ละตัวนั้นก็เพื่อให้สามารถสะท้อนสาระสำคัญของเป้าหมาย แต่อาจไม่ได้ครอบคลุมทุกมิติที่ระบุไว้ในเป้าประสงค์ ดังนั้น แต่ละประเทศจะต้องกลับมาพัฒนาตัวชี้วัดระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเพื่อให้ SDGs สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในระดับพื้นที่ มิเช่นนั้น ประเทศไทยอาจทำได้เพียงบรรลุทุกตัวชี้วัด (Indicators) แต่ไม่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ก็เป็นได้ นอกจากนี้ ตัวชี้วัดยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่เป้าหมายและเป้าประสงค์จะไม่มีการปรับแก้ในระดับโลกแล้ว เป้าหมายการพัฒนายั่งยืนมี 5 ข้อที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและอาหารยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ข้อ 1 ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ ข้อ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ข้อ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย ข้อ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน ข้อ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ข้อ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น ข้อ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ข้อ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แสดงดังภาพ

จากรายงานสถานะทรัพยากรดินและแหล่งน้ำเพื่อการผลิตอาหารและเกษตรกรรม [2] – ระบบ ณ ขณะจุดแตกหัก (State of the World’s Land and Water Resources for Food and Agriculture – Systems at breaking point – SOLAW 2021) โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุความท้าทายในปัจจุบันว่า การที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินและแหล่งน้ำอย่างหนักในหลายทศวรรษที่ผ่านมาและต่อไปเพื่อเลี้ยงปากท้องของประชากรโลกที่คาดว่าจะเข้าสู่หลัก 10 พันล้านคนภายในปี 2593 นั้น การใช้ทรัพยากรเหล่านี้เพื่อผลิตเกษตร-อาหาร (agri-food) แบบที่เป็นอยู่กลับไม่ยั่งยืน และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้ยั่งยืนขึ้น ท้ายที่สุด ระบบอาหารก็จะล่มสลายและไม่มั่นคงทางอาหาร
การเติบโตขึ้นของจำนวนประชากรและการขยายขึ้นของเมืองแม้จะใช้ที่ดินเพียง 0.5% ของผืนดินในโลก แต่ความต้องการอาหารเป็นแรงกดดันต่อการใช้ทรัพยากรดินและน้ำจำนวนมหาศาลเพื่อการผลิตอาหาร กล่าวได้ว่า มนุษย์เป็นสาเหตุที่ทำให้ดินเสื่อมโทรม (soil degradation) จากการทำเกษตรกรรมอย่างหนักเพื่อใช้ประโยชน์จากดินให้เกิดผลผลิตสูงที่สุด ขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนน้ำยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประชากรที่พึ่งพิงการทำเกษตรกรรมด้วย จะเห็นได้ว่าเป็นวงจรปัญหาของการใช้ที่ดิน ดิน และน้ำ
เมื่อคำนึงถึงปัญหาดังกล่าว รายงานฉบับนี้จึงเสนอว่าจะต้องประเมิน “ความเสี่ยง” ที่มีต่อที่ดิน ดิน และน้ำ แล้วปรับรูปแบบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ให้ “ยั่งยืน” และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง (resilience) มากขึ้น ด้วยการเสริมพลังกันของหลายปัจจัย (synergy) กล่าวคือ ต้องสามารถจัดการการใช้ที่ดินได้ดีขึ้น อนุรักษ์ดิน และปกป้องแหล่งน้ำไปพร้อมกัน ซึ่งหากรู้วิธีการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม ปลายทางยังเป็นผลดีต่อทรัพยากรและระบบนิเวศ และยังสามารถป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในภาพรวม
รายงานระบุข้อเสนอแนะต่อไปว่า การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถเป็นตัวช่วยจัดการกับความท้าทายข้างต้นนี้ได้ ในแง่ของการทำให้เห็นข้อมูลสถานการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น สิ่งสำคัญอีกประการคือการบูรณาการแผนในทุกระดับ และการสนับสนุนการลงทุนในภาคเกษตรที่เน้นประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งระดับโลก ภูมิภาค และระดับชาติ สามารถใช้รายงานฉบับนี้เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากวิธีการเดิมที่เคยทำมา (business-as-usual) เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอาหารจากฐานราก
2. แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นฐานของแผนฯ 13
อะไรที่มีอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติแต่ไม่อยู่ในหมุดหมายแผนฯ 13
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นที่ 1 การเกษตรสร้างมูลค่า 1)เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ส่งเสริมการนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเป็นผลิตภัณฑ์การเกษตร 2)เกษตรปลอดภัย ให้ความรู้ สนับสนุนกลไกตลาด เปลี่ยนผ่านสู่เกษตรอินทรีย์ 3)เกษตรชีวภาพ ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากฐานเกษตรกรรม ฐานทรัพยากรชีวภาพ 4)เกษตรแปรรูป เพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์และสินค้าเกษตรพรีเมียม และ 5)เกษตรอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มี 2 ประเด็น คือ
- ประเด็นที่ 1 การลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก ปฏิรูประบบภาษีและการคุ้มครองผู้บริโภค กระจายการถือครองที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากร เพิ่มผลิตภาพและคุ้มครองแรงงานไทย ให้เป็นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพและความริเริ่มสร้างสรรค์ มีความปลอดภัยในการทำงาน สร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย ทุกเพศสภาวะและทุกกลุ่ม ลงทุนทางสังคมแบบมุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยตรง สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการศึกษา โดยเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส สร้างความเป้นธรรมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึง
- ประเด็นที่ 3 การเสริมสร้างพลังทางสังคม สร้างสังคมเข้มแข็งที่แบ่งปัน ไม่ทอดทิ้งกัน และมีคุณธรรม โดยสนับสนุนการรวมตัวและดึงพลังของภาคส่วนต่างๆ การรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและบทบาทของสตรีในการสร้างสรรค์สังคม สนับสนุนการพัฒนาบนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรม สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสร้างสรรค์ เพื่อรองรับสังคมยุคดิจิตัล
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประโนที่ 1 สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจชีวภาพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน อนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในและนอกถิ่นกำเนิด อนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ รักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน สิ่งที่หายไป เป็นเรื่องความเสื่อมโทรมของฐานทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ทั้งทรัพยากรชีวภาพ ดิน น้ำ และขยายมาสู่อากาศ ความร่วงโรยของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว และการล่มสลายของผู้ประกอบการค้ารายย่อย ปัญหาการผูกขาดซึ่งเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอต่อแผนฯ 13 บางประเด็นที่ตกหล่นดังนี้
ข้อเสนอต่อแผนฯ 13 บางประเด็นที่ตกหล่น
- ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรชีวภาพ
- ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ
- เกษตรกรรมยั่งยืน 100% ในปี 2573 ตามข้อเสนอของกรรมาธิการศึกษาเรื่องสารเคมีเกษตรฯ สภาผู้แทนราษฎร
- ความมั่นคงทางอาหารในสภาวะวิกฤต โดยใช้ข้อเสนอของมติสมัชชาสุขภาพ
- ขจัดความเหลื่อมล้ำโดยใช้ ปรับปรุงพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าและการบังคับใช้
- เรื่องเกษตรกรรมแปรรูปที่มีมูลค่าสูงต้องถกเถียงให้ตก เป็นเพียงวาทกรรมหรือไม่ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ เสนอข้อเท็จจริงผลผลิตเกษตรอินทรีย์ก็เป็นที่ยอมรับระดับโลก
- การสร้างความสามารถในการแข่งขัน เสนอหลักการว่าต้องต่อยอดอดีต รากเหง้าเศรษฐกิจวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิต หากการเพิ่มเกษตรกรรมไม่ใช่เป็นเรื่องการแปรรูปและมูลค่าสูงเท่านั้น แต่ต้องเป็นเกษตรกรรมที่มาจากรากฐานทางด้านวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตของคนไทย
- ความยากจนข้ามรุ่นลดลง ไม่กล่าวถึงความยากจนของเกษตรกรและก็ความเติบโตของเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักและเชื่อมโยงให้ได้ว่าความยากจนของเกษตรกรอย่างน้อยก็เข้ามาอยู่ในวิถีเกษตรพอเพียงหรือเกษตรกรรมยั่งยืนแล้ว ไม่ถึงกับหวังความร่ำรวยแต่ต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เรียกว่าพออยู่พอกินและคนรุ่นใหม่ต้องเห็นอนาคต จึงจะเกิดเกษตรกรที่จะเติบโตมาทำงานด้านนี้ได้
- ยุทธศาสตร์ 3 วิถีชีวิตที่ยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 5 ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับเน้นเรื่องความเสี่ยงภัยจากภัยธรรมชาติ โดยไม่มีเรื่องความเสี่ยงภัยจากสารเคมีเลย วิถีชีวิตที่ยั่งยืนเชื่อมโยงกับเกษตรกรรมยั่งยืน เสนอให้ระบุว่าต้องพยายามลดการใช้สารเคมีแล้วก็ต้องส่งเสริมเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน
- การพลิกโฉมประเทศเน้นเรื่องกำลังคน คนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจจะต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้วยว่าจะต้องมีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะอยู่บนรากฐานทางวิถีชีวิต รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ การประกอบการใหม่ ซึ่งต้องอยู่บนรากฐานชีวิตวัฒนธรรมและความยั่งยืนให้ได้
- การสื่อสารในพื้นที่สาธารณะ social media ทำอย่างไรให้ประเด็นเกษตรและอาหารขยายออกไปนอกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายความมั่นคงทาองหาร สมมุติฐานว่าผู้บริโภคใกล้ชิดกับผู้ผลิตมากขึ้น เริ่มเข้าใจกระบวนการผลิต ผลิตสื่อคลิปให้เป็น viral หรือคู่มือ factsheet ยกระดับเกษตรนิเวศให้มีความยืดหยุ่น resilience คนรุ่นใหม่ย่อยข้อมูลได้ดีและทวีตเร็วมาก
- ต้องเปลี่ยนภูมิทัศน์เกษตรใหม่จากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรนิเวศ
อย่างไรก็ตาม กระบวนการขับเคลื่อนแผนอาหารในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เป็นที่ติดตามของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมอีกหลายองค์กร การเข้าร่วม รับฟังข้อเรียกร้องและนำเสนอข้อคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงข้อเสนอในทุกมิติที่เชื่อมโยงกันเกษตร อาหารและสุขภาพ ต่อแผนฯ 13 ให้เป็นที่ยอมรับ ชัดเจน เป็นรูปธรรม นำไปปฏิบัติได้ ยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายประชาชนบริโภคผักผลไม้เพิ่มขึ้น ประชาชนทุกคนในสังคมไทยมีความมั่นคงทางอาหารและมีสุขภาวะ
[2] https://www.sdgmove.com/2021/12/25/global-food-systems-at-breaking-point/