1. ทำไมต้องฝ่าด่าน ส.ว. ?
เพราะ ส.ว.คือกลไกการสืบทอดอำนาจที่ คสช.วางไว้ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อให้ตนเองรักษาอำนาจไว้ได้อย่างน้อยอีก 4 ปี รวมเป็น 13 ปี หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557
ส.ว.จำนวน 250 คนมาจากการแต่งตั้งและเลือกสรรจากคสช. ประกอบไปด้วยทหารและตำรวจรวม 104 คน ส่วนที่เหลือมาจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่คสช.จัดตั้งขึ้นมากกว่าครึ่ง กลุ่มข้าราชการชั้นสูง เอกชนที่มีสายสัมพันธ์กับคสช. และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมจำนวนหนึ่ง
ส.ว.เหล่านี้ส่วนใหญ่ลงมติตาม “ธง” ของคสช.และรัฐบาลสืบทอดอำนาจ โดยพบว่าค่าเฉลี่ยการลงมติไปในทางเดียวกันมากถึงร้อยละ 96.1
2. คสช.เอื้ออำนวยต่อกลุ่มทุนผูกขาดอย่างไร ?
จากการติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลคสช. และรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เราพบว่า กฎหมาย นโยบาย และการดำเนินการในการบริหารของรัฐบาลคสช.และรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจผ่านมานั้นมุ่งเอื้ออำนวยกลุ่มทุนผูกขาด ตัวอย่างสำคัญๆ เช่น
1)เห็นได้จากการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศโดยคสช. โดยเมื่อปี 2558 การปฏิรูปประเทศของรัฐบาลคสช. ที่ตั้งกรรมการประชารัฐ 12 คณะเพื่อปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ กรรมการเหล่านั้น 73% มาจากบริษัทเอกชน และส่วนใหญ่มาจากกลุ่มทุนผูกขาด กลุ่มทุนพวกพ้อง เช่นบริษัทยักษ์ใหญ่เกษตร อาหาร ค้าปลีก สื่อสาร ฯลฯ ที่ใครๆก็รู้ ได้รับการแต่งตั้งให้นั่งอยู่ในกรรมการครบทั้ง 12 คณะ และมีถึง 4 คณะที่มีตัวแทนของบริษัทนี้มากถึงคณะละ 2 คน กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งรองลงมาคือกลุ่มทุนซิเมนต์ ค้าปลีก สุรา น้ำตาล พลังงาน และแบงค์
2) การแต่งตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว) 2564 ก็ล้วนแล้วแต่มีตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยปราศจากตัวแทนของประชาชน เช่น
“คณะกรรมการบริหาร” ชุดใหญ่ประกอบไปด้วยอดีตข้าราชการจำนวน 4 คน และภาคเอกชนรายใหญ่ 5 คน จากอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ค้าปลีก สุรา พลังงาน และซิเมนต์ และ “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน” สาขาต่างๆ ล้วนเต็มไปด้วยตัวแทนของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เต็มไปหมด เช่นเดียวกับกรรมการปฏิรูปประเทศในข้อ 1) และบางคณะเป็นเอกชน 100%
3) คสช.แถลงว่าจะปฏิรูปกฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ไม่ปล่อยให้มีการผูกขาดและมีอิทธิพลเหนือตลาดแบบในอดีต โดยออกกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 แต่ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิมหรืออาจเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
ในยุคคสช.ได้ปล่อยให้มีการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ โดยอ้างว่า “มีอิทธิพลเหนือตลาดแต่ไม่ผูกขาด” เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ เพราะกฎหมายแข่งขันทางการค้าของคสช.นั้นแต่งตั้งตัวแทนของภาคเอกชน 2 องค์กรเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา ร่วมกับข้าราชการระดับปลัดกระทรวง

3. กลุ่มทุนผูกขาดและกลุ่มทุนพวกพ้อง มีความสัมพันธ์กับคสช. กับอดีตข้าราชการระดับสูง และกลุ่มการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างไร ?
1) กลุ่มทุนใหญ่ด้านพลังงานที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายของรัฐบาลจนเติบโตจนกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น มหาเศรษฐีใหม่บางคนทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนล้านบาท เป็นกว่า 4 แสนล้านบาท ในระว่างปี 2561-2565 ที่คสช.มีอำนาจ โดยอดีตผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวยังได้ลาออกมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี และร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมของคสช.
พรรคก้าวไกลมีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยว่า ประชาชนต้องเสียค่าไฟราคาแพง เพราะนโยบายของรัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจเหล่านี้ จนส.ส.ของพรรคถูกฟ้องร้อง
2) กลุ่มทุนสุรา เป็นกลุ่มที่ถูกท้าทายจากก้าวไกลโดยตรง จากนโยบายเปิดเสรีการผลิตสุรา หากไปดูคณะกรรมการของบริษัทสุรายักษ์ใหญ่ พบว่ารายชื่อกรรมการ 17 คน นั้น เป็นอดีตรัฐมนตรี 2 คน /ภริยาของอดีตนายทหารระดับสูงที่ดำรงตำแหน่งในสถาบันสำคัญ 1 คน / อดีตปลัดกระทรวง 2 คน / ข้าราชการระดับอธิบดี 3 คน หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของข้าราชการระดับสูงมีสัดส่วนถึง 47% ของกรรมการทั้งหมด ! (ทั้งนี้ไม่นับประธานกรรมการที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษามูลนิธิที่ตั้งขึ้นโดยผู้นำคสช.)
3) กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ด้านเกษตร อาหาร ค้าปลีก และสื่อสาร จะเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า ของก้าวไกลโดยตรง เพราะความอ่อนแอของกฎหมายและการบังคับใช้ในยุคคสช.
กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่นี้เติบโตเพราะเครือข่ายอนุรักษ์นิยม/อดีตข้าราชการระดับสูง เช่น ข้อมูลเมื่อปี 2562 พบว่า จากจำนวนรายชื่อบอร์ด 26 คนของบริษัทอาหารและค้าปลีกยักษ์ใหญ่ มีกรรมการบริษัทที่เป็นข้าราชการระดับสูง 7 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 27% ของบอร์ดทั้งหมด ในรายชื่อบอร์ดนั้นมี น้องชายของหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์(ที่มาจากคสช.) อดีตประธานวุฒิสภา อดีตปลัดกระทรวง 2 คน อดีตอธิบดี 2-3 คน เป็นต้น
นโยบาย “ทลายทุนผูกขาด” ของก้าวไกล เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการดำรงสถานะเดิมของกลุ่มทุนผูกขาดและกลุ่มทุนที่เติบโตมาจากเส้นสายพวกพ้องของเครือข่ายผู้มีอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
นี่คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่พิธาถูกขัดขวางไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และก้าวไกลจะถูกสารพัดวิชามารผลักดันให้กลายเป็นฝ่ายค้าน หรือเลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือการยุบพรรค
สื่อต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่าการ #ทลายทุนผูกขาด ของก้าวไกล อาจเป็นวิถีทางสำคัญให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้าม #กับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปได้ เช่นเดียวกับนักวิชาการเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก รวมทั้งจาก #แบงค์ชาติ เห็นว่า #การลดความเหลื่อมล้ำ ลด #การผูกขาดทางการค้า จะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยอย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามอย่างไรก็ตาม แต่นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ประชาชนควรสนับสนุนพรรคก้าวไกลให้ #พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี #ก้าวไกลเป็นรัฐบาล