ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและยังคงมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายอยู่ไม่น้อย โดยทรัพยากรชีวภาพที่มีศักยภาพไม่ได้มีแค่เฉพาะหมามุ่ยที่นายกรัฐมนตรีกล่าวเท่านั้น แต่ยังมีพืชอื่นๆอีกมาก เช่น มะระขี้นกที่ใช้พัฒนาเป็นยาต้านเอดส์ กวาวเครือชะลอความแก่ มังคุดต้านอักเสบ ผักเซียงดารักษาโรคเบาหวาน ฯลฯ น่าเสียดายที่สาระสำคัญที่นายกฯพูดกลับถูกกลบฝังด้วยภาษาและการแสดงออกที่มาจากทัศนคติของท่านเอง

WHO พบว่าสัดส่วน 4 ใน 5 ของสารเคมีใหม่ที่ผลิตออกมาทั่วโลกมีแรงจูงใจ (Inspired) มาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยประมาณครึ่งหนึ่งของยาสังเคราะห์ทั้งหมดได้มาจากความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้โดยรวมถึงยาที่มีมูลค่าสูงสุด 10 ใน 25 อันดับแรกที่มียอดขายสูงสุดในสหรัฐอเมริกา

หากจะประณามว่า “ใครโง่” ที่ปล่อยให้ประเทศของเราไม่สามารถพัฒนาโดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ แต่กลับผลิตสินค้าเกษตรเชิงเดี่ยวแล้วขายเป็นวัตถุดิบราคาถูกขายแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เราต้องประณามนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจของ “รัฐไทย” เองที่

  • ส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง ฯลฯ เป็นวัตถุดิบราคาถูกไปยังตลาดโลก แต่ต่อมากลับพบว่าพืชเชิงเดี่ยวหลายชนิด เช่น ข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น ต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่ต้นทุนถูกกว่า ผลผลิตต่อไร่มากกว่า
  • หน่วยงานของรัฐเองที่่เป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่แทนที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อย หรือวิสาหกิจของคนไทยเอง กลับใช้งบประมาณของรัฐ บุคคลากร มหาวิทยาลัยของรัฐ ไปร่วมกับต่างชาติวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรรมและระบบอาหารของประเทศให้ไปพึ่งพาบรรษัทข้ามชาติ แทนที่จะยืนอยู่บนรากฐานทางพันธุกรรมของเราเอง
  • หน่วยงานของรัฐบางแห่งพยายามผลักดันให้ยอมรับระบบกฎหมายสิทธิบัตรที่เอื้อประโยชน์ต่อการผูกขาดของบรรษัทยาและเมล็ดพันธุ์ กิจการของคนในท้องถิ่นทั้งเรื่องยาและเมล็ดพันธุ์ล่มสลาย แทนที่จะเดินตามแนวทางที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาของเรา เช่น แนวทางการพัฒนาระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของอินเดีย เป็นต้น
  • นโยบายของรัฐบาลชั่วคราวเองที่เอื้ออำนวยให้เกษตรกรเป็นเพียงผู้ผลิตวัตถุดิบราคาถูกเพื่อป้อนแก่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น เอ็มโอยูระหว่างสปก.กับบริษัทอาหารสัตว์ยักษ์ใหญ่ นโยบายโซนนิ่งที่มุ่งเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นอ้อยเพื่อป้อนอุตสาหกรรมน้ำตาล ฯลฯ

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่รัฐบาลชั่วคราวต้องปรับเปลี่ยนด่วนคือทัศนคติและวิธีคิดแบบ “อำนาจนิยม” ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการให้สัมภาษณ์ หรือพฤติกรรมอื่นๆในการบริหารบ้านเมือง

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/politics/333450