แม้ข่าวล่าสุดเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาระบุว่า มอนซานโต้ได้ปฏิเสธการเข้าซื้อกิจการมูลค่า 6.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) จากบริษัทไบเออร์ ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี แต่หากการต่อรองเรื่องราคาซึ่งกำลังดำเนินการอยู่เป็นผลสำเร็จ (เจพีมอร์แกนประเมินว่ามอนซานโต้จะตัดสินใจขายถ้าราคามูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากมูลค่าหุ้นละ 122 ดอลลาร์ เพิ่มเป็น 135 ดอลลาร์) โฉมหน้าระบบเกษตรกรรมของโลกจะเข้าไปใกล้การผูกขาดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยสัดส่วน 65.4% ของตลาดสารเคมีเกษตรของโลก และ 60.7% ของตลาดเมล็ดพันธุ์ของโลกจะอยู่ในมือของ เคมไชน่า-ซินเจนทา มอนซานโต้-ไบเออร์ และดูป้องท์-ดาวเคมีคอล 3 ยักษ์ใหญ่ของโลก

การซื้อกิจการครั้งนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่มอนซานโต้มีผลประกอบการที่ย่ำแย่ จากพื้นที่ปลูกจีเอ็มโอของโลกซึ่งเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับลดลงเป็นปีแรก ไกลโฟเสทสารเคมีกำจัดวัชพืชถูกหลายประเทศแบนและจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดเพราะถูกจัดประเภทว่าน่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง การจัดชุมนุมประท้วงทั่วโลกที่เรียกว่า March Against Monsanto ติดต่อกันเป็นปีที่สาม และแรงกดดันจากการควบรวมกิจการของดูป้องท์-ดาวเคมีคอล และเคมไชน่า-ซินเจนทา

บทความของ Leah Douglas เผยแพร่ใน CNN เมื่อ 23 พฤษภาคม 2559 ถึงกับระบุว่าการควบรวมกิจการนี้เป็น “ฝันร้ายของอเมริกา” เพราะ “เกษตรกรจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น ผู้บริโภคต้องเผชิญกับอาหารจีเอ็มโอในซุปเปอร์มาเก็ตเพิ่มขึ้น” (Monsanto-Bayer mega-deal a nightmare for America?) http://edition.cnn.com/2016/05/23/opinions/monsanto-bayer-douglas/

ไม่ว่าการควบรวมกิจการข้างต้นจะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ระบบเกษตรกรรมและอาหารของโลกกำลังถูกควบคุมโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่มากยิ่งขึ้นทุกที ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของบรรษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อำนาจของเกษตรกรลดลง และทางเลือกของผู้บริโภคที่ค่อยๆหดแคบลงเป็นลำดับ

ที่มา: BIOTHAI Facebook