นโยบายประชารัฐ เป็นนโยบายของรัฐบาลชั่วคราวที่ต้องการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนให้เข้าไปมีบทบาทในการลงทุน และพัฒนานวัตกรรม การสร้างความร่วมมือของบริษัทเอกชนในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และพัฒนาเกษตรแผนใหม่ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ตัวแทนจากภาคเอกชน เป็นหัวขบวนสำคัญ
ในทางปฏิบัติ ทิศทางของนโยบายประชารัฐเกือบทั้งหมดถูกผลักดันจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ผนวกกับกลไกของ “ระบบราชการ” มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาสังคม” ไม่กี่คนเข้าไปร่วมเป็นไม้ประดับ ภาคประชาสังคมส่วนใหญ่เมินเฉยและจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและมาตรการดังกล่าวอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น การวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา44 ในการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ลดทอนการใช้กฎหมายผังเมืองและ EIA ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น
ประชารัฐภาคเกษตรคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อมีการเปิดตัว “ประชารัฐภาคเกษตร” โดยการลงนามเอ็มโอยูระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสมาคมเอกชนที่ค้าขายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ กิจกรรมดังกล่าวซึ่งในด้านหนึ่งเหมือนกับช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ปัจจัยการผลิตราคาถูก แต่เมื่อมองในอีกด้านหนึ่ง กลับถูกตีความว่า ที่แท้แล้วเป็นการกระตุ้นยอดขายปุ๋ยและสารเคมีให้กับกลุ่มธุรกิจเคมีเกษตร เนื่องจากยอดขายปัจจัยการผลิตลดลงมากจากปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำและภัยแล้ง ประชารัฐภาคเกษตรจึงไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับการพัฒนาเกษตรกรรมให้ยั่งยืน เพราะปัญหาของการเกษตรไทย คือการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากเกินไป การส่งเสริมยอดขายปัจจัยการผลิต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลผลิต และการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน แต่ประการใด

กลุ่มทุนที่เข้าร่วมเป็นกรรมการประชารัฐ ล้วนร่ำรวยจากอุตสาหกรรมน้ำตาล-ผลิตอ้อยเชิงเดี่ยว อาหารสัตว์-ผลิตข้าวโพดเชิงเดี่ยว รวมทั้งค้าขายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่นปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่อีกหนึ่งในนโยบายของประชารัฐคือการส่งเสริม “เกษตรแปลงใหญ่” ไม่ใช่ “เกษตรอินทรีย์” หรือ “การเกษตรแบบผสมผสาน” โดยในเร็วนี้ๆกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เข้าโครงการเกษตรแปลงใหญ่ โดยจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.01% เท่านั้น ในขณะที่เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรายย่อยทั่วไปที่เป็นลูกค้าธกส.ต้องจ่ายดอกเบี้ยอย่างต่ำ 5-7% ขึ้นไป
การกล่าวอ้างว่าประชารัฐจะนำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การพัฒนาวิสาหกิจของท้องถิ่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ฯลฯ เป็นเพียงคำหวานที่ปกปิดหรือเบี่ยงเบนการผลักดันนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผูกขาด เช่น การผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ ซึ่งได้นำไปสู่การลุกขึ้นคัดค้านของประชาชนหลากหลายกลุ่มจนต้องล้มเลิกไป ความพยายามในการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งๆที่จริงแล้ว 99% ของการแก้ไขเป็นไปตามแรงผลักดันของบรรษัทเมล็ดพันธุ์และสร้างความชอบธรรมในการเข้าร่วม TPP เป็นต้น
ส่วนการจัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี(ประเทศไทย)จำกัด ภายใต้การนำของไทยเบฟ ซีพี และมิตรผล ไม่ว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม หาได้นำไปสู่การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใดไม่ หากปราศจากกฎหมายและมาตรการป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ครอบครองที่ดินนับแสนนับล้านไร่ ป้องกันการผูกขาดการผลิตทางการเกษตร และป้องกันการรวมศูนย์การกระจายผลผลิตผ่านระบบค้าปลีกและค้าส่ง ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ที่มา: BIOTHAI Facebook