1.กฎหมายคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 เพื่อให้เป็นไปตามพันธะกรณีที่มีต่อองค์การค้าโลก ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิใน ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า โดยประเทศไทยเลือกระบบกฎหมายเฉพาะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบดังกล่าว เป็นระบบกฎหมายที่นำระบบการคุ้มครองพันธุ์พืช 2 ระบบ มารวมไว้ด้วยกัน คือ ระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีการ คุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืช และระบบการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน โดยระบบการคุ้มครองพันธุ์พืช ทั้ง 2 ระบบ มีที่มาจากกฎหมายระหว่างประเทศ 2 ฉบับ ดังนี้

1.อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (International Convention for Protection of New Varieties of Plants หรือ UPOV) วัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้ คือ ประเทศสมาชิกต้องให้ความคุ้มครองแก่พันธุ์ พืชใหม่ด้วยการให้สิทธิเด็ดขาดแก่นักปรับปรุงพันธุ์ โดยมีเหตุผล คือ เพื่อให้โอกาสแก่นักปรับปรุงพันธุ์ในการที่จะได้ ค่าตอบแทนจากการลงทุนในการปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชในการพัฒนาพันธุ์พืช ใหม่และเพื่อเป็นการรับรู้ถึงสิทธิในทางศีลธรรมของนักปรับปรุงพันธุ์ที่ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการปรับปรุงพันธุ์พืช ขึ้นมาใหม่

2.อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) หรือ CBD วัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาฉบับนี้ คือ เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้มีการใช้ประโยชน์จากความ หลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนและให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม

พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ได้นำหลักการของอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้งสองฉบับมา รวมกันโดยระบุไว้ ดังนี้

1)การคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ ได้มีการระบุไว้ใน มาตรา 33 ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่มีสิทธิแต่ เพียงผู้เดียวในการผลิต ขาย หรือจำหน่ายด้วยประการใด นำเข้ามาในราชอาณาจักร ส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือมี ไว้เพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าว ซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ ฯลฯ

2)การคุ้มครองสิทธิของชุมชน ได้มีการระบุไว้ใน มาตรา 47 เมื่อได้มีการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมือง เฉพาะถิ่นของชุมชนใดแล้ว ให้ชุมชนนั้นมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการปรับปรุงพันธุ์ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิต ขาย ส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือจำหน่ายด้วยประการใด ซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ฯลฯ และ มาตรา 48 ผู้ใดเก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าว เพื่อการ ปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือวิจัย เพื่อประโยชน์ในทางการค้าจะต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับจาก การใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นนั้น ฯลฯ

3)การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม กัน ได้มีการระบุไว้ใน มาตรา 52 ผู้ใดเก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าว เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือ วิจัยเพื่อประโยชน์ทางการค้า จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ โดยนำเงินรายได้ตามข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ส่งเข้ากองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงและ มาตรา 53 ผู้ใดทำการศึกษา ทดลอง หรือวิจัยพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือ ส่วนหนึ่งส่วนใด ของพันธุ์พืชดังกล่าว ที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ให้ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการคุ้มครอง พันธุ์พืชกำหนด

2.สถานการณ์ปัจจุบันของพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช

พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช 3 ระบบ ประกอบด้วย

1. ระบบการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ที่เป็นการคุ้มครองเชิงทรัพย์สินทางปัญญา ให้สิทธิกับนักปรับปรุงพันธุ์พืช

2. ระบบการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ให้สิทธิความเป็นเจ้าของกับชุมชน

3. ระบบการแจ้งและอนุญาตให้ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า เพื่อการศึกษา ทดลอง วิจัย และปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นการคุ้มครองเชิงอนุรักษ์ รวมถึงการบริหารจัดการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม เมื่อบังคับใช้กฎหมายมาสักระยะหนึ่งพบว่ามีข้อติดขัดทั้งในด้านกระบวนการปฏิบัติงานและการบังคับใช้กฎหมาย และยังขาดสาระสำคัญบางประการทำให้ไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชได้อย่างเพียงพอ มีข้อจำกัดในเรื่องโอกาสการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ อีกทั้งไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนได้อนุรักษ์พัฒนาและใช้ประโยชน์พันธุ์พืชของชุมชน รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและพัฒนาที่ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า ส่งผลให้ไม่ส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันการลงทุนและการวิจัยและพัฒนาเท่าที่ควร จึงเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติ โดยคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับเดิมทุกประการ

กรมวิชาการเกษตร ได้ชี้แจงว่า การปรับแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชให้เป็นสากลจะส่งผลดีต่อผู้เกี่ยวข้องจำแนกตามกลุ่ม ได้ดังนี้ 

1.เกษตรกรผู้ค้า/ผู้ปลูก มีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกชนิดพืชและพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่เหมาะสมใช้เพาะปลูกตามความต้องการ ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น อาชีพเกษตรกรผู้รับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ (พืชไร่และผัก) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ให้เกษตรกร นอกจากนี้ เกษตรกรจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ทันสมัยไปด้วย โดยที่เกษตรกรยังสามารถใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกได้เองตามปกติ ส่วนพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครอง เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธ์ไว้เพาะปลูกในพื้นที่ของตนเองได้ตามสิทธิพิเศษสำหรับเกษตรกรที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของร่างพระราชบัญญัติฯ 

2.นักปรับปรุงพันธุ์พืชไทย มีแรงจูงใจในการลงทุนวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีแหล่งพันธุกรรมที่มีความหลากหลายใช้ในการปรับปรุงพันธุ์มากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มากยิ่งขึ้น และจะมีจำนวนนักปรับปรุงพันธุ์เพิ่มมากขึ้น 

3.ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมแปรรูป มีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกซื้อผลิตผลและผลิตภัณฑ์พืชได้ตรงกับความต้องการ มีพันธุ์พืชใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดแคลน ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น 

4.การลงทุนด้านเมล็ดพันธุ์พืช มีการขยายการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์และการผลิตเมล็ดพันธุ์ ทั้งเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก นักลงทุนมีความเชื่อมั่น ดึงดูดให้เข้ามาลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในประเทศมากขึ้น

กฎหมายสิทธิบัตร เป็นแนวทางที่ประเทศอุตสาหกรรมเลือกใช้ในการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ ได้แก่  

1) การขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรผ่าน ข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights : TRIPs Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์) และ    

2) ขยายความคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช (Plant Breeders’ Rights: PBRs) ผ่านการแก้ไขอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาบรรษัทข้ามชาติ และบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ได้ผลักดันให้ประเทศไทยยอมรับระบบกฎหมายผูกขาดพันธุ์พืชตามระบบ UPOV1991 ทั้งที่เป็นการผลักดันโดยตรงและผ่านการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ความตกลง FTA อาเซียน-ยุโรป (Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี)  เป็นต้น การจะดำเนินการให้ข้อตกลง TRIPs และ การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV เกิดขึ้น ประเทศที่ต้องการจดสิทธิบัตร จะต้องเจรจาในเวทีการค้าโลกเพื่อให้เกิดการยอมรับการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช แต่ก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากในเวที WTO แต่ละประเทศมี 1 เสียงเท่ากัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ประเทศมหาอำนาจจึงใช้เวที FTA เป็นพื้นที่ต่อรองให้ประเทศคู่ค้ายอมรับการจดสิทธิบัตร คือ ใช้เวที FTA ซึ่งเป็นการเจรจาแบบ 1 ต่อ 1 ที่อำนาจการต่อรองไม่เท่าเทียมกันอย่างในเวที WTO โดยวิธีการเจรจาแบบ 1 ต่อ 1 เช่นนี้ จึงทำให้เมื่อเข้าสู่เวที WTO หลายประเทศจึงยอมรับเงื่อนไขกฎหมายสิทธิบัตร และยอมรับเข้าร่วมเป็นภาคี UPOV ในที่สุด

ผลจากการยอมรับกฎหมายสิทธิบัตร ตามข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights : TRIPs Agreement) ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) และ การเข้าร่วมเป็นภาคี UPOV จึงส่งผลต่อการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของประเทศไทย ซึ่งมีผลกระทบที่ตามมา คือ การผูกขาดพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์ ในรูปแบบของกฎหมายสิทธิบัตร เทคโนโลยีที่จำกัดการใช้พันธุกรรม (GURTs) เกษตรพันธะสัญญา โดยท้ายที่สุดก็ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกลไกข้อตกลงระหว่างประเทศอีกระบบหนึ่งซึ่งสามารถนำไปใช้คัดง้างกับข้อตกลง TRIPs และ UPOV ได้ คือ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญและยอมรับบทบาทเกษตรกรในการอนุรักษ์พันธุ์พืช ได้แก่ 1) ข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD)[1] และ 2) สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุ์พืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agricultural: ITPGR) โดยเป็นข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้นำทรัพยากรชีวภาพไปใช้ประโยชน์ต้อง “ขออนุญาต/แจ้ง” หน่วยงาน/ผู้ดูแล/ชุมชนเจ้าของทรัพยากร ก่อนนำทรัพยากรชีวภาพนั้นไปใช้ และในกรณีที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จะต้องทำการ “แบ่งปัน” ผลประโยชน์แก่หน่วยงาน/ผู้ดูแล/ชุมชนเจ้าของทรัพยากรนั้นๆ ด้วย หรือกล่าวได้ว่า ข้อตกลง 2 ฉบับข้างต้น อยู่บนพื้นฐานของการยอมรับสิทธิเกษตรกร (Farmer’s right)

ประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศไม่เห็นด้วยกับการคุ้มครองสิทธิเกษตรกร โดยเกรงว่าจะกระทบต่อผลประโยชน์พันธุ์พืชที่ปรับปุรงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ อย่างไรก็ดี สิทธิเกษตรกรก็ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นจนอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity-CBD) ได้ยอมรับสิทธิเกษตรกร ซึ่งนับเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกที่ยอมรับสิทธิเกษตรกร โดยกำหนดให้ทรัพยากรชีวภาพอยู่ภายใต้หลักอธิปไตยของรัฐและรัฐต้องบริหารจัดการภายใต้หลักความห่วงใยร่วมกัน (Common Concern of Mankind) CBD ยังได้กำหนดกลไกทางกฎหมายคุ้มครองสิทธิเกษตรกร คือ หลักการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์ (Access and Benefit-sharing – ABS) ประเทศไทยเป็นภาคี CBD ทำให้ทรัพยากรพันธุ์พืชตกอยู่ภายใต้หลักการ ABS ด้วยเช่นกัน

ข้อตกลงชุดนี้ กติกาของโลกอีกชุดหนึ่ง คืออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งให้สิทธิอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ  ถ้าเข้าเป็นภาคีเขาต้องทำตามกติกานี้ คือใครก็ตามที่จะไปใช้ทรัพยากรชีวภาพ เอาไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า ต้องบอกเจ้าของเขาก่อน ขออนุญาตเจ้าของเขา ถ้าเจ้าของเขาไม่ยอมก็เข้าไปไม่ได้ ถ้าเขายอมเขามีสิทธิที่จะขอแบ่งผลประโยชน์ กระบวนการนี้กำลังถูกสร้างขึ้นอยู่บนเวทีโลก ทั้งนี้ กลไกการขออนุญาตเจ้าของก่อนนำไปใช้ประโยชน์นี้ มีนัยยะสำคัญมากต่อการแสดงให้เห็นว่าเกิดการยอมรับบทบาท ความสำคัญ และสิทธิของเกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่น ซึ่งแต่เดิมไม่เคยมีความคิดและยอมรับสิทธิเกษตรและชุมชนท้องถิ่นในการเป็นเจ้าของทรัพยากร ในประเทศไทยมีการดำเนินการแล้ว คือ อยู่ใน  พรบ. คุ้มครองพันธ์พืช พ.ศ. 2542

3.การผูกขาดทรัพยากรพันธุกรรมในข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายของไทย 

พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับนี้ มี 3 ประเด็นหลัก โดยเฉพาะการขยายสิทธิผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ เปิดทางโจรสลัดชีวภาพ และละเมิดสิทธิของเกษตรกรอย่างร้ายแรง

ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุลร่วมกับมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ได้ตั้งข้อสังเกตต่อเนื้อหาของร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ที่กำลังเปิดรับฟังความเห็นอยู่ในขณะนี้ว่าเป็นการแก้กฎหมายเอื้ออำนวยประโยชน์ให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มการผูกขาดพันธุ์พืชและเปิดช่องให้ลงโทษเกษตรกรที่เก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เป็นการทำลายวัฒนธรรมที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

เมื่อพิจารณารายมาตราที่มีการแก้ไขและดูภาพรวมทั้งหมดแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ขยายสิทธิผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ เปิดทางโจรสลัดชีวภาพ และละเมิดสิทธิของเกษตรกรอย่างร้ายแรงดังนี้

1. การอ้างว่าเกษตรกรยังคงเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกในแปลงของตนได้นั้นไม่เป็นความจริง   เนื่องจากแม้ในร่าง พ.รบ. มาตรา 35 จะระบุข้อความว่า “เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง” แต่กลับเพิ่มเงื่อนไขสำคัญต่อท้ายว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้”

ทั้งนี้ หากเกษตรกรปลูกพันธุ์พืชใหม่ตามประกาศข้างต้นแล้วเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้านจะมีความผิดตามร่าง พ.ร.บ.มาตรา 74 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ส่วนที่มาของกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งมีอำนาจในการประกาศฯ กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คน (โดยมีเกษตรกรอย่างน้อย 6 คน) มาจากการเสนอชื่อ/คัดเลือกกันเอง แต่ในร่างกฎหมายนี้ (มาตรา 6) กลับให้มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด สะท้อนการรวบอำนาจในมือของบุคคลบางกลุ่มที่เสนอยกเลิกกฎหมายเดิมและร่างกฎหมายฉบับนี้

2. การขยายสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น ดังนี้

2.1 ขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืช แต่เดิมพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี และพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่า 2 ปีให้การคุ้มครอง 12 ปีและ 17 ปีตามลำดับนั้น ในมาตรา 31 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ขยายระยะเวลาออกไปเป็น 20 ปี ส่วนไม้เถายืนต้น (เช่น องุ่น) ให้มีระยะเวลา 25 ปี

2.2 ขยายการคุ้มครองจากแต่เดิมให้การคุ้มครองเฉพาะ “ส่วนขยายพันธุ์” (มาตรา 33 ของพ.ร.บ.ฉบับเดิม) ให้เพิ่มรวมไปถึง “ผลิตผล” และ “ผลิตภัณฑ์” ตามร่างพ.ร.บ.มาตรา 37 (ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา 33 ต่อผลิตผลที่ได้มาจากการเก็บเกี่ยวรวมถึงพืชและส่วนต่างๆของพืชที่ได้มาจากส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชที่ได้รับความคุ้มครอง จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิ) และร่างพ.ร.บ.มาตรา 38 (ผู้ใดกระทำตามมาตรา 33 ต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากผลิตผลตามมาตรา 37 จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิ) ตัวอย่างเช่น หากพบว่ามีการเก็บรักษาพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อทั้งๆ ที่มีการประกาศว่าเป็น “พันธุ์พืชส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์” ตามมาตรา 35 ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเพาะปลูกและแปรรูปทั้งหมดถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทเมล็ดพันธุ์

2.3 ขยายการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ไปยังสายพันธุ์ย่อยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น เป็นพันธุ์ที่ได้พันธุกรรมสำคัญมาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง (EDVs-Essentially Derived Varieties) พันธุ์ที่ไม่แสดงความแตกต่างจากพันธุ์พืชใหม่ และพันธุ์ที่ต้องอาศัยพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองในการขยายพันธุ์ทุกครั้ง (มาตรา 40 ร่างพ.ร.บ.)

3. เปิดทางสะดวกให้กับโจรสลัดชีวภาพ ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่เปิดทางให้ผู้นำพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งนี้โดย

3.1 มีการเปลี่ยนแปลงนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปว่า “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” หมายความว่า พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ หรือมีอยู่ในประเทศ ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ไม่รวมถึงพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า หรือ พันธุ์พืชที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ (ร่างพ.ร.บ.มาตรา4) การแก้คำนิยามดังกล่าวทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ใดๆ เมื่อมีการนำเอาสารพันธุกรรมหรือพันธุ์พืชไปใช้โดยเพียงแต่เอาพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือ พันธุ์พืชป่า มา “ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์”เสียก่อนเท่านั้นก็ไม่เข้าเงื่อนไขการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์แล้ว

3.2 กฎหมายเดิมกำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มาของสารพันธุกรรมตามมาตรา 9 (3) แต่ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชกลับตัดวรรคดังกล่าวออกและร่างขึ้นใหม่เป็น “ข้อมูลหรือเอกสารหรือวัสดุที่จำเป็นแก่การตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด” (ร่างพ.ร.บ.มาตรา 18 (3) การแก้ไขดังกล่าวมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการนำเอาสารพันธุกรรมและพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์นั่นเอง

ขณะนี้มีความพยายามในการยกร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ตาม UPOV1991 และยกเลิกพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 อ้างเหตุผลว่าเพื่อให้กฎหมายไทยสอดคล้องกับมาตรฐานการคุ้มครองพันธุ์พืชระหว่างประเทศ ทั้งๆที่จริงแล้วการคุ้มครองพันธุ์พืชนั้นต้องสอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศ

พันธกรณีในการให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องพันธุ์พืชนั้นถูกกำหนดในความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPs) ภายใต้องค์การการค้าโลก(WTO) เปิดให้แต่ละประเทศสามารถออกกฎหมายได้ถึง 3 วิธีคือ

1) ระบบกฎหมายสิทธิบัตร (patent) หรือ

2) กฎหมายคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ (plant breeder’s right หรือ plant varieties protection) ตาม แนวทางของ UPOV หรือ

3) กฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะ (sui generis) เช่น ประเทศไทย และอินเดีย เลือกการออกกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะตาม

4) โดยนำเอาเนื้อหาจาก UPOV1978 มาปรับใช้ ผสมผสานกับหลักการการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จาก  ทรัพยากรชีวภาพตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD)


[1] ข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการคือ (1) เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (2) เพื่อใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และ (3) เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ประเทศไทยได้ลงนามรับรองอนุสัญญา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2535 และได้ให้สัตยาบรรณเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 และมีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547 ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีอนุสัญญา ลำดับที่ 188 จาก 190 ประเทศ (มีนาคม 2550)