ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น “สวรรค์ของไม้ผลเมืองร้อน” แต่ที่ผ่านมาในอดีตชื่อเสียงดังกล่าวถูกกลบด้วยภาพของการส่งออก ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ และกุ้ง
อย่างไรก็ตาม ภายในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา การส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันกลายเป็นสินค้าที่ส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากยางพาราเท่านั้นด้วยอัตราการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับราคายางพาราในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงจากสวนยางเป็นสวนผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน เชื่อว่าภายในไม่เกิน 4-5 ปีข้างหน้า ผลไม้และผลิตภัณฑ์จะกลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย

ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในปี 2562 ยางธรรมชาติ มีมูลค่าการส่งออก 190,633 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 15.31 เนื่องจากกิจการส่งออกยางพาราของไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสาธารณะรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา
ข้าวและผลิตภัณฑ์ มีมูลค่าการส่งออก 151,026 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 24.95ในขณะที่ผลไม้และผลิตภัณฑ์ มีมูลค่าการส่งออก 167,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 17.57 โดยสินค้าส่งออกของไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 51,188 ล้านบาท ลำไยและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 30,474 ล้านบาท มังคุดและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 16,729 ล้านบาท
การส่งออกผลไม้ มีข้อดีหลายประการ ทั้งในแง่ที่มาจากสายพันธุ์ซึ่งคัดเลือกและพัฒนาโดยเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ ไม้ผลยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเกษตรเขตร้อน แตกต่างกับการปลูกพืชไร่อายุสั้น มูลค่าทางเศรษฐกิจต่อพื้นที่การเพาะปลูกสูงกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอายุสั้นหลายเท่า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าที่ต้องรับมือหลายเรื่องเช่นเดียวกัน เช่น การพึ่งพาตลาดส่งออกไม่กี่ตลาด กลุ่มธุรกิจต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการค้าและการผลิตผลไม้ ปัญหาการควบคุมคุณภาพ ปัญหาการผลิตล้นเกินในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะแรงจูงใจเรื่องราคาที่สูงกว่าพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นต้น
การเป็นสวรรค์ของไม้ผลเมืองร้อน ควรมีฐานรากอยู่ที่การคำนึงถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การผลิตเชิงนิเวศ และการรักษาสมดุลเพื่อตอบสนองต่อการบริโภคของตลาดภายในประเทศ ตลอดจนการที่คนในประเทศทั้งในฐานะผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคจะร่วมได้รับประโยชน์จากผลไม้เมืองร้อนด้วย
ที่มา: BIOTHAI Facebook