เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – 8 ตุลาคม 2552

ศ.ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส ในฐานะประธานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) แถลงคัดค้านการเปิดเสรีการลงทุนซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อถอนข้อสงวนการลงทุนในภาคเกษตรที่สำคัญ 3 สาขาคือ (1) การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช (2) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ (3) การทำป่าไม้จากป่าปลูก โดยอนุญาตให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนและถือหุ้นใหญ่ในกิจการทั้ง 3 ประเภทได้ ทั้งนี้โดยมีผลใช้บังคับในปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ในหนังสือที่ทำถึงนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และกรรมาธิการชุดต่างๆนั้นระบุว่า การเปิดเสรีใน 3 สาขาซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับการสงวนให้เป็นกิจการของคนไทยภายใต้  พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จะกระทบกับเกษตรกร ประมงพื้นบ้าน ชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อยของคนไทยอย่างกว้างขวาง อีกทั้งเป็นการเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติทั้งในระดับอาเซียนและบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่นอกอาเซียนที่ลงทุนในอาเซียนอยู่แล้วเข้ามาครอบครองที่ดิน ครอบครองพันธุ์พืชและทรัพยากรธรรมชาติ  เข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน และแย่งชิงอาชีพของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ อีกทั้งยังขัดแย้งกับนโยบายการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และนโยบายสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ของรัฐบาลเอง

“รัฐบาลและรัฐสภาควรทบทวนเรื่องนี้ อย่าหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือเงินตรา หรือเอาใจกลุ่มทุน จนสร้างผลกระทบต่อคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของผืนแผ่นดิน เรื่องนี้มีผลกระทบมากไปกว่ากรณีการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในกรณีกล้วยไม้  หรือการทำความตกลงเอฟทีเอของรัฐบาลที่ผ่านมาเสียอีก เพราะเป็นการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาแย่งชิงอาชีพและทรัพยากรของประเทศ กระทบต่ออธิปไตยและความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างมาก”  ศ.ระพี กล่าว

นายภาคภูมิ  วิธานติรวัฒน์ จากมูลนิธิอันดามัน กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดเสรีครั้งนี้มิได้คำนึงเลยว่า การเปิดเสรีให้ต่างชาตินั้นจะสร้างผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง และป่าชายเลน ตลอดจนมีผลกระทบต่อชุมชนประมงขนาดเล็กทั้งประเทศ “ที่ผ่านมาปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรเป็นปัญหาร้ายแรงอยู่แล้ว มีการกว้านซื้อที่ดินในเขตป่าชายเลน และน้ำกร่อย เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มทุนกับชุมชนอยู่เนืองๆ แต่รัฐบาลกลับมาซ้ำเติมโดยเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนจากต่างชาติทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียนเข้ามาแย่งชิงทรัพยากร และแย่งชิงอาชีพจากชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งจะทำให้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีก” นายภาคภูมิกล่าว

นางสาวพรพนา ก๊วยเจริญ นักวิจัยมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติซึ่งติดตามการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ในอินโดจีนเปิดเผยว่า “การเปิดเสรีการลงทุนการเกษตรของไทยครั้งนี้ อาจเป็นการผลักดันที่มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยอยู่เบื้องหลัง เพราะการเปิดเสรีการลงทุนในการเกษตรในประเทศไทยให้กับนักลงทุนต่างชาติ จะเป็นข้ออ้างให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยและประเทศอาเซียนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าเข้าไปลงทุนในประเทศที่อ่อนด้อยกว่าอย่างลาวและกัมพูชาได้ง่ายขึ้น กลุ่มที่บีโอไอเปิดให้แสดงความคิดเห็นล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไม่ใช่ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ”

“กลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย อีกทั้งจะเป็นการเพิ่มอุณหภูมิและขยายวงกว้างของปัญหาการแย่งชิงที่ดินจากประชาชนท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ยากจนและเป็นชนพื้นเมือง ในประเทศเพื่อนบ้านไปพร้อมกัน”

นายวิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ ตัวแทนจากกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ แถลงว่า การเปิดเสรีครั้งนี้ถูกวางแผนอย่างแยบยล ประชาชนทั้งประเทศแทบไม่ได้รับรู้เลย ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ปรึกษาหารือกับเกษตรกรรายย่อย ประมงพื้นบ้าน ชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง แต่ไปอ้างต่อคณะกรรมการ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) ว่า ได้จัดให้มีการสัมมนาให้ความรู้ รวมถึงจัดประชาพิจารณ์แล้ว ทำให้มติของกนศ. เห็นชอบที่จะให้มีการเปิดเสรีใน 3 สาขาดังกล่าว “การเปิดเสรีครั้งนี้ของรัฐบาลขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 190 อย่างแจ้งชัด ที่ระบุว่าการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา”

“นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะที่กำกับดูแลคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมของกนศ. รวมทั้งนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งเข้าร่วมประชุมกนศ.เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 และเห็นชอบให้มีการเปิดเสรีจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”

“หลังจากได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องแล้ว มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายองค์กรด้านการเกษตรและทรัพยากร และกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ จะรอฟังคำตอบและคำชี้แจงจากนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ว่าได้ดำเนินการอย่างไรหรือไม่ เพื่อยับยั้งกรณีดังกล่าว หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เครือข่ายองค์กรที่ได้แถลงข่าวจะประสาน งานกับเครือข่ายเกษตรกรและทรัพยากรทั่วประเทศเพื่อเตรียมการเคลื่อนไหว ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนที่หัวหิน-ชะอำ ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม นี้” นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กล่าว

      อนึ่งองค์กรที่ร่วมลงนามในหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และกรรมาธิการชุดต่างๆนั้น ประกอบไปด้วย

  1. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
  2. มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)
  3. มูลนิธิชีวิตไท (ราฟ่า)
  4. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
  5. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์)
  6. มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
  7. มูลนิธิอันดามัน
  8. มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
  9. สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
  10. มูลนิธิข้าวขวัญ
  11. สมาพันธ์เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวโพดจังหวัดน่านและเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดน่าน
  12. กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์จังหวัดกาญจนบุรี
  13. เครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี
  14. เครือข่ายป่าต้นน้ำภาคตะวันตก
  15. เครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกและเทือกเขาตะนาวศรีจังหวัดกาญจนบุรี
  16. เครือข่ายอนุรักษ์ป่าเทือกเขาตะนาวศรีจังหวัดราชบุรี
  17. กลุ่มทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ
  18. กลุ่มอนุรักษ์บ่อนอก
  19. กลุ่มพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อำเภอไทรโยค  จังหวัดกาญจนบุรี
  20. เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก
  21. เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม
  22. กลุ่มฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี
  23. กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง ตำบลบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
  24. เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี
  25. ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม
  26. เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำแม่กลองจังหวัดราชบุรี
  27. ประชาคมจังหวัดราชบุรี
  28. ชมรมลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม
  29. มูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม
  30. สภาลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม
  31. กลุ่มเกษตรห้วยตะเคียนพัฒนา ตำบลหนองโสน จังหวัดกาญจนบุรี
  32. กลุ่มเครือข่ายเกษตรบ้านวังหิน อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
  33. กลุ่มส่งเสริมจริยธรรมจังหวัดกาญจนบุรี
  34. กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบฯ
  35. กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านพุเตย อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
  36. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงป่าละอูจังหวัดประจวบฯ
  37. ศูนย์ประสานงานเพื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดเพชรบุรี
  38. ชมรมนักพัฒนาภาคตะวันตก
  39. ศูนย์การเรียนรู้พี่น้องสองตำบลจังหวัดนครปฐม
  40. ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเกษตรชนบทพึ่งตนเอง ตำบลดอนแร่ จังหวัดราชบุรี
  41. กลุ่มปลูกผักปลอดสาร ตำบลท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี
  42. กลุ่มพัฒนาชีวิตและวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี
  43. เครือข่ายศูนย์การเรียนรู้เกษตรธรรมชาติเพื่อนหลักห้า เพื่อการพึ่งพาตนเอง จังหวัดสมุทรสาคร
  44. เครือข่ายป่าต้นน้ำจังหวัดกาญจนบุรี
  45. ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขามจังหวัดกาญจนบุรี
  46. กลุ่มอนุรักษ์ชุมชนเมืองจังหวัดกาญจนบุรี
  47. เครือข่ายเกษตรอินทรีย์บูรพา
  48. เครือข่ายเกษตรอินทรีย์จันทบุรี
  49. เครือข่ายจากภูผาสู่มหานที
  50. เครือข่ายธนาคารต้นไม้

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง