เพื่อนไทยที่รักทุกคน  ถ้าเธอยังมีวิญญาณความรักและความรับผิดชอบต่อแผ่นดินถิ่นเกิดของตัวเองอยู่ภายในจิตใจ  ฉันขอโอกาสนี้บอกกับเธอว่า  ขณะนี้บ้านเมืองของเรากำลังใกล้จะสิ้นแผ่นดินอยู่เข้ามาทุกที

       หวนกลับไปนึกถึงอดีต  ก่อนอื่นนับตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ถ้ามองถึงชีวิตเกษตรกรไทยอันควรถือว่าคือยามเฝ้าแผ่นดิน  ประเด็นนี้มีเหตุผลที่จะอธิบายได้อย่างชัดเจน  ทั้งนี้เพราะในช่วงกรุงศรีอยุธยา  เท่าที่คนต่างชาติเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี  “คำว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว” แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยทำให้คนหลายชาติต้องการที่จะเข้ามาถือครองแผ่นดินผืนนี้  อันนับได้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาทั่วๆไป

       แต่จากเหตุดังกล่าว  สิ่งที่เราควรนำปฏิบัติตามหน้าที่ของพลเมืองดีภายในท้องถิ่นก็คือ  จะต้องร่วมมือร่วมใจกันรักษาแผ่นดินผืนนี้เอาไว้อย่างเหนียวแน่นเพื่อให้ชนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ถือเป็นมรดกตกทอดทำให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขแต่เหตุการณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่  เพราะว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีเหตุการณ์ที่ต่างชาติเข้ามาบุกรุกเพื่อต้องการแผ่นดินผืนนี้อยู่แล้ว  แต่คนในยุคก่อนมีวัฒนธรรมที่นำการเกษตรมาใช้เสริมสร้างความมั่นคงของชาติบ้านเมืองอย่างเด่นชัด  จึงทำให้ชนรุ่นเราได้มีแผ่นดินอยู่และประกอบอาชีพการเกษตรอยู่ในปัจจุบันอันควรถือว่าคือความภูมิใจที่มีรากเหง้าอย่างลึกซึ้ง

       ครั้นหันไปพิจารณาถึงการศึกษาที่ควรจะสร้างพื้นฐานความเจริญรวมถึงความมั่นคงให้แก่คนในชาติ  เราก็เริ่มมองเห็นความพ่ายแพ้ของเกษตรกรไทยมาตั้งแต่ในยุคนั้นแล้ว

       ทั้งนี้  ถ้าจะพิจารณาถึงเหตุและผล  แม้แต่การเรียกร้องให้คนในชาติทำการเกษตรอินทรีย์อยู่ในปัจจุบัน  เราก็มีการทำเกษตรแบบอินทรีย์บนพื้นฐานการผสมผสานมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน

       ชีวิตฉันโชคดีที่เกิดมามองเห็นความจริงตั้งแต่ยุคนั้นแล้วว่า  ในสมัยก่อนเราทำฟาร์มปลูกผักอยู่ในภาคกลาง  ก็ได้เห็นคนจีนซึ่งเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของไทยมาแต่อดีต  ทำการเกษตรที่มีการปลูกผักโดยใช้วิธีเลี้ยงเป็ด  เลี้ยงไก่  เลี้ยงปลาและเลี้ยงหมู  รวมทั้งการปลูกข้าว  ซึ่งไม่ใช่เพียงเอาไข่เอาเนื้อเท่านั้น แต่ยังเอาอุจจาระมาใช้ทำปุ๋ยใส่ผัก แม้แต่ในร่องสวนที่ขุดเอาไว้เพื่อระบายน้ำก็ยังมีการดำข้าวเอาไว้  หลังจากข้าวออกรวงได้เมล็ดแล้ว เป็ดก็ได้กินข้าว  หมูก็ได้ใช้ผลิตผลจากรำข้าวที่นำมาใช้เป็นอาหาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นฐานของการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดของคนจีนในสมัยนั้นก็คือ “ความอดทนในการดำเนินชีวิตอย่างเด่นชัด” นอกจากนั้นยังมีเรื่องอื่นๆอีกมาก  แต่เหตุใดอำนาจรัฐจึงได้ส่งนักเรียนไทยไปศึกษาการเกษตรต่อจากเมืองฝรั่งจนกระทั่งมีการแทรกซึมระบบการเกษตรเคมีผ่านกระบวนการจัดการศึกษาเข้ามาครอบงำชีวิตคนไทย

       ประเด็นนี้หมายถึงการชักศึกเข้าบ้านอย่างแนบเนียนที่สุ

       ตรงนี้แหละคือความขัดแย้งทางวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัด  หรืออาจกล่าวได้ว่า “ชีวิตคนไทยนั้น  มีของดีอยู่แล้วแต่รักษาเอาไว้ไม่อยู่” แม้แต่ระบบการศึกษาเกษตรที่เคยกระจายอยู่ในท้องถิ่นแทบจะทุกภาค  มาถึงช่วงปี พ.ศ.2475  เราก็เริ่มทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นของเราเอง  ช่วงนั้นได้มีเหตุการณ์นำทหารติดอาวุธเข้าไปทำร้ายระบบการปกครองซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยอ้างว่าต้องการประชาธิปไตย  สำหรับคนที่รู้จริงย่อมมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่า  แท้จริงแล้วพฤติกรรมที่คนกลุ่มนั้นแสดงออกต่อมาภายหลัง  ได้สารภาพตัวเองว่าหาใช่ต้องการประชาธิปไตยไม่  เพราะแม้แต่รากฐานประชาธิปไตยที่แท้จริงคนกลุ่มนั้นก็ยังรู้ได้ไม่ถึง  หากต้องการอำนาจมาเสพติดจนกระทั่งถึงทุกวันนี้  ทำให้บ้านเมืองเกิดความปั่นป่วนเรื่อยมา  นี่คือการเอาเยี่ยงมาจากเมืองฝรั่ง  นอกจากนั้นการจัดการศึกษาเกษตรของไทยเราก็ไปเอาแบบแผนมาจากเมืองฝรั่งด้วยเช่นกัน  แทนที่จะหวนกลับมาพิจารณาตนเองเพื่อค้นหาความจริงจากใจอันควรถือว่าคือการพัฒนารากเหง้าของเราให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

       ประเด็นที่สอง  ที่เราเห็นได้ชัดก็คืออีกสิ่งหนึ่งคือการนำเอาโครงสร้างจากเมืองฝรั่งมาใช้เป็นพื้นฐาน  โดยเฉพาะการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเกษตรที่อยู่ด้วยกันกับการสร้างสถานีวิจัยเพื่อหวังใช้ครูซึ่งเป็นนักวิจัยมาสอนในสถาบันการศึกษาเกษตรเช่น “เกษตรกลางบางเขน” รวมถึงการจัดการศึกษาด้วยโครงสร้างแบบเดียวกันที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งต่อมาภายหลังทั้งสองแห่งก็ได้เกิดความแตกแยก  แทบจะพูดได้ว่าไม่ดูดำดูดีกันเองอย่างเห็นได้ชัด

       ประเด็นที่สาม  แม้แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เคยใช้โรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์ที่แม่โจ้เป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อสร้างรากฐานบัณฑิตให้มีความอดทนเข้มแข็งอย่างสำคัญด้วย   ต่อมาภายหลังเราก็ปฏิเสธที่จะรับพื้นฐานของเราเองที่แม่โจ้ซึ่งมีการนำปฏิบัติบนพื้นดินอย่างใกล้ชิด  จนกระทั่งทำให้การจัดการศึกษาเกษตรไทยไม่อาจที่จะสร้างความอดทนเข้มแข็งให้แก่ตัวเองได้อีกต่อไป

       หวนกลับไปนึกถึงพื้นฐานการศึกษาเกษตรที่แม่โจ้อีกครั้งหนึ่ง  หลังจากปี พ.ศ.2475 มาแล้ว  หลังจากนั้นมาเรามักเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจการปกครอง  แต่แท้จริงแล้วในอดีตเราก็มีการกระจายอยู่แล้วโดยที่มีสถาบันการศึกษาเกษตรที่กระจายอยู่ในภูมิภาคของประเทศ  เช่นในภาคใต้เราก็มีโรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรอยู่ที่คอหงส์  จังหวัดสงขลา  ในภาคกลางเราก็มีอยู่ที่บางกอกน้อย  ในภาคอีสานเราก็มีอยู่ที่โนนวัด  ครั้นต่อมาภายหลังก็เกิดเหตุการณ์ที่เชื่อกันว่าเพื่อการพัฒนา  แต่แท้จริงแล้วกลายเป็นเรื่องของการรวมศูนย์อำนาจ  เพราะเหตุที่เรารวมการศึกษาในภาคต่างๆดังกล่าวเข้าไปไว้ที่แม่โจ้แห่งเดียว

       ไม่เพียงเท่านั้นเรามีโรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรดีอยู่แล้วเพราะต้องการเผยแพร่ความรู้สู่ชาวนาชาวไร่จึงต้องใช้วิญญาณความเป็นครูอย่างสำคัญ  แต่แล้วเราก็ทำลายมันเสียเอง  นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียรากฐานความมั่นคงของชาติเรื่อยมา

       อนึ่ง  หลักธรรมก็ได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า “จงเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ” แต่จากความจริงในการปฏิบัติเท่าที่ผ่านพ้นมาแล้วในอดีตจนถึงทุกวันนี้ หาได้เป็นเช่นนั้นไม่  เพราะคนไทยส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่อย่างประมาททำให้มีนิสัยนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็นจึงไม่รู้ว่ามีภัยอะไรแก่ตัวเองมาจากทางไหน  อะไรๆก็เอาไว้วันพรุ่งนี้ค่อยทำ  แทนที่จะรักษาพลังขับเคลื่อนซึ่งมีอยู่ภายในจิตวิญญาณตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ

       มาจนถึงบัดนี้จึงเกิดเหตุการณ์สูญเสียครั้งใหญ่  ทั้งนี้เพราะการเกษตรไทยซึ่งเป็นกองทัพเศรษฐกิจของชาติ  โดยที่ทำหน้าที่รักษาแผ่นดินถิ่นเกิดของคนไทยทั้งชาติรวมทั้งทำหน้าที่ผลิตอาหารซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ทางร่างกายเท่านั้น  หากสิ่งที่สำคัญก็คือการผลิตอาหารทางใจรวมทั้งเครื่องอุปโภคต่างๆของชีวิต  ซึ่งเราก็ปฏิเสธมันมาตั้งแต่ต้น  คงยึดมั่นถือมั่นเอาแต่ผลิตเพื่อขายหาเงินจากคนต่างชาติ  ไม่ว่าองค์กรไหนซึ่งทำหน้าที่เพื่อชีวิตประชาชน  โดยเฉพาะอำนาจจากรัฐบาล  ต่างก็สนับสนุนให้มีการผลิตเพื่อส่งไปขายให้คนต่างชาติได้กินได้ใช้โดยไม่ได้นึกถึงชีวิตคนไทยด้วยกันเอง นอกจากนั้นเรายังเห็นได้ชัดเจนอยู่ในปัจจุบันที่คนไทยส่วนใหญ่ “ทำอะไรๆก็คิดถึงเรื่องการขายส่งนอก”  แทนที่จะปรับเปลี่ยนความคิดมาใช้เสริมสร้างความเข้มแข็งโดยนึกถึงการผลิตเพื่อให้คนในชาติได้ใช้บริโภคก่อนอื่น

       ซึ่งประเด็นนี้สามารถแก้ไขได้โดยใช้การจัดการศึกษาที่เสริมสร้างรากฐานคนไทย  หลังจากเกิดปัญหาครั้งใดให้หวนกลับมาต่อสู้กับจิตใจตนเองก่อนอื่น

       มาถึงบัดนี้เหตุการณ์กำลังจะเข้าถึงที่สุดจุดจบอยู่แล้ว  นั่นก็คือการใช้การประชุมอาเซียนเป็นเครื่องมือชักศึกเข้าบ้านอย่างสำคัญ  นั่นก็คือการเปิดเสรีให้คนต่างชาติเข้ามาทำการเกษตรรวมทั้งอุตสาหกรรมป่าไม้และการประมงบนแผ่นดินไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังมีหนอนบ่อนไส้เช่นเดียวกันกับเมื่อสมัยที่กรุงศรีอยุธยากำลังใกล้จะแตก  แต่ครั้งนี้ตัวหนอนได้มีการกระทำกันอย่างเป็นกระบวนการ  ทำให้มีความเข้มแข็งยิ่งกว่าสมัยกรุงศรีอยุธยามาก  ซึ่งเราจะคิดกู้ชาติบ้านเมืองแบบแต่ก่อนคงไม่ได้แล้วหากจำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างกองทัพไทยใหม่ให้มีการกอดคอกันต่อสู้จากทุกแง่มุมของชีวิตอย่างเป็นกระบวนการ  และไม่ควรจะเล็งผลแต่เพียงเฉพาะหน้าเท่านั้น  หากจำเป็นต้องมีการวางแผนในระยะยาวอีกด้วย

       อนึ่ง  การเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นในขณะนี้  ในอีกไม่ช้าไม่นานถ้าเราขาดจิตใต้สำนึกในการนึกถึงความเข้มแข็งของแผ่นดินอันเป็นปัจจัยพื้นฐานการอยู่รอดของคนไทยทั้งชาติอย่างสำคัญ  แม้แต่การให้ความสำคัญสูงสุดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งในอดีตมาจนถึงปัจจุบันเรามีวัฒนธรรมและประเพณีที่สถาบันนี้ปกครองแผ่นดินให้อยู่ได้อย่างมั่นคงและให้ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  โดยมีวิญญาณประชาธิปไตยอยู่ในผู้นำของเราเอง  แต่เราก็ทำลายสิ่งนี้ด้วยมือคนไทยกันเองในปี พ.ศ. 2475 โดยอ้างว่าต้องการประชาธิปไตยแต่เราก็ยังยึดติดอยู่กับอำนาจจากด้านบนลงสู่ด้านล่างดังตัวอย่างสำคัญเช่น อะไรๆก็ต้องมองไปที่รัฐบาล แทนที่จะมองเห็นว่าตัวเราเองซึ่งอยู่ด้านล่างควรจะใช้อำนาจอธิปไตยในการทำหน้าที่กู้ชาติบ้านเมืองเพื่อให้การเกษตรของเราได้มีความมั่นคงเข้มแข็งและใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการปกครองแผ่นดิน

       แม้แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในระดับพื้นฐานซึ่งควรจะเป็นแม่แบบอย่างสำคัญมาแต่อดีต  คนในสถาบันนี้ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่อย่างประมาทรวมทั้งยึดติดอยู่กับพรรคพวกแทนที่จะนึกถึงหน้าที่สำคัญซึ่งไม่เพียงแต่ปลูกต้นไม้เลี้ยงสัตว์เท่านั้นหากควรมีการเสริมสร้างรากฐานของตัวเองให้เข้มแข็งโดยใช้สถาบันชาวบ้านเป็นพื้นฐานจิตวิญญาณของตน  และกำหนดเป้าหมายเพื่อนำไปสู่มหาวิทยาลัยของชุมชนให้เด่นชัดยิ่งขึ้น  แต่แม้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ยังสะท้อนภาพให้เห็นว่ายังนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น

       ซึ่งการนำมหาวิทยาลัยเกษตรของชาติมาวิจารณ์ในครั้งนี้  ก็หาใช่เพื่อตำหนิติเตียนไม่หากสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการศึกษาเกษตรของไทยได้รับผลจากการทำลายโดยใช้อิทธิพลวัตถุข้ามชาติเป็นเครี่องมือโดยที่ชีวิตไทยขาดรากฐานที่เข้มแข็งพอเพื่อต่อสู้กับใจตนเองให้ได้ 

       อนึ่ง  เท่าที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด  หาใช่เราจะมาแบ่งแยกการอนุรักษ์กับการพัฒนาออกจากกันเป็นคนละพวกดังเช่นมองเห็นว่าการลุกขึ้นมากอบกู้แผ่นดินในครั้งนี้เกิดจากพวกอนุรักษ์นิยมเป็นต้นซึ่งในปัจจุบันภายในจิตวิญญาณคนไทยส่วนใหญ่ยิ่งขึ้นไปเสพติดอำนาจอยู่ในระดับสูงด้วยแล้วมักมีการถือพรรคถือพวกอย่างเห็นได้ชัด  ซึ่งความคิดแบบนี้ย่อมมีผลทำลายความสามัคคีอีกเช่นกัน  หากควรเข้าใจว่า การอนุรักษ์กับการพัฒนาคือวิถีการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีการหมุนวนเป็นวัฏจักรโดยเอื้ออำนวยระหว่างกันและกันภายในจิตวิญญาณตนเองตามหลักธรรมะ

       สิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดเราจะเห็นได้ว่าคนไทยทั้งชาติกำลังจะสิ้นชาติในที่สุด  ดังเช่นสัจธรรมบทหนึ่งซึ่งชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า  “สิ้นแผ่นดินเมื่อไหร่ก็หมายถึงการสิ้นชาติเมื่อนั้น”

       สิ่งที่ฉันเขียนมาแล้วทั้งหมดหาใช่ต้องการตำหนิติเตียนใครต่อใครซึ่งทำให้เกิดการแตกแยกภายในสังคมไทยก็หาไม่  แต่เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เราผู้มีจิตวิญญาณความรักชาติรักการเกษตรไทยรวมทั้งรักความภูมิใจในตนเองอันถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์อย่างสำคัญ จึงควรจะลุกขึ้นมาทำหน้าที่ความเป็นคนไทยเพื่อความภูมิใจในการเป็นชาติบ้านเมืองเพื่อการเคารพยกย่องจากคนชาติอื่นอย่างสมศักดิ์ศรี