จากกรณีที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ซึ่งมีศาสตราจารย์ระพี สาคริก เป็นประธาน พร้อมด้วยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) และองค์กรภาคประชาชนมากกว่า 100 องค์กร ได้เคลื่อนไหวคัดค้านการเปิดเสรีการลงทุน หรือ ACIA (ASEAN Comprehensive Investment Agreement)ในกิจการเพาะและขยายพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการปลูกป่า โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมาว่ารู้สึกห่วงใยข้อตกลงการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรดังกล่าว และได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทบทวน
ศ.ระพี สาคริก ได้แถลงว่า ขอขอบคุณที่รัฐบาลได้แสดงท่าทีห่วงใยต่อข้อท้วงติงของเกษตรกรและภาคประชาชน แต่ตนเองยังอดเป็นห่วงไม่ได้ เนื่องจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการเจรจา เช่น บีโอไอ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังคงเดินหน้าผลักดันการเปิดเสรีการลงทุน มีการโหมโฆษณาผ่านสื่อต่างๆว่าการเปิดเสรีจะไม่มีผลกระทบ เพราะมีกฎหมายภายในคอยกำกับอยู่ ซึ่งไม่เป็นความจริง “รัฐบาลต้องพิสูจน์ตัวเองว่า ไม่ได้สัมภาษณ์เพียงเพื่อลดกระแสต่อต้าน รัฐบาลมีความชอบธรรมและมีอำนาจในการสั่งการให้หน่วยราชการดำเนินการตามนโยบายได้อย่างเต็มที่เพราะเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่หากรัฐบาลพูดอย่างแต่หน่วยงานของรัฐทำตรงกันข้ามดังที่เป็นอยุ่ ประชาชนอาจเข้าใจว่ารัฐบาลนี้ไม่จริงใจ ก็ได้” ศ.ระพี กล่าว
นายวีรวัธน์ ธีระประสาธน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การอ้างว่าเรามีกฎหมายภายในที่ป้องกันต่างชาติอยู่แล้วนั้นไม่เป็นความจริง เพราะ พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 และระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภา ยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2530 (อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 ของพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507)นั้น เปิดช่องให้เอกชนทั้งไทยและบริษัทนอมินีของต่างชาติเข้ามาทำป่าไม้ได้โดยง่ายอยู่แล้ว การเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนภายใต้ข้อตกลง ACIA จะยิ่งทำให้ต่างชาติแห่เข้ามาลงทุนปลูกป่าและใช้ประโยชน์จากที่ดินในเขตป่าอย่างขนานใหญ่ “แทนที่จะแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรและเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในเขตป่า หน่วยงานของรัฐกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม คือการยกสิทธิในการใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรให้กับบริษัทต่างชาติ” นายวีรวัธน์ กล่าว
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ตัวแทนจากกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ แถลงว่า เครือข่ายขององค์กรภาคประชาชนซึ่งขณะนี้ได้ลงนามคัดค้านการเปิดเสรีแล้วกว่า 100 องค์กร/เครือข่าย จะยังคงเคลื่อนไหวต่อไป เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหลักประกันว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการเพื่อคงข้อสงวนการเปิดเสรีการลงทุนใน 3 สาขา และสาขาบริการที่เกี่ยวข้องได้ เนื่องจากต้องผ่านการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 นี้ก่อน และหลังจากนั้น คณะเจรจาและรัฐบาลจะมีเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือนที่จะผลักดันให้การเจรจาความตกลง ACIA บรรลุผล ในกรณีที่ข้อตกลง ACIA ไม่สามารถตกลงได้ สิ่งที่ภาคประชาชนเป็นห่วงคือ ในกรณีดังกล่าวอาจทำให้ข้อตกลงเดิมคือ AIA (ASEAN Investment Agreement) ซึ่งลงนามตั้งแต่ปี 2541 มีผลบังคับใช้แทน และทำให้มีการเปิดเสรีการลงทุนใน 3 สาขาไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก “เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนขอส่งสัญญาณเตือนต่อรัฐบาลว่า ต้องเตรียมที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เช่น การระดมนักกฎหมายระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญข้อบทด้านการลงทุนมาเป็นที่ปรึกษา อย่าได้ไว้ใจคณะเจรจาที่ผ่านมา เพราะผลงานที่ผ่านมาพิสูจน์ว่า ไม่มีประสบการณ์และมีความสามารถพอในการเจรจาในเรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้ได้ นี่เป็นการพิสูจน์ฝีมือและความจริงใจของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนกล่าว
อนึ่งเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน และสถาบันทางวิชาการหลายแห่งเตรียมที่จะแถลงจุดยืนและข้อเสนอต่อรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 นี้
องค์กรที่ร่วมลงนามคัคค้าน
การเปิดเสรีการทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช
การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ การทำป่าไม้จากป่าปลูก
ภายใต้ความตกลงเสรีการลงทุนอาเซียน (ACIA)
จำนวน 102 องค์กรและเครือข่าย
(ณ 2 พ.ย 2552)
จังหวัด | รายนามองค์กรและเครือข่าย |
---|---|
กรุงเทพฯ | มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย), มูลนิธิชีวิตไท (ราฟ่า), เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์), มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง, มูลนิธิบูรณะนิเวศน์, มูลนิธิสุขภาพไทย, โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย, มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ, สมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย, เครือข่ายสุขภาพวิถีไท, สมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย |
สุพรรณบุรี | มูลนิธิข้าวขวัญ |
นครปฐม | ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, ชมรมลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, มูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, สภาลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, ศูนย์การเรียนรู้พี่น้องสองตำบลจังหวัดนครปฐม |
สมุทรสงคราม | เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม |
สมุทรสาคร | เครือข่ายศูนย์การเรียนรู้เกษตรธรรมชาติเพื่อนหลักห้า เพื่อการพึ่งพาตนเอง จังหวัดสมุทรสาคร |
ราชบุรี | เครือข่ายอนุรักษ์ป่าเทือกเขาตะนาวศรีจังหวัดราชบุรี, เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำแม่กลองจังหวัดราชบุรี, ประชาคมจังหวัดราชบุรี, ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเกษตรชนบทพึ่งตนเอง ตำบลดอนแร่ จังหวัดราชบุรี |
จันทบุรี | เครือข่ายเกษตรอินทรีย์จันทบุรี, เครือข่ายเกษตรอินทรีย์บูรพา |
ฉะเชิงเทรา | เครือข่ายป่าตะวันออก |
เพชรบุรี | กลุ่มฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี, กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง ตำบลบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี, ศูนย์ประสานงานเพื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดเพชรบุรี, กลุ่มพัฒนาชีวิตและวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี |
กาญจนบุรี | กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ จังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายป่าต้นน้ำภาคตะวันตก, เครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกและเทือกเขาตะนาวศรีจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มเกษตรห้วยตะเคียนพัฒนา ตำบลหนองโสน จังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มเครือข่ายเกษตรบ้านวังหิน อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มส่งเสริมจริยธรรมจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านพุเตย อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มปลูกผักปลอดสาร ตำบลท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายป่าต้นน้ำจังหวัดกาญจนบุรี, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขามจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มอนุรักษ์ชุมชนเมืองจังหวัดกาญจนบุรี, ชมรมนักพัฒนาภาคตะวันตก, เครือข่ายจากภูผาสู่มหานที, เครือข่ายธนาคารต้นไม้ |
น่าน | สมาพันธ์เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวโพดจังหวัดน่าน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดน่าน, เครือข่ายหมอเมืองล้านนา จ.น่าน |
แพร่ | ศูนย์พัฒนาเครือข่ายองค์กรชาวบ้านเพื่อการพึ่งตนเอง, เครือข่ายหมอเมืองจังหวัดแพร่, ชุมชนบ้านแม่พุงหลวง ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ |
ลำปาง | เครือข่ายหมอเมืองล้านนา จ.ลำปาง |
แม่ฮ่องสอน | ครือข่ายหมอเมืองล้านนา, เครือข่ายผญาสุขภาพล้านนา |
เชียงใหม่ | เครือข่ายหมอเมืองล้านนา จ.เชียงใหม่ |
เชียงราย | เครือข่ายรักษ์ม่อนยาป่าแดด, เครือข่ายลุ่มน้ำ จ.เชียงราย |
พะเยา | เครือข่ายหมอเมืองลุ่มกว๊านพะเยา |
อุบลราชธานี | เครือข่ายปกป้องลุ่มน้ำมูลตอนปลาย จ.อุบลราชธานี, สถาบันนิเวศชุมชน จ.อุบลราชธานี, เครือข่ายหมอพื้นบ้าน จ.อุบลราชธานี, เครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน จ.อุบลราชธานี, โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน ศูนย์อีสานมั่นยืน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
สกลนคร | เครือข่ายหมอพื้นบ้าน |
สุรินทร์ | เครือข่ายหมอพื้นบ้าน จ.สุรินทร์, ศูนย์ตะบันไพร จ.สุรินทร์, เครือข่ายสุขภาพวิถีไทอีสาน |
กาฬสินธุ์ | กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด, กลุ่มผ้าฝ้ายยอมครามตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกาฬสินธุ์ – นครพนม อำเภอนาคู |
ยโสธร | โรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติ อำเภอกุดชุม, ศูนย์สุขภาพและพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรชุมชนวัดท่าลาด บ้านท่าลาด ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม , ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม, ศูนย์ประสานงานสุขภาพประชาชนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม |
มหาสารคาม | กลุ่มพัฒนาอาชีพการเกษตรบ้านขี้เหล็ก ตำบลขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย, กลุ่มข้าวไร่บ้านทิพโสด ตำบลดอนกลาง อำเภอโกสุมพิสัย, กลุ่มเกษตรผสมผสานบ้านแมด-ส่องนางใย ตำบลตลาด อำเภอเมือง, กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองคู-ศรีวิไล ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง |
ร้อยเอ็ด | กลุ่มเกษตรผสมผสานลุ่มน้ำเสียว ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย, กลุ่มเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำเสียวน้อย ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ, กลุ่มพัฒนาชีวิต และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอำเภอปทุมรัตน์ ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตน์ |
ตรัง | มูลนิธิอันดามัน, สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้, โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา |
พังงา | เครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา, โครงการความมั่นคงทางด้านอาหารชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา |
สงขลา | เครือข่ายผักพื้นบ้านอาหารท้องถิ่น คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา |
ประจวบคีรีขันธ์ | กลุ่มทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ, กลุ่มอนุรักษ์บ่อนอก, เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก, กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบฯ, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงป่าละอูจังหวัดประจวบฯ |