เรื่อง ขอส่งข้อมูลและข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณายับยั้งการเปิดเสรีในภาคการเกษตร ป่าไม้และประมงภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ACIA)
สิ่งที่ส่งมาด้วย
- เอกสารแนบ รายชื่อองค์กรที่คัดค้านการเปิดเสรีการลงทุนใน 3 สาขาภายใต้ ACIA
- เอกสารสรุปความคิดเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะต่อกรณีคำชี้แจงของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
เรียน ประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(เอฟทีเอว็อทช์) เครือข่ายส่งเสริมการใช้สมุนไพรแห่งชาติ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กร/เครือข่ายภาคประชาชนรวมทั้งสิ้น 104 องค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายจดหมายนี้มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งในมติของที่ประชุม กนศ. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ที่ให้ไทยถอนข้อสงวนที่เคยกำหนดไว้ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (AIA) ใน 3 สาขาที่สำคัญ ได้แก่ (1) การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช (2) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ (3) การทำป่าไม้จากป่าปลูก และมีเป้าหมายให้การเปิดเสรีมีผลใช้บังคับในปี พ.ศ. 2553
และตามที่จะมีการเลื่อนการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับความตกลงการลงทุนอาเซียน (ACIA) จากวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 มาเป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2552 นั้น มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนและเครือข่ายข้างต้นจึงขอนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะประกอบการประชุมและพิจารณาประเด็นดังกล่าวในการประชุม กนศ. ต่อไปนี้
- ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศทบทวนการเปิดเสรีการลงทุนภาคการเกษตร โดยให้มีการเจรจาเพื่อนำรายการการลงทุน 3 สาขาคือ การทำประมง การทำป่าไม้จากป่าปลูก และการเพาะและขยายพันธุ์พืช และสาขาบริการที่เกี่ยวข้องไปไว้ในรายการอ่อนไหว (SL) เนื่องจากการเปิดเสรีดังกล่าวจะเกิดผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย เอื้อประโยชน์ให้บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และต่างชาติเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างแรงกดดันและสร้างความไม่เป็นธรรมในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากยิ่งขึ้น
- องค์กรภาคประชาชนขอคัดค้านและประณามแนวทางการเดินหน้าเปิดเสรีใน 3 สาขาและสาขาบริการที่เกี่ยวข้องของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่อ้างว่าให้หน่วยงานต่างๆจัดทำข้อสงวนเป็นมาตรการ หรือออกเป็นกฎหมายภายในแทน เนื่องจากมาตรการใดๆก็ตามที่สร้างขึ้นใหม่จะขัดกับความตกลง ACIA (ตามมาตรา 9) และมาตรการหรือกฎหมายภายในเดิมที่มีอยู่หากขัดแย้งกับการเปิดเสรีก็จะถูกยกเลิกหรือถูกฟ้องร้องให้ยกเลิกในที่สุดอยู่ดี (เช่น พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ ในกรณีการปลูกป่า เป็นต้น) ทั้งนี้ไม่นับช่องโหว่ของกฎหมายและความย่อหย่อนของกฎหมายที่เรามีอยู่(ซึ่งถูกอ้างว่าจะสามารถป้องกันมิให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้) หากรัฐบาลมีความจริงใจต่อเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง รัฐบาลจะต้องเจรจาให้มีการสงวนสาขาการลงทุนและการบริการที่เกี่ยวข้องให้ได้ประการเดียวเท่านั้น
- การที่หน่วยงานของรัฐอ้างว่าจำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตามความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (AIA) ซึ่งลงนามเมื่อปี 2541 เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจาก
- ประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ยืนยันที่จะไม่เปิดเสรีการลงทุนใน 3 สาขาดังกล่าว รวมทั้งคงมาตรการที่ห้ามการลงทุนจากต่างชาติที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารต่อประชาชนและประเทศของตน ประเทศไทยควรร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศใหญ่และมีบทบาทสำคัญในการร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ไม่ให้ถูกคุกคามโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่
- ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เคยเจรจาเพื่อให้การทำนาข้าวเป็นอาชีพสงวน และกนศ.เองก็มีความเห็นให้ไม่มีการเปิดเสรีในบางสาขา ซึ่งขัดต่อความตกลงแต่ก็สามารถดำเนินการเจรจาจนเป็นผลสำเร็จ การเดินหน้าเปิดเสรีของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยอ้างว่าเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนต่อรัฐบาล สื่อมวลชน และประชาชนไทยทั้งประเทศ
- การลงนามเปิดเสรีการลงทุนเมื่อปี 2541 นั้นกระทำขึ้นโดยปราศจากการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ อีกทั้งสถานการณ์โลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อความมั่นคงด้านอาหาร ปัญหาสิ่งแวดล้อม และวิกฤติพลังงาน (ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการลงทุนใน 3 สาขาดังกล่าว )ได้กลายเป็นวาระสำคัญของโลก รัฐบาลไทยต้องร่วมกับประเทศในอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดแล้วที่จะทบทวนความตกลงนี้
- องค์กรภาคประชาชนได้รับทราบว่า มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มกำลังร่วมมือกับกลุ่มทุนที่จะประสงค์จะลงทุนในภูมิภาคชะลอการเจรจา ACIA ออกไปเรื่อยๆ เพื่อเปิดช่องให้มีการฟ้องร้องรัฐเพื่อให้มีการเปิดเสรี (เนื่องจากเมื่อความตกลง ACIA ไม่สามารถสรุปได้ตามเวลาที่กำหนด ความตกลง AIA ซึ่งกำหนดว่าจะมีการเปิดเสรีใน 3 สาขาในปี 2553 จะมีผลโดยอัตโนมัติแทน) ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องรีบดำเนินการเพื่อยื่นข้อสงวนการลงทุนใน 3 สาขาและสาขาบริการที่เกี่ยวข้องเอาไว้ก่อนต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน และดำเนินการเจรจาเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเอาไว้ก่อน
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปและสังคายนากระบวนการเจรจาของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเสียใหม่ โดยทำให้เกิดกระบวนการเจรจาที่มิให้การเจรจาการค้าแต่ละเรื่องเป็นความรับผิดชอบของข้าราชการเพียง 1-2 คน ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับกรณีเปิดเสรีการลงทุนครั้งนี้
องค์กรที่ลงนามในท้ายจดหมายฉบับนี้จะยังคงติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้มีการสงวนการลงทุนภาคการเกษตรใน 3 สาขาและสาขาบริการที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้เพื่อปกป้องอาชีพ วิถีชีวิต และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติจนถึงที่สุด
จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก
ประธานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
- เอกสารแนบ 1: องค์กรและเครือข่ายทั่วประเทศที่ร่วมลงนามคัดค้านการเปิดเสรีการลงทุนภาคเกษตร ประมงและป่าไม้ภายใต้ ACIA จำนวน 104 องค์กร (ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2552)
- เอกสารแนบ 2 :ความคิดเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอกรณีคำชี้แจง ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
จังหวัด | รายนามองค์กรและเครือข่าย |
กรุงเทพฯ | มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย), มูลนิธิชีวิตไท (ราฟ่า), เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์), มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง, มูลนิธิบูรณะนิเวศน์, มูลนิธิสุขภาพไทย, โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย, มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ, สมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย, เครือข่ายสุขภาพวิถีไท, สมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ, เครือข่ายส่งเสริมการใช้สมุนไพรแห่งชาติ |
สุพรรณบุรี | มูลนิธิข้าวขวัญ |
นครปฐม | ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, ชมรมลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, มูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, สภาลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, ศูนย์การเรียนรู้พี่น้องสองตำบลจังหวัดนครปฐม |
สมุทรสงคราม | เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม |
สมุทรสาคร | เครือข่ายศูนย์การเรียนรู้เกษตรธรรมชาติเพื่อนหลักห้า เพื่อการพึ่งพาตนเอง จังหวัดสมุทรสาคร |
ราชบุรี | เครือข่ายอนุรักษ์ป่าเทือกเขาตะนาวศรีจังหวัดราชบุรี, เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำแม่กลองจังหวัดราชบุรี, ประชาคมจังหวัดราชบุรี, ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเกษตรชนบทพึ่งตนเอง ตำบลดอนแร่ จังหวัดราชบุรี |
จันทบุรี | เครือข่ายเกษตรอินทรีย์จันทบุรี, เครือข่ายเกษตรอินทรีย์บูรพา |
ฉะเชิงเทรา | เครือข่ายป่าตะวันออก |
เพชรบุรี | กลุ่มฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี, กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง ตำบลบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี, ศูนย์ประสานงานเพื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดเพชรบุรี, กลุ่มพัฒนาชีวิตและวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี |
กาญจนบุรี | กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ จังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายป่าต้นน้ำภาคตะวันตก, เครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกและเทือกเขาตะนาวศรีจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มเกษตรห้วยตะเคียนพัฒนา ตำบลหนองโสน จังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มเครือข่ายเกษตรบ้านวังหิน อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มส่งเสริมจริยธรรมจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านพุเตย อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มปลูกผักปลอดสาร ตำบลท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายป่าต้นน้ำจังหวัดกาญจนบุรี, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขามจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มอนุรักษ์ชุมชนเมืองจังหวัดกาญจนบุรี, ชมรมนักพัฒนาภาคตะวันตก, เครือข่ายจากภูผาสู่มหานที, เครือข่ายธนาคารต้นไม้ |
น่าน | สมาพันธ์เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวโพดจังหวัดน่าน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดน่าน, เครือข่ายหมอเมืองล้านนา จ.น่าน |
แพร่ | ศูนย์พัฒนาเครือข่ายองค์กรชาวบ้านเพื่อการพึ่งตนเอง, เครือข่ายหมอเมืองจังหวัดแพร่, ชุมชนบ้านแม่พุงหลวง ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ |
ลำปาง | เครือข่ายหมอเมืองล้านนา จ.ลำปาง |
แม่ฮ่องสอน | ครือข่ายหมอเมืองล้านนา, เครือข่ายผญาสุขภาพล้านนา |
เชียงใหม่ | เครือข่ายหมอเมืองล้านนา จ.เชียงใหม่ |
เชียงราย | เครือข่ายรักษ์ม่อนยาป่าแดด, เครือข่ายลุ่มน้ำ จ.เชียงราย |
พะเยา | เครือข่ายหมอเมืองลุ่มกว๊านพะเยา |
อุบลราชธานี | เครือข่ายปกป้องลุ่มน้ำมูลตอนปลาย จ.อุบลราชธานี, สถาบันนิเวศชุมชน จ.อุบลราชธานี, เครือข่ายหมอพื้นบ้าน จ.อุบลราชธานี, เครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน จ.อุบลราชธานี, โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน ศูนย์อีสานมั่นยืน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
สกลนคร | เครือข่ายหมอพื้นบ้าน |
สุรินทร์ | เครือข่ายหมอพื้นบ้าน จ.สุรินทร์, ศูนย์ตะบันไพร จ.สุรินทร์, เครือข่ายสุขภาพวิถีไทอีสาน |
กาฬสินธุ์ | กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด, กลุ่มผ้าฝ้ายยอมครามตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกาฬสินธุ์ – นครพนม อำเภอนาคู |
ยโสธร | โรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติ อำเภอกุดชุม, ศูนย์สุขภาพและพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรชุมชนวัดท่าลาด บ้านท่าลาด ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม , ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม, ศูนย์ประสานงานสุขภาพประชาชนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม |
มหาสารคาม | กลุ่มพัฒนาอาชีพการเกษตรบ้านขี้เหล็ก ตำบลขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย, กลุ่มข้าวไร่บ้านทิพโสด ตำบลดอนกลาง อำเภอโกสุมพิสัย, กลุ่มเกษตรผสมผสานบ้านแมด-ส่องนางใย ตำบลตลาด อำเภอเมือง, กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองคู-ศรีวิไล ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง |
ร้อยเอ็ด | กลุ่มเกษตรผสมผสานลุ่มน้ำเสียว ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย, กลุ่มเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำเสียวน้อย ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ, กลุ่มพัฒนาชีวิต และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอำเภอปทุมรัตน์ ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตน์ |
ตรัง | มูลนิธิอันดามัน, สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้, โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา |
พังงา | เครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา, โครงการความมั่นคงทางด้านอาหารชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา |
สงขลา | เครือข่ายผักพื้นบ้านอาหารท้องถิ่น คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา |
ประจวบคีรีขันธ์ | กลุ่มทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ, กลุ่มอนุรักษ์บ่อนอก, เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก, กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบฯ, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงป่าละอูจังหวัดประจวบฯ |