1.เกริ่น
ในขณะที่สังคมชนบทกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของการผลิตทางการเกษตรในฐานะที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของชนบทกำลังลดลง และการโยกย้ายของคนรุ่นใหม่เพื่อไปประกอบอาชีพในสาขาการผลิตอื่นๆ แต่ทำไมบรรษัทเกษตรและอาหารกำลังเติบโตและขยายกิจการอย่างรวดเร็ว เจ้าของธุรกิจการเกษตรกลายเป็นคนที่มั่งคั่งที่สุดของประเทศ

นักลงทุนข้ามชาติขยายการลงทุนทางการเกษตรเข้าไปในประเทศต่างๆซึ่งรวมถึงการยึดครองที่ดิน (land grabbing) ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก แต่เกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนหลักที่อาศัยอยู่ในชนบทกลับประสบกับปัญหาหนี้สินและสูญเสียที่ดินทำกินกลายเป็นผู้เช่าที่ดินในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความเป็นจริงข้างต้น ทำให้เราไม่อาจยอมรับความพ่ายแพ้ของชนบทได้โดยไม่แสวงหาความจริง และปล่อยให้คนชนบทและเกษตรกรรายย่อยถูกกอบโกยประโยชน์โดยปราศจากการต่อสู้หรือต่อรองกับบรรดาบรรษัทและกลุ่มผู้ได้ประโยชน์จากชนบท
2.การศึกษาชนบทที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อเร็วๆนี้นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้ให้ความสนใจกับการอธิบายปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงของชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในชนบทกับการเมืองระดับชาติ ความสนใจดังกล่าวดูเหมือนปลุกความสนใจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องชนบทให้คึกคักมากขึ้น นี่อาจเป็นการกระตุ้นให้มีการวิเคราะห์ชนบทและสังคมไทยอย่างสำคัญเป็นครั้งที่สาม หลังจากครั้งแรกซึ่งเกิดขึ้นในสมัยการถกเถียงลักษณะของสังคมไทยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและนักวิชาการสังคมนิยมเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว และครั้งที่สองในช่วงการเติบโตขององค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทยที่มีวิวาทะระหว่างแนวความคิดวัฒนธรรมชุมชนกับกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผู้เขียนงานวิชาการและการถกเถียงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของชนบทไทยดังกล่าวยังขาดการทำความเข้าใจถึงพลังที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกลุ่มทุนที่มีบทบาทสำคัญในภาคการผลิตของชนบท และรวมไปถึงกระแสการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนทั้งในระดับโลก และระดับภูมิภาคที่มีผลกระทบต่อสังคมไทยทั้งหมดรวมทั้งชนบทไทยด้วย ผู้เขียนพบว่าหากแบ่งแนวความคิดเกี่ยวกับชนบทอย่างหยาบๆออกเป็น 2 กลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มที่เห็นว่าวิถีของชุมชนและหมู่บ้านในอดีต เป็นทางออกและคำตอบสำหรับอนาคต และสอง กลุ่มที่เห็นว่าชนบท ชุมชนท้องถิ่น และเกษตรกรรายย่อยเป็นเพียงการดำรงอยู่ชั่วคราวของพัฒนาการสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมและเมือง ทั้งสองแนวคิดล้วนแล้วแต่มีข้อจำกัด กล่าวคือแนวคิดแรก มิได้ให้ความสำคัญกับบทบาทและพลังของทุนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่แนวคิดหลังนอกเหนือจากมิได้ตระหนักถึงศักยภาพและความสำคัญของชนบทอย่างเท่าที่ควรแล้ว ยังมิได้ต่อสู้ต่อรองกับกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของชนบทและภาคเกษตรกรรมอีกด้วย การศึกษาชนบทควรเป็นไปเพื่อให้ชุมชนและเกษตรกรรายย่อยสามารถต่อสู้/ต่อรองกับผู้ที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากฐานทรัพยากร ที่ดิน แหล่งน้ำ ปัจจัยการผลิต และอื่นๆและสร้างทางเลือกการพัฒนาที่มีสมดุลระหว่างชนบท/เกษตรกรรม กับ เมือง/อุตสาหกรรม ตลอดไปจนถึงการต่อรองทางการเมืองเพื่อให้มีนโยบายระดับต่างๆที่สร้างความเป็นธรรมและความอยู่รอดอย่างผาสุกของคนในชนบทในท้ายที่สุด
3.อะไรคือเนื้อหาและความสำคัญของชนบท
ในความเห็นของผู้เขียน ชนบทมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างน้อย 4 ประการคือ
- หนึ่ง ชนบทคือกลุ่มทางสังคมของประชาชนที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับฐานทรัพยากรธรรมชาติ ประชาชนในชนบทคือผู้ถือครองที่ดินส่วนใหญ่ และมีสิทธิตามธรรมชาติ วัฒนธรรม และมีส่วนร่วม(อย่างน้อยที่สุดตามรัฐธรรมนูญ)ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติส่วนรวมของประเทศ
- สอง ชนบทเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรและอาหารของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตของเกษตรกรรายย่อย แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการผลิตบางสาขา เช่น การเลี้ยงไก่ สุกร กุ้ง หรือปลาน้ำจืด ที่เข้าไปอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทเกษตรและอาหาร แต่สินค้าเกษตรและอาหารอื่นส่วนใหญ่ๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ยังอยู่ในมือของเกษตรรายย่อยในชนบท
- สาม ชนบทคือกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่รองรับการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าอาหารและอุปโภคบริโภค เนื่องจากประชาชนในชนบทยังคงเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ
- สี่ ชนบทคือแหล่งทางวัฒนธรรมและความรู้ที่สะสมมาเนิ่นนานในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้พื้นบ้าน (traditional knowledge) ที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรชีวภาพ อาหาร และยา ซึ่งมีความสำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงภูมิปัญญา (wisdom) ของชุมชนพื้นเมือง หรือปัญญาชนท้องถิ่นแบบต่างๆ
การล่มสลายของชนบทคือการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การเสื่อมถอยของการผลิตการเกษตรและอาหาร การลดลงของประชากรในชนบท และการสูญหายของความรู้พื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ
4. บทบาทของบรรษัทกับการเปลี่ยนแปลงชนบทและภาคเกษตรกรรมไทย
จากการศึกษา การเก็บข้อมูลในพื้นที่ การรวบรวมสถิติต่างๆ รวมถึงการติดตามและวิเคราะห์ และได้เข้าร่วมในกระบวนการทำงานที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร ผู้เขียนพบว่าพลังสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือแนวทางการพัฒนาของรัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างของระบบทุนนิยมและการแสวงหากำไรของบรรษัทการเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ ผลประโยชน์จากการพัฒนาถูกโยกย้ายจากชุมชนชนบท และเกษตรกรผ่านกลไกการจัดการและใช้ประโยชน์จากชนบทในรูปแบบต่างๆ เช่น
4.1 การยึดครองทรัพยากรพันธุกรรมในอดีตและในชนบทส่วนใหญ่ของโลก เมล็ดพันธุ์และพันธุ์สัตว์ถูกอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากชุมชน โดยการผ่านกฎสองประการคือ หนึ่ง พันธุกรรมทั้งหลายนั้นสามารถเก็บไปปลูกต่อได้ในฤดูการผลิตหน้า และสอง พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์นั้นถูกแจกจ่ายและเปลี่ยนระหว่างครอบครัวและชุมชนต่างๆ โดยกระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นในสังคมเกษตรกรรม แต่ในช่วงสงครามเย็นการพัฒนาพันธุ์พืชถูกชี้นำและครอบงำโดยสถาบันวิจัยการเกษตรระหว่างประเทศภายใต้การสนับสนุนของธนาคารโลก เกษตรกรและชุมชนต่างๆค่อยๆลดบทบาทการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์โดยตนเองมาเป็นการพึ่งพาสถาบันวิจัยสาธารณะ และเมื่อสถาบันเหล่านี้โรยราลงเพราะทิศทางใหญ่ของโลกคือการส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนให้มาทำหน้าที่แทน บรรษัทขนาดใหญ่ได้เข้ามาครอบครองพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ของโลก ปัจจุบัน บรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลก 6 บริษัทครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ของโลกถึง 74%

การเปลี่ยนแปลงเมล็ดพันธุ์เป็นไปเพราะแรงจูงใจว่า เมล็ดพันธุ์สมัยใหม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ตั้งแต่ 15-30% แต่ต้องแลกกับเมล็ดพันธุ์ราคาแพง และการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆเพิ่มขึ้น และเมื่ออยู่ในระบบตลาดที่บรรษัทครอบงำตลาด หรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่สามารถเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ (เช่น hybrid seed) หรือใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆเพื่อให้ได้สิทธิผูกขาด(exclusive right) ต้นทุนของการผลิตพืชจะมีสัดส่วนของต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์สูงถึงประมาณ 35% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนจากพันธุ์ข้าวทั่วไปมาเป็นพันธุ์ข้าวลูกผสม ชาวนาจะต้องจ่ายค่าพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิม 200 บาท/ไร่ มาเป็น 1,500-1,700 บาท/ไร่ และสัดส่วนการจ่ายผลประโยชน์จากการใช้พันธุกรรมจะสูงขึ้น 35% ของรายได้ ในกรณีที่เปลี่ยนไปใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการค้า ดังกรณีของมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมต้านทานโรคใบด่างจุดวงแหวน ตามรายละเอียดในภาพ

ขณะนี้ตลาดเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะพืชไร่เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ทานตะวัน รวมถึงพันธุ์ผักทั้งหลายล้วนแล้วแต่อยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติและบรรษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรและอาหารของไทยแล้วแทบทั้งหมด
สัดส่วนการครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์พืชในประเทศไทย[1] |
![]() |
ที่มา : BIOTHAI Briefing |
อาจกล่าวได้ว่าการพรากพันธุ์พืชไปจากชุมชนท้องถิ่นและเกษตรกรายย่อยคือจุดเริ่มต้นของการผูกขาดของบรรษัทขนาดใหญ่และความล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ
4.2 การผูกขาดปัจจัยการผลิตและการครอบงำระบบการผลิต
การยึดครองพันธุกรรมซึ่งแต่เดิมอยู่ในมือของชุมชนและเกษตรกรรายย่อยมาเป็นพันธุ์พืชของบริษัท ทำให้นอกเหนือจากบริษัทขูดรีดผลประโยชน์ผ่านพันธุ์พืชแล้ว การใช้พันธุ์พืชของบริษัทยังนำไปสู่การถูกบังคับทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้ต้องใช้ปัจจัยการผลิตอื่นด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือพันธุ์พืชดัดแปลงที่ใช้อยู่โลกขณะนี้มากกว่า 85% เป็นพืชต้านทานสารเคมีปราบวัชพืช ทำให้เกษตรกรต้องใช้พันธุ์พืชและสารเคมีของบริษัทนั้น แต่แนวโน้มดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วในกรณีของการส่งเสริมการปลูกข้าวโพด รวมถึงข้าวลูกผสม เนื่องจากบริษัทต่างๆมักจะผูกมัดให้เกษตรกรต้องใช้พันธุ์พืช ปุ๋ยและสารเคมีในเครือบริษัทของตน ในระดับโลกนั้นเห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ของโลกล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่ครอบครองตลาดสารเคมีการเกษตรรายใหญ่ของโลกด้วยเช่นเดียวกัน โดยบรรษัทข้ามชาติ 10 บริษัทครอบครองตลาดสารเคมีการเกษตรของโลกถึง 89%

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทรองลงมาอีก 2-3 บริษัทสามารถผูกขาดการเลี้ยงไก่ไว้ได้เพราะพันธุ์ไก่สมัยใหม่ถูกผูกขาดอยู่ในมือของบริษัท ทั้งๆที่ในอดีตประเทศไทยคือแหล่งที่มีความหลากหลายของพันธุ์ไก่และสัตว์ปีกมากมายทั้งที่พบในธรรมชาติและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ การเลี้ยงสัตว์ในระบบนี้เกษตรกรต้องยอมรับเทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตอื่นๆของบริษัทแทบทั้งหมด รายได้ที่เกษตรกรจะได้รับมีส่วนแบ่งน้อยมาก เพราะประมาณ 90% ของต้นทุนการผลิตเป็นผลประโยชน์ของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าพันธุ์ไก่และค่าอาหารสัตว์

ระบบการเกษตรแบบพันธะสัญญาได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการผลิตที่บริษัทเป็นผู้ครอบครองพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ อาหาร สารเคมี และเทคโนโลยีการผลิต เกษตรกรเป็นผู้ใช้แรงงานกู้เงินจากสถาบันการเงินและถูกผลักให้เป็นผู้รับภาระจากความเสี่ยงในกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้น เมื่อรวมการแสวงหาประโยชน์จากพันธุ์พืชซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 35% ของต้นทุนการผลิต กับการครอบครองปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันแล้ว สัดส่วนต้นทุนการผลิตที่อยู่ในมือบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 70% และจะสูงขึ้นมากกว่า 85-90% ในกรณีการเลี้ยงปลาและไก่แบบอุตสาหกรรม สิ่งที่น่าสนใจคือระบบการผลิตขนาดใหญ่ที่เกษตรกรได้รับส่วนแบ่งเพียงน้อยนิดจากระบบการผลิตนั้น สามารถทดแทนการผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยอื่นๆได้เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า 72% ของไก่เนื้อที่เลี้ยงในปัจจุบัน (ประมาณ 101.25 ล้านตัว/ปี)มาจากฟาร์มขนาดใหญ่ของเกษตรกรจำนวน 7,145 รายเท่านั้นเอง ในขณะที่การเลี้ยงไก่แบบพื้นบ้านเหลือเพียง 10% เท่านั้น[1]แนวโน้มเช่นนี้กำลังดำเนินไปในสาขาการผลิตอื่น เช่น การเลี้ยงกุ้ง การเลี้ยงปลา และแม้กระทั่งการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุการล่มสลายของชนบทและการที่เกษตรกรรายย่อยต้องโยกย้ายเปลี่ยนอาชีพ

4.3 แนวโน้มการครอบครองและผูกขาดกลไกการกระจายอาหารการขยายตัวของกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ต ฟู๊ดสโตร์ คอนวีเนี่ยนสโตร์ ที่เข้ามาแทนที่ตลาดสด ตลาดนัด แผงเนื้อสัตว์ และร้านขายของชำขนาดเล็กอย่างรวดเร็ว โดยขาดการควบคุมทำให้ผลผลิตจากระบบเกษตรและอาหารของเกษตรรายย่อยถูกจำกัดลงเป็นลำดับ การค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ที่อยู่ในมือบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆกำลังขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้นทุกที โดยบริษัทค้าส่งค้าปลีกของโลก 15 บริษัท ครอบครองส่วนแบ่ง 30.6% ของซุปเปอร์มาร์เก็ต 73.5 ของไฮเปอร์มาร์เก็ต 68.8% ของดิสเคาท์สโตร์ และ 57.5 %ของร้านสะดวกซื้อ(คอนวีเนี่ยนสโตร์)[1]

ในประเทศไทยนั้นยอดขายของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และโมเดิร์นเทรดดังกล่าวครอบครองตลาดมากกว่าครึ่งหนึ่งของการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ควรตระหนักมากขึ้นก็คือสัดส่วนของสินค้าในห้างขนาดใหญ่ดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทอาหารสูงตั้งแต่ 44-84 % ตามตาราง

ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่นประกาศว่า เครือข่ายร้านค้าของพวกเขานั้นมิใช่แค่เพียงเป็นคอนวีเนี่ยนสโตร์ แต่เป็น “คอนวีเนี่ยนฟู้ดสโตร์”[1] เพื่อแย่งชิงรายได้จากค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคการดำรงชีพของประชาชนในชนบททั้งในฟากการผลิตและการบริโภคจึงต้องพึ่งพาบรรษัทเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารของครบครัวไทยคิดเป็นสัดส่วน 32% ของค่าใช้จ่ายของครอบครัวทั้งหมด ในขณะที่ในชนบทและครอบครัวที่มีรายได้น้อยนั้น ค่าใช้จ่ายด้านอาหารอาจสูงถึงมากกว่า 50%

4.4 วัฒนธรรมการบริโภคอาหารสมัยใหม่การเปิดกว้างทางวัฒนธรรมผ่านนโยบายทางการค้าและการเปิดรับสื่อทำให้วัฒนธรรมการบริโภคอาหารแบบอุตสาหกรรม และการบริโภคอาหารจากวัฒนธรรมต่างชาติมีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ จากการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดในปี 2550 สูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท หรือมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 67 ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนทั้งหมด แบ่งเป็น ฟาสต์ฟู้ดประเภทไก่ 50% แฮมเบอร์เกอร์ 21.4% และประเภทพิซซ่า 28.6% [1] อาหารญี่ปุ่นก็เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย โดยตัวเลขเมื่อปี 2550 นั้น มีมูลค่า 6,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10-15 ในปี 2550 จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยนั้นมากเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้และไต้หวันเท่านั้น ความนิยมในอาหารญี่ปุ่นที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของประเทศที่นำเข้าอาหารญี่ปุ่นสูงสุดของโลก โดยไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 100 ประเภท รวม 4,000 รายการ และคาดว่าหลังข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ตัวเลขนำเข้าอาหารญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น[2] ผู้เชี่ยวชาญอาหารญี่ปุ่นยังคาดการณ์ด้วยว่าตลาดอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยจะโตขึ้นเป็นหนึ่งในสามอันดับแรกของโลกในไม่ช้า [3] ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีทางการค้าในปัจจุบัน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่เป็นไปโดยง่าย เช่นเดียวกับที่อาหารไทยเป็นที่นิยมในหลายประเทศ แต่บทความนี้มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อปลุกกระตุ้นกระแส “นิยมไทย” แต่ชี้ชวนให้วิเคราะห์ว่ากลุ่มผลประโยชน์และคนกลุ่มใดที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและวิถีการบริโภคนี้ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภคจากถ้วยน้ำพริกเล็กๆถ้วยหนึ่งเป็นแฮมเบอร์เกอร์ จะมีผลกระทบอย่างไรต่อชาวนา ความหลากหลายทางชีวภาพ และสุขภาวะของคนในสังคม เป็นต้น
5. อิทธิพลทางการเมืองและนโยบายที่เอื้ออำนวยผลประโยชน์ต่อบรรษัทเกษตรและอาหารที่สร้างความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรรายย่อยและชุมชน
บริษัทเกษตรและอาหารสร้างสายพันธ์กับพรรคการเมือง สถาบันการศึกษา ระบบราชการ และรวมถึงสถาบันดั้งเดิมอื่นๆ ผ่านการบริจาคเงินสนับสนุน การเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง การเป็นคณะกรรมการบริหารหน่วยงาน กรรมการร่างหลักสูตร กรรมการสภามหาวิทยาลัย โครงการร่วมพัฒนา ฯลฯ [4] อิทธิพลทางการเมืองดังกล่าวทำให้บรรษัทเกษตรและอาหารได้ประโยชน์จากนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆเช่น ได้ประโยชน์จากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีที่เอื้ออำนวยให้บรรษัทสามารถส่งออกอาหารได้โดยง่าย ได้วัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยกลับได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตตกต่ำ การขายพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิตผ่านช่องทางของธนาคารและหน่วยงานส่งเสริมของรัฐ ได้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการสนับสนุนต่างๆจากสถาบันวิจัยของรัฐ ในขณะที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์แข่งกับบริษัทกลับถูกจับกุมและถูกกดดันให้เลิกกิจการ[5] บริษัทเหล่านี้ยังมีอิทธิต่อสื่อมวลชน ทั้งในฐานะที่เป็นเจ้าของรายการโทรทัศน์ทางดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี การสนับสนุนรายการทีวีที่มียอดนิยมสูง การจัดกิจกรรมร่วมกับสื่อและหนังสือพิมพ์รายวัน รวมไปถึงการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารและการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทเหล่านี้คงสถานภาพการเป็นผู้ผูกขาดทางเศรษฐกิจในระบบเกษตรและอาหารอยู่ได้โดยไม่ได้รับการตรวจสอบหรือควบคุมอย่างที่ควรจะเป็นทั้งโดยสื่อ สถาบันทางวิชาการ และแม้แต่กลุ่มพลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยและชนบทกำลังล่มสลาย และผู้บริโภคถูกลากจูงให้ต้องพึ่งพาสินค้าของบรรษัทโดยเหลือทางเลือกในการบริโภคน้อยลงๆเป็นลำดับ
6. ประเด็นท้าทายใหม่ๆและบทบาทการศึกษาเกี่ยวกับชนบทไทย
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีประเด็นท้าทายใหม่ๆเกี่ยวกับชนบทและเกษตรกรรม หลายประการดังนี้ 6.1 บทบาทของชนบทและบรรษัทในยุควิกฤตอาหารครั้งใหม่แนวโน้มราคาอาหารที่สูงขึ้นจนอาจกล่าวได้ว่าหมดยุคแห่งอาหารราคาถูกอีกต่อไปอันเป็นผลมาจากปัญหาข้อจำกัดของพลังงานที่เศรษฐกิจโลกและระบบการผลิตอาหารต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ทำให้เกษตรกรรมกลายเป็นสาขาที่ดึงดูดการลงทุน ทั้งจากบรรดา “กองทุนความมั่นคั่ง” บรรษัทด้านเกษตร/อาหาร/พลังงาน รวมถึงการเข้ามาลงทุนโดยกลุ่มทุนท้องถิ่นอื่นๆ สถานการณ์นี้จะทำให้เกิดการแย่งชิงที่ดินและทรัพยากรในชนบทเพิ่มขึ้น ดังมีแนวโน้มว่าสถิติการลดลงของประชากรในชนบทและภาคเกษตรเริ่มช้าลง และมีผู้หวนกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น ประเด็นหลักของความท้าทายนี้อยู่ที่ว่า
- ชนบทและเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นผู้สูญเสียจากผลพวงของการพัฒนาที่ผ่านมาจะเป็นผู้ได้ประโยชน์เมื่อโอกาสทางเศรษฐกิจมาถึง ?
- เกษตรกรรายย่อยที่ไร้ที่ดินทำกิน หรือที่ต้องเช่าที่ดินทำกินจะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งกับกลุ่มทุนทั้งใหม่และเก่าอย่างไร เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนการปฏิรูปที่ดินให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้หรือไม่ อย่างไร ?
- บทบาทความสัมพันธ์ของเกษตรกรรายย่อย/ชนบท กับ แรงงานนอกระบบ/ กรรมกร/ เมือง/ภาคการผลิตอื่นๆจะเป็นอย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤตอาหารขึ้น
- ทางเลือกและความอยู่รอดของชนบทและเกษตรกรรายย่อยควรจะเป็นอย่างไร ทั้งที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรพันธุกรรม การผลิต และการจัดการอาหารของครอบครัวและชุมชน
- การพึ่งพาตนเองทางอาหารของชุมชนเมืองหรือปริมณฑลจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้มากน้อยเพียงไร
- แนวความคิดและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีอุปสรรคและศักยภาพอย่างไรในปัจจุบันและอนาคต
6.2 การเผชิญหน้ากับวิกฤติสิ่งแวดล้อม วิกฤตพลังงาน ปัญหาสุขภาวะ และภัยพิบัติต่างๆการใช้พลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและกิจกรรมอื่นๆของมนุษย์ได้ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปสู่ปัญหาโรคระบาดทั้งในมนุษย์ สัตว์และพืช รวมทั้งปัญหาภัยพิบัติโดยเฉพาะน้ำท่วม ฝนแล้ง รวมไปถึงผลกระทบต่อพืชพันธุ์และการผลิตทางเกษตรกรรม น่าเรียนรู้ว่า
- ชนบทจะเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤตต่างๆมากขึ้นอย่างไรและจะมีการเตรียมการเพื่อรับมือเรื่องนี้อย่างไร
- ความตกลงด้านสิ่งแวดล้อม หรือการนำข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ๆ เช่น ฉลากคาร์บอน คาร์บอนเครดิต จะมีผลกระทบทั้งบวกและลบต่อชนบทและเกษตรกรรายย่อยอย่างไร
- ความรู้และภูมิปัญญาของท้องถิ่นจะนำมาปรับใช้เพื่อรองรับปัญหาใหม่นี้อย่างไร
- ความเป็นไปได้ในการสร้างการพึ่งพาตนเองขึ้นในชนบทโดยพึ่งพาระบบพลังงานที่กระจายจากส่วนกลางดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้น้อยลง
6.3 การตรวจสอบและติดตามบทบาทของบรรษัทการที่บทบาทของบรรษัทด้านเกษตรและอาหารสร้างผลกระทบโดยตรงต่อการจัดการทรัพยากร การเกษตร การกระจายอาหาร ซึ่งส่งผลต่อเกษตรกรรายย่อยในชนบทไปจนถึงผู้บริโภคโดยทั่วไปมากยิ่งขึ้นทุกขณะ ประเด็นที่ควรศึกษาและให้ความสนใจได้แก่
- การติดตามตรวจสอบสายสัมพันธ์ของบรรษัทกับการเมืองและสถาบันทางสังคมต่างๆ
- การสำรวจศึกษาบทบาทและผลกระทบการดำเนินกิจกรรมของบรรษัท และนโยบายที่เอื้ออำนวยของรัฐที่ส่งผลต่อเกษตรกรรายย่อยและชนบทไทย
- ข้อเสนอหรือนโยบายที่ทำให้บรรษัทอยู่ภายใต้การควบคุมของสังคม ทั้งที่เป็นบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับ CSR หรือโครงการสิ่งแวดล้อม และโครงการพัฒนาที่ดำเนินการโดยบรรษัท
- ความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นระหว่าง รัฐ-บรรษัท-ผู้บริโภค/เกษตรกรรายย่อย
ในความเห็นของผู้เขียน งานวิชาการที่เกี่ยวกับบทบาทของบรรษัทที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทไทยยังมีน้อยไป การเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการภาคประชาชนหลายๆครั้งที่ผ่านมายังมิได้ให้ความสำคัญต่อกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังการเมืองไทยอย่างเพียงพอ ข้อเสนอของนักวิชาการที่สนใจชนบทและการเมืองโดยภาพรวมแม้จะให้ความสนใจในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แต่ยังไม่เห็นพลังมากพอที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างที่ควรจะเป็น การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชนบทไทยที่ให้ความสำคัญต่อบทบาทของบรรษัทเกษตรและอาหาร จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทยในอนาคต
[1] จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น ยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้
[1] คำนวณจากสถิติของกรมปศุสัตว์ ปี 2544-2552
[1] ตามการให้ความหมายของ Euromonitor ซุปเปอร์มาร์เก็ตหมายถึง สถานที่จำหน่ายสินค้าที่มีพื้นที่การขายระหว่าง 400 – 2,500ตารางเมตร และ 70% เป็นสินค้าอาหารและสินค้าในชีวิตประจำวันทั่วไป ส่วนไฮเปอร์มาร์เก็ตหมายถึงสถานที่จำหน่ายสินค้าที่มีพื้นที่จำหน่ายมากว่า 2,500 ตารางเมตรขึ้นไป และอย่างน้อย 35 % เป็นสินค้าประเภทอาหาร ส่วนดิสเคาท์สโตร์ หมายถึงสถานที่จำหน่ายสินค้าที่มีพื้นที่เก็บสินค้าประมาณ 300-900 ตารางเมตร และเก็บสินค้าขนาดต่ำกว่า 1,000 ผลิตภัณฑ์ (product lines) ส่วนคอนวีเนี่ยนสโตร์หมายถึงร้านค้าที่ขายสินค้าทั่วไปและเปิดขายตลอดเวลา หรือเป็นเวลายาวนาน[1] คำอภิปรายของนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ในการอภิปรายครบรอบ 60 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 21 มกราคม 2552[1] ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 2550[2] ฐานเศรษฐกิจ 14 มิ.ย. – 16 มิ.ย. 2550 [3] การให้สัมภาษณ์ของ นายอะซะอิ ยาสุมาซะ ผู้จัดการองค์กรส่งเสริมร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ สาขาประเทศไทย, ไทยโพสต์ 16 กุมภาพันธ์ 2552[4] อ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “ซีพีกับเกษตรกรรมไทย” กลุ่มติดตามบทบาทบรรษัท จัดพิมพ์โดยมูลนิธิชีววิถี[5] เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านน้ำแพร่ และเขื่อนผาก ใน อ.พร้าว ถูกจับกุมเมื่อนำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมไปขายแข่งกับบริษัทเมล็ดพันธุ์
corp-watch-1