การทำตลาดสีเขียว ของเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและเครือข่ายที่ส่งเสริมด้านการทำเกษตรกรรมยั่งยืนต่าง ๆ เป็นทางเลือกในการจัดการผลผลิต การจัดการการตลาดโดยชุมชน สามารถเป็นต้นแบบในการสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืนและสร้างจุดเชื่อมโยงผลผลิตที่ปลอดภัยกับผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่ามีการเกิดการพัฒนาทั้งเนื้อหาและรูปแบบของการจัดการตลาดสีเขียว ที่สอดคล้องกับข้อจำกัดและศักยภาพของพื้นที่ต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบ

เมื่อเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2563 สร้างผลกระทบกับตลาดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดสด ตลาดนัด รวมทั้งตลาดสีเขียวด้วย เพราะตลาดถูกมองว่าเป็นแหล่งที่มีประชาชนพลุกพล่าน ยากต่อการจัดการไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อ จึงมีการสั่งให้ปิดตลาดอยู่หลายระลอก บางพื้นที่เปิดๆปิดๆ ตามแต่เหตุการณ์ บางพื้นที่ถูกสั่งปิดยาว ขณะที่สถานการณ์ของโรคระบาดก็ไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ภายใต้ความตึงเครียดของการขาดแหล่งรายได้หลัก จึงเป็นเงื่อนไขให้ตลาดสีเขียวแต่ละที่เกิดการปรับตัวครั้งสำคัญ

ในกิจกรรม “ฝ่าวิกฤติก้าวสู่อนาคตความมั่นคงทางอาหาร” ที่จัดโดย มูลนิธิชีววิถี ได้มีวงแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากตลาดเขียว 4 แห่ง ว่าในช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดนั้น ตลาดเขียวแต่ละแห่งมีการตั้งรับปรับตัวกันอย่างไร ในหัวข้อว่าด้วย “การปรับตัวตลาดสีเขียวยุคหลังโควิด”

ประไพ ทองเชิญ หรือคุณหยอย ผู้ขับเคลื่อนงานอาหารท้องถิ่น ตลาด การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของพัทลุง ผ่านเครือข่ายกินดีมีสุข พัทลุง เล่าถึงประเด็นสำคัญที่ทำให้งานตลาดสีเขียวที่พัทลุงมีความยั่งยืน ไว้ว่า “หลายๆ ตลาดที่เครือข่ายกินดีมีสุขได้ร่วมขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นหลาดใต้โหนด ป่าไผ่สร้างสุข หลาดหัวลานหัวเลี้ยวทะเลน้อย เป็นตลาดสีเขียวเพื่อการท่องเที่ยว จึงมีความกังวลอยู่เสมอว่าถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวตลาดจะขายให้ใคร แต่ในฐานะคนส่งเสริมมองว่าการสร้างความยั่งยืนของตลาดสีเขียวนั้นคือการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ผลิต จึงพยายามส่งเสริมให้ผู้ผลิตค้นหาจุดแข็งของตนเอง พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ พัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ ซึ่งเป็นจุดเด่นของหลายๆ ตลาดในพัทลุงอยู่แล้ว จนกระทั่งเกิดโรคระบาดขึ้นจริง ๆ ตลาดต้องปิดไป 4-5 เดือน ไม่มีนักท่องเที่ยว แต่ผู้ผลิตเองยังต้องการรายได้ จึงเกิดการเปิดตลาดที่บ้านตัวเอง บ้างก็ไปรวมกลุ่มกันเล็ก ๆ 2-3 เจ้า อย่างซุ้มขนมจีนมีมารวมกัน 2-3 เจ้า มีร้านผักสดมาขายคู่ขนมจีน สักพักมีร้านขนมมาขายด้วย กลายเป็นว่าเกิดการกระจายตัวของตลาดสีเขียวลงไประดับหมู่บ้าน เพราะแนวคิดเรื่องตลาดสีเขียวเราร้างไว้มันติดตัวผู้ผลิตผู้ค้าไป มีลูกค้าประจำตามไปถึงบ้าน ขอให้จัดอาหารอย่างที่ขายในตลาดให้ อย่างที่ชุมชนนกรำลอดช่องเค้ามีชื่อเสียงมากเพราะใส่ใบเตยกับผักหวานบ้าน มีคนตามมากินแกงแม่ขี้มิ่น ตามมากินมังคุด ลางสาด ที่เฉพาะถิ่นเชิงเขาบรรทัด มันทำให้เกิดตลาดเขียวในชุมชนขึ้นมา ด้วยความที่บรรยากาศการท่องเที่ยวของพัทลุงที่เติบโต ทำให้ตลาดเขียวในชุมชนอยู่ได้ แม้รายได้จะลดลงไปกว่าครึ่งในช่วงวิกฤติ”

“อีกประเด็นที่ทำให้ตลาดเขียวไปต่อได้ คือการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ อย่างพี่กัญหา มีลูกกลับมาช่วยทำการตลาดออนไลน์ ในช่วงโควิด ปรับรูปแบบการขาย มีไลฟ์สดขายด้วย แล้วก็มีคนรุ่นใหม่อีกหลายเจ้า ที่กลับไปทำกิจกรรมที่บ้านตัวเอง กิจกรรมเกี่ยวกับกาแฟ ทำผ้ามัดย้อม ฯลฯ บทบาทของเครือข่ายก็พยายามเชื่อมโยงแต่ละที่เข้าด้วยกันและชี้ให้เห็นความสำคัญของการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง มาช่วยกันคิดแล้วแยกกันไปทำ”

ประไพ ทองเชิญ
เครือข่ายกินดีมีสุข จ.พัทลุง

“ช่วงที่โควิดระบาดหนักๆ บรรยากาศตลาดในชุมชนจะค่อนข้างคึกคัก เพราะผู้ผลิตจาก 2 ตลาดใหญ่ไปเปิดร้านในหมู่บ้าน แล้วเขาก็เอาวิธีคิดแบบตลาดเขียวเข้าไปด้วย การพูดถึงที่มา การใส่ใจเรื่องความปลอดภัย ทำให้ผู้ค้าเดิมปรับตัวตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเองภาคภูมิใจ ถึงรายได้จะลดลง แต่รายจ่ายก็ไม่ได้มาก เพราะต้นทุนคือการมีวัตถุดิบในท้องถิ่นและเครือข่ายที่ใกล้เคียง”

“บรรยากาศการท่องเที่ยวก็เปลี่ยน ไม่สามารถมาเป็นรถบัส แต่จะมาเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ใช้เวลามากขึ้น เข้าถึงชุมชนลึกขึ้น ได้พักผ่อนนานขึ้น แล้วชุมชนเองก็ได้พัฒนาทักษะให้เชี่ยวชาญมากขึ้น ให้เป็นตัวจริงในเรื่องที่ตัวเองขาย เพราะถ้าไม่ดีจริงก็ไม่มีคนตามมากินซ้ำซื้อซ้ำ”

ขยับลงใต้ไปที่ตลาดสีเขียวชุมชนจะโหนง อ.จะนะ จ.สงขลา คุณปราโมทย์ ชีวทรรศน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร อ.จะนะ จ.สงขลา ได้ฉายภาพบรรยากาศของตลาดสีเขียวในจังหวัดชายแดนใต้ “การเกิดของตลาดสีเขียวชุมชนจะโหนง เพื่อเป็นพื้นที่ให้สมาชิกเครือข่ายที่ผลิตสินค้าปลอดภัยได้จำหน่ายสินค้าที่สะท้อนตัวตนเครือข่ายที่ผลิต แม้ตลาดท้องถิ่นจะเปิดนัดกันทุกวันและก็สามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายได้อยู่แล้ว แต่คนซื้อจะไม่สามารถรู้ว่าสินค้ามีความแตกต่างกันว่าอันไหนปลอดภัย อันไหนปลอดสาร เพราะของมารวมกันหมดคนซื้อก็ตาดีได้ตาร้ายเสีย และในช่วงผลผลิตผลไม้ออกมาก ๆ พ่อค้าคนกลางมารับซื้อราคาถูก ไม่สามารถต่อรองราคาได้ ก็ยิ่งคิดว่าจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้สมาชิกได้ขายผลผลิต แต่ความที่ตลาดนัดท้องถิ่นมีเยอะอยู่แล้ว การจะเปิดตลาดขายของที่ตลาดอื่น ๆ ก็มีอยู่ ขายให้คนท้องถิ่น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก”

“ตลาดสีเขียวชุมชนจะโหนง เป็นแผงนัดริมทาง ในช่วงโควิดระบาด ตลาดสด ตลาดนัดขนาดใหญ่ ถูกสั่งปิด สร้างผลกระทบให้พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร อย่างมาก เกิดการมาเปิดแผงขายริมทางเป็นจุด ๆ กระจายไปทั่ว ตลาดสีเขียวชุมชนจะโหนงไม่ได้ปิดตลาด เพราะขนาดเล็ก เป็นกรีนโก้งโค้งมาไวขายไวหมดไว ทำให้ไม่โดนผลกระทบเรื่องปิดตลาด แต่ก็มีผู้ผลิตที่กลัวการติดเชื้อปิดร้านไปบ้าง แต่ตกลงว่าจะเปิดต่อไป มาปิดจริง ๆ ตอนแม้ค้าเริ่มมีการติดโควิดกันบ้าง การที่ตลาดอื่น ๆ ในพื้นที่ปิดไปทำให้ผู้บริโภคที่มาซื้อของในตลาดสีเขียวเพิ่มมากขึ้น สินค้าแทบไม่พอขาย และเป็นโอกาสที่ดี ที่สามารถสื่อสารกับผู้ผลิต โชคดีที่ไม่ได้เป็นตลาดที่เน้นขายนักท่องเที่ยว เลยไม่เดือดร้อนมาก และหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลาย ตลาดอื่น ๆ กลับมาเปิด แต่ลูกค้าที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ลดลง เหมือนว่ากลายเป็นลูกค้าประจำของตลาดเขียวไปแล้ว”

ข้ามไปฝั่งอีสาน คุณจงกล พารา คณะทำงานตลาดสีเขียว จ.ขอนแก่น เล่าประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวตลาดสีเขียวและผู้บริโภคชาวขอนแก่นว่าพากันให้ผ่านพ้นวิกฤติช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด มาได้ “เริ่มก่อตั้งตลาดสีเขียว เมื่อปี พ.ศ. 2557 เพราะคำถามที่ว่าเมืองใหญ่อย่างขอนแก่นทำไมไม่มีตลาดเขียว เครือข่ายที่ทำงานส่งเสริมเรื่องผู้บริโภค เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน จึงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดตั้งตลาดสีเขียวขึ้น ผู้ผลิตมาจากพื้นที่ขอนแก่น มหาสารคาม 12 กลุ่ม กลุ่มเกษตรกรที่ขายสินค้าในตลาดสีเขียวก็จะมีไปขายตลาดอื่น ๆ ด้วยอีก 2-3 ตลาด ที่เปิดให้มีโซนตลาดสีเขียว พอเกิดโควิดระลอกแรกระบาดตลาดสีเขียวยังไม่ถูกปิด แต่ตลาดอื่น ๆ ถูกปิด ผลผลิตที่ผลิตเพื่อขาย 2-3 ตลาด จึงเหลือ ไม่ได้ขาย ตลาดสีเขียวเองผู้บริโภคก็ลดลงไม่กล้ามาเดิน ลดลงกว่าครึ่ง ร้านค้าที่ครอบครัวผู้สูงอายุก็ปิดร้านไปเหมือนกัน”

“คณะทำงานก็ประเมินสถานการณ์กันนัดต่อนัด ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เทศบาลมาทำความสะอาดทุกสัปดาห์ก่อนเปิดตลาด ประสาน อสม.มาบริการตรวจคัดกรองก่อนเข้าตลาด มีมาตรการให้ร้านค้าต้องมีฉากกั้น มีแอลกอฮอร์วางหน้าร้านทุกร้าน เราดำเนินการอย่างเข้มงวดจึงยังไม่มีการพบผู้ติดเชื้อที่ตลาดเขียวขอนแก่น ตลาดเราจึงไม่เคยถูกปิด”

“ผลกระทบก็มีทั้งเชิงบวกเชิงลบ ถ้าเป็นเชิงลบก็คือผู้บริโภคลดลงครึ่งหนึ่ง รายได้ลดลง และมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับมาตรการป้องกันทั้งหน้ากากอนามัย ฉากกั้น เป็นต้น ถ้าเป็นเชิงบวกก็คือเราได้เพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ มีการทำรายการสินค้าในเพจตลาดสีเขียวขอนแก่น ให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสั่งจอง มีการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค แล้วก็มีการทำผักกล่องส่งถึงบ้านสูงสุดที่ขายได้คือสัปดาห์ละ 25 กล่อง มีอาสาสมัครมาช่วยจัดการด้วย ทั้งจัดผัก ส่งผัก พอสถานการณ์คลี่คลายก็ไม่ได้ทำ นอกจากนั้นยังมีการไลฟ์สดขาย มีการเปิดร้านชำและรถโมบาย ร้านชำเองเปิดเพราะลูกค้าไม่อยากมาในเวลาเดียวกันมันแออัด แล้วมีงบประมาณมาสนับสนุนเกี่ยวกับปฏิบัติการจุดเชื่อมโยงผู้ผลิตผู้บริโภค แต่ร้านชำเองก็ต้องสู้สุดตัวเหมือนกันเพื่อที่จะอยู่ได้ เราเพิ่มสินค้าให้หลากหลายเพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนรถโมบายเองก็มาช่วยกระจายสินค้าของสดให้ออกเร็วขึ้นอย่างผักสดเพราะลูกค้าชอบซื้อผักสดที่ตลาดมากกว่า ผักที่ร้านชำก็จะเฉาหน่อย เราจะเอามาทำโรงทานร้านชำโดยมีผู้บริจาคเป็นค่าวัตถุดิบทีมงานใช้แรงเป็นอาสาสมัคร ส่วนทีมงานก็จะมีรายได้จากการจัดเลี้ยง หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย เราเลือกที่จะยิงแอดโฆษณานิดหน่อย ทำให้ผู้บริโภคกลับมาและเพิ่มขึ้นด้วย”

ด้าน คุณพัชรา พงษ์เสน ผู้ประสานงานข่วงเกษตรอินทรีย์ จ.เชียงใหม่ เล่าถึงการต่อรองเพื่อให้สามารถเปิดตลาดขายสินค้าให้ได้หลังถูกปิดแบบไม่มีกำหนด “ช่วงแรกที่โควิดเริ่มระบาดเราทุกคนก็ยังไม่เข้าใจว่ามันจะอันตรายมากน้อยแค่ไหน จะสร้างผลกระทบให้กับเรายังไง ได้แต่รอฟังประกาศจากทางราชการ เขาให้ปิดก็ปิดให้เปิดก็เปิด แต่พอเข้าช่วงที่ผลผลิตเริ่มออกมาก ผู้ผลิตก็เริ่มเป็นกังวลว่าถ้าไม่ได้เปิดตลาดจะจัดการกับผลผลิตที่ออกมายังไง”

“ช่วงแรกที่เปิดปิดเหมือนตลาดอื่นๆ เพราะข่วงเกษตรอินทรีย์ถูกตีความว่าเป็นตลาดนัด ตลาดเร่ ทีมงานของตลาดจึงต้องทำเรื่องชี้แจงว่าตลาดเราไม่ใช่ตลาดเร่ ตลาดนัดนะ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเป็นเกษตรกร ของที่เอามาขายเป็นผลผลิตที่ปลูกเองทำเอง มีความปลอดภัย ไม่ได้ไปรับของมากที่อื่น ไม่ได้ปะปนกับตลาดอื่นๆ กว่าจะได้กลับมาเปิดอีกครั้ง เราต้องทำทะเบียนเกษตรกรให้กับหน่วนงานที่ดูแลพื้นที่ แจ้งทะเบียนรถของเกษตรกรที่จะเข้ามาขายของในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานที่ควบคุมดูแล จนหน่วยงานสาธารณะสุขที่ดูแลพื้นที่ยอมรับให้กลับมาเปิดได้อีกครั้ง”

“หลังจากปิดๆเปิดๆอยู่ 5 รอบ เมื่อกลับมาเปิดได้เราก็มีมาตรการความปลอดภัย จัดโซนพื้นที่ตามระเบียนข้อบังคับทุกอย่าง มีการจำกัดทางเข้าออก จำกัดจำนวนคนเข้าเพื่อลดความแออัด รอบละ 30-40 คน และพื้นที่ตลาดเราเป็นพื้นที่โล่งความเสี่ยงจะน้อยกว่าที่อื่น เมื่อการระบาดรุนแรงขึ้นมีการปิดตลาดในหลายพื้นที่ ทำให้ข่วงเกษตรอินทรีย์มีกระแสตอบรับที่ดี ทั้งลูกค้าประจำ ขาจร และที่น่าแปลกใจคือแม่ค้าที่มารับผักไปขายต่อ ก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้ช่วงโควิดที่ผ่านมา รายได้หมุนเวียนของช่วงฯ เพิ่มขึ้น”

“ท่ามกลางวิกฤติก็ถือว่าเป็นโอกาสด้วยเหมือนกัน และเห็นได้ชัดว่าความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อตลาดสดประจำอำเภอหลายแห่งปิดไป บรรยากาศการขาดแคลนหาซื้ออาหารยากมาก ข่วงเกษตรอินทรีย์ก็ได้มีการตั้งกลุ่มสื่อสารกับของผู้บริโภค เพราะไม่มีใครรู้ว่าตลาดจะถูกปิดเมื่อไหร่ กลุ่มไลน์นี้เราสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิตและผลผลิตต่าง ๆ ถ้าตลาดถูกปิดเมื่อไหร่ลูกค้าจะสามารถสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้กับผู้ผลิตโดยตรง นอกจากนั้นก็มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเพจของข่วงฯ แต่การสั่งซื้อจะต้องทำโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยแต่ละกลุ่มจะมีระบบจัดการรับออร์เดอนัดส่งสินค่ากันเอง การที่ติดต่อกันโดยตรงมันลดการจัดการการสื่อสารหลานทอด ทำให้ได้ข้อมูลที่ตรงความต้องการมากกว่า เช่น มีผลผลิตที่ต้องการหรือไม่เป็นต้น แต่ไม่ใช่ว่าทีมงานละเลย เราก็ยังประสานงานกับผู้บริโภคในรูปแบบอื่น ๆ ให้เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น”

จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนพบว่าบทบาทที่สำคัญของตลาดสีเขียวที่มีต่อชุมชน ในช่วงวิกฤติโควิด-19 นั้น นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพที่ยังเข้าถึงได้แล้ว แต่ละแห่ง ยังได้ทำหน้าที่รองรับกลุ่มเปราะบางทางสังคมจากความขาดแคลนอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ตกงานขาดรายได้ กลุ่มผู้กักตัว ผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ผ่านบทบาทการแบ่งปันผลผลิตซึ่งคือทรัพยากรอาหารในมือเกษตรกรนั่นเอง ข่วงเกษตรอินทรีย์ จ.เชียงใหม่และตลาดสีเขียว จ.ขอนแก่น ต่างทำบทบาทนี้ผ่านการบริจาคผลผลิตแต่ละนัด เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่ช่วยเหลือชุมชนผู้เปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนไร้บ้าน บ้านเด็กกำพร้า เพื่อนำไปประกอบอาหารและสามารถนำผลผลิตที่เกษตรกรแบ่งปันให้จำนวนมากเกินกว่าจะบริโภคหมด จำหน่ายต่อในราคาย่อมเยาเพื่อนำเงินมาซื้อสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ เราจะเห็นการแบ่งปันข้ามพื้นที่ จากเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร จ.สงขลา และเครือข่ายกินดีมีสุข จ.พัทลุง เมื่อฤดูที่ผลไม้ให้ผลผลิตจำนวนมาก ก็ได้ส่งต่อข้ามพื้นที่ไปมอบให้ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเสี่ยง ผู้ติดเชื้อ

นอกจากนี้ ในเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร ในพื้นที่ภาคใต้ เช่น จะนะ สิงหนคร หรือ นครศรีธรรมราช กลุ่มออมทรัพย์ของเครือข่ายฯก็ได้ทำหน้าที่เป็นสวัสดิการให้สมาชิก ในยามที่ต้องเข้าโรงพยาบาล โดยกองทุนดูแลสุขภาพที่เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์จัดสรรค์กำไรเพื่อดูแลคนในชุมชน ด้วยการสมทบค่ารักษาพยาบาลสำรับผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัวจนขาดรายได้


ไม่เป็นการมากเกินไปที่จะพูดว่า เมื่อชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร มีแนวคิดและมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง โควิด-19 ที่เป็นวิกฤติสำหรับผู้คนจำนวนมาก กลับสร้างโอกาสให้ผู้ผลิต ผู้บริโภคและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดสีเขียวได้เรียนรู้และยกระดับการจัดการการตลาดให้ก้าวล้ำไปข้างหน้า อย่างมีคุณภาพ

บันทึกการเสวนา
การปรับตัวของตลาดเขียวในยุคโควิท-19

กิจกรรมแลกเปลี่ยน และแบ่งปันความรู้ประสบการณ์การขับเคลื่อนงานในวันเสาร์อาทิตย์ที่ 26-27 มีนาคม 2565 ณ สวนชีววิถี Growing Diversity Park ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี เวลา 9.00 – 15.00 น.