หากการจัดตั้งรัฐบาลของก้าวไกล+เพื่อไทยและอีก 6 พรรคการเมืองเป็นผลสำเร็จ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นของพรรคก้าวไกลตามการคาดหมาย นโยบายอาหารโรงเรียนภายใต้รัฐบาลใหม่น่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่ง โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 เรื่อง จากมติคณะรัฐมนตรีเดิมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 คือ

  1. จะมีการขยายการให้บริการอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา ขยายเพิ่มจนถึงระดับมัธยมปลาย ทำให้เด็กและนักเรียนทั้งหมดได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจาก 5.9 ล้านคนเป็น 7.3 ล้านคน
  2. งบสนับสนุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนจะเพิ่มขึ้นจากส่วนใหญ่อยู่ที่ 22 บาท/มื้อ/คน เป็น 30 บาท/มื้อ/คน
    (ในรายละเอียมติ ครม.ปี 2565 ที่กำหนดอัตราค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียนต่อคนต่อวัน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-40 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาท/คน/วัน โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41-100 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 27 บาท/คน/วัน โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 24 บาท/คน/วัน และโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 22 บาท/คน/วัน)
  3. ข้อเสนอนโยบายการจัดการอาหารโรงเรียนของพรรคก้าวไกล ยังเสนอให้มีการจัดการอาหารโรงเรียนโดยให้ความสำคัญมาจากวัตถุดิบ/ผลิตผลในท้องถิ่นด้วย

โดยจากการประมาณการของไบโอไทย พบว่างบประมาณในการสนับสนุนอาหารกลางวันจะเพิ่มขึ้นจาก 28.37 พันล้านบาท จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า เป็น 56.3 พันล้านบาท

การปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างก้าวกระโดดในครั้งนี้ จะก่อประโยชน์อย่างสำคัญ อย่างน้อย 3 เรื่องสำคัญคือ

  • ขยายโอกาสเด็กและนักเรียนไทยทุกคนให้สามารถเข้าถึงอาหารได้รับอาหารที่เพียงพอและมีโภชนาการครบถ้วนได้มากขึ้น อย่างน้อยรายงานของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขที่ระบุว่าในปี 2564 มีเด็กอายุ 0-14 ปี อยู่ในสภาวะเตี้ยมากกว่า 1 ล้านคนควรจะลดลง
  • ในวงวิชาการด้านโภชนการตระหนักกันโดยทั่วไปว่า การลงทุนด้านโภชนการนั้นเป็นการลงทุนที่เกินคุ้มค่า เพราะเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เด็กที่ได้รับอาหารเพียงพอจะมีการเติบโตด้านร่างกายและสติปัญญา ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจหลายเท่าตัว ( ศ.ดร.เจมส์ เจ. เอคแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล 2542 เคยระบุว่า การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคต 7-10 เท่า)
  • เงื่อนไขของการจัดการอาหารกลางวัน โดยให้ความสำคัญกับการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอาหารของท้องถิ่น โดยงบประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท/ปี จะกระตุ้นให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้าง และการผลิตในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยหากกำหนดให้อาหารจากท้องถิ่นนั้นมาจากระบบการผลิตที่ยั่งยืน หลากหลาย และปลอดภัย จะทำให้เด็กและนักเรียนได้รับอาหารที่ดี และกระตุ้นการผลิตที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน

หมายเหตุ : พรรคร่วมรัฐบาลคือพรรคเพื่อไทยเสนอการเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันจากเดิม 20% และขยายไปสู่ระดับมัธยมศึกษาเช่นเดียวกัน


ที่มา : ฺBIOTHAI Facebook