บทบาทของเอ็นจีโอ ในเรื่องจีเอ็มโอ มีความเป็นมาอย่างไร

ประเด็นจีเอ็มโอ มีพี่ พี่เดชา(ศิริภัทร)และมีกลุ่มคนหนึ่งที่สนใจเรื่องนี้มานาน พี่ได้แปลหนังสือก่อนที่จะมีกรณีจีเอ็มโอ ประมาณ ปี 2528-2529 คือเรื่องแนวโน้มของเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทคโนโลยี) จากหนังสือ “ไบโอเทคโนโลยี นิว โฮป ออล ฟอลล์ พรอมมิสต์” ซึ่งพูดถึงทิศทางเรื่องการเกษตรของโลกที่เคลื่อนไปโดยเอาเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาใช้ในการผลิต เหมือนกับเป็นยุคที่สองที่สืบต่อจากยุคการปฏิวัติเขียวซึ่งเป็นประเด็นที่เอ็นจีโอส่วนมากสนใจกันอยู่แล้ว หลังจากแปลหนังสือแล้วก็พิมพ์แจกจ่ายแก่คนในแวดวงเกี่ยวข้องประมาณ 500 เล่ม

สภาพการทำงานในขณะนั้น ส่วนใหญ่เอ็นจีโอไทยเริ่มสนใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัญหาเกษตร มากกว่าการทำงานส่งเสริมทางเลือกของชาวบ้านอย่างเดียว ไม่ใช่แค่ส่งเสริมอย่างเดียวแต่ควบคู่กันไปกับการวิเคราะห์ปัญหาด้วย ช่วงที่พี่เริ่มต้นทำงานก็เป็นช่วงใกล้เคียงกัน คือมองเรื่องการเกษตรเชิงโครงสร้างปัญหาด้วยว่าเกิดจากอะไร มีอิทธิพลของวิธีการวิเคราะห์ที่ว่าเกิดจากการผลิตที่ต้องพึ่งเทคโนโลยีจากต่างชาติ มีบรรษัทข้ามชาติได้ประโยชน์จากการเทคโนโลยีการผลิตแบบนี้ โดยเป็นวิธีวิเคราะห์ที่มีอิทธิพลสำคัญในแวดวงเอ็นจีโอ  ซึ่งอิทธิพลความคิดแบบนั้นคิดว่าได้กระจายสู่สังคมไม่น้อย มาจากการมองเรื่องการปฏิวัติเขียวและปัญหาการเกษตร เมื่อเราทำงานแบบนั้นก็จะง่ายขึ้น

วลัยพร อดออมพานิชเดชา ศิริภัทรวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

ทำไมเอ็นจีโอถึงสนใจเรื่องนี้ มีวิธีคิดอย่างไรถึงมาสนใจเรื่องนี้เพราะก่อนหน้านั้นทำเรื่องส่งเสริมเกษตร หนี้สิน มาก่อน

ยุคแรกของการทำงาน  เอ็นจีโอไม่ได้เน้นเรื่องเกษตร แต่เน้นเรื่องธนาคารข้าว กองทุน ปุ๋ย บ่อส้วม ฯลฯ แต่พวกเราเป็นกลุ่มที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว และมิติในการมองเทคโนโลยีของพวกเราก็แตกต่างไปจากหลายคนในขณะนั้น  พวกเรามาจากนักกิจกรรมทางสังคม เราก็สนใจเรี่องความไม่เท่าเทียม มิติทางเศรษฐศาสตร์การเมืองมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น หรือมาตั้งแต่ตอนทำกิจกรรม พอมาเริ่มงานก็มีมิติการมองเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองและเทคโนโลยีด้วย เรื่องที่เรามองไม่ใช่เทคโนโลยีล้วน ๆ แต่เป็นการตั้งคำถามต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ ทำไมเราถึงมองเรื่องการปฏิวัติเขียว จำได้ว่าพี่เป็นคนแรก ๆ ที่วิเคราะห์เรื่องการปฏิวัติเขียว ยุคเดียวกับพี่เดชา

ถ้าจะทำงานเรื่องการเกษตรให้ได้ผล คิดว่าทำแค่ระดับชุมชนไม่ได้ จะต้องมองนโนบายรัฐ บทบาทของบริษัทขนาดใหญ่ด้วย จึงจะทำงานเหล่านี้ได้ เราจึงสนใจในมิติของโครงสร้างในการทำงานเรื่องเกษตร ซึ่งก่อนหน้านั้นคิดว่าเอ็นจีโอไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เช่น เอ็นจีโอรุ่นพี่ ในยุคพี่เรือง พี่สมพงษ์ จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ที่สืบต่อมาจากอาจารย์ป๋วย โครงการพัฒนาแม่กลอง ซึ่งการตั้งคำถามก็จะเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน สอนให้ชาวบ้านเป็นตัวหลักของการพัฒนา แต่ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งคำถามเรื่องเทคโนโลยี

เมื่อมาสนใจเรื่องจีเอ็มโอ งานของเอ็นจีโอต่อเรื่องจีเอ็มโอนั้นกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ชาวบ้าน แต่เปลี่ยนเป็นการทำงานกับคนในสังคมแทนหรือไม่

มันมีพัฒนาการอยู่ มีประเด็นสองประเด็นเชื่อมโยงกัน ประเด็นแรก คือเรื่องการครอบงำเรื่องเทคโนโลยีของการวิจัยและการพัฒนา หรือความช่วยเหลือจากต่างชาติในการผลักดันเทคโนโลยีการ เกษตร  หัวใจอยู่ตรงนั้น ที่เราสนใจการปฏิวัติเขียวคือเราจะเห็นกลไกการที่ต่างชาติเข้ามาครอบงำโดยการผลักดันเทคโนโลยีการปฏิวัติเขียวเข้ามาสู่ประเทศไทยซึ่งเข้ามาทั้งระบบ พร้อม ๆ กันนั้นก็เข้ามาครอบงำเรื่องอื่นด้วย เช่น การแพทย์ การพัฒนาโดยรวม เช่น เรื่องการผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น คือมันมาเป็นชุดเดียวกัน เมื่อเราเห็นการครอบงำอย่างนี้ พอมีแนวโน้มใหม่เรื่องการเปลี่ยนจากการปฏิวัติเขียวไปใช้เทคโนโลยีชีวภาพเราก็ย่อมต้องสนใจอยู่แล้วว่ามันจะคลี่คลายไปอย่างไร แต่ ณ ขณะนั้นยังอยู่แค่ในระดับห้องทดลอง ยังไม่มีการใช้จริง นั่นคือ ปี 2528-2530

เมื่อเราสนใจโครงสร้างปัญหาเกษตร จึงเริ่มลงลึกมากขึ้น  ตอนนั้นขบวนการเอ็นจีโอตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นไป จะมีการคลี่คลายออกมาว่าการทำงานของเอ็นจีโอจะไม่ใช่แค่การทำอยู่ในชุมชนเท่านั้น มันเกิดจากการวิเคราะห์ด้วยว่าจะต้องผลักดันสิ่งที่เราทำให้ได้การยอมรับทางนโยบาย จึงตั้งเป็นเครือข่ายเกษตรทางเลือกขึ้นเป็ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง  เมื่อเกิดเป็นเครือข่าย มาทำงานเชิงนโยบาย เมื่ออยู่ในฐานะตรงนั้นจึงต้องลงลึกมากขึ้นในหลายเรื่องที่เป็นประเด็นเพื่อการทำความเข้าใจต่อโครงสร้างเกษตรให้ชัดเจน

พอพูดเรื่องโครงสร้างการเกษตร แน่นอนว่าจะต้องวิเคราะห์ปัญหาพันธุกรรมด้วย เรามองแค่ระบบเกษตรอย่างเดียวไม่ได้ต้องมองโครงสร้างของพันธุกรรมซึ่งเป็นฐานรากของเรื่องการเกษตรด้วย  ในปฏิวัติเขียวคือผลักดันจากการใช้พันธุกรรมมาเป็นเครื่องมือนั่นเอง เมื่อเราต้องรับพันธุ์พืชของเขาเราก็ต้องรับชุดของเทคโนโลยีเพราะมันเป็นชุดอันเดียวกัน เมื่อมองแบบนี้เราจึงเห็นมิติการเมืองของเรื่องพันธุกรรม แต่สิ่งแรกที่ถูกสะท้อนขึ้นมาก่อนไม่ใช่ประเด็นจีเอ็มโอ แต่เป็นประเด็นเรื่องการแย่งชิงพันธุกรรม เรื่องโจรสลัดชีวภาพ ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ อนุสัญญาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นระดับสากล แต่เชื่อมโยงกับพวกเราที่ทำงานในประเทศ ในประเด็นการเกษตร การครอบงำทางด้านพันธุ์พืช  จำได้ว่าประเด็นเหล่านี้พวกเราก็หยิบยกมาเป็นประเด็นแรก ๆ ที่เริ่มทำงาน สมัยที่เราเคลื่อนไหวต่อต้านสหรัฐเรื่องผลักดันเรื่องกฎหมายฟาร์มบิลล์ ฟาร์มแอ็ค ตั้งแต่ปี 2528 เราก็ผลักดันประเด็นพันธุกรรมขึ้นมาด้วย จำได้ว่ามติชนพาดหัวว่าอเมริกันขโมยข้าวของไทยไป เอาไปปลูกแล้วส่งข้าวมาขายราคาถูกทำลายตลาด พอมีประเด็นเรื่องอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเป็นที่รับรู้กว้างขวางมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่ประเด็นเกษตรอย่างเดียวแล้วแต่เป็นเรื่องทรัพยากรชีวภาพด้วย มีกลุ่มคนที่สนใจเรื่องนี้ขยายตัวออกไปกว้างมากขึ้น เช่น กลุ่มสาธารณสุข นักวิชาการชั้นผู้ใหญ่ ขยายฐานออกไป และกลายมาเป็นฐานวิเคราะห์เรื่องปัญหาการพัฒนาเรื่องทางนโยบาย

บริบทเรื่องนี้เป็นเรื่องประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพและเรื่องพันธุกรรม ก่อนหน้าที่จะคลี่คลายเป็นเรื่องจีเอ็มโอ มีเรื่องที่เชื่อมเกี่ยวกับประเด็นการค้าโลกคือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นชุดของความรู้ทางนโยบายที่ครอบคลุมหลายเรื่องเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุกรรม โจรสลัดชีวภาพ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โครงสร้างการครอบงำด้านการเกษตร  เหล่านี้มันหล่อหลอมกลายเป็นประเด็นที่ทำให้พี่รวมถึงกลุ่มที่สนใจเรื่องเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกหลอมรวมกันด้วย

การทำความเข้าใจโครงสร้างใหญ่นั้น จะต้องมีชุดความคิด ความรู้อย่างไรบ้าง และการที่คนทำงานจะเห็นความเชื่อมโยงของประเด็นเหล่านี้ได้  จะมีชุดความคิดอย่างไร

อันแรกที่สุดคือ คนทำงานเอ็นจีโอจะต้องมีชุดวิเคราะห์ที่เห็นโครงสร้างของปัญหา เพราะถ้าไม่เห็นตรงนี้จะมีข้อจำกัด เราก็จะทำไปแบบเล็ก ๆ ตามเรื่องที่เราสนใจไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่านั่นไม่สำคัญ เราก็ต้องการคนประเภทแบบนี้ด้วย เพื่อให้งานที่เราทำมันเข้าใจรากฐานโครงสร้างปัญหา เราจะได้รู้ว่าทิศทาง/แนวโน้มจะไปทางไหน ถ้าเราไม่รู้โครงสร้างเราก็ไม่รู้ว่าจะหยิบยกอะไรขึ้นมา เช่น เราเห็นโครงสร้างเรื่องการผูกขาดของการเกษตร เพียงแต่เมื่อเจอทางตันมันก็เปลี่ยนรูปไป

หัวใจสำคัญที่คิดว่าทำให้หลายประเด็นเป็นที่สนใจได้ คิดว่าเป็นเรื่องของความพยายามที่จะนำเอาประเด็นทางนโยบายให้มาเป็นประเด็นสาธารณะ  สรุปจากหลายปีที่ผ่านมา เราสามารถทำบทบาทเหล่านี้ได้ เอาประเด็นทางนโยบายที่สามารถสร้างความเข้าใจสู่สาธารณะ ให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเข้าใจปัญหาทางนโยบายได้ง่ายขึ้น เช่น ประเด็นเรื่องการค้า การจดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิ ประเด็นนี้ก่อให้เกิดอะไรอีกหลายอย่าง 1) เป็นประเด็นง่าย ๆ เป็นประเด็นของชาวบ้าน 2) เป็นประเด็นที่คนชั้นกลางที่ไม่ใช่ชาวบ้านก็เกิดความรู้สึกร่วมว่าเป็นปัญหาของเขา รู้สึกว่าเขาเกี่ยวข้องกับปัญหาด้วย เพราะความรู้สึกว่าข้าวหอมมะลิเป็นสมบัติของชาติ แต่ทางปฏิบัติคือคนปลูกข้าวหอมมะลิคือชาวบ้านที่เราทำงานด้วย

ที่สำคัญคือ ช่วยให้ชาวบ้านและคนชั้นกลางสามารถวิเคราะห์เรื่องโครงสร้างการครอบงำได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่มีกรณีข้าวหอมมะลิ คนก็ไม่เข้าใจประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตร 

มิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา เป็นเรื่องโครงสร้างทางผลประโยชน์และอำนาจเพื่อเข้าใจโครงสร้างปัญหาทั้งหมด แต่เวลาเอาวิธีคิดหรือข้อมูลแบบนี้ไปสู่สาธารณะ มีความแตกต่างอย่างไร

จะต้องหากรณี หา case ที่ชาวบ้านเข้าใจ และสาธารณะชนรู้สึกว่าเป็นปัญหาของเขาด้วย การทำงานถึงจะเคลื่อนต่อเนื่องไปได้

 ประเด็นที่จะทำการทำให้ชนชั้นกลางตื่นตัว รู้สึกว่าจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม คือเรื่องใด

ก่อนเป็นเรื่องจีเอ็มโอ เราพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ โจรสลัดชีวภาพ ซึ่งเป็นโครงสร้างใหญ่ของการครอบงำ เชื่อมโยงกับการค้าโลกด้วย ประเด็นเรื่องข้าวชัดที่สุด คือเป็นประเด็นทางวัฒนธรรม สังคมไทยเป็นสังคมข้าว ทุกคนกินข้าว ประเทศเราส่งข้าวออกมากเป้นอันดับหนึ่ง ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวที่ดีที่สุดที่เราภูมิใจ เราภูมิใจว่าเราเป็นครัวของโลก  ประเด็นเรื่องข้าวเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของคนไทย เริ่มแรกมาจากประเด็นจัสมาติ ซึ่งเป็นประเด็นเล็ก ๆ ที่มีบริษัทอเมริกันเล็ก ๆ มาจดเครื่องหมายการค้า (ยังไม่ใช่จดสิทธิบัตร)  และอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิ  ทันทีที่พี่เห็นข่าวก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก 1) เห็นว่าเป็นทางเดินมาสู่การครอบงำ เหมือนเป็นดาบแรก เป็นการบุกเบิกของต่างชาติที่จะเข้ามาครอบงำเอาผลประโยชน์จากประเทศของเรา จากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ซึ่งจะนำไปสู่การจดสิทธิบัตรและการแย่งชิงทางพันธุ์พืช  ซึ่งมันก็เกิดขึ้นหลังจากนั้นจริง ๆ พี่เคยพูดกับคุณสุทธิชัย หยุ่น ว่าถ้าคุณไม่จัดการเรื่องนี้ก็จะเจอเรื่องอื่น ๆ ต่อไปอีก

เพื่อนต่างชาติที่ทำเรื่องเกี่ยวกับพันธุกรรมบอกว่าเรื่องเครื่องหมายการค้า เป็นเรื่องเล็กที่ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่พี่บอกว่าเป็นการเริ่มต้นเพื่อก้าวไปสู่เรื่องสิทธิบัตร และเรื่องข้าวไม่ใช่เรื่องเล็กในสังคมไทย

ใช้กระบวนการอย่างไร

จากการทำงานกับเอ็นจีโอมายาวนาน คิดว่าเป็นเรื่องยากที่พี่จะหยิบเอาประเด็นเรื่องนี้มาคุยกันกับพวกเราแล้วบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญให้มาช่วยกันทำ… สมัยนั้นคิดว่าทำแบบนั้นไม่ได้ผล วิธีคิดของพี่คือ “ทำให้เป็นข่าว” เรารู้ว่ามีสื่อที่สนใจเรื่องนี้อยู่ ขบวนเอ็นจีโอมีสายสัมพันธ์เรื่องความคิดกับคนทำงานด้านสื่อมาตั้งแต่ยุค 14 ตุลา แม้แต่เรื่องจีเอ็มโอ เราก็เห็นว่าเขาสื่อสารในหลายเรื่องที่เป็นความเห็นเดียวกับเรา มีจุดวิเคราะห์เดียวกับเรา เราทำเอ็นจีโอมานานไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีเพื่อน เรื่องจีเอ็มโอ หรือประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ การแย่งชิงพันธุกรรม นั้น จริง ๆ แล้วเราไม่ได้ทำงานคนเดียว มีคนที่คิดเหมือนเรา  ในแง่ของเราก็ต้องรู้ว่าจะมีวิธีทำให้เป็นประเด็นขึ้นมาได้อย่างไร เช่น ถ้าได้ลงข่าวเล็ก ๆ ในมติชน ต่อมากจะกลายเป็นเรื่องใหญ่หลังจากนั้น สื่อจะรับลูกกัน มีการลงพาดหัวใหญ่ รายการทีวีสนใจเชิญพวกเราไปพูด ตอนแรกที่เรายังไม่ได้ทำงานแบบนี้ ก็ใช้การบอกปากต่อปากก่อน สื่อก็จะสะท้อนความสนใจออกมา ว่าแบบไหนเป็นข่าวแบบไหนไม่เป็นข่าว จากนั้นเริ่มเรียนรู้ว่าประเด็นอะไรที่สำคัญในสายตาสื่อ  ซึ่งตอนนั้นจะต้องทำแบบนี้ (แต่ตอนนี้อาจไม่จริงทั้งหมดก็ได้) คือ ทำให้เป็นประเด็นน่าสนใจ

แต่ประเด็นน่าสนใจอย่างเดียวยังไม่พอ ยังไม่จบแค่นั้น เราจะต้องมีพลังขับดันแรงกล้าด้วย พวกเราเอ็นจีโอจะต้องทำงานข้อมูลและตัวความรู้ให้แน่นที่สุด เสมือนว่าในประเทศนี้เราเป็นผู้รู้เรื่องนี้ดีที่สุด และพร้อมที่จะ Debate กับใครก็ได้ในประเทศ  ต้องทำแบบนั้น เรารู้ประเด็น เราเป็นแรกที่ทำเรื่องนี้ เราต้องเอาประเด็นทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันให้ได้ เพราะเราอยู่ในฐานะสองสามอันที่ทำเรื่องนี้ได้ 1) เรามีชาวบ้าน เขาเป็นฐานความรู้ให้เราได้ เช่น เขารู้เรื่องข้าวหอมมะลิ  2) เรามี Connection ระหว่างประเทศ ซึ่งเราค่อย ๆ สร้างขึ้นอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลได้ดีกว่ากรมวิชาการเกษตรหรือกระทรวงพาณิชย์ทั้งกระทรวง เราสามารถติดต่อขอข้อมูลจากเพื่อนเราที่อเมริกา ยุโรปให้ช่วยหาให้ได้ทันทีและรวดเร็ว 3) เราก็ต้องขยัน ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ทเต็มที่ ซึ่งเป็นขุมกำลังใหญ่มาก เราต้องค้นหาข้อมูลให้เป็น (search engine ) เช่นไม่เพียงเว็บไซต์ แต่รวมไปถึงกลุ่มข่าว (News group)  ต่าง ๆ ด้วย เพื่อหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด โดยวิธีนี้เราจะมีชุดข้อมูลพร้อมเพื่อผลักดันการทำงานของเราต่อ เช่น ข้าวหอมมะลิ ซึ่งเรารู้ว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาจะกลัวการมา debate กับเรา  รองอธิบดีโทรมาถามข้อมูลเราเพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาคุย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาเอง และเป็นสร้างความเชื่อมั่นให้คนอื่นด้วย รวมทั้งพรรคพวกเราที่ทำงานด้วย ในประเด็นเรื่องข้าว ไม่ว่าจะเล็กอย่างไรแต่มันเป็นเรื่องใหญ่เสมอ เพราะเป็นวัฒนธรรมของเราที่ผูกกับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่สื่อมวลชน แม้กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวก็ยังออกมาพูดเรื่องนี้

เป็นเรื่องที่เอ็นจีโอต้องทำ นักวิชาการอาจช่วยเราได้เพียงบางเรื่องเท่านั้น เขาจะไม่รู้เรื่องการสื่อสารกับสาธารณะ และการสื่อสารกับชาวบ้าน ถ้าเราทำตรงนี้ก็จะช่วยสนับสนุนเรื่องข้อมูลแก่คนที่ทำงานเกี่ยวข้องด้วย  ที่สำคัญต้องทำต่อเนื่อง ทิ้งไม่ได้ ทำแล้วจะได้แนวร่วม ได้เพื่อน นักวิชาการ สื่อมวลชน และได้ connection ทั้งคนและข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเราได้ช่วยให้นักวิชาการรุ่นใหม่ได้มีที่ทางของเขาด้วย นอกจากคนแล้วเราจะได้ connection ของข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย  แล้วทำข้อมูลเนื้อหาเสมือนหนึ่งว่าเรารู้เรื่องนั้นมากที่สุด คิดว่าเอ็นจีโอต้องทำตรงจุดนี้ และจริง ๆ แล้วเราได้เปรียบทุกกลุ่มคือ 1) เราใกล้ฐานชาวบ้าน ซึ่งนักวิชาการไม่มี 2) ความรู้ปัจจุบันเป็นลักษณะของเครือข่ายความรู้ (network) ที่ไม่ใช่ของนักวิชาการคนเดียว หากเรามีกลุ่มเอ็นจีโอเพื่อนฝูงต่างประเทศก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ ขณะนี้คิดว่าเอ็นจีโอส่วนหนึ่งกลายเป็น resource person ในเรื่องความรู้ไปแล้วในช่วงหลายปีมานี้

การติดตามอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมปล่อย กัดไม่ปล่อย เพราะประเด็นพวกนี้มันไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกเราเอ็นจีโอมีความจำเป็นจะต้องแบ่งงานกันตามในแต่ละเรื่อง บางเรื่องที่ตามไม่ได้อย่างน้อยก็ทราบว่ามีเพื่อนเราตามอยู่

เราเห็นเรื่องพัฒนาการของประเด็น เมื่อเป็นเรื่องของโครงสร้าง และประเด็นที่นำเสนอเป็นแค่ case แต่ case นั้นเองก็มีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ บางคนอาจทำเป็นไม่สนใจ หรือไม่เห็นความสำคัญ หรืออาจมองว่าเมื่อคุมเรื่องของโครงสร้างได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมาลงรายละเอียด เช่น ถูกตั้งคำถามว่าทำไมต้องมาเถียงเรื่องความปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย หรือเอาข้อมูลมาเถียงเรื่องเทคนิค 

แต่เนื่องจากประเด็นแต่ละประเด็นเป็นการให้ความรู้กับสาธารณะ ซึ่งจะคลี่คลายไปเรื่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ไม่อยู่กับที่ เช่น เรื่องจัสมาติ ที่เริ่มต้นเป็นประเด็นเรื่อง Trademark การควบคุมเรื่องการค้า ต่อมาก็จะพัฒนาไปเป็นเรื่องสิทธิในพันธุกรรม แต่อาจเป็นแค่การแย่งชิงชื่อเสียงซึ่งเป็นในเรื่องการค้า ซึ่งถ้าเรามีฐานเรื่องเหล่านี้ก็จะทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้น เหมือนเรามีเครื่องมือที่จะรู้ว่าเรื่องไหนสำคัญไม่สำคัญ และเห็นแนวโน้มที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่ลงรายละเอียดเราก็จะไม่รู้เรื่องเหล่านี้ ข้อสำคัญของการลงรายละเอียดคือ การให้ความรู้แก่สาธารณะชนไปเรื่อย ๆ ไม่มีทางที่สาธารณะชนจะช็อคทันทีต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งถ้าไม่ได้ถูกปูความรู้ในเรื่องพวกนี้มาก่อน ยกตัวอย่างที่เราสามารถล้มกฎหมายเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้นั้น ก็เพราะเราทำเรื่องข้าวหอมมะลิ เรื่องจัสมาติ มาก่อนนั่นเอง เหมือนสาธารณะก็ถูกเตรียม /ฟอร์มจากข้อมูลเหล่านี้ ส่วนเราก็ชัดจากข้อมูลเหล่านี้ พอประเด็นเรื่องสิ่งบ่งชี้ฯ เข้ามาเรา สามารถใช้ประสบการณ์การต่อสู้ ข้อมูลที่มีอยู่ บวกกับสถานะทางสังคมที่จะทำงานเรื่องเหล่านี้ของเราได้ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว จึงทำให้สามารถทำได้ต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องลงรายละเอียดด้วยเพื่อให้ความรู้แก่สาธารณะ

กรณีจีเอ็มโอ จุดเปิดคือ ประเด็นเรื่องความปลอดภัยหรือไม่

จีเอ็มโอ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทุกเรื่องที่เราเคยทำมา เป็นเรื่องการเปลี่ยนจากการเกษตรแบบปฏิวัติเขียวมาสู่ยุคที่สองของการปฏิวัติเขียว เป็นเรื่องโครงสร้างการครอบงำทางเกษตรที่สื่บเนื่องมาจากปฏิวัติเขียว เป็นเรื่องการเข้ามาแย่งชิงทรัพยากร เช่น มะละกอ มาในแนวขอจดสิทธิบัตร จีเอ็มโอ เป็นเรื่องที่เกษตรกรจะถูกละเมิดสิทธิในการเลือก เป็นเรื่องที่บริษัทข้ามชาติมีอำนาจเหนือการวิจัย การพยายามครอบงำสื่อ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่นใด ประเด็นของการครอบงำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาพร้อมกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา เป็นประเด็นการเปิดเสรีการค้าเกษตร องค์การการค้าโลก จีเอ็มโอ เป็นทั้งหมด เป็นทุกเรื่อง

มีคนเคยพูดว่า จีเอ็มโอ กลายเป็นวาทะกรรม

ในเชิงเปรียบเทียบ ไม่ใช่ว่าประเมินสูง แต่การเคลื่อนไหวในเมืองไทยถือว่าสำเร็จถ้าเทียบกับเพื่อนฝูงในประเทศที่มีบริบททางการเมืองใกล้เคียงกับเรา เพราะที่อื่นไม่ว่าอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นั้นแพ้แล้ว แต่ประเทศเรายังยันไว้ได้อยู่

คิดว่า 1) เป็นพัฒนาการของพวกเราที่ทำงานเรื่องนี้สืบเนื่องกันมา 2) ฐานประเด็นเชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ไม่ใช่แค่ จีเอ็มโอ อย่างเดียว  และคนก็เห็นด้วยว่าประเด็นไปโยงกับเรื่องอื่นด้วย เช่น เอฟทีเอ. หรือประเด็นเรื่องข้าวหอมมะลิกับประเด็นเรื่องสิ่งบ่งชี้ฯ ก็เชื่อมโยงกันอยู่ ถ้าเราไม่มีฐานของพวกเราที่ทำงานกันเอง นักวิชาการที่เราทำงานด้วย รวมถึงสื่อที่เราทำงานด้วย ผลก็จะไม่เป็นแบบนี้ แต่เราได้สะสมอะไรเอาไว้มากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงทำให้ยังยันเรื่องจีเอ็มโอเอาไว้ได้อยู่ เราอาจมองยุทธศาสตร์ในหลายเรื่องถูกก็เป็นได้ คิดว่ามันไม่ได้สำเร็จที่จีเอ็มโอ เรื่องเดียว แต่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องหลายเรื่องมาก่อนแล้ว ยกตัวอย่าง เรื่อง Ratify ซีบีดี เรื่องอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ  เอ็นจีโอไทยไม่ได้คิดเหมือนที่อื่น มีคนบอกว่าถ้าให้รัฐบาล Ratify น่าจะทำให้ทำงานง่ายขึ้น  แต่เราคิดว่าไม่ได้ ถ้าจะ Ratify  ต้องให้สังคมเรียนรู้และเข้าใจเรื่องนี้ก่อน ต้อง debate กันก่อน ซึ่งใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะ  Ratify ได้ ซึ่งกลุ่มที่ต้านทานในเรื่องนี้ไว้ คือกลุ่มเอ็นจีโอและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เวลาคนมองก็จะเห็นเป็นเอ็นจีโอเพราะเอ็นจีโอเป็นหลักอยู่พอสมควร ท้ายที่สุดเมื่อมีการยอมรับเรื่องซีบีดี พอมีการลงมติของสภา การตัดสินของสภาเกิดจากพวกเราทั้งหมดเลย พรรคฝ่ายค้านส่งคนมาให้เราช่วยเขียนคำกล่าวให้ คนอภิปรายก็มาขอข้อมูลเรื่องรา 200 สายพันธุ์จะเอาไปอภิปรายเรื่อง ซีบีดี รัฐมนตรีที่เอาเรื่องนี้เข้าสภาก็ให้กลุ่มพวกเราเป็นคนเขียนคำแถลงต่อสภา วุฒิสภาซึ่งมี อ.เจิม ที่เคยมาร่วมกับเราอยู่แล้วก็มีข้อมูลที่จะไปอภิปรายได้เอง และบังเอิญวันนั้นมี สส. ฝ่ายรัฐบาล จากพรรคชาติไทย  ยกมือขึ้นอภิปรายซึ่งในท่อนแรกมาจากบทความของอ.วิสุทธิ์ และท่อนสุดท้ายมาจาก paper ของเรา ซึ่งก็เป็นข้อเสนอเรา นั่นคือการตัดสินใจเรื่องซีบีดี.ในที่สุดแล้วมาจากภาคประชาสังคมนั่นเอง

พวกเราเองก็ทำให้มีการตัดสินใจเรื่องนี้ได้ถ้าเราวางยุทธศาสตร์บางอันให้ถูก แน่นอนว่ามันได้มีการสะสมมาเป็นลำดับ ฉะนั้นในเรื่องจีเอ็มโอ จึงไม่ง่ายเลยที่รัฐบาลจะมาบอกว่าได้ตัดสินใจไว้แล้ว แม้นักวิทยาศาสตร์เห็นด้วยและเขาจะเดินหน้าไปในสิ่งที่เขาทำ แต่ทำไม่ได้เพราะสังคมได้ถูก Inform มาเป็นระยะเวลายาวนาน และมีคนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นี่ไม่เชิงยุทธศาสตร์ทีเดียว ส่วนยุทธศาสตร์ที่มีอยู่ คือ เราทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมได้ ซึ่งเป็นข้อแข็งของเอ็นจีโอ นักวิชาการอาจมีข้อมูลอยู่แต่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ได้ เรามีชาวบ้านที่ทำงานกับพวกเรามายาวนาน

เรื่องนี้ ตอนแรกแค่ชูประเด็นให้เป็นประเด็นสาธารณะ แล้วสังคมเกิดความรู้สึกร่วมด้วย แต่เพียงแค่นั้นยังไม่พอเพราะสังคมไทยไม่มีคนเคลื่อน ไม่มีการจัดตั้งกลุ่ม องค์กร ที่จะเคลื่อนไหวให้ประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้นมีมิติทางสังคม การเมือง มากขึ้น ข่าวจีเอ็มโอ ถ้าไม่มีมิติการเมือง ก็จะกลายเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของผู้บริโภค กลายเป็นประเด็นเล็ก ๆ ไป แต่เมื่อมีการเคลื่อนไหวของประชาชน ซึ่งเป็นจุดสำคัญของเอ็นจีโอ เมื่อคิดว่าสาธารณะเห็นว่าเป็นปัญหา เห็นด้วยกับเรา  แล้วมีตัวสวิทซ์บางตัวที่ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีนัยยะทางสังคมการเมือง ก็คือการเคลื่อนไหวของประชาชน เอ็นจีโอ การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ มันไม่ใช่เป็นแค่การถกเถียงเรื่องข้อมูลอย่างเดียว แต่มีการแสดงตัวว่า กลุ่มอโศก เครือข่ายเกษตร กลุ่มผู้ส่งออก กลุ่มสหองค์กรผู้บริโภค และเอ็นจีโอของเราหลายองค์กร ต่างก็ไม่เห็นด้วย จึงเป็นภาพของการเคลื่อนไหว ยิ่งเราไปยื่นข้อเสนอหน้าทำเนียบ เมื่อสังคมเกิดความรู้สึกร่วมด้วยแล้ว เราไป 20 คน ข่าวก็บอกว่ามา เป็น 100 คน หรือเราไปแสดงละครอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เขาก็ไปขยายลงให้เป็นรูปสี่สี ใส่พื้นที่ใหญ่ ๆ หามุมดี ๆ และมาช่วยเราจัดวางทางของการแสดงเพื่อให้เป็นประเด็นใหญ่ในหน้าหนังสือ เมื่อสาธารณะเกิดความรู้สึกร่วมด้วยก็กลายเป็นไปมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล

ที่พี่พูด สิ่งสำคัญอันแรกคือ ทำให้เป็นประเด็นร่วมของสังคมก่อน แต่จากนั้นหยุดไม่ได้ต้องมีตัวเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งคิดว่าจุดนี้เป็นเรื่องยาก ทำอย่างไรให้เกิดกลุ่มคน กลไก ตัวเคลื่อนไหวตลอดเวลา ต้องทำงานแบบไหน เช่น ประเด็นเรื่องป่าชุมชน ก็ยังทำไม่สำเร็จในเรื่องนี้

อาจเพราะประเด็นเรื่องป่าชุมชน เป็นเรื่องของคนชายขอบที่ไม่เกี่ยวกับคนในเมือง ถ้าวิเคราะห์ว่าเราจะเดินอย่างไร เราน่าจะต้องทำให้เป็นเรื่องร่วมของคนในสังคมให้ได้ key มันอยู่ตรงนี้ มิฉะนั้นก็จะไปต่อไม่ได้ หยุดอยู่แค่นี้  เพราะสังคมไทยมีสองอย่าง คือ คนชั้นกลางมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาก หลายประเด็นถ้าคนชั้นกลางไม่ไฟเขียวก็ยากที่จะผลักดันออกไปได้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราไม่มีสิทธิตั้งคำถามว่าคนชั้นกลางแย่อย่างนั้นอย่างนี้  หน้าที่ของเราไม่ใช่การตั้งคำถามแบบนั้น แต่หน้าที่ของเรามีอย่างเดียวว่าเราต้องการผลักดันเรื่องการปกป้องสิทธิของชุมชนได้รับการยอมรับ หน้าที่ของเอ็นจีโอคือทำอย่างไรให้คนในประเทศ โดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีบทบาทในการตัดสินใจทางการเมือง เพราะเราคงไม่เข้าหาพวกการเมืองอยู่แล้ว ทางเลือกเราจึงมีจำกัดอยู่ไม่กี่ทาง ทางเลือกของเราคือทำให้เป็นปัญหาของคนชั้นกลาง ทำให้เขามาสนับสนุนเราให้ได้ โจทย์เรื่องป่าชุมชนไม่ได้คิดเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่ต้นแต่ไม่ได้หมายความว่าที่ทำมาไม่ถูก เพียงแต่ถ้าเราจะเอาชนะเรื่องนี้หรือผลักดันให้ไปข้างหน้า เราก็ต้องทำเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไปพร้อม ๆ กับขบวนการสิทธิชุมชนของเรา

วิธีที่จะทำให้เป็นประเด็นสังคม ที่พี่ว่ากัดไม่ปล่อย ต้องตามต่อเนื่อง สร้าง Connection ของคนและข้อมูล ต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากตัวอย่างเรื่องข้าวแล้ว สำหรับประเด็นจีเอ็มโอ ทำอย่างไรถึงกลายเป็นประเด็นทางสังคมหรือทำให้สังคมสนใจได้

เรื่องมะละกอกับเรื่องข้าวก็เป็นเรื่องเดียวกัน มะละกอเป็นอาหารที่คนไทยกินมาก อาจจะมากที่สุดในโลก ที่อีสานมีวิจัยนอกจากข้าวแล้วเขากินมะละกอเป็นอันดับที่สอง เรื่องฝ้ายเมื่อปี 2542 มันไปได้จำกัดแต่เราก็มีฐานข้อมูลเรื่องฝ้ายอยู่ พอมีกรณีมะละกอ ข้อมูลเรื่องฝ้ายเราก็เอาใช้ได้เต็มที่ คนทำเรื่องฝ้ายก็ยังอยู่ จึงเกิดความต่อเนื่อง

อาหารไทยเรื่องครัวไทยสู่ครัวโลก อาหารจานเด็ดของเราก็มีส้มตำ ผัดไทย ต้มยำ แต่คุณกำลังทำให้มันแปดเปื้อนและปนเปื้อน พวกนั้นใช้คำว่าปะปน

<strong>แปลงทดลองผลิตเมล็ดพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอ<strong>

เรื่องจีเอ็มโอ มีประเด็นเกี่ยวข้องหลายเรื่อง ถ้าพูดกับเกษตรกรก็จะบอกว่าคุณไม่มีสิทธิเก็บไว้ทำพันธุ์ ต้องซื้อเขาตลอด แต่เวลาเราคุยกับสังคม เราเอาจุดไหนมาคุย ประเด็นไหนที่คนให้ความสำคัญและสนใจ เป็นประเด็นเกี่ยวกับอะไร เกี่ยวกับโทษของมันใช่หรือไม่

จีเอ็มโอ มีหลายประเด็นที่ไปได้หมด เช่น เรื่องความปลอดภัยไม่ปลอดภัย เกี่ยวเนื่องกับผู้บริโภค บางคนกินทุกวัน บางคนกินทุกมื้อ และประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตร แค่ภาคส่งออกบอกว่าส่งออกไม่ได้กลายเป็นโมเมนตั้มใหญ่  โก๊ะก็ไม่ใช่คนอื่นไกล เขาก็อยู่ในเครือข่ายเกษตร ทำเกษตรอินทรีย์ รู้จักพวกเรา เคยลงพื้นที่กุดชุม แต่ก็มี Connection ใหม่ ๆ เช่น ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งพวกเรานั้นแหละที่เป็นผู้เริ่มต้นกับกระบวนการนี้มา ไม่ใช่ราชการ เขาใกล้ชิดพวกเรา รู้จักพวกเราผ่านงานอื่น ๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว

ในสังคม หากพี่วิฑูรย์พูด อาจไม่ค่อยตื่นเต้น เพราะพูดบ่อยแล้ว แต่พอเปลี่ยนให้คนกลุ่มนี้พูดจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ

มันมี Issue ด้วยนะ มันหมายถึงภาคการส่งออกของประเทศ มีนักข่าวเขียนว่ากระทบส่งออกแสนล้าน ซึ่งเป็นภาคการส่งออกทั้งหมด แต่มะละกอจริง ๆ ไม่ถึงอยู่ที่ 100-200 ล้าน  แค่ต่างประเทศบอกว่ามะละกอปนเปื้อน แต่กระทบการส่งออกข้าวว่าต้องมีใบรับรองด้วย ซึ่งก็อยู่หมัด เพราะนักวิทยาศาสตร์เองก็อึ้ง ไม่รู้จะเถียงอย่างไร นักการเมืองก็ทำอะไรไม่ได้เพราะถูกตั้งคำถาม ไม่ใช่แค่ผู้บริโภค แต่เป็นพวกส่งออกด้วย สังคมไทยส่งออกอาหารแล้วมีความต้องการให้เป็นครัวของโลก พอเกิดกรณีนี้ขึ้นมันก็ไปต่อไม่เป็น ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร

ประเด็นเรื่องการผูกขาด ที่ว่าเป็นสิทธิบัตรต่างชาติไม่ใช่งานวิจัยของเรา ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก เราเคยมีความหลากหลาย พึ่งตัวเอง แล้วทำไมเราต้องไปสวิตซ์ประเทศ เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ ซึ่งคนต่างประเทศก็ไม่กิน ตลาดก็ส่งออกก็ไม่ได้  เหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นเล็ก ๆ สามารถสื่อสาธารณะได้หมด

เรื่องจีเอ็มโอ ถ้าใช้คำว่าสำเร็จ คิดว่ามันมีต้นทุนมายาวนานของคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เราผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ต้น มีพวกเราทำงานอยู่ในพื้นที่ เกี่ยวเนื่องกันมา แม้เขาอาจไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องรณรงค์จีเอ็มโอโดยตรงเหมือนพี่ แต่เขาสร้างคนเหล่านี้ขึ้น ตั้งแต่เรื่องฝ้าย มันเป็นเรื่องการไร้ประสิทธิภาพที่เห็นและอธิบายได้ว่ามันหลุดออกไปจริง พออธิบายอีกทีคนก็เริ่มสนใจเข้าใจ

ประเด็นเรื่องการครอบงำเรื่องการเกษตร วิจารณ์เรื่องการปฏิวัติเขียว เหล่านี้เป็นต้นทุนทางสังคม ที่สำคัญคือเราไม่ได้ทำงานโดดเดี่ยว มีคนที่พร้อมจะเล่นกับเราเช่น สื่อ แต่คนกลุ่มนั้นก็พร้อมที่จะถูกแย่งชิงโดยคนกลุ่มอื่นอีกเหมือนกัน แต่ตอนนี้เขาก็เอากับเราเต็มที่ เช่น คุณสุจิตต์ วงศ์เทศน์ พูดว่าสุวรรณภูมิเป็นแดนเกษตรอินทรีย์ เขียนสามฉบับติดกัน

มีนายทหารอาวุโส มีที่ 500 ไร่ใกล้กรุงเทพฯ เชิญพี่ไปนั่งกินข้าวเพื่อให้กำลังใจในการทำงาน เพราะเรื่องนี้มีประเด็นของชาตินิยมเกี่ยวด้วย  เขาใช้คำมันจะหมดประเทศ

ประเด็นที่บอกว่าต้องให้สังคมเป็นตัวเคลื่อนนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง นอกจากมีต้นทุนเดิม

จุดอ่อนการเมืองภาคประชาชน เราเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องไปอยู่ภาคการเมือง ไม่จำเป็นต้องเป็น สว. แต่เราเคลื่อนไหวเรื่องทางนโยบายได้ บางคนก็วิจารณ์ว่าเราทำรายประเด็น (case by case) แต่พี่ว่ามันเป็นเรื่องของการแบ่งงานภาคประชาชน เราเห็นการเชื่อมโยงของคนที่เกี่ยวข้อง ในสถานการณ์ทางสังคมแบบนี้เราก็ต้องทำอย่างนี้ แต่ที่เห็นว่ายังขาดมากคือ พี่รู้สึกว่ามีสวิตซ์อันหนึ่งระหว่างการทำให้ประเด็นสาธารณะบางประเด็นให้กลายเป็นประเด็นที่มีนัยยะทางการเมืองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ปกติหลายเรื่องมักอยู่ที่การถกกันเรื่องข้อมูล บอกว่าใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วย หลายเรื่องทำได้ กรณีจีเอ็มโอ พอทักษิณรู้ว่า 80% ไม่เอาเขาก็ไม่กล้าดันต่อ เพราะอยู่ในช่วงใกล้เลือกตั้ง แต่บางเรื่องอย่างเอฟทีเอ. มัน 50%  เรื่องนี้มันมีความซับซ้อนขึ้น

พี่พบว่าต้องทำบางประเด็นให้เกิดขึ้น ถ้าแค่ถกเถียงเชิงข้อมูลว่าดีไม่ดีก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติบางอย่างได้เหมือนกันแต่มันไม่พอ สิ่งที่ต้องทำคือการพยายามคิดประเด็นที่เป็นประเด็นสาธารณะ debate สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชาวบ้านให้กลายมาเป็นประเด็นที่มีนัยยะทางการเมือง ซึ่งคิดว่าจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เรื่องจีเอ็มโอนั้นโยงมาเรื่องการเมืองค่อนข้างง่ายเพราะคนเยอะมากที่ไม่เอาด้วย ส่วนหนึ่งมาจากการสะสมข้อมูลมาด้วย ร่วมกับสถานการณ์ที่หลังเลือกตั้งผู้ว่าแล้วมันจะมีการเลือกตั้งใหม่ แค่นี้ก็กลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้วถึงแม้ว่าจะไม่มีการเดินออกมาตามท้องถนนก็ตาม  สื่อเองก็รับลูกตีข่าวให้เป็นเรื่องใหญ่ 

นัยยะทางการเมืองที่ง่ายสำหรับฝ่ายประชาชนคือต้องออกมาเคลื่อนไหว ออกมาเดิน คือทำอะไรที่แสดงออกถึงนัยยะทางการเมือง เป็นการนำประเด็นชาวบ้าน มาเป็นประเด็นการถกเถียงสาธารณะ และให้มีนัยยะทางการเมือง อาจจะเห็นว่ามีการทำมาเยอะแยะแล้วแต่พี่ว่ามันไม่ยังไม่ใช่ เพราะมันยังไม่เชื่อมโยงกับคนชั้นกลาง หรือคนส่วนใหญ่พอที่จะมาหนุน

ที่ผ่านมาเราทำประเด็นเกษตรกรให้เป็นประเด็นการเมือง แต่ยังไม่ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะใช่ไหม

ใช่ ที่เราทำถูกทำให้กลายเป็นประเด็นของคนชายขอบกลุ่มเล็ก ๆ  กรณีเรื่องเอฟทีเอ เรารู้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ โจทย์ใหญ่มาก แต่ตอนนี้ที่เราขาด ที่ยังทำไม่ได้คือ ต้องทำให้เป็นประเด็นการเมือง ถามว่า เรื่องนี้คนในสังคมรู้สึกร่วมด้วยหรือยัง ในเชิงพัฒนาการเห็นว่าดีขึ้น  เรื่องนี้ถึงขั้นที่ว่าทำให้เกษตรกรล่มสลาย ตอนนี้ที่เราขาดคือเราทำกับคนชายขอบ แต่เกษตรกรที่ยากจนไม่ได้อยู่ที่ชายขอบอย่างเดียว แต่อยู่สุพรรณ กรุงเทพฯ ซึ่งเราไม่ได้ทำงานด้วย  พวกโคนม โคเนื้อ ปลูกข้าวโพด มีมากมายแต่เราไม่ได้ทำงานด้วย ซึ่งในความเห็นของพี่ พี่ไม่รู้ว่าปรัชญาเอ็นจีโอคืออะไร แต่พี่คิดว่าคือการทำงานเพื่อคนด้อยโอกาสไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็ตาม เพราะคำว่าคนชายขอบอย่างเดียวคิดว่ามันไม่ครอบคลุมพอ เราจะต้องขยายออกมาให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องเกษตรเมื่อขยายมาเรื่องโคนมโคเนื้อและข้าวโพด พี่คิดว่ามันทำได้ และได้พันธมิตรที่ติดต่อกันตลอดเวลา แต่บางกลุ่มก็ยังทำไม่ได้เพราะเราไม่ได้มีการ Organize ชาวบ้านเพื่อมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งพี่คิดว่ามันต้องทำ

ที่ผ่านมา เราเคลื่อนไหวได้อย่างงานเรื่องจีเอ็มโอเพราะมีเกษตรทางเลือก แต่คนเหล่านี้มาจากอีสาน และที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากจีเอ็มโอ แต่เขาทำหน้าที่เป็นตัวเคลื่อน เป็นสัญลักษณ์ของภาคเกษตร แต่ในส่วนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ เรายังไม่ได้เข้าไปทำงานกับเขามากนัก พี่ว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องทำ

เกษตรกรเองก็มีหลายระดับ ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ทำงานกับกลุ่มเกษตรเศรษฐกิจ  ซึ่งในชุมชนแต่ละพื้นที่ ก็มีทั้งนายทุนท้องถิ่น เกษตรกรที่ทำเพื่อขาย เกษตรกรยากจนโดนกดขี่ แต่เราทำงานกับกลุ่มหลังมากกว่า

พูดตรง ๆ เอ็นจีโอเราต้องทำตรงนี้ ที่เราขาดคือ 1) การทำงานกับสาธารณะให้เขาเข้าใจว่าเป็นประเด็นของเขา และ 2) การทำงานกับคนยากจนส่วนใหญ่นอกเหนือจากคนชายขอบ พี่คิดว่าเรื่องจีเอ็มโอมันมีต่อนะ แต่ไม่ง่ายที่รัฐบาลจะดัน แต่ตอนนี้จะโยงมาเรื่องเอฟทีเอ. ซึ่งน่าจะมีอะไรมารองรับตรงนี้แต่มันยังไม่มี  พี่เองก็จะทำได้จำกัด เชิงยุทธศาสตร์ก็ต้องช่วยกัน คนชั้นกลางเองก็จะมีฟอรั่มของเขา มีเวทีของเขา แต่หัวใจของพวกเราที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือเราไม่มีพลัง ไม่มีการจัดตั้งขึ้นเป็นเครือข่ายของเกษตรกร หรือองค์กรในภาคเกษตรของเราที่เป็นจุดแข็งอยู่

ที่ผ่านมาเราทำงานตามประเด็น เวลาเราวิเคราะห์ปัญหาเราจะทำงานกับคนยากจน คนถูกกดขี่ แต่ขณะนี้สถานการณ์เป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งระหว่างพี่กับคนที่ทำงานในชุมชนอาจมีกรอบในการวิเคราะห์ที่ยังไม่ตรงกันเลยทีเดียว

กรณีโคนม จะมีสหกรณ์ของเขาอยู่แล้ว มีพี่อดุลย์ที่ค่อนข้างก้าวหน้า เขาเดือดร้อนเรื่องนี้ แต่เขาก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มโคนม เขาก็เชิญเราไปคุยกับโคนมแต่ละกลุ่ม บางเวทีมีถึง 2,000 คน เช่น ที่กำแพงแสน คุยแล้วทุกคนเกิดความรู้สึกร่วม ที่ขอนแก่นประมาณ 700 คน ก็เช่นกัน เขา in กันหมดอยากเคลื่อน  แต่คุณอดุลย์ ในขณะนั้นไม่อยากเคลื่อน อาจด้วยเรื่องยังคงเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐบางอย่าง หรือเกรงใจ …สไตล์ของคนที่พึ่งพารัฐมาตลอด เขาก็ไม่เคลื่อน ตอนที่เราชุมนุมเคลื่อนไหวเรื่องเอฟทีเอ หน้าทำเนียบ พวกโคนมขอนแก่นมากันแล้วแต่กลับถูกดึงไปที่อื่นแทนที่จะมาร่วม  กรณีนี้เขาทำงานร่วมกับเราก็เหมือนใช้เรานั่นแหละในการทำประเด็น พอมีคนเห็นด้วยมากแกก็กลายเป็นผู้นำขึ้นมา หากถามว่าแล้วทำไมเราไม่ทำเอง ทำไมเราไม่มีผู้นำเกษตรกรที่ดันขึ้นมาแล้วเชื่อมต่อกับเขาโดยตรง  เพราะเขาต้องการร่วมด้วยอยู่แล้ว เพราะเป็นวิกฤตของเขา แต่มันไม่มีคนทำเรื่องนี้ไง พวกเราไม่เคยทำ แม้เราทำเรื่อง WTO มาตั้งนาน  ก็ยังคุยกับหลายคนว่าทำไมเราไม่ทำเอง มีขบวนของเราขึ้นมาเลยที่จะทำเรื่องนี้ เพราะประเทศจะไปไม่รอด ถ้ามีเอฟทีเอเข้ามา

เราต้องมีงานจัดตั้งเพื่อเชื่อมสู่ประเด็นทางสังคม เคลื่อนเป็นประเด็นทางการเมืองที่ต้องเชื่อมกันด้วยหรือไม่

ใช่ อย่างกลุ่มเครือข่ายหนี้สิน คนเยอะ ถ้าเราวางยุทธศาสตร์ดี ๆ เชื่อมกับกลุ่มผู้นำของเขา เอาประเด็นลงไปคุยกับเขา พี่คิดว่ามัน move คนได้เลยนะ พี่คิดว่าเป็นโจทย์ใหญ่มากเลย พี่พยายามคุยเท่าที่คุยได้ และให้คนอื่น ๆ ช่วยกันคิดด้วยเหมือนกัน

มันมีโจทย์หลายอัน ทั้งในเรื่องตัวความรู้ที่ต้องสร้างขึ้นในองค์กรของพวกเรา และอย่าปล่อยมัน  ตัวที่เราทำงานกับสาธารณะ และการ mobilize คน ผู้เดือดร้อนให้เขาเคลื่อนไหวทางการเมือง พี่คิดว่ากรณี เอฟทีเอ. ถ้าเราชุมนุมได้ 10,000 คน สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายได้ เพราะข้อมูลเราพร้อม สาธารณะมีความรู้สึกร่วมด้วยกับเรามากขึ้น หากกลายเป็นมิติทางการเมืองแล้ว 10,000 คน กลายเป็น 100,000 คนได้ และกลายเป็นหน้าหนึ่งของสังคมได้ เพราะมันกลายเป็นเรื่องมิติทางการเมืองของชาวบ้าน

ถ้าเราทำงานแล้วเราไม่มีกรอบหรือมิติทางความคิดเรื่องโครงสร้าง เราจะเข้าไม่ถึงข้อมูลที่พี่มี พี่มองเรื่องการเมือง ผลประโยชน์ เทคโนโลยี ที่เข้ามาครอบงำ จึงเห็นสามารถเห็นโครงระดับโลกที่ครอบลงมา แต่คนที่ทำงานชุมชนเมื่อไม่มีกรอบแบบนี้ ก็อาจจะมองแค่ว่า นโยบายรัฐกระทบอะไรกับชาวบ้าน แล้วไปจัดตั้งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย เป็นอย่างนี้ ถ้าพี่ถอดออกมาได้ว่าในกรอบความคิดแบบนี้ของพี่ มีเครื่องมือกี่ประเภทที่เราจะต้องไปทำงานกับกลุ่มคนประเภทไหนบ้าง เช่น ที่พี่คิดออกว่าเรื่องเอฟทีเอ ถ้าเราวิเคราะห์ชุดนี้ออกมาได้แล้วเราต้องไปทำงานกับกลุ่มเกษตรกรที่เชื่อมกับระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น พี่เคยลองถอดออกมาหรือไม่

พี่สนใจจะทำ แต่ก็ถอดไปพร้อม ๆ กับการ Movement และการสร้าง network ไปด้วยนั่นเอง เพราะเรื่องเอฟทีเอ. เป็นเรื่องใหญ่ หลายเรื่องที่ต้องมาช่วยกัน เอฟทีเอ. ไม่ได้เกี่ยวกับไบโอไทยโดยตรง เป็นแค่ issue หนึ่งในนั้น  เราจะหยุดเรื่องนี้ไม่ได้โดยใช้เรื่องเดียว เรามาถูกทางแต่ต้องทำอะไรอีกเยอะถึงจะชนะนโยบายของรัฐที่เกิดจากการผลักดันของต่างชาติ คิดว่าหลายเรื่องเราน่าจะทำได้ ขณะนี้เรามีเว็บไซต์ที่นักวิชาการได้รับการยอมรับ เพราะไม่มีใครทำเรื่องนี้ แต่เราก็ต้องทำไปมากกว่านี้อีก

เอฟทีเอกระทบต่อทุกกลุ่ม แต่ดูเหมือนว่าข้อมูลยังไม่ถึง ยังเห็นแค่ผลกระทบกับคนบางกลุ่มเท่านั้น

ตอนที่พี่ไปทางเหนือ คุยกับคุณชมชวนว่าน่าจะเอาชาวบ้านที่ปลูกถั่วเหลืองมานั่งคุยกัน กลายเป็นว่าไม่มีใครมา เพราะตอนนี้ได้ กก. ละ 15 บาท ซึ่งเขาพอใจ ทั้ง ๆ รู้ว่าเมื่อทำเอฟทีเอ.แล้วถั่วเหลืองจะเหลือ กก.ละ 5 บาท ซึ่งพี่ตั้งคำถามกับเอ็นจีโอด้วยนะ ว่าระบบคิดของเอ็นจีโอเราถ้ามองข้ามไปปีหน้าไม่ได้แล้วบอกกับชาวบ้านให้รู้ไม่ได้ ถึงขนาดไม่มีคนสักคนเดียวมานั่งคุยกัน พี่คิดว่าจะมีปัญหา เพราะถ้าเอฟทีเอ.เข้ามาจะถึงขนาดล่มสลายเลยนะ

ถ้าเราไม่เข้าไปจัดตั้งเอง จะยังคงทำได้ไหม เช่น ที่พี่เจอว่าเอาเข้าจริง ๆ เอ็นจีโอทำไม่ไหว

พี่ก็มีโจทย์เหมือนกัน กระบวนการการเมืองภาคประชาชนมันจะมีตัวแสดงใหม่ ๆ เกิดขึ้น พวกข้าวโพด มันสำปะหลัง สามารถต่อกับเครือข่ายหนี้สินได้หรือไม่ คงจะต้องหาคนประเภทที่ทำงานกับชาวบ้าน ออกกึ่งเคลื่อนไหวหน่อย และมีมิติเรื่องชุมชนด้วยก็ดี จะได้มองระยะยาวได้ ไม่ได้มองเพื่อที่จะเอามา action อย่างเดียว

ไม่มีทางที่จะต่อสู้เรื่องเอฟทีเอ.ชนะได้เลยถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของประชาชน และทำให้เรื่องนี้ออกมาจากการถกเถียงบนหนังสือพิมพ์มาเป็นการถกเถียงบนท้องถนน และทำให้เป็นประเด็นการเมือง ตอนนี้มีคนไม่เอาเอฟทีเอ.เป็นจำนวนมาก …คนไทยในภาคเกษตรต้องให้ความสำคัญไม่อย่างนั้นจะสิ้นชาติ… ต้องสร้างอะไรทำนองนี้ขึ้นมา

ต้องสร้างวาทกรรมด้วยหรือไม่ ในการขึ้นมาสู้ หรือโต้กับมัน เช่น เรื่องจีเอ็มโอ อาจมีคำว่า พืชผีดิบ แปดเปื้อน ปนเปื้อน เหล่านี้ พี่เคยคิดถึงเรื่องแบบนี้ไหม

พื้นที่สันนิษฐานว่ามีการแผพร่ระบาดของเมล็ดพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอ

ถึงจุดหนึ่งแล้ว ถ้าระบบการวิเคราะห์ ทำความเข้าใจมันถึงแล้ว  วาทกรรมถึงจะออกมา แล้วเราก็ใช้มันมันถึงจะได้ผล ถ้ายังไม่ถึงหรือยังไม่พร้อม เอามาใช้อย่างไรมันก็ไม่ได้ผล เรื่องจีเอ็มโอก็เหมือนกัน อีกฝ่ายพยายามใช้คำว่าปะปน แต่เราว่ามันคือการปนเปื้อน เพราะมันมีเรื่องสิทธิบัตรอยู่ และมันยังไม่ปลอดภัย จะใช้คำว่าปะปนไม่ได้ เขาก็เถียงเราไม่ออก สรยุทธเองก็บอกว่าพวกเราเก่งมากเลยที่ใช้คำนี้ สถานีวิทยุแห่งประเทศไทยก็ใช้คำนี้เหมือนกัน บอกว่า “มะละกอจีเอ็มโอแพร่ระบาดออกไปปนเปื้อนกับแปลงเกษตรกร”  ในความรู้สึกเหมือนกับเป็นศัตรูพืช หรือคำว่า “พืชผีดิบ” ซึ่งใช้ได้ผลในต่างประเทศมากกว่าเรา 

ตอนนี้ภาพของจีเอ็มโอก็ออกมาแย่แล้วในสายตาสาธารณะชน มีคำว่ารัฐมนตรีจีเอ็มโอ ด้วย เราจะเห็นว่านัยยะมันถูกสร้างขึ้นเอง ไม่ใช่ว่าเราไปสร้างคำใหม่ขึ้นมา ตัวจีเอ็มโอเองมันกลายเป็นวาทะกรรมในตัวมันเอง ว่ามันไม่ดี อะไรที่ไม่ดีผิดธรรมชาติมันเป็นจีเอ็มโอ ถึงขนาดพี่ไปดูเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร คนที่อยู่ในนั้นเขารู้สึกหมดกำลังใจ บอกว่ากรมวิชาการฯต้องบอกด้วยว่าเราทำอย่างอื่นด้วยไม่ใช่แค่จีเอ็มโอ เขารู้สึกหมดกำลังใจในการทำงาน ซึ่งพี่เห็นใจเขามากเหมือนกัน เพราะกลายเป็นว่าคนพวกนี้สร้างจีเอ็มโอแล้วคนไม่เอาด้วย เหมือนกับช่วงหนึ่งที่พวกทหารไม่กล้าแต่งชุดทหาร ตอนหลังจากพฤษภาทมิฬ มันกล้าบอกว่าตัวเองเป็นทหาร

ความเห็นของพี่คือ พอเป็นประเด็นทางสาธารณะ ประเด็นทางการเมืองแล้ว ก็จะถูกเอาไปใช้เป็นวาทกรรม

ใช่ บางคำก็ถูกสร้างขึ้นเองด้วยซ้ำ  บางคนอาจจะสร้างขึ้นมาก็ได้แต่มันอาจไม่ได้ผลถ้ามันไม่สุกงอม  แต่แน่นอนเราอาจอยู่ในทางที่ได้ใช้มากกว่าคนอื่น แต่คิดว่ามันไม่ใช่หัวใจสำคัญ.