สำหรับประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทย การตัดสินใจเชิงนโยบายใดๆของประเทศที่เกี่ยวข้องกับGMOs มีความสำคัญยิ่งและส่งผลกระทบต่อภาคผลิตในวงกว้าง แน่นอนว่าไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางใดย่อมมีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ บทบาท ทิศทางในการกำหนดนโยบาย ทิศทางการผลิต การค้าและความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของประเทศในอนาคตทั้งสิ้น ที่ผ่านมามีผู้ให้มุมมองทางวิชาการในด้านต่างๆหลากหลาย ดังนั้นการตัดสินใจเดินนโยบาย GMOs ใดๆก็ตาม จึงเป็นการเดินทางที่รู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมีหล่มอะไรบ้าง ลักษณะอย่างไร สกปรก ลึกและอันตรายแค่ไหน และเมื่อพิจารณาแล้ว ก็สุดแล้วแต่ว่าจะร้อนรน ตัดสินใจเดินลงไปติดหล่มให้เปรอะเลอะเทอะจนได้รับอันตราย หรือจะค่อยๆพิจารณาเดินหลบเท่านั้น

ในช่วงวันสองวันนี้ มีความพยายามอย่างผิดปกติให้รีบรวบรัดตัดสินใจในเรื่องที่อาจเป็นหมากสู่หล่มแห่งความพ่ายแพ้ ทั้งๆที่ไม่มีแรงกดดันโดยรวมทั้งจากภายนอกและจากภายในที่ทำให้ประเทศไทยต้องรีบแต่อย่างใด ความพยายามที่ต้องการให้การทดลองGMOsในไร่นาทำได้ทั้งๆที่ ไม่ได้ดูอย่างรอบคอบ และทั้งๆที่ระเบียบรองรับยังเป็นเพียงแค่ร่างที่เขียนขึ้นในวันสองวันอย่างเร่งรีบโดยไม่วิเคราะห์หารือ เป็นระเบียบแทนที่จะเป็นกฏหมาย ขาดการศึกษาผลกระทบในมุมกว้างจากฐานรากทางวิทยาศาสตร์ถึงเศรษฐศาสตร์และสังคม ไม่มีความชัดเจนและเหมาะสมในระบบในการกำกับดูและลงโทษที่เป็นตรรก มีความพยายามให้เหตุผลของความร้อนรนว่าประเทศจะขาดโอกาสในการแข่งขันทางเทคโนโลยีมาเป็นดัชนีเร่ง คำถามจึงอยู่ที่ข้อเท็จจริงดังกล่าว จริงหรือไม่?

โอกาสทางเทคโนโลยีขึ้นกับ ความสามารถในการสร้างตัวตนของเทคโนโลยีให้อยู่ในมือจริง เป็นผู้ค้นพบหรือเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงหรือต่อยอดได้ดีกว่าจริง ในกรณี GMOs เริ่มตั้งกระบวนการตั้งแต่ค้นพบยีน ค้นพบวิธีการควบคุม ค้นพบรูปแบบการประยุกต์ใช้ วิธีการที่ทำให้การประยุกต์เกิดขึ้นได้จริง ในรูปการสร้างโครงสร้างของดีเอ็นเอ การถ่ายยีน การคัดเลือก และกระบวนการต่อยอดหรือนำไปใช้ โดยโอกาสทางเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นและถูกแปรให้อยู่ในรูปสิทธิบัตรได้ในทุกๆขั้นตอนที่กล่าวมา นั่นหมายความว่าหากคิดค้นจริงจังตั้งแต่ต้นกระบวนการ ผลประโยชน์จริงที่เกิดระหว่างกระบวนการก็จะตกเป็นของประเทศ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือในกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมา สามารถดำเนินการในห้องปฏิบัติการได้ทันที ไม่มีเงื่อนไขจำกัดใดที่ทำให้การเบ่งบานทางเทคโนโลยีจะต้องยึดติดกับการทดลองในไร่นาด้วยระบบใดก็ตามตามที่กล่าวอ้าง เหตุผลของความร้อนรนว่าประเทศจะขาดโอกาสจนตกขบวนรถทางเทคโนโลยีจึงเป็นการบิดเบือนอย่างยิ่งและเป็นเท็จ

แน่นอนในต่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่ไม่เท่ากันเกิดขึ้นได้ แต่การเร่งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตัวเองของแต่ละประเทศ ช่วยให้หลายต่อหลายประเทศฉีกรูปแบบจากการซื้อเทคโนโลยีล้วนๆเป็นแลกเทคโนโลยีหมัดต่อหมัดในรูปแบบ cross patent น่าเสียดายที่สำหรับกรณีมะละกอ GMOs เทคโนโลยีต่างๆในการสร้าง GMOs นี้เป็นของต่างประเทศทั้งสิ้น แม้พันธุ์มะละกอจะเป็นของประเทศไทย ไวรัสที่เป็นต้นตอของยีนก็ได้จากสายพันธุ์ในประเทศไทย หอบข้ามน้ำข้ามทะเลและทำโดยคนของประเทศไทย แต่เมื่อผ่านกระบวนการกลับได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศไม่เป็นเจ้าของอย่างเต็มภาคภูมิ คำถามจึงอยู่ที่ว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การเตรียมความพร้อมในการเร่งกระบวนการเพื่อเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้วยตัวเองเพื่อแลกเทคโนโลยีหมัดต่อหมัดอย่างไม่เสียเปรียบด้วยเงินวิจัยที่ลงทุนไปไม่น้อย จบลงเช่นนี้หรือ

บัดนี้มีความพยายามรีบเร่งให้สามารถทดลองGMOsในไร่นา แต่ก็ยังขาดการเตรียมความพร้อมอีกครั้ง

เพราะ ณ. จุดเวลาที่ตัดสินใจให้สามารถทดลองGMOsในไร่นา จะเกิดผลกระทบหลายมิติตามมาทันที อย่างน้อยจะเกิดความต้องการในการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานควบคุม กำกับดูแล หน่วยงานรัฐและเอกชนที่ต้องดูแลผลผลิตเกษตรที่ค้าขายอยู่กับต่างประเทศ ไม่นับรวมถือการให้ความรู้และภูมิต้านทานทางสังคมให้สามารถรับมือกับ GMOs และแรงกดดันโดยตรงจากต่างประเทศในยามที่ประเทศคู่แข่งกำลังเร่งแซงกดดันโดยตลอด ประเทศมีความพร้อมทางห้องปฏิบัติการและบุคลากรแล้วหรือ มีงบประมาณรองรับแล้วหรือยัง ใครแบกรับต้นทุน เพราะลำพังการตรวจวิเคราะห์เพื่อการส่งออกโดยพื้นฐานยังเป็นปัญหา ประเทศมีนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อปกป้องผลประโยชน์คนไทยหากเกิดเหตุต่างๆแล้วหรือไม่ มีกำลังคนรองรับการประเมินความเสี่ยง การแก้ปัญหา การกำกับและดูแลความปลอดภัย ที่ชำนาญการเรื่องยีนเข้าใจในระดับอณูประจำการทั่วประเทศแล้วหรือยังเพราะลำพังคนสายวิทยาศาสตร์ยังเป็นสาขาที่ขาดแคลน มีการศึกษาผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ผลประโยชน์ที่ประเทศอื่นจะได้รับจากประเทศไทยในกรณีดังกล่าวหรือไม่ และศึกษาความเสียหายที่จะเกิดแก่ประเทศ หากเตรียมการดี เตรียมการบกพร่องหรือไม่เตรียมการรองรับหรือยัง เพราะหากเกิดการหลุดรอดเช่นที่ผ่านๆมาอีก ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ และบทบาทของประเทศ ทิศทางในการกำหนดนโยบาย ทิศทางการผลิต การค้าและความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของไทยทั้งสิ้น ผลดังกล่าวไม่สามารถหวนคืนกลับได้ คำถามจึงอยู่ที่ว่าถึงเวลาจริงๆแล้วหรือที่ต้องเร่งตัดสินใจขนาดนั้น?

ผู้เขียนมองว่า ในยามที่หลายปัญหายังคงรุมเร้า การสุกงอมของเวลาไม่น่าจะใช่เวลาที่ต้องมารีบร้อนตัดสิน สมควรที่จะกลับไปปรึกษาหารือและเตรียมความพร้อมให้ดีกว่านี้ ให้มีกฎหมายและกำลังคนรองรับ ก่อนที่จะบู่มบ่ามตัดสินใจ เพราะอย่างน้อยก็ควรถามเจ้าของประเทศให้เกิดความรอบคอบก่อน ที่จะพากันเดินตกหลุมกันทั้งประเทศไม่ดีกว่าหรือ