นอกจากวิกฤตข้าวโลกจะเป็นโอกาสของชาวนาไทย ยังเป็นโอกาสทองของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งทุ่มวิจัยหาข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 1 ตัน ทนต่อโรคและแมลง รับมือกับภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่เป็นไปตามคาด

นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า การปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตสูงจะต้องมีเทคนิคเฉพาะ

กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรใช้เวลา 7 ปี วิจัยร่วมกับ ดร. หยวน หลง ปิง เป็นบิดาแห่งข้าวลูกผสมของจีน และทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (อีรี่) (International Rice Research Institute) ประเทศฟิลิปปินส์ จนได้สายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ต้านทานโรคแมลง และเหมาะกับสภาพภูมิอากาศของไทย

ก่อนหน้านี้ ซีพีเน้นทำงานวิจัยพันธุ์พืชสำหรับอาหารสัตว์ โดยพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม ร่วมกับสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งได้ข้าวโพดสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง จึงมีฐานความรู้อยู่พอสมควร จากนั้นจึงได้ทดลองใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เนื่องจากไทยมีศักยภาพการผลิตสูง และเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 67 ล้านไร่ และ 25 ล้านไร่อยู่ในเขตชลประทานสมบูรณ์

แต่ละปี ทีมวิจัยจากสถานีวิจัยข้าวลูกผสมฟาร์มกำแพงเพชร จะคัดเลือกสายพันธุ์ข้าว ประมาณ 1,000 ชนิด มาทดลองผสมข้ามสายพันธุ์ เพื่อค้นหาข้าวสายพันธุ์ที่ดีที่สุด โดยร่วมมือกับทีมวิจัยข้าวของจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ได้ผลผลิตสูง ถึง 2,000 กิโลต่อไร่ แต่สายพันธุ์จากประเทศจีนไม่เหมาะสมกับการปลูกในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ต่างจากพันธุ์ข้าวจากฟิลิปปินส์ซึ่งปลูกได้ผลดีเนื่องจากภูมิอากาศใกล้เคียงกัน

ซีพี ยังนำข้าวสายพันธุ์ดีจากจีนและฟิลิปปินส์ทดสอบร่วมกับสายพันธุ์ไทย จนประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ข้าว 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ซี.พี.304 ที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น จากเดิม 120 วัน เป็น 90 วัน และให้ผลผลิตสูงถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ แถมทนต่อโรคและแมลง เทียบกับข้าวที่เกษตรกรปลูกให้ผลผลิต 400 กิโลกรัมต่อไร่

อีกสายพันธุ์คือ ซี.พี.357 มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับ ซี.พี.304 แต่ที่พิเศษกว่า คือ เมล็ดข้าวนุ่มคล้ายข้าวหอมมะลิ
“พันธุ์ข้าวที่ได้จากการวิจัยให้ผลผลิตเพิ่มจากเดิม 30-50% เนื่องจากเรานำสายพันธุ์พ่อที่มีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตสูง มาผสมกับสายพันธุ์แม่ที่ต้านทานโรค และรสชาติอร่อย โดยใช้วิธีผสมข้าวสายพันธุ์ จนได้ข้าวลูกผสม หรือ ไฮบริด” นายมนตรี กล่าว

ปลูกกล้าแทนหว่าน

เมื่อได้ข้าวสายพันธุ์ที่ต้องการแล้ว ซีพีจะส่งต่อสายพันธุ์ข้าวที่ได้ไปยังเกษตรกร ในลักษณะของต้นกล้า พร้อมสำหรับการปักดำ แทนที่จะขายเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรไปนำไปหว่านในแปลงปลูกเอง ซึ่งมักได้ผลผลิตไม่ตรงตามที่ต้องการ
จากผลการวิจัยของซีพีพบว่า การปลูกข้าวของเกษตรกรในแบบเดิม มักเกิดการสูญเสียระหว่างเพาะปลูก ทำให้ได้ผลผลิตไม่ตรงตามต้องการ ต่างจากต้นกล้าของสถานีวิจัยที่ผ่านการให้ปุ๋ย และยากันเชื้อราในสัดส่วนที่เหมาะสม พร้อมลงแปลงปลูกจริงด้วยเครื่องปักดำ หลังจากมีใบอ่อนขึ้นประมาณ 2-3 ใบ ซึ่งต้นกล้าที่พร้อมเจริญเติบโตจะให้ผลผลิตที่สูงกว่า โดยต้นทุนในการปลูกข้าวอยู่ที่ 1,600 บาทต่อไร่ ใกล้เคียงกับต้นทุนการปลูกข้าวในปัจจุบัน

“เราพิสูจน์แล้วว่า เทคโนโลยีการปลูกข้าวด้วยเครื่องจักรให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกด้วยแรงงานคน การปลูกแบบใหม่เป็นหัวใจสำคัญของการปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง นอกเหนือจากการใช้พันธุ์ดี อยู่ในเขตเกษตรกรรมที่ดี มีระบบชลประทานพร้อม รวมถึงการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการเติมจุลินทรีย์ในดิน ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร กล่าว

ที่มา : บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด

ปัจจุบัน ซีพีสามารถผลิตข้าวสายพันธุ์ใหม่ได้ประมาณ 10-30 ตันต่อปี โดยส่งต่อไปยังเกษตรกรผ่าน ธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) รวมถึงเปิดให้เกษตรกรที่สนใจได้ข้ามาดูตัวอย่างฟาร์มสาธิต ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกร 40 -50 ราย ที่นำกล้าพันธุ์ไปปลูกแล้วรวมพื้นที่กว่า 400 ไร่
อย่างไรก็ตามปริมาณข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ผลิตได้ยังมีจำนวนจำกัด โดยในอนาคตพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นถึง 200 ตันต่อปี

นอกจากข้าวสายพันธุ์ ซี.พี.304 และ ซี.พี. 357 ที่ได้จากการวิจัยแล้ว ปัจจุบัน ทีมวิจัยซีพีได้พัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ อีก 2 สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงกว่า 2 สายพันธุ์แรก โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองในแปลงปลูกของเกษตร บริษัทยังมีแผนร่วมมือกับกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูก การเตรียมดินไปยังเกษตรกรได้กว้างขึ้น